iLaw คือใคร ใครคือ iLaw
แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของ iLaw จะถูกคว่ำกลางสภา ด้วยมติไม่รับหลักการ 138 คน งดออกเสียง 369 คน รับหลักการ 212 คน แต่ความน่าสนใจคือการรวบรวมรายชื่อประชาชนกว่าแสนรายชื่อ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง และการชุมนุมในช่วงปี 2563 เช่นนั้น iLaw คือใคร PLUS SEVEN ชวนมาทำความรู้จัก NGO ด้านกฎหมายที่กำลังถูกกล่าวถึงในขณะนี้
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ หรือ เป๋า ผู้จัดการโครงการ เล่าให้ฟังว่า iLaw หรือโครงการอินเทอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน เป็นองค์การที่อยู่นอกภาครัฐด้านกฎหมาย (NGO) ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2552 โดยอาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ เนื่องด้วยภายหลังจากเข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อาจารย์มีความรู้สึกว่าประชาชนทุกคนสามารถเขียนกฎหมายได้ ไม่จำเป็นต้องจบนิติศาสตร์ หรือไม่ต้องเป็นนักวิชาการก็เขียนกฎหมายได้เช่นกัน
ซึ่งในยุคนั้นเป็นยุคที่โซเชียลมีเดียยังไม่ได้ใช้กันอย่างแพร่หลายนัก iLaw เลยตั้งเป็นเว็บไซต์ขึ้นมาก่อน โดยหวังให้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับประชาชนมาช่วยกันคิดว่าอยากให้กฎหมายที่บังคับใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร เวลามีกฎหมายฉบับใหม่ประกาศใช้หรือมีกฎหมายเข้ารับการพิจารณาในรัฐสภาก็มาถกเถียงกัน ประเด็นไหนที่เห็นพ้องกันก็จะนำไปสู่การเสนอหรือแก้ไขกฎหมายต่อไป
โดยในช่วงแรกเป๋ายอมรับว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ เพราะคนที่เข้ามาถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบางครั้งก็มาพร้อมกับข้อมูลที่ไม่เพียงพอ เลยทดลองเปลี่ยนมาเป็นฝ่ายเผยแพร่ความรู้และให้ข้อมูลโดยเริ่มจากการทำวิจัยแล้วตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม หลังจากนั้นเมื่อทำเรื่องพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ. คอมฯ) ก็มีคนเข้ามาขอข้อมูลเป็นจำนวนมาก
“พอเราเริ่มเหนื่อยจากการให้ข้อมูล ก็เลยตัดสินใจว่าเอาข้อมูลทั้งหมดที่เราเก็บมาจากการติดตามคดีต่างๆ ขึ้นบนเว็บไซต์เลย พอจบเรื่องพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ในช่วงปีพ.ศ. 2555 ก็เริ่มขยายออกไปในประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิมนุษยชน ก็ขยายไปเรื่อยๆ จากที่มีเจ้าหน้าที่หนึ่งคน สองคน ก็เป็นสี่ห้าคน เรื่อยๆ เป็นต้นมา”
จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งเกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2557 หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหารและยกเลิกกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้สิทธิของประชาชนในการเข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมายตามกฎหมายรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกตาม จากนั้นพอคสช. ตั้งองค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านกฎหมายขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) หรือว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) งานด้านกฎหมายก็ทำได้ยากขึ้นเพราะองค์กรเหล่านี้ทำงานโดยที่ไม่มีใครตรวจสอบและจับตามอง ในส่วนของกฎหมายที่ใช้บังคับในช่วงเวลานั้นก็อยู่ใต้การประกาศใช้ของคณะรัฐประหาร ซึ่งไม่มีระบุเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ออกกฎหมาย อีกทั้งภายใต้การบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการเสนอชื่อในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการร่างหรือการแก้ไขกฎหมายแม้แต่น้อย
ทาง iLaw จึงเปิดหน้างานใหม่ขึ้นมา ซึ่งก็คือการจับตาสนช. สปท. และองค์กรต่างๆ เหล่านี้อยู่หลายปี จนมาถึงประเด็นล่าสุดคือรัฐธรรมนูญ โดยการจับตานี้จะดูว่ากลไกต่างๆ ในตัวบทรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอย่างไร พยายามเขียนสรุปและเผยแพร่สิ่งเหล่านี้ออกมา ในระยะนี้เอง iLaw เริ่มมีโครงสร้างเช่นเดียวกับปัจจุบัน แบ่งเป็นสองส่วนคือส่วนที่จับตากฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น กับส่วนที่ทำบันทึกข้อมูลคดีที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพ
ทำไมต้องจับตากฎหมาย
บุณยนุช มัทธุจักร หรือ แตงโม และ ณัชปกร นามเมือง หรือ ถา เจ้าหน้าที่ฝ่ายจับตากฎหมายอธิบายในส่วนนี้ว่า พันธกิจหลักของฝ่ายจะดูสองเรื่องหลักคือ 1. ดูกระบวนการ กับ 2. ดูเนื้อหา
เพื่อความเชื่อมโยงและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการออกกฎหมายแต่ละฉบับ การทำงานของฝ่ายการจับตาจะเป็นการนำกฎหมายแต่ละฉบับมาดูตั้งแต่กระบวนการร่าง การตราออกมาว่าแต่ละร่าง แต่ละฉบับมีเนื้อหาเป็นอย่างไร เชื่อมโยงกับประชาชนอย่างไร ประชาชนจะมีสิทธิหรือถูกจำกัดสิทธิในเรื่องอะไรบ้าง กฎหมายแต่ละฉบับมีความเหมือนหรือมีความต่างกับกฎหมายฉบับก่อนหน้า หรือถูกเสนอมาพร้อมๆ กันอย่างไร
ท้ายที่สุดก็นำมาสู่การจับตากฎหมายรัฐธรรมนูญ และจบลงที่ความสำเร็จในการเสนอร่างแก้ไขโดยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนมากกว่าหนึ่งแสนรายชื่อ
บันทึกข้อมูลคดีเป็นงานสำคัญ
อานนท์ ชวาลาวัณย์ หรือ แว่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายบันทึกข้อมูลคดี เล่าว่างานหลักคือการบันทึกข้อมูลคดีในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้เสรีภาพสาธารณะ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออก เช่น
กฎหมายอาญา มาตรา 112 (หมวดความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการในพระองค์)
กฎหมายอาญา มาตรา 116 (หมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร)
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ. คอมฯ)
พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)
พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 (พ.ร.บ. การชุมนุม)
หรือการไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคสช. เป็นต้น
โดยทางฝ่ายจะบันทึกข้อมูลทั้งหมดว่ามีใครโดนคดีเหล่านี้บ้าง ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร จำเลยสู้คดีอย่างไร กระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ออกหมายเรียกหรือหมายจับ การจับกุมเป็นอย่างไร และศาลตัดสินเช่นไร
“พยายามสังเกตว่ากฎหมายเหล่านี้ถูกใช้ตามเจตนารมย์ของกฎหมายเองหรือไม่ หรือถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง รวมไปถึงดูการคุกคามที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับกฎหมายโดยตรง เช่น การเรียกคนไปปรับทัศนคติในยุคคสช. ซึ่งไม่ได้มีกฎหมายรองรับ และงานเหล่านี้จำนวนหนึ่งก็ตกผลึกออกมาเป็นสารคดีด้วยเช่นกัน เช่น ห้องเช่า 112 หรือเมื่อฉันถูกปรับทัศนคติ เป็นต้น”
การบันทึกข้อมูลคดีเหล่านี้มีความสำคัญในแง่การจดบันทึกประวัติศาสตร์ว่าเคยเกิดอะไรขึ้นบ้าง และข้อมูลเหล่านี้เคยนำไปปรับเปลี่ยนจนสามารถออกมาเป็นร่างกฎหมายใหม่เพื่อให้คนเข้าชื่อแก้ไขได้มาแล้ว เช่น การแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นได้จากการรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ จนมาถึงความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน
ในส่วนงานอื่นที่ทาง iLaw ทำยังรวมถึงการรณรงค์ การจัดอบรมให้กับองค์กรภาคเอกชนอื่นๆ เช่นการอบรมการพูดระยะสั้น เป็นต้น
iLaw รับเงินใคร
ทว่าประเด็นที่ถูกพูดถึงมากในโลกสังคมออนไลน์ของ iLaw คือประเด็นการรับเงินต่างชาติเข้ามาบ่อนทำลายประเทศตัวเอง ซึ่งยิ่งชีพได้อธิบายในประเด็นนี้ว่าหลักการในการเลือกแหล่งทุนมีสองอย่าง หนึ่งคือต้องเป็นองค์กรที่ให้ทุนอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แหล่งทุนที่ให้เป็นรายโครงการ ต้องให้คนทำงานอย่างยั่งยืนไปจนแก่ได้ถึงจะรับ อีกหนึ่งข้อคือต้องไม่แทรกแซง ต้องไม่บอกว่าควรจะทำอะไร ไม่ควรทำอะไร กิจกรรมทุกอย่าง iLaw จะต้องเป็นผู้เสนอไป ถ้าแหล่งทุนเข้ามาจุ้นจ้านมาก ทาง iLaw ก็ไม่ทำงานด้วย
“หลักการทำงานของ NGO คือต้องมีความต่อเนื่องและยั่งยืน เป็นมืออาชีพ เราต้องศึกษาติดตามปัญหามาหลายปี เราจึงจะรู้ได้ว่าเราควรเสนออะไร เราควรจะแก้ปัญหาอย่างไร และเดินไปอย่างไร งานแบบนี้จึงจำเป็นต้องมีส่วนของเงินเดือนเจ้าหน้าที่ ชาวออฟฟิส ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง แหล่งไหนให้เราก็รับ”
รับเงินต่างชาติทำลายไทย?
ยิ่งชีพกล่าวต่อว่าหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ภาครัฐทราบข้อจำกัดของตนว่าไม่สามารถเข้าถึงคนทุกภาคส่วนของสังคม จึงเกิดการตั้งกองทุนขึ้นมาให้คนทั่วไปสามารถขอรับการสนับสนุนในรูปแบบของเงินเพื่อนำไปทำงานนั้นๆ ซึ่งคือต้นกำเนิดของ NGOs ทั่วโลก
ในประเทศไทยแม้จะมีกองทุนเหล่านี้อยู่บ้าง แต่เท่าที่ยิ่งชีพทราบจากคนในองค์กรหลายๆ องค์กรที่เคยรับทุนจากกองทุนที่ตั้งโดยรัฐบาล มักมีปัญหาในเรื่องการแทรกแซงการทำงาน เข้ามากำหนดเนื้อหา กำหนดกระทั่งตัววิทยากร เมื่อผลิตเนื้อหาที่ไม่ตรงใจรัฐบาลก็ขอให้เปลี่ยนหรือเซนเซอร์
“มันก็ทำงานไม่ได้ ถ้าบ้านเมืองเราเดินปกติและไม่มีการแทรกแซง เราก็คงอยากขอกองทุนในประเทศบ้านเราเช่นกัน”
ยิ่งชีพยังได้ตอบคำถามประเด็นการถูกต่างชาติแทรกแซงหรือฮุบประเทศผ่านโครงการต่างๆ ว่าในปัจจุบัน โลกล้วนเชื่อมถึงกัน ไม่มีใครปิดประเทศแล้วสามารถทำงานในสิ่งที่ตัวเองเชื่อแล้วคิดว่ามันจะสำเร็จได้โดยไม่เชื่อมโยงกับประเทศอื่น
“ต่อให้คุณทำเรื่องโลกร้อน ถ้าคุณประหยัดทรัพยากรในประเทศตัวเอง แต่ประเทศอื่นเขาเผาป่าตลอดเวลา มันก็ไม่ช่วยอะไรเลย”
“ดังนั้น เวลาที่จะทำต้องทำระดับโลก เช่น ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ถ้าปิดรั้วประเทศตน มีประชาธิปไตยอยู่เพียงในเขตแดนของเรา แล้วประเทศข้างๆ มีการฆ่ากัน ประชาชนออกไปแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแล้วถูกจับติดคุก ก็จะไม่มีอะไรการันตีหรอกกว่าประเทศของเราจะปลอดภัย หรือแม้แต่การที่พลเมืองของคุณเดินทางไปเที่ยวประเทศอื่น แล้ววิจารณ์รัฐบาลประเทศนั้น จนถูกจับติดคุก หรือไปแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแล้วถูกจับติดคุกมา มันก็ไม่มีอะไรการันตีว่าประชาชนของประเทศเราจะปลอดภัย”
“หลายประเทศที่เชื่อในหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เขาก็รู้ว่าทำเฉพาะประเทศตัวเองไม่ได้ เหมือนกันกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เราก็ต้องทำระดับโลกเช่นกัน เท่านั้นเอง” ยิ่งชีพกล่าวปิดท้าย