ปลาหาย รายได้หด: คลื่นปัญหาซัดกร่อนประมงปัตตานี
เมื่อกล่าวถึงปัญหาความมั่นคงในจังหวัดปัตตานี เรื่องแรกที่ผู้คนมักจะนึกถึงคือเรื่องของความรุนแรง ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ก่อเหตุและรัฐ รวมถึงการแบ่งแยกดินแดน
นั่นอาจจะเป็นปัญหาความมั่นคงในมิติเดียวที่มองผ่านสายตาของรัฐ
ทว่าในความเป็นจริง จังหวัดปัตตานีกำลังเผชิญกับปัญหาความมั่นคงในมิติอื่น และอยู่ในช่วงที่เปราะบางไม่น้อยไปกว่าปัญหาด้านความมั่นคงข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมั่นคงทางอาหาร และทรัพยากรทางทะเล ที่เคยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล เป็นแหล่งรายได้หลักให้กับจังหวัด และเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของประเทศ
นิยามความมั่นคงทางอาหารนั้นมีคำอธิบายที่หลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละองค์กร หากมีหัวใจสำคัญที่คล้ายคลึงกันคือเรื่องของการ ‘เข้าถึงอาหาร’ ในฐานะปัจเจกชน โดยมนุษย์ทุกคนบนโลกจะต้องสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอ ปลอดภัย และอุดมไปด้วยโภชนาการ
นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสเริ่มปะทุตัวขึ้นอย่างชัดเจน จนนำมาสู่การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) ในพื้นที่มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 และบังคับใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จนเป็นที่รับทราบโดยทั่วไปว่าชาวปัตตานีอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง เวลากว่า 16 ปี หากบางส่วนอาจไม่ทราบว่าตามรายงานของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่พ.ศ. 2547 จนถึงพ.ศ. 2563 ปัตตานีเป็นจังหวัดที่ครองแชมป์ความยากจนที่สุดต่อเนื่องกันมายาวนานถึง 17 ปีเช่นกัน
โดยเมื่อพิจารณาถึงปัญหาความยากจนดังกล่าวแล้วจะพบว่ามีข้อน่าสังเกตที่สำคัญยิ่ง คือเรื่องของความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับการทุ่มงบประมาณการพัฒนาจากรัฐ ที่แม้ว่าพื้นที่ปัตตานีนั้นจะได้รับการจัดสรรเงินเพื่อวัตถุประสงค์ในรักษาความมั่นคงของชาติมาอย่างยาวนานมากกว่า 1 ทศวรรษ ปัตตานีก็ยังคงรักษาตำแหน่งแชมป์นี้ไว้โดยไม่เคยเปลี่ยนมือ
และดูเหมือนว่านอกจากข้อกังขาเรื่องของการบริหารงบประมาณแล้วการพัฒนาเหล่านั้นก็ยังส่งผลกระทบระยะยาวต่อความมั่นคงทางทรัพยากรและเศรษฐกิจของคนในปัตตานีโดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเล
กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต
จากรายงานของกรมประมง ก่อนปีพ.ศ. 2560 ปัตตานีเคยเป็นจังหวัดได้รับการบันทึกสัตว์น้ำขึ้นท่า หรือมีปริมาณสัตว์น้ำจากการตรวจวัดบริเวณท่าเรือภายในจังหวัด และสะพานปลาปัตตานีเกือบ 200,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเรียกได้ว่าตัวเลขปริมาณสัตว์น้ำและมูลค่าทางเศรษฐกิจที่อยู่ในอันดับหัวกระดานของประเทศมาโดยตลอดควบคู่กันกับจังหวัดสมุทรสาคร แต่ภายหลังปีพ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ปริมาณสัตว์น้ำขึ้นท่าตกลงมาเหลือเพียงไม่เกิน 80,000 ตันต่อปี รวมถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจลดลงมาเหลือประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทเท่านั้น
สาเหตุที่ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำขึ้นท่า และ รายได้ของจังหวัดปัตตานีในด้านประมงลดลง กว่าร้อยละ 70 นี้อาจจะไม่ใช่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง หากเป็นผลสืบเนื่องจากการประเมิน IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) หรือการประเมินการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมจากสหภาพยุโรปในปีพ.ศ. 2558 ซึ่งไทยได้รับผลประเมินในระดับธงเหลือง คือประเทศที่ทางสหภาพยุโรปพิจารณาแล้วว่าการประมงไทยยังไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานได้ รัฐบาลใต้การควบคุมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้นจึงมีความพยายามและต้องการปลดธงเหลือง IUU นี้ ผ่านการออกกฎหมายการประมงฉบับใหม่ ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีการประมงของคนในพื้นที่
สุภาวดี โชคสกุลนิมิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัทปัตตานีปลาป่น จำกัด สะท้อนภาพรวมธุรกิจประมง และ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับประมงในพื้นที่จังหวัดปัตตานีว่า นับตั้งแต่มีการออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 (พ.ร.ก. การประมง) เป็นต้นมา กฎหมายฉบับดังกล่าวทำให้ธุรกิจประมงซบเซาลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากตัวบทกฎหมายและข้อบังคับไม่ได้คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของตลาดการประมง และวิถีการประมงในประเทศ
สุภาวดี ให้ความเห็นว่าปัญหาประการแรกจากข้อกำหนดที่เกิดขึ้น คือเรื่องการจำกัดวันออกทะเลของเรือแต่ละลำ โดยมีการจำกัดเป็น 220, 240 และ 280 วันตามแต่ชนิดของใบอนุญาต โดยข้อกำหนดดังกล่าวส่งผลให้เรือแต่ละลำออกทะเลได้น้อยลง เมื่อช่วงเวลาในการออกทะเลที่เคยมีอิสระถูกจำกัด จำนวนปลาที่จับได้ก็ลดลง รายได้ของเรือประมงจึงลดต่ำลง แต่ต้นทุนต่างๆ ไม่ได้ลดตามไปด้วย เพราะถึงแม้เรือจะไม่ได้ออกทะเล ก็ยังต้องมีการค่าใช้จ่ายในการดูแลแรงงาน และเมื่อจอดพักเรือก็ต้องมีการดูแลรักษาเรือ มีค่าบำรุงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรือยิ่งจอดทิ้งนาน ค่าบำรุงรักษาก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น
ประการต่อมาคือ ปัญหาต้นทุนด้านแรงงานและการแย่งชิงแรงงาน คุณสุภาวดี อธิบายว่า ปัญหาใหญ่ด้านแรงงานประมง ณ ปัจจุบันที่มีอยู่คือ ข้อกำหนดที่ออกมานั้นขัดต่อธรรมชาติการจ้างงานและการทำงานในอุตสาหกรรมประมง
เช่นเรื่องการนับชั่วโมงการทำงานที่ห้ามเกินกว่าที่กำหนดไว้ หรือกระทั่งการกำหนดเกณฑ์วันหยุดต่างๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วชาวประมงไม่สามารถคาดเดาได้ว่าปลาจะมาตอนไหน จะต้องจับเมื่อไหร่ แล้วจะต้องพักเวลาใด หรือกล่าวได้ว่าธรรมชาติโดยทั่วไปของการประมงต้องอาศัยเรื่องของเวลาในการรอคอยจนกว่าปลาจะว่ายน้ำเข้ามา โดยปรกติแล้วการออกเรือประมงจะมีการออกไปเป็นหลักเดือนก่อนจะกลับเข้าฝั่ง แต่ด้วยข้อกำหนดด้านแรงงานเรื่องวันหยุดทำให้การออกเรือนั้นต้องปฏิบัติตาม ทำให้การออกเรือกินระยะเวลาสั้นลง ทำให้ได้ปลามาน้อยลง
ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งในด้านแรงงานคือการที่ทางภาครัฐเปิดให้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในลักษณะเป็นรอบ ไม่สามารถลงทะเบียนได้ตลอดเวลา เธอขยายความว่าในตลาดแรงงานประมงนั้น จำเป็นต้องมีการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวก่อนที่แรงงานจะเริ่มต้นทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย หากยังไม่ได้ลงทะเบียนก็ไม่สามารถให้แรงงานรายนั้นออกเรือประมงไปทำงานได้
การหาแรงงานแต่ละรอบจะต้องไปติดต่อนายหน้า และนายหน้าก็จะจัดหาแรงงานมาให้ เมื่อคนเหล่านี้เข้ามาแล้วทางนายจ้างก็จะต้องเลี้ยงดูรวมถึงหาที่พักอาศัยให้กับว่าที่แรงงานเหล่านี้ไปก่อน แต่ยังไม่สามารถให้ออกเรือได้เพราะยังไม่ถึงรอบการขึ้นทะเบียนแรงงาน
ซึ่งนายจ้างก็ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายไปจนกว่าจะถึงวันที่ทางรัฐเปิดรอบให้ขึ้นทะเบียน พอใกล้ถึงวันที่กำหนด บางทีแรงงานก็โยกย้ายไปโรงงานอื่นหรือเรือลำอื่นเสีย ทำให้ค่าใช้จ่ายที่ลงทุนมาก่อนหน้าสูญเปล่าทั้งหมด
สุภาวดีสะท้อนความคับข้องนี้ออกมาว่า
“เราไม่ได้ค้ามนุษย์ หรือไม่ได้จะใช้แรงงานผิดกฎหมาย แต่กฎหมายมันไม่เอื้อ เราเคยเสนอไปว่าให้เปิดลงทะเบียนแรงงานตลอดทั้งปีสิ แต่ทางรัฐเค้าตอบกลับมาว่าไม่ได้เพราะเค้ากลัวเรื่องความมั่นคง เราก็ไม่เข้าใจว่าจะกลัวทำไม เกี่ยวอะไร ก็ลงทะเบียนถูกต้องแล้ว มีที่อยู่ชัดเจน ตามตัวได้ จะกลัวทำไม”
เป็นเวลากว่า 7 ปี นับตั้งแต่การประกาศใช้พระราชกำหนดการประมง ซึ่งเมื่อข้อกำหนดที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติการประมงส่งผลให้ต้นทุนด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการเรือประมงรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประมงก็ต้องล้มหายตายจากไปมากกว่า 30-40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ยังอยู่รอดก็ต้องลดกำลังการผลิตและลดการจ้างงานลง เช่นโรงงานที่สุภาวดีดูแลอยู่เคยมีกำลังการผลิต 70-80 ตันต่อวัน ก็ต้องลดลงเหลือเพียง 10-20 ตัน บางวันน้อยกว่านั้นด้วยซ้ำเพราะไม่มีวัตถุดิบมาป้อน
“บางคนทำประมงมาหลายรุ่น ตั้งแต่รุ่นปู่ มารุ่นพ่อ แล้วสุดท้ายก็ต้องมาเลิกที่รุ่นของเขา”
สิ่งที่สุภาวดีกล่าวสะท้อนออกมาผ่านสถิติจำนวนเรือประมงพาณิชย์ไทย ที่จัดทำโดยกลุ่มสถิติการประมง ของกรมประมง โดยหากเราย้อนกลับไปดูสถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นช่วง 5 ปีก่อนที่จะมีพระราชกำหนดการประมง ปีพ.ศ. 2558 หรือระหว่างปีพ.ศ. 2554 -2558 และ 5 ปี หลังจากมีการประกาศพระราชกำหนดดังกล่าว ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 – 2563 จะเห็นได้ว่า จำนวนเรือประมงพาณิชย์ทั่วประเทศ รวมทั้งในจังหวัดปัตตานีเอง ลดลงกว่าครึ่ง
ในปีพ.ศ. 2557 เป็นปีที่จังหวัดปัตตานี มีเรือประมงพาณิชย์มากที่สุด โดยมีสูงถึง 3,081 ลำ แต่หลังจากการประกาศใช้พระราชกำหนดการประมง ในปีพ.ศ. 2559 เรือประมงพาณิชย์ในจังหวัดปัตตานีเหลือเพียง 1,107 ลำ และนับตั้งแต่นั้นเป็นตัวเลขเรือประมงพาณิชย์ก็ลดน้อยลงไปเป็นลำดับ
สถิติจำนวนเรือประมงพาณิชย์ ปี 2554-2563
ปี | จำนวนเรือประมงพาณิชย์ทั่วประเทศ (ลำ) | จำนวนเรือประมงพาณิชย์ในจังหวัดปัตตานี (ลำ) |
2554 | 17,203 | 1,601 |
2555 | 18,089 | 1,896 |
2556 | 16,548 | 2,428 |
2557 | 23,556 | 3,081 |
2558 | 25,002 | 2,761 |
2559 | 11,237 | 1,107 |
2560 | 10,913 | 1,028 |
2561 | 10,645 | 1,010 |
2562 | 10,530 | 1,001 |
2563 | 10,388 | 1,017 |
เมื่อนำข้อมูลด้านจำนวนเรือประมงพาณิชย์ในแต่ละปีไปพิจารณาร่วมกับสถิติสัตว์น้ำขึ้นท่า ที่จัดทำโดยกลุ่มสถิติการประมง จะเห็นได้ชัดว่าจำนวนเรือประมงที่ลดลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้
เช่นก่อนการประกาศใช้พระราชกำหนด ในปีพ.ศ. 2556 เป็นปีที่มีปริมาณสัตว์น้ำขึ้นท่าที่จังหวัดปัตตานี สูงถึง 223,998 ตัน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 9,733 ล้านบาท
ในขณะที่หลังการประกาศพระราชกำหนด ตัวเลขปริมาณสัตว์น้ำขึ้นท่าที่มากที่สุดคือในปีพ.ศ. 2562 โดยสถิติแจ้งไว้เพียง 103,416 ตัน
เมื่อลองวิเคราะห์เปรียบเทียบเพิ่มเติม ระหว่างตัวเลขของปริมาณสัตว์น้ำที่ขึ้นท่ามากที่สุดภายหลังจากการประกาศใช้พระราชกำหนด คือในปีพ.ศ. 2562 บันทึกตัวเลขไว้ที่ 103,416 ตัน กับตัวเลขของปริมาณสัตว์น้ำที่ขึ้นท่าน้อยที่สุดก่อนการประกาศใช้พระราชกำหนด จะพบว่าปริมาณสัตว์น้ำขึ้นท่าในปี พ.ศ. 2562 ยังน้อยกว่าในปีพ.ศ. 2554 ที่บันทึกตัวเลขไว้ที่ 177,825 ตันเสียด้วยซ้ำ สามารถคำนวณส่วนต่างของปริมาณสัตว์น้ำขึ้นท่าระหว่างสองปีนี้ได้ที่ 74,409 ตัน และมีส่วนต่างมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่กว่า 2,780 ล้านบาท
และหากนับมูลค่าเศรษฐกิจก่อนมีการประกาศใช้พ.ร.ก. การประมง ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2554 -2558 จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งหมดรวมกันประมาณ 43,071 ล้านบาท ในขณะที่หลังประกาศใช้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 -2563 มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมเพียง 22,421 ล้านบาท มีส่วนต่างอยู่มากถึง 20,650 ล้านบาท เป็นมูลค่าที่หายไปเกือบร้อยละ 50 เลยทีเดียว
สถิติปริมาณสัตว์น้ำขึ้นท่าในจังหวัดปัตตานี ปีพ.ศ. 2553-2563
ปี | ปริมาณสัตว์น้ำขึ้นท่า (ตัน) | มูลค่าทางเศรษฐกิจ (ล้านบาท) |
2554 | 177,825 | 6,540.66 |
2555 | 208,483 | 8,953.37 |
2556 | 223,998 | 9,733.82 |
2557 | 204,431 | 6,225.64 |
2558 | 184,215 | 11,620.92 |
2559 | 140,213 | 9,513.98 |
2560 | 77,632 | 2,711.46 |
2561 | 92,073 | 3,563.17 |
2562 | 103,416 | 3,754.62 |
2563 | 82,891 | 2,880.30 |
ใครคือผู้แบกต้นทุน?
สุภาวดีชี้ว่าปัญหาความยากจนที่เพิ่มขึ้นในจังหวัดปัตตานีล้วนข้องเกี่ยวและสืบเนื่องมาจากวิกฤตด้านธุรกิจการประมง เพราะธุรกิจนี้เป็นธุรกิจต้นน้ำที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตคนในพื้นที่ เมื่อมองในทางตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจ สินค้าประมงในจังหวัดปัตตานีอาจหายไปเพียงหลักหมื่นล้าน แต่ถ้าหากพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว อาจจะมากกว่านั้นหลายเท่าตัว เพราะการทำประมงก็มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการประมงอีกมากมาย ทั้งแพปลา ผู้ค้าในตลาด โรงงานแปรรูปอาหารทะเล ไปตลอดจนร้านค้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต่างก็ต้องปิดตัวลงเพราะแรงงานที่มาจับจ่ายใช้สอยหายไป
“การทำประมงเนี่ยมันไม่ได้มีแค่เรือ มันยังมีธุรกิจอื่นๆ อีก เรือลำหนึ่งก็ต้องมีหมด ช่าง อะไหล่ ซ่อม ทาสี ปั๊มน้ำมัน ไปยันหลอดไฟในเรือ คนที่ลงเรือไปก็ต้องไปซื้อ แชมพู สบู่ ยาสีฟันที่ลงไปใช้ในเรือ คนคัดปลา แยกปลาที่สะพาน คนขายน้ำชากาแฟตอนเช้า แรงงานในโรงงานแปรรูป มันเกี่ยวกันหมด การมีอยู่ของธุรกิจประมงเป็นการทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในจังหวัด ถ้าเรือหายปลาหาย แล้วใช้การนำเข้าเอา เศรษฐกิจในจังหวัดมันก็ไม่มีการหมุนเวียน เงินมันก็ไหลไปที่อื่น ประเทศอื่น”
สุภาวดีมีข้อเสนอทิ้งท้ายก่อนจบการสนทนาว่า ธุรกิจประมงนั้นเป็นธุรกิจที่รัฐแทบไม่ต้องสนับสนุนงบประมาณ แต่สิ่งที่ควรจะให้คือโอกาสในการทำกิน ไม่ใช่การปิดกั้นโอกาส
“ประเทศเรามีทะเลอยู่สองฟาก ทรัพยากรก็มีไม่น้อยแต่ไม่สามารถทำมาหากินได้ สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นประเทศชาติเสียประโยชน์ ไม่มีใครได้ประโยชน์ มีแต่ได้หน้า ผู้นำเราบอกเราต้องเป็นหนึ่งในสากล แต่ถ้าเป็นหนึ่งในสากลแล้วประเทศชาติเสียหาย จะเป็นที่หนึ่งไปทำไม”
ปัญหาด้านการประมงในจังหวัดปัตตานีที่เกิดจากความพยายามพัฒนาอย่างผิดที่ผิดทาง ผิดรูปผิดรอยนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่ในระดับมหภาคอย่างการประมงพาณิชย์ที่ประสบปัญหาจากการออกนโยบายของรัฐเพื่อแก้ปัญหาทั้งประเทศเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาในโครงการระดับจุลภาคที่ส่งผลกระทบต่อการทำประมงพื้นบ้านในบริเวณพื้นที่อ่าวปัตตานีอีกด้วย
อ่าวปัตตานี: สุสานการพัฒนา
พื้นที่อ่าวปัตตานีนั้นนอกเหนือจากการเป็นที่ตั้งของสะพานปลาหลักในปัตตานีแล้ว ยังเป็นอ่าวที่ประกอบด้วยวิถีชุมชนของเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก โดยครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองปัตตานี และ อำเภอยะหริ่ง กินพื้นที่รวมประมาณ 74 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ภายในอ่าวประมาณ 54 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่บริเวณปากอ่าวประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร มีการตกตะกอนสูงเพราะได้รับตะกอนจากแม่น้ำสำคัญสองสายคือ แม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำยะหริ่ง
ในอดีตเป็นแหล่งอาหารและทรัพยากรที่สำคัญสำหรับคนในพื้นที่ เพราะอุดมไปด้วยสาหร่ายทะเล และพืชทะเลขนาดเล็ก เป็นแหล่งอนุบาลปลาที่สำคัญสำหรับจังหวัดปัตตานี จากรายงานของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานว่าอ่าวปัตตานี มีสัตว์หน้าดินที่สำรวจพบ 159 ชนิด มีสาหร่ายทะเล 8 ชนิด หญ้าทะเล 4 ชนิด กระจายอยู่ภายในอ่าว บริเวณป่าโกงกางและป่าชายเลนรอบอ่าว ยังเป็นที่อยู่ของนกใกล้สูญพันธ์ อีก 2 ชนิด คือ นกตะกราม และ นกปากช้อนหน้าดำ รวมถึงนกที่อยู่ในสถานะถูกคุกคาม อีก 21 ชนิด จากรายงานดังกล่าว จะเห็นได้ว่าอ่าวปัตตานี เป็นอ่าวที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์สูง
ทว่าสภาพการณ์ต่างๆ เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อสิ่งที่เรียกว่า ‘การพัฒนา’ ได้เดินทางมาถึง
กมล ผิวเหมาะ เจ้าพนักงานประมงอาวุโส หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง ของกรมประมงจังหวัดปัตตานี ให้ข้อมูลว่าอ่าวปัตตานีที่เคยอุดมสมบูรณ์นั้น ปัจจุบันประสบปัญหาหลายประการ ประการแรกคือบริเวณอ่าวปัตตานีที่เคยมีลักษณะเว้าลึก ตอนนี้ตื้นมากขึ้น อันเกิดจากการถมตัวของตะกอนทรายที่มาจากสองส่วน ส่วนแรกคือตะกอนทรายที่มาจากธรรมชาติ คือมาจากแม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำยะหริ่ง ส่วนที่สองคือ ตะกอนทรายที่เกิดจากการถางป่าชายเลนบริเวณรอบอ่าวปัตตานี เพื่อทำบ่อกุ้ง ในช่วงทศวรรษ 2540 เมื่อบ่อกุ้งจำนวนมากปิดตัวลงและกลายเป็นบ่อกุ้งร้างและไม่มีพื้นที่ป่าชายเลนที่จะรองรับตะกอนก็ทำให้ตะกอนทรายต่างๆ จากบ่อกุ้งร้างไหลลงไปในอ่าว ทำให้อ่าวตื้นขึ้น ความตื้นของอ่าวนี้กระทบกับพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำที่มีน้อยลง สัตว์น้ำหลายชนิดว่ายข้ามกองตะกอนทรายเข้ามาวางไข่ไม่ได้ หญ้าทะเล สาหร่ายทะเลที่เคยมีก็หดหาย แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำเหล่านี้ก็หายไป
ปัญหาประการต่อมาคือโลหะหนักที่ไหลมาจากโรงงานอุตสาหกรรมบริเวณต้นแม่น้ำ เมื่อเคลื่อนตัวมามาจนถึงอ่าวปัตตานีซึ่งเป็นปลายน้ำ ด้วยธรรมชาติของโลหะหนักที่เป็นสสารขนาดใหญ่ พัดพาตามกระแสน้ำได้ยากกว่าตะกอนทราย เมื่อโลหะหนักเหล่านี้บรรจบเข้ากับกองตะกอนทรายที่กล่าวไว้ข้างต้น มันจึงยิ่งทับถมและส่งผลให้พื้นที่อ่าวปัตตานีตื้นมากขึ้น
สิ่งที่ตามมาจากการถมตัวและตื้นขึ้นของอ่าวคือปัญหาของปริมาณน้ำจืดที่เพิ่มมากขึ้นภายในพื้นที่อ่าว โดยหากจะเปรียบเทียบแล้ว กองตะกอนทรายและโลหะเหล่านี้กำลังทำหน้าที่ไม่ต่างจากกำแพงที่กั้นเส้นทางการเคลื่อนตัวของกระแสน้ำบริเวณอ่าวปัตตานีกับทะเลอ่าวไทย เมื่อกระแสน้ำเค็มจากทะเลติดอยู่บริเวณฟากหนึ่งของกำแพงไม่สามารถเคลื่อนตัวข้ามมาได้ น้ำที่กักเก็บอยู่บริเวณอ่าวปัตตานีจึงมีเพียงน้ำจืดจากพื้นที่ต้นน้ำจากฝั่งแผ่นดินที่ไหลลงมาตามเส้นทางการเดินของน้ำเท่านั้น
รวมไปถึงตามหลักการทางวิทยาศาสตร์แล้ว การที่กระแสน้ำเค็มไม่สามารถเคลื่อนตัวเข้ามาได้ ไม่ได้ส่งผลเพียงแค่เรื่องค่าความเค็มของน้ำเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อและตัวเลขอุณภูมิของน้ำในอ่าวที่สูงขึ้น เพราะโดยทั่วไปแล้วน้ำมีการถ่ายเทความร้อนระหว่างพื้นที่น้ำที่มีอุณหภูมิสูงกว่าและต่ำกว่าอยู่เสมอ เพื่อเป็นการเฉลี่ยหรือแบ่งค่าอุณหภูมิให้มีความใกล้เคียงกัน ดังนั้นเมื่อน้ำจากกระแสน้ำเค็มจากทะเลอ่าวไทยที่เย็นกว่าไม่สามารถเคลื่อนตัวเข้ามาเข้ามาเพื่อผสมและเฉลี่ยค่าอุณหภูมิน้ำรอบอ่าวปัตตานีที่ร้อนกว่าได้ ตัวเลขค่าความร้อนของน้ำบริเวณรอบอ่าวปัตตานีในปัจจุบันจึงสูงขึ้น
การที่น้ำจืดเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้พืชทะเลและสัตว์น้ำบางชนิดไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ เมื่อพืชทะเลขยายพันธุ์ไม่ได้ ที่วางไข่และอนุบาลสัตว์น้ำก็ลดลงไปด้วย รวมถึงตัวเลขอุณหภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป เมื่อน้ำอุ่นขึ้นจะทำให้หอยบางชนิด เช่นหอยแครงเปลี่ยนเพศจากตัวเมียเป็นตัวผู้ และประสบปัญหาเรื่องการแพร่พันธุ์ ทำให้สัตว์และพืชทะเลที่เคยมีกว่า 150 ชนิดในอ่าว อาจเหลืออยู่เพียงไม่กี่ชนิด
ขุดตะกอน ได้สันดอน
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องของการออกพระราชกำหนดที่ไม่สอดคล้องกับวิถีการประมง ตะกอนทรายที่ถมให้พื้นที่อ่าวตื้นขึ้น สิ่งทับถมกดทับทั้งหมดนี้รวบรวมไว้อย่างชัดเจน ณ บ้านบูดีตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง อันเป็นจุดปลายแหลมสุดของอ่าวปัตตานี
อัลอามีน มะแต อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา และ ประธานเครือข่ายชุมชนประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานี ผู้ที่เกิดและโตที่บ้านบูดีแห่งนี้ ได้ฉายภาพอีกปัญหาหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งก็คือการเกิดขึ้นของสันดอนทรายจำนวนมากบริเวณอ่าวปัตตานี อันเกิดจากโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี
โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานีเป็นโครงการที่เกิดจากการเรียกร้องของชุมชนบริเวณอ่าวปัตตานี เพื่อที่จะแก้ปัญหาอ่าวปัตตานีที่ตื้นขึ้น และแคบลง เป็นการรักษาแหล่งร่องน้ำเดิมซึ่งเป็นพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำ และอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ หลังการสำรวจและพบว่าปากอ่าวที่เคยกว้างกว่า 3 กิโลเมตร เหลือเพียงไม่ถึง 2 กิโลเมตร และร่องน้ำบางส่วนที่เคยลึก 4-10 เมตร เหลือไม่ถึง 3-4 เมตร
รายละเอียดของโครงการนี้คือให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการักษาความั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้ในการปฏิบัติงาน มีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้เป็นผู้ดูแล และเซ็นอนุมัติงบกลางจำนวน 664 ล้านบาท
สำหรับโครงการนี้ทางกรมเจ้าท่าเป็นผู้รับผิดชอบเพื่อทำโครงการดังกล่าว ในกรอบระยะเวลา 2 ปี คือ ปีพ.ศ. 2560 – 2562
อัลอามีนเล่าว่าปัญหาจากโครงการดังกล่าวคือการดำเนินการขุดลอกนั้นไม่ได้เป็นไปตามข้อกำหนดที่วางเอาไว้ จากที่ต้องนำทรายที่ขุดลอกออกไปทิ้งกลางทะเลแต่กลับปล่อยทรายเหล่านั้นทิ้งไว้ทั่วบริเวณอ่าวเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดสันดอนทราย หรือกองตะกอนทรายที่ทับทบสะสมจนกลายเป็นกำแพงทรายหรือจุดกีดขวางจำนวนมากในอ่าวปัตตานี
“ตามข้อกำหนดของโครงการคือจะมีการขุดลอกเอาทรายออกไปทั้งหมด 13 ล้านคิว โดย 9 ล้านคิว จะเอาไปทิ้งกลางทะเลห่างจากฝั่ง 9 กิโลเมตร บางส่วนจะทิ้งบนฝั่งและบางส่วนจะนำไปเสริมชายหาด แต่กลายเป็นว่าพอขุดลอกเสร็จ อุปกรณ์ต่างๆ ก็ทิ้งไว้ที่นี่ ทรายที่ขุดออกมาก็ยังหลงเหลืออยู่ที่นี่เป็นจำนวนมากจนเกิดเป็นสันดอนทรายขึ้นมา”
อัลอามีนเน้นย้ำว่าโครงการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในบริเวณอ่าวปัตตานีเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะไม่ได้แก้ปัญหาแล้ว ยังกลับสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา จากที่ควรจะได้ร่องน้ำกลับมาแต่กลับได้สันดอนทรายที่เป็นอุปสรรคต่อวิถีชีวิตและการทำมาหากินของชาวบ้านเพิ่มขึ้นเสียด้วยซ้ำ
“แทนที่จะได้ร่องน้ำให้สัตว์น้ำกลับมาอยู่อาศัย แต่กลับได้สันดอนทรายที่ไปทับร่องน้ำเดิมทำให้สัตว์น้ำหายไปมากกว่าเดิม บางทีชาวบ้านเอาเรือออกมาตอนเช้ามืดก็มองไม่เห็นก็ไปชนสันดอนบ้าง วางอวนแล้วติดสันดอนบ้างทำให้ลำบากขึ้นอีก” อัลอามีนกล่าว
โครงการพัฒนาที่ไร้ทิศทาง
นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาก่อนหน้า โครงการต่อเนื่องยาวนานจากรัฐบาลหลายสมัยอย่างโครงการสร้างกำแพงกั้นคลื่นก็ยังเป็นตัวแปรสำคัญในการทำลายความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวปัตตานี
ในอดีตระบบนิเวศบริเวณนี้ ได้รับการบันทึกว่าปากอ่าวมีขนาดกว้างประมาณ 3 กิโลเมตร กระแสน้ำมีความเชี่ยวแรง น้ำเค็มเคลื่อนตัวเข้ามาในบริเวณอ่าวได้มาก และจะพัดพาตะกอนทรายหรือโลหะหนักต่างๆ ที่ทับถมอยู่บริเวณอ่าวออกไป หากนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2540 ใต้การบริหารงานของรัฐบาลนายชวน หลีกภัยเป็นต้นมา ได้มีการอนุมัติและดำเนินโครงการสร้างกำแพงกั้นคลื่นเป็นระยะยาวมากกว่า 20 ปี
สำหรับโครงการสร้างกำแพงกั้นคลื่นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการชะลอและป้องกันการกัดเซาะของดินจากกระแสน้ำและคลื่นในพื้นที่บริเวณรอบชายฝั่งทั่วประเทศไทย
โดยในส่วนของอ่าวปัตตานีก็ได้สร้างกำแพงกั้นคลื่นตลอดชายฝั่งปัตตานี มาจนถึงบริเวณหาดรูสะมิแล หลังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อันเป็นปากอ่าวอีกฝั่งหนึ่ง
แต่ปัญหากลับเพิ่มขึ้น เพราะหลังการสำรวจที่ผ่านมาพบแล้วว่าการสร้างกำแพงกั้นคลื่นดังกล่าว ไม่ได้กั้นเพียงแค่คลื่น แต่ส่งผลกระทบต่อการกั้นกระแสเคลื่อนตัวของนำ้ทะเลเข้ามายังบริเวณอ่าว ตามมาด้วยปัญหาเรื่องของพื้นที่ปากอ่าวที่ขยับตัวแคบลงจนปากอ่าวปัตตานี ที่เคยกว้างประมาณ 3 กิโลเมตร เหลือเพียงแค่ 1.7 กิโลเมตร ในระยะเวลาเพียง 20 ปี
เมื่อน้ำทะเลไม่สามารถเคลื่อนตัวเข้ามาได้ และปากอ่าวตื้นขึ้นจากตะกอนที่ทับถม ปัจจัยทั้งหมดนี้กอปรกันทำให้สัตว์น้ำ และพืชน้ำ ในทะเลสาบปัตตานี มีปริมาณน้อยลง เนื่องจากไม่สามารถแพร่พันธ์ุได้
“ก่อนมีโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานีเนี่ย ชาวบ้านก็รวมตัวกันบอกว่าในอ่าว ไม่ต้องขุดหรอก ไปขุดตรงปากอ่าวให้กว้างเหมือนเดิมได้ไหม” แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้รับการตอบรับอย่างที่เสนอไป”
อัลอามีนสะท้อนปัญหาดังกล่าวก่อนเล่าต่อว่า
“ช่วงฤดูมรสุมปลาทุกอย่างจะแหวกว่ายเข้ามาในอ่าว มาอาศัย แล้วสัตว์น้ำก็จะอยู่ในนี้แหละ ไม่ออกไปแล้ว เพราะอยู่ที่นี่มันมีทุกอย่าง มีสาหร่าย มีหญ้าทะเล มีพื้นที่ให้เขาอยู่ได้ ชาวบ้านก็จะสามารถจับได้ แต่พอปากอ่าวแคบลงๆ ทรัพยากรก็ไม่เข้ามา ทรัพยากรก็น้อยลง พอทรัพยากรน้อยลง ชาวบ้านก็เริ่มเปลี่ยน ใช้อวนแบบเดิมก็ไม่คุ้มแล้ว เลยมีบางกลุ่มหันมาใช้ไอ้โง่นี่แหละ ทรัพยากรก็น้อยลงเรื่อยๆ คนที่ยังอยู่ได้ทำมาหากินได้บ้างก็อยู่ไป คนที่อยู่ไม่ได้ก็ย้ายไปทำงานมาเลเซีย”
“ลอบพับ” อุปกรณ์ทำลายล้าง
ในขณะที่ปัญหาใหญ่ที่สุดบริเวณอ่าวปัตตานีในมุมมองของทางประมงจังหวัดปัตตานีตอนนี้ คือการลักลอบใช้อุปกรณ์ทำประมงที่ผิดกฎหมายอย่างลอบพับ หรือคำศัพท์ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ไอ้โง่”
ลอบพับหรือ “ไอ้โง่” คือลอบขนาดยาวที่ใช้ดักจับสัตว์น้ำ เป็นอุปกรณ์ห้ามใช้งานตามพระราชกำหนดการประมง ในระยะเวลาเกือบสิบปีที่ผ่านมา อวนชนิดนี้เป็นปัญหาและแพร่ระบาดอย่างมากในพื้นที่อ่าวปัตตานี เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาถูกกว่าเกือบสิบเท่าตัว ใช้งานง่าย ไม่จำเป็นต้องดูแลรักษา มีตาถี่หรือระยะห่างระหว่างช่องไฟต่ำกว่า 1 เซนติเมตร ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์ที่อนุญาตให้ใช้อวนลอย หรืออุปกรณ์การจับสัตว์น้ำที่มีตาถี่ขนาดไม่ต่ำกว่า 2.5 เซนติเมตร
การใช้อุปกรณ์จับสัตว์น้ำที่มีตาถี่ประมาณ 1 เซนติเมตรนี้ทำให้สัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กยังไม่โตพอที่จะถึงขนาดบริโภคติดเข้าไปด้วย ทำให้การแพร่พันธ์ุและเพาะพันธ์ุสัตว์น้ำต่างๆ เป็นไปได้ยาก กมลเล่าว่าทางประมงจังหวัดเอง ได้มีการพยายามปล่อยพันธ์สัตว์น้ำลงไปในอ่าวปัตตานีปีละหลายตัน ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา หลากหลายสายพันธ์ุ เพื่อที่จะเพาะพันธ์ุและอนุรักษ์สัตว์น้ำเหล่านี้ไว้ แต่การลักลอบใช้ไอ้โง่ทำให้สัตว์น้ำที่ปล่อยลงไปถูกดักจับเสียหมด โดยยังไม่มีโอกาสเจริญเติบโตหรือแพร่พันธ์ุต่อ
ในส่วนของแนวทางแก้ไขปัญหาการใช้ลอบพับหรือ “ไอ้โง่” ในพื้นที่นั้นทางประมงจังหวัดเองใช้หลากหลายวิธีในการแก้ไขปัญหาทั้งพยายามให้ความรู้แก่ประชาชน พยายามดักจับและปราบปราม แต่ด้วยความที่ทรัพยากรบุคคลของทางการเองมีจำกัด มีเจ้าพนักงานอยู่ไม่กี่สิบคน และเรือตรวจตราอีกเพียง 3-4 ลำ ในขณะที่อ่าวปัตตานีนั้นพื้นที่กว้างใหญ่ ทำให้ไม่สามารถปรามปราบได้หมดเสียที จึงต้องพยายามใช้วิธีการทำงานกับภาคประชาสังคมในพื้นที่เพื่อช่วยกันดูแลสอดส่อง และให้ความรู้เรื่องการทำการประมงและปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันแทน
ความขัดแย้งในพื้นที่: ผลพวงการพัฒนาที่ไร้การปรึกษาหารือ
การเข้าใจปัญหาสารพันที่เกิดขึ้นระหว่างผู้อยู่อาศัย และชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ จะขาดเรื่องของการใช้ “ไอ้โง่” หรือลอบพับที่สร้างปัญหาอย่างมากต่อการฟื้นฟูระบบนิเวศบริเวณอ่าวปัตตานีไปไม่ได้
อัลอามีนให้ข้อมูลว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการใช้ “ไอ้โง่” เพิ่มมากขึ้นคือหลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประเทศมาเลเซียได้มีการปิดชายแดน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ ที่ย้ายไปเป็นแรงงานในประเทศมาเลเซีย ย้ายกลับมาอยู่บริเวณเดิม แต่เมื่อกลับมาที่บ้านเกิดแล้วก็ไม่สามารถหางานได้เช่นกัน ให้ทำประสบปัญหาขาดรายได้ จึงต้องหันมาทำประมง แต่การทำประมงในวิถีเก่าก็ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวจำนวนมากที่กลับมาจากมาเลเซียจึงต้องหันมาใช้ “ไอ้โง่” มากขึ้น
การใช้ไอ้โง่ที่เพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ บางหมู่บ้าน ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการทำประมงในบริเวณอ่าวปัตตานี จนทำให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ระหว่างกลุ่มที่ใช้ “ไอ้โง่” ในการทำประมง กับกลุ่มที่ต้องการทำประมงในวิถีดั้งเดิม
“มีทั้งความขัดแย้งและการพูดคุยอยู่หลายครั้ง ในเมื่อเราทำอะไรไม่ได้เราก็แบ่งเขตชัดเจนบอกว่า คุณทำได้แค่ตรงนี้นะ ถ้าคุณทำล้ำเขตมาผมเผาทิ้ง ผมทำลายนะ แล้วเราก็เก็บทำลายไปหลายร้อยอันแล้ว”
เมื่อถามต่อว่าเมื่อทำลายอุปกรณ์เช่นนี้ไม่เกิดปัญหาตามมาหรือ เขาตอบว่า
“ไอ้เรื่องถึงขั้นจะไปยิงกันมันก็ไม่มีหรอก เพราะเขาก็รู้ว่าเขาผิด แต่ก็มีการกลั่นแกล้งกัน บางทีเขาก็เอาเสาปูนไปตั้งในอ่าว หรือเอาเสาไม้ตอกตะปูไปวางไว้ เวลาที่เรานำอวนลอยไปวาง ก็จะทำให้อวนไปติด เกิดความเสียหายกับอวนเหมือนกัน”
“คุยนะ แต่คุยยาก จะคุยยังไงล่ะ เขาก็อ้างความเชื่อ เขาก็บอกว่า มันไม่มีทางหมด ธรรมชาตินี้เป็นของพระเจ้า พระเจ้าจะเอาอาหารมามอบให้พวกเรา ซึ่งสำหรับผมความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่ผิด”
ความขัดแย้งนี้บานปลายไปจนถึงขั้นที่ทางกลุ่มต้องติดต่อไปยัง ศอ.บต. และ ยื่นเรื่องไปยังกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ของรัฐสภาไทย เพื่อหาทางออก โดยทางประมงจังหวัดก็ได้เข้ามาช่วยเหลือในการปราบปรามโดยมีการส่งเรือตรวจการเข้ามาตรวจสอบการทำประมงผิดกฎหมายเหล่านี้ในบริเวณอ่าวปัตตานีเพิ่มเติม แต่ปัญหาเหล่านั้นก็ยังคงมีอยู่
“ก่อนหน้านี้เวลาเขาเอาไอ้โง่ลง เขาก็จะเอาไม้ปักไว้เพื่อกำหนดจุดที่วาง พอเราเห็นไม้ปักเราก็จะรู้แล้วว่าตรงนี้มีไอ้โง่ เราก็จะเอาขึ้นมาแล้วนำไปทำลายได้ แต่ทุกวันนี้เขาก็ใช้จีพีเอส (GPS) เอา ก็จะไม่มีอะไรโผล่มาบนน้ำ เราก็จะไม่เห็น ก็จะหาไม่เจอแล้ว เรือตรวจการณ์ที่เข้ามาก็จะหาไม่เจอเหมือนกัน”
เขาสะท้อนปัญหาก่อนจะเล่าต่อว่าปัจจุบันในตำบลแหลมโพธิ์ มีเรือประมงพื้นบ้านอยู่ประมาณ 200 ลำ และมีกลุ่มที่ใช้ “ไอ้โง่” อยู่ประมาณ 30 ลำ ซึ่งในปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่จะลดลงไปเรื่อยๆ เนื่องด้วยเมื่อถูกจับถูกปราบ ก็ไม่คุ้มความเสี่ยง รวมไปถึงจากแต่ละคนที่เคยจับได้ประมาณ 10 กิโลกรัมต่อวัน ก็เหลือเพียง 1-2 กิโลกรัมต่อวัน ทางกลุ่มที่ใช้เองก็เริ่มรู้สึกว่าไม่คุ้มที่จะใช้ต่อไป
อัลอามีนเชื่อมโยงปัญหาการใช้ ไอ้โง่ และ ปัญหาความแคบของอ่าวปัตตานีเข้าด้วยกัน และเชื่อว่าปัญหาไอ้โง่จะถูกแก้ได้หากปากอ่าวปัตตานีกว้างขึ้น
“เมื่อปากอ่าวกว้างขึ้น น้ำเค็มก็จะเข้ามาในอ่าวปัตตานี ระดับความเค็มของน้ำก็จะเพิ่มขึ้น สาหร่ายทะเลที่มันอาศัยความเค็มของน้ำมันจะงอกเงย ก็จะฟื้นขึ้นมา สัตว์น้ำก็จะกลับมาอาศัยเหมือนเดิม กระแสน้ำก็แรงขึ้น สามารถพัดพาตะกอนออกไปได้ ปัญหามันก็จบ”
“ปัญหาเรื่องไอ้โง่ด้วย ผมคิดว่า เมื่อแก้ปัญหาปากอ่าวได้แล้ว เมื่อทรัพยากรมันเพิ่มขึ้น เราก็จะสามารถไปพูดคุยกับคนที่ใช้ไอ้โง่ได้ว่า เลิกเถอะ เรากลับมาทำประมงแบบเดิมได้ไหม ทรัพยากรทุกอย่างกลับมาหมือนเดิมแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้แล้ว”
บททดสอบที่ยิ่งใหญ่
นิมา อีอาแซ ชาวบ้านบูดี ประกอบอาชีพรับซื้อของทะเลจากคนในหมู่บ้านแล้วนำไปขายในตัวเมืองปัตตานี โดยตัวนิมาเองเป็นรุ่นที่ 3 ของบ้านที่รับช่วงต่อจากบิดามากว่า 30 ปีแล้ว เขาได้เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่าในอดีตนั้น พื้นที่บริเวณนี้อุดมไปด้วยปลาหลากหลายชนิด โดยเฉพาะปลากระบอก ที่นับได้ว่าเป็นปลาขึ้นชื่อของบริเวณอ่าวปัตตานี ซึ่งปัจจุบันหาได้ยากขึ้นและตัวเล็กลง กุ้งอันเป็นสินค้าหลักที่นิมานำไปขายก็หาย รวมถึงปูม้าที่เคยมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์บริเวณใกล้ป่าโกงกางก็ไม่มีอยู่อีกต่อไป
“แต่ก่อนมีกุ้งเยอะไปหมด กุ้งกุลา กุ้งลายเสือ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว กุ้งหัวมันก็ไม่มีแล้ว” นิมาเล่าถึงสภาพการณ์ปัจจุบันให้ฟังว่า “แต่ก่อนนี่ (20-30 ปีที่แล้ว) วันนึงเอาไปขายได้ 3-400 กิโล ทุกวันนี้ 4-50 กิโลก็เยอะแล้ว บางวัน 20 กิโล ค่าน้ำมันยังไม่คุ้มเลย”
นิมาสะท้อนว่าการเกิดขึ้นของสันดอนทรายนั้นนอกจากจะทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหายไปแล้ว ก็ทำให้ชาวบ้านทำการประมงได้ยกขึ้น การวางอวนลอยแบบที่เคยทำกันมาก็วางได้ยากขึ้นและบางครั้งก็ติดสันดอนจนอวนเสียหาย จึงอาจทำให้ชาวบ้านบางพื้นที่หันไปใช้ลอบพับหรือ “ไอ้โง่” เนื่องจากวางง่ายกว่าและทนทานกว่าแต่ก็ยิ่งทำให้สัตว์น้ำที่จับได้มีคุณภาพต่ำลงและความยั่งยืนก็จะหายไป
แม้ชุมชนบ้านบูดีและนิมาจะไม่รับซื้อ ไม่สนับสนุนการใช้ลอบพับแต่นิมาก็ได้บอกกับเราว่า หากไปสังเกตดูในตลาดก็จะพบว่า ในอดีตกุ้งที่นำมาขาย เมื่อนับจากปริมาณจำนวนกุ้งจะอยู่ที่ 40-50 ตัวต่อกิโลกกรัม หากตั้งแต่มีการใช้ลอบพับที่สามารถดักจับกุ้งขนาดเล็กที่ยังโตไม่เต็มวัยได้ จำนวนตัวกุ้งต่อหนึ่งกิโลกรัมอาจมากถึง 70 ตัว ซึ่งหมายความว่า ต่อให้ทางชุมชนบ้านบูดีจะไม่รับซื้อ แต่ทางชุมชนบ้านอื่นก็ยังรับซื้อเช่นเดิม
“คนแถวนี้วางอวนวันหนึ่งแค่ 2-3 ชั่วโมง หรือ 3-4 ชั่วโมง ก็พอจะได้กุ้งได้ปลา สัก 500-600 บาท 700-800 บาทแล้ว ทุกวันนี้ 6-7-8 ชั่วโมง ได้สัก 100-300 บาท”
อัลอามีนกล่าวเสริมขึ้นมาว่า “สำหรับชาวบ้าน อ่าวปัตตานีเนี่ยเป็นเหมือนธนาคารสำหรับเค้า เค้าไปถอนเงินมาตอนไหนก็ได้”
“แต่ตอนนี้ธนาคารปิด” นิมากล่าวสำทับ
เมื่อชีวิตความเป็นอยู่เปลี่ยนไป รายได้ที่ขาดมือ นิมาทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงอ่อนแรง
“แม้ความยากลำบากจะเพิ่มขึ้น แต่ด้วยวิถีชีวิตของชาวมุสลิมมีเยอะก็ใช้เยอะหน่อย ไม่มีก็ไม่ค่อยใช้ หาพออยู่ไปวันๆ ก็ถือว่าเป็นบททดสอบ”
การพัฒนาด้วยสายตาคนนอก
เมื่อการพัฒนาเหล่านี้เป็นการพัฒนาที่ไม่ได้ถามไถ่ความต้องการของคนที่อยู่ในพื้นที่ หรือไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับผู้ที่จะต้องรับผลกระทบโดยตรงแล้ว ปัญหาต่างๆ ที่รัฐพยายามแก้ อาจจะไม่ได้ถูกแก้แต่กลับกลายเป็นปัญหาใหม่เพิ่มพูนขึ้นมาตลอด
ปัญหาเศรษฐกิจเช่นการประมงในระดับมหภาคจากนโยบายรัฐที่ส่งผลให้เรือประมงหดหาย และมูลค่าทางเศรษฐกิจที่พึงได้จากการทำประมงพาณิชย์ที่ลดลงไปกว่าครึ่ง มาจนถึงโครงการขนาดกลางและขนาดเล็ก อย่างการส่งเสริมให้ทำบ่อเลี้ยงกุ้ง การทำกำแพงกั้นคลื่น ไปจนถึงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ไม่ได้เพียงแต่ล้มเหลวในเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ การเคลื่อนย้ายแรงงาน ไปจนถึงปัญหาความขัดแย้งในชุมชนอีกด้วย
กว่า 17 ปีที่จังหวัดปัตตานีมีการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ เป็นเวลาเท่าๆ กันกับที่ปัตตานีครองแชมป์ความยากจน พอทำให้เห็นว่าการมุ่งพัฒนาที่ขาดการปรึกษาหารือหรือบูรณาการร่วมกันอย่างจริงจัง ก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างไรบ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาในพื้นที่ที่ใช้กฎหมายพิเศษเพื่อจะสั่งเสกสิ่งใดก็ได้ลงมา โดยไม่ได้ถามความต้องการของคนในพื้นที่ว่าต้องการสิ่งใด
ในขณะที่การพัฒนาผ่านสายตาของรัฐดำเนินไป แต่การพัฒนาดังกล่าวตรงกับความต้องการของคนในปัตตานีหรือไม่สุดท้าย แล้วการพัฒนาที่นำโดยรัฐแบบที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะนำมาซึ่งบททดสอบแบบไหน และ จะจบลงเมื่อไหร่อย่างไร
ยังเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าคอยคำตอบกันต่อไป
—————————————————-
อ้างอิงข้อมูลเชิงตัวเลข
– สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
– กลุ่มสถิติการประมง กรมประมง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
– สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ