“กิจของสงฆ์” ในการเมืองไทย : พระจักรี อภินันโท
เมื่อ ‘พระสงฆ์’ ปรากฏตัวในความขัดแย้งหรือการชุมนุมทางการเมือง คำกล่าวว่า “พระไม่ควรจะยุ่งกับการเมือง” นับเป็นถ้อยคำที่มักได้ยินเสมอ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าพระสงฆ์เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยตลอดมา ตั้งแต่พระกิตติวุฑโฒ กับประโยค “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” กลุ่มสันติอโศกของสมณะโพธิรักษ์ในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ หรือขบวนการจีวรแดงในช่วงแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ ไปจนถึงอดีตพระพุทธอิสระในการชุมนุมของกลุ่มกปปส.
ล่าสุดการชุมนุมของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม รวมไปถึงกลุ่มประชาชนปลดแอกที่ผ่านมาพระสงฆ์ก็ได้เข้ามามีบทบาทเช่นกัน
Plus Seven พูดคุยกับ พระจักรี อภินันโท พระสงฆ์ที่ได้เข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในประเด็นการเมืองและศาสนา พระกับการเมือง ความเชื่อในสังคมไทย รวมไปถึง การรวมศูนย์อำนาจขององค์กรสงฆ์
เมื่อการเมืองยุ่งกับสงฆ์
พระจักรีอธิบายถึงการแยกตัวจากการเมืองของพระสงฆ์ว่าวลี “พระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง” เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกจริง มีที่มาจากวจนะของพระพุทธเจ้าที่ทรงเล่าว่าในสมัยที่พระองค์เป็นเจ้าชายสิทธัตถะนั้น พระองค์เป็นเจ้าชายองค์หนึ่งของศากยวงศ์และรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก ดังนั้นภิกษุจึงไม่ควรยุ่งกับการเมือง
แต่พระจักรีมองว่านั่นเป็นมุมมองต่อการเมืองเมื่อ 2500 กว่าปีที่แล้ว และพระพุทธองค์ก็ไม่ได้ตรัสห้ามอะไร ขณะที่ข้อห้ามพระสงฆ์ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของประเทศไทยนั้นปรากฏชัดเจนในคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่องห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ. 2538 และล่าสุดในคำสั่งเจ้าคณะปกครองฉบับพิเศษปีพ.ศ. 2560 โดยใจความระบุว่า ห้ามพระสงฆ์แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ห้ามเข้าร่วมทางการเมือง ห้ามวิจารณ์ทางการเมือง ห้ามแสดงออกทางการเมือง
“การประกาศนี้ก็เป็นการระบุกว้างๆ ไม่ได้มีการระบุการลงโทษที่ชัดเจน ระบุแต่เพียงว่าให้พระสังฆาธิการใช้ดุลยพินิจเอา ซึ่งแทบไม่มีผลทางกฎหมายเพราะเป็นโปรโตคอลเฉยๆ แต่ให้อำนาจไว้กว้างมากถึงขนาดที่ถ้าพระโพสต์ว่า รักทักษิณ หรือ รักธนาธร ก็อาจโดนจับสึกได้”
พระจักรีเล่าต่อว่าก่อนที่พระพุทธเจ้าจะดับขันธ์ปรินิพพาน พระองค์ได้บอกไว้ว่า การปกครองคณะสงฆ์นั้นให้เป็นไปอย่างเรียบง่ายที่สุด กล่าวคือต้องมีลำดับชั้นให้น้อยที่สุด ในทางกลับกัน ปัจจุบันองค์กรสงฆ์เต็มไปด้วยลำดับชั้นพัดยศมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ลอกเลียนมาจากคณะสงฆ์ของคริสตจักร
มิหนำซ้ำการปกครองคณะสงฆ์เช่นตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็ถูกแต่งตั้งโดยฆราวาส นัยหนึ่งคือในขณะที่ฆราวาสเข้ามายุ่งเกี่ยวในกิจการสงฆ์ แต่กลับบอกไม่ให้สงฆ์ไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมของฆราวาส ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกัน
“หากจะให้พระสงฆ์ปกครองกันเองอย่างสงบก็ต้องขจัดตำแหน่งชั้นลำดับพัดยศเหล่านี้ด้วย เพื่อที่จะเกิดการปกครองสงฆ์ที่ไม่ถูกรัฐแทรกแซง”
พระจักรีกล่าวอีกว่าการทำให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติมีแต่จะทำให้พระเกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้น เพราะจะมีความพยายามในการดึงงบประมาณไปพัฒนาเพียงวัดของตัวเองหรือคณะสงฆ์บางส่วนที่ตนปกครอง
“วัดควรจะพึ่งพาเพียงแค่ญาติโยมที่ศรัทธาในวัดของตน ไม่ใช่ไปดึงภาษีที่อาจจะได้มาจากชาวคริสต์ ชาวมุสลิม หรือศาสนิก อื่นๆ ที่อยู่ในชาติเช่นกันไปพัฒนาศาสนาตนแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งยังไม่เข้ากับสภาวะสมัยใหม่ที่ต้องการสร้างรัฐฆราวาสกันขึ้นมา หากศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ การเมืองกับศาสนาจะยิ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกจากกันได้เลย”
กล่าวคือตราบใดที่องค์กรสงฆ์ยังเกี่ยวข้องกับกลไกของภาครัฐ ทั้งด้านงบประมาณ ด้านการจัดตั้งองค์กรที่นำไปสู่ลำดับศักดิ์ และมีการพยายามวางสถานะให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ การปฎิเสธความสัมพันธ์ของพระสงฆ์กับการเมือง ดูเหมือนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ตอบแทนญาติโยม
พระจักรีอธิบายว่าก่อนที่จะตัดสินใจออกมาร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งในวันที่ 10 สิงหาคม และ 19 กันยายนนั้น ตนจำเป็นต้องสอบนักธรรม และระหว่างท่องหนังสือเพื่อทบทวนทำความเข้าใจ ก็ได้พบประโยคที่ทำให้ต้องฉุกคิดเกี่ยวกับบทปัจจเวกหรือการพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ของสงฆ์ โดยประโยคนั้นกล่าวว่า ”ปะระปะฏิพัทธา เม ชีวิกา” แปลว่าชีวิตของภิกษุล้วนต้องพึ่งพิง
“ถ้าถามว่าต้องพึ่งพิงใครเราก็ต้องพึ่งพิงญาติโยม เวลาที่เราไปบิณฑบาตตอนเช้า เราเห็นญาติโยมของเราเขาลำบากเขามีทุกข์ แต่เขาก็ยังต้องมาใส่บาตรให้เรา แล้วเราจะวางเฉยได้อย่างไร”
แรกเริ่มเดิมทีการเข้าร่วมกับการชุมนุมของพระจักรีสืบเนื่องมาจาก พริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563 ได้นิมนต์ครั้งแรกในการสวดมนต์และประพรมน้ำพระพุทธมนต์เมื่อครั้งการชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563
ต่อมาการปรากฏตัวของพระสงฆ์ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเริ่มเป็นที่จับตามองมากขึ้น เมื่อมีการเข้าร่วมในวันที่ 19 กันยายน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพราะนอกจากจะมีการประพรมน้ำพุทธมนต์และสวดอภิธรรมแล้ว ยังได้มีการแสดงธรรมเทศนาที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยยกเรื่อง ‘ธัมมิกราช’ ที่อยู่ใน ‘อธัมมิกสูตร’ ขึ้น
ซึ่งบทดังกล่าวเป็นพระสูตรที่กล่าวถึงการที่พระราชาไม่ครองตนอยู่ในศีลในธรรม ถ้าหากพระราชาไม่ประพฤติตนอยู่ในศีลในธรรมแล้วก็อาจทำให้บ้านเมืองเกิดกลียุคได้ เพราะคนก็จะประพฤติชั่วไปเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่กษัตริย์ลงไปจนถึงเสนา อำมาตย์ และลงมาสู่ประชาชน ไปจนถึงสิงสาราสัตว์ในรัฐนั้นๆ
พระจักรียังได้อธิบายพร้อมตีความเพิ่มเข้าไปจากพระสูตรดังกล่าว “สิ่งที่พระสูตรนี้แฝงไว้ก็คือการมองเรื่องโครงสร้าง ว่าเป็นการปกครองที่มีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ผู้ปกครอง คราวนี้ถ้าผู้ปกครองมันแย่มันก็จะแย่ทั้งระบบ ดังนั้นมันไม่ได้เกี่ยวหรอกว่าพระราชาจะอยู่ในธรรมหรือไม่อยู่ในธรรม ถ้าพระราชาอยู่ในธรรมแล้วมีอะไรการันตีว่าลูกของพระราชาจะอยู่ในธรรมด้วย แต่อาตมามองว่า เนี่ยระบบมันไม่ดีดังนั้นอำนาจมันจึงต้องกระจาย”
พระคาถาราษฎร์
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือการเลือกบทสวด โดยพระจักรีและสหายธรรมได้เลือกบท อะทาสิ เม หรือ ชื่อเต็มคือ ติโรกุฑฑสูตร เพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมือง และต่อด้วย พระคาถาชัยน้อย หรือ จุลชัยยะมงคลคาถา ซึ่งเป็นบทสวดสำเนียงลาวมาใช้สวดแทนบทปรกติทั่วไปเช่นบทสวดพระปริตร
“การเลือกบทสวดนี้เป็นความจงใจเพราะอาตมารู้สึกว่าบทสวดมาตรฐานที่ใช้กันในการเจริญพระพุทธมนต์นั้นจะใช้บทสวดที่เป็นคัมภีร์หลวง คือเชื่อมโยงกับเจ้าหมดเลย แต่พระคาถานี้เป็นพระคาถาที่ถูกสร้างขึ้นในล้านช้าง เป็นคาถาที่ถูกใช้โดยชาวบ้านในยามบ้านเมืองมีภัย เป็นคาถาบ้านๆ เป็นคาถาที่ไม่ได้มาจากส่วนกลางและไม่ได้ยึดโยงกับศักดินาเท่าไหร่ ถ้าไปดูพระปริตรจะรู้เลยว่าพูดถึงอะไร มันสะอิดสะเอียนที่จะสวดให้โยมฟัง”
ทั้งนี้ บทสวดพระปริตรเป็นบทที่เอ่ยถึงการที่พระพุทธเจ้าไปโปรดชนชั้นสูง ส่วนใหญ่อัญเชิญในวังเพื่อระลึกว่าพระพุทธเจ้าเคยมาโปรดกษัตริย์ ซึ่งในอดีตเคยมีข้อห้ามว่าพวกไพร่ไม่ควรได้ฟัง แม้ปัจจุบันจะเริ่มมีการใช้แพร่หลายแล้วก็ตาม
“เอาง่ายๆ บทสวดวัดหลวงกับวัดราษฎร์ยังต่างกันเลย มันก็จะมีวิธีคิดว่าพิธีหลวงก็เอาไปเยอะหน่อย พิธีราษฎร์เอาไปแค่นี้พอ แต่อาตมาไม่เห็นด้วยกับตรงนี้ก็ตัดบทเลย ไม่ต้องใช้สักบทเลย” พระจักรีกล่าวทิ้งท้าย