ArticlesFEATUREDLatest

อาชีวะอยู่ตรงไหนในการชุมนุมทางการเมือง?

การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เป็นต้นมา อาจกล่าวได้ว่าเป็นการชุมนุมที่เกิดจากคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในสถานศึกษาเป็นหลัก เนื่องด้วยการชุมนุมเริ่มขึ้นในสถานศึกษา ก่อนขยายตัวไปยังพื้นที่อื่น และดึงประชาชนกลุ่มต่างๆ มาเข้าร่วม ไปจนถึงการชุมนุมต่อต้านอำนาจนิยมในระบบการศึกษาไทย ของกลุ่มนักเรียนที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ และการชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ในโรงเรียนทั่วประเทศ

แต่ไม่ใช่เพียงเด็กนักเรียนสายสามัญ และนักศึกษามหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมือง นักเรียนสายอาชีพ อาชีวะ หรือที่เรียกกันว่าเด็กช่าง ก็มีส่วนในการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เรียกร้องประชาธิปไตยไม่แตกต่างกัน เห็นได้จากอาร์มสีขาวโดดเด่น “ฟันเฟืองประชาธิปไตย” หรือ แม้แต่ป้ายผ้าขนาดใหญ่ที่ผูกข้างรั้วกระทรวงศึกษาธิการเขียนว่า “อาชีวะปะทะเผด็จการ”

อาชีวะในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

บทบาทสำคัญของอาชีวะ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เริ่มที่การเคลื่อนไหวในช่วงปี 2516 ร่วมกับนักศึกษา และ ประชาชนในการเรียกร้องทางการเมืองที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่ด้วยความขัดแย้งหลายประการ จึงนำไปสู่การออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายนักศึกษา 

จากนั้นก็มีการเคลื่อนไหวของฝ่ายอาชีวะอีกหลายครั้ง เช่น ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2518 ศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะและสหพันธ์นักศึกษาครูได้จัดการชุมนุมที่สวนลุมพินี และเดินขบวนไปยังสถานทูตสหรัฐฯ เพื่อขอบคุณที่ให้ความช่วยเหลือประเทศไทย และได้มีการมอบกระเช้าดอกไม้แก่อุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้ระหว่างช่วงปี 2517 จนถึง 2519 การพยายามแบ่งแยกอาชีวะ ออกจากขบวนการทางการเมืองของนักศึกษายิ่งเข้มข้นขึ้น โดยมีการจัดตั้งจากเจ้าหน้าที่อาวุโสในกองทัพ ชื่อ พล.ต.สุตสาย หัสดิน (ขณะนั้นดำรงยศพันเอกพิเศษ) ให้เป็นกองกำลังอาวุธปฏิกิริยาหรืออันธพาลการเมืองที่อยู่เหนือกฎหมาย เพื่อต่อต้านขบวนการนักศึกษา และนำไปสู่การเป็นกำลังหลักในการฆ่า และปราบปรามนักศึกษา ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

การช่วงชิงความหมาย “อาชีวะ”

ในช่วงเดือนสิงหาคมของปี 2563 เรื่อยมาจนถึงเดือนกันยายนมีการชุมนุมภายใต้ชื่อ ศูนย์กลางประสานงานนักศึกษาอาชีวะประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ ศอปส. ที่มีการอ้างถึงความเป็นกลุ่มอาชีวะร่วมอยู่ในชื่อ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพที่ออกมากลับกลายเป็นการชุมนุมของกลุ่มผู้สูงอายุเสียมาก ซึ่งบทบาททางการเมืองที่เกิดขึ้นของ ศอปส. สะท้อนภาพความพยายามในการขุดใช้คำว่า “อาชีวะ” ที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยขึ้นมาใช้ต่อกรกับกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย ที่มีนักศึกษาเป็นแกนกลางการเคลื่อนไหว

อย่างไรก็ตามผู้ที่เคลื่อนไหวในนามอาชีวะเองก็มีทั้งสองฟากฝั่ง เพราะการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านระบอบอำนาจนิยม ตลอดช่วงที่ผ่านมาในปี 2563 พบการมีส่วนร่วมของกลุ่มอาชีวะ ทั้งกับกลุ่มนักเรียน กลุ่มนักศึกษา และประชาชนเช่นกัน

ศอปส. ขณะจัดชุมนุมในวันที่ 16 สิงหาคม 2563

PLUS SEVEN ได้พูดคุยกับกลุ่มอาชีวะที่เข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยกับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ในวันที่ 19 กันยายน 2563 พวกเขาเล่าว่าความพยายามในการดึงชื่ออาชีวะไปทั้งสองฝั่งของผู้ชุมนุมนั้นมีมาตั้งแต่ปี 2556 ตั้งแต่เป็นกลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตยในช่วงแรก ที่อยู่กับกลุ่มเสื้อแดง และอาชีวะราชดำเนินที่อยู่กับกลุ่ม กปปส โดยกลุ่มที่มาร่วมในวันที่ 19 กันยายน 2563 นั้นก็เป็นกลุ่มเดิมที่มีอยู่แล้ว และมีทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันเป็นสมาชิก

โดยกลุ่มอาชีวะที่ร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงนี้ ประกอบด้วย 3 กลุ่ม

1. ฟันเฟืองประชาธิปไตย มีเครือข่ายทั่วประเทศราว 1,000 คน

2. อาชีวะเพื่อนประชาธิปไตย มีเครือข่ายราว 800 คน

3. อาชีวะปะทะเผด็จการ เป็นกลุ่มนักเรียนอาชีวะปัจจุบัน มีเครือข่ายอยู่ราวเกือบ 100 คน

“ผมอาจจะไม่เคยไปร่วมกับผู้ชุมนุมอีกขั้วอุดมการณ์หนึ่ง แต่เพื่อนผมส่วนใหญ่ไปด้านนั้น แต่ตอนนี้พวกนั้นกลับมาเข้ากับอุดมการณ์ฝ่ายประชาธิปไตย เพราะทุกคนเขารู้กันแล้ว คือเขาอาจจะมีอุดมการณ์ของเขาไม่พาดพิงกัน ให้สังคมมองดีกว่าว่าอุดมการณ์แบบไหนเป็นสิ่งที่ประเทศชาติต้องการ” ฐา หนึ่งในสมาชิกกลุ่มอาชีวะอธิบาย

ปลอกแขนสีขาวรูปฟันเฟืองสีแดงรอบอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย สัญลักษณ์ประจำกลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตย
อาชีวะ มากับความรุนแรง?

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า เมื่อพูดถึงอาชีวะ ผู้คนในสังคมมักมองยึดโยงกับความรุนแรง จากข่าวการยกพวกตีกันที่ปรากฏขึ้นบ่อยครั้งและเนิ่นนานในสังคมไทย 

เหลียง หนึ่งในสมาชิกกลุ่มอาชีวะกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ห้ามความคิดกันไม่ได้ เป็นเรื่องปกติ เป็นภาพจำของสังคมว่าอาชีวะจะต้องมีการตีกันระหว่างสถาบันอยู่ตลอด และแก้ไขได้ยาก แต่การเมืองในประเทศไทยก็สามารถผลักดันให้กลุ่มอาชีวะที่ออกมาเคลื่อนไหวนั้นกลายเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน นักเรียนอาชีวะต่างสถาบันกลับมาประท้วงอยู่บนอุดมการณ์เดียวกัน บางคนก็มารู้จักกันที่นี่


“อาชีวะรุนแรงไหม ก็มีตีกันตามการรับรู้ของสังคม หากอยู่คนละสถาบัน เป็นคู่อริกัน แต่ในนี้พวกเราอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ตีกัน”  เหลียงกล่าว

เหลียง สมาชิกกลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตย

“การเมืองทุกวันนี้มันแย่ขนาดที่ว่า เด็กหลายๆ สถาบันมารวมกันโดยที่ไม่ตีกัน” ฐาพูดเสริม 

ในขณะที่ใครอีกคนกล่าวแทรกขึ้นมากลางวง

“ยิ่งเป็นอาชีวะ ผมว่ายิ่งต้องออกมาประท้วงเลย คนตกงานตั้งมาก รายได้พวกเราก็น้อยกว่าที่ควรจะเป็น แล้วดูรัฐบาลบริหารแบบนี้” เจ้าของเสียงนั้นพูดด้วยน้ำเสียงน้อยเนื้อต่ำใจแต่ผสานไปด้วยความโกรธ

“ใครๆ ก็แก้ปัญหาอาชีวะตีกันไม่ได้ มียุคลุงตู่นี่แหละ หยุดตีกัน มาประท้วงแทน” อีกเสียงแทรกขึ้นด้วยความขบขัน

บทบาทของอาชีวะ

เมื่อถามถึงบทบาทของอาชีวะ ในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย เหล่านักเคลื่อนไหวอาชีวะ ตอบเป็นเสียงเดียวกัน

“เราก็ต้องมาช่วยหนุนน้องๆ นักเรียน และนักศึกษามหาวิทยาลัย พวกเราเป็นเหมือนฟันเฟือง เป็นตัวขับเคลื่อน อย่างไรเราก็ต้องออกมา จะปล่อยให้เขาสู้เพียงลำพังไม่ได้” ฐาตอบ

“ถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้น มีการปราบปรามหรืออะไร พวกผมขอเป็นแค่แนวหน้าก็พอ ไม่ต้องขึ้นปราศรัย ไม่ต้องอะไร” เคพูดเสริมขึ้นมา

ฐา สมาชิกกลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตย

ฐากล่าวต่อว่าบทบาทของเขาคือการมาดูแลนักเรียน นักศึกษา เพราะพวกเขาอาจไม่ได้เก่งการเมืองเท่า เนื่องจากไม่ได้เรียนมาโดยตรง หากปราศรัยก็ทำได้แค่ 5-10 นาที ไม่สามารถทำได้นาน รวมถึงข้อมูลในการปราศรัยอาจจะไม่เข้มข้นเท่า ทางกลุ่มจึงเน้นมาเพื่อปกป้องในสถานการณ์ฉุกเฉิน และช่วยเหลือในด้านการติดตั้งสิ่งต่างๆ เช่น งานช่าง เป็นต้น 

“ถ้าให้เราช่วยเราก็ช่วยได้” ฐาย้ำ

“อันดับแรกเลยผมขออยู่แนวหน้า ปะทะมาผมโดนก่อน ผมพร้อม อันดับสองเขาให้เราช่วยหยิบจับอะไร ซ่อมอะไร เราพร้อมเสมอ ขอให้บอกมา ผมไม่ได้มาเพื่อนั่งเฉยๆ ผมมาเพื่อช่วยเหลือ อะไรที่เราทำได้เราพร้อมทำ” เคกล่าว 

นอกจากการพร้อมเป็นแนวหน้าให้นักศึกษา และประชาชนแล้ว ก็มีสมาชิกกลุ่มอาชีวะแสดงบทบาทในการขึ้นปราศรัยด้วยเช่นกัน แต่เป็นการขึ้นปราศรัยในนามกลุ่มรามคำแหง ทำให้ในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลปี 2563 ยังไม่มีผู้ปราศรัยในนามของ “อาชีวะ”

แม้จะไม่ถูกสปอตไลต์จับจ้อง แต่พวกเขาก็ล้วนเป็นกลุ่มสำคัญในการชุมนุม ที่รอแสดงบทบาทของตนในอนาคต

About the author

Varuth Pongsapipatt
Photo Editor/ Content Editor

Varuth Pongsapipatt

Photo Editor/ Content Editor