ปล่อยให้เจ็บ เพื่อเติบโต : เมนู สุพิชฌาย์ ชัยลอม
ทุกอย่างเริ่มต้นที่ครอบครัว ทั้งความรักและความขัดแย้ง เรื่องราวของประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ออกมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความไม่ลงรอยภายในครอบครัวภายหลังจากการออกมาเคลื่อนไหวหรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในหลายเดือนที่ผ่านมาปรากฎความรุนแรงที่น่าประหลาดใจ
Plus Seven สัมภาษณ์เมนู สุพิชฌาย์ ชัยลอม ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ภาพแผ่นหลังของตนเองขณะชูสามนิ้วกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในด้านความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เพื่อน และสังคมที่อาจเปลี่ยนแปลงไปภายหลังจากการออกมาเคลื่อนไหว ซึ่งมีทั้งแรงสนับสนุนและเสียงคัดค้าน หากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เสมอเมื่อเราเคลื่อนไหวอยู่ในโลกประชาธิปไตย
เมนู เล่าว่าพ่อของตนเป็นตำรวจ ในขณะที่แม่ทำเบอเกอรี มีน้องหนึ่งคน ส่วนตัวเองเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่หก สายศิลป์-ภาษา ในจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย
เมนูเริ่มเล่าพื้นหลังของครอบครัวด้วยท่าทีผ่อนคลาย สำหรับการเรียนต่อในชั้นอุดมศึกษา ตอนนี้เมนูมองเรื่องทุนการศึกษาทั้งในและต่างประเทศเอาไว้แล้ว รวมทั้งเสริมว่าถึงจะไม่ได้เรียนต่อก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะสายงานที่มองไว้ไม่ได้กำหนดเรื่องวุฒิเอาไว้ เป็นเรื่องของการตอบสนองความคาดหวังของครอบครัวเป็นหลักมากกว่า
เธอเริ่มสนใจการเมืองเนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาสภาพคล่องทางการเงินที่ต่อเนื่องไปยังเรื่องของการศึกษาที่เริ่มได้รับแรงกดดันจากพ่อและแม่จนรู้สึกถึงความอิสระที่ไม่มีอยู่จริง
เมนูใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งนาทีในการตัดสินใจก่อนขึ้นปราศัยครั้งแรก โดยเลือกหัวข้อเกี่ยวกับการศึกษาที่ใกล้ตัวที่สุด เข้าถึงง่าย รวมถึงมีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นเวทีแรก
“เหตุผลที่ตัดสินใจขึ้นปราศรัยวันนั้น คือเรามองว่ามันเป็นเรื่องที่ควรพูดถึงและเรียกร้องได้ตามหลักประชาธิปไตย”
อิสรภาพในกรงขัง
เมื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ว่าจะในโลกความเป็นจริงหรือว่าในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในกลุ่มของนักเรียน และนักศึกษาเพิ่มระดับความเข้มข้นมากขึ้นจนกลายเป็นจุดปะทุของความไม่ลงรอยกันในระดับครอบครัว เช่น การบังคับไม่ให้เข้าร่วมชุมนุม การขู่ตัดการสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่าย หรืออาจถึงขั้นการไล่ออกจากบ้าน
เมนูได้นิยามความสัมพันธ์ในครอบครัวของเธอว่า ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ดีนักอยู่แล้ว เหมือนกับอยู่คนละบ้าน และไม่ได้พูดคุยกันมากนัก ซึ่งเป็นแบบนี้มาก่อนที่เธอจะขึ้นปราศัยเสียอีก จึงอาจกล่าวได้ว่าไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก
ส่วนเสียงสะท้อนนั้นฝั่งคุณพ่อที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นด้วยกับปัญหาที่เมนูต้องการเรียกร้องแต่ไม่สนับสนุนในส่วนของการออกมาปราศรัย รวมถึงถ้าเมนูเข้าร่วมการชุมนุมก็จะมีการทะเลาะกัน อย่างไรก็ตามเมนูไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาเพราะผู้ปกครองไม่สามารถห้ามได้
“ปัญหาครอบครัวมีมานานแล้วค่ะ มีอะไรไม่ค่อยพูดกัน เหมือนอยู่กันคนละบ้าน พอหลังพูดปุ๊บ เขาก็เห็นด้วยกับสิ่งที่พูด แต่เขาไม่อยากให้พูดนอกตัวเมืองเชียงใหม่ หรือว่าแตะเรื่องกษัตริย์ ซึ่งสองอย่างหลังนี่ทำมาหมดแล้ว”
ถัดจากความสัมพันธ์กับพ่อและแม่ ในส่วนของน้อง เมนูเล่าด้วยความกระตือรือร้นว่าหลังจากการขึ้นปราศรัยแล้วความสัมพันธ์เป็นไปในเชิงแน่นแฟ้นมากขึ้น เนื่องจากนิสัยที่มีความคล้ายคลึง รวมถึงความคิดเห็นทางการเมืองที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
“น้องเป็นแรงสนับสนุนเดียวภายในบ้าน” เมนูกล่าว
เมนูรู้สึกว่าจากการทำงานในสังคมตำรวจของพ่อ พ่อได้นำวิธีคิดในที่ทำงานมาใช้ในการจัดความสัมพันธ์ในบ้านเช่นระบบคำสั่งและการปฏิบัติตาม ซึ่งส่งผลกระทบต่อครอบครัวด้วยเช่นกัน
เธอมีความรู้สึกตั้งแต่ยังเล็กว่าเป็นการเลี้ยงในลักษณะของกรงที่ใหญ่ คือต่อให้พยายามมอบอิสระให้กับลูกแค่ไหน แต่สุดท้ายแล้วตัวเลือกในการเดินทางนั้นมันก็ยังเป็นเส้นทางที่ถูกชี้และกำหนดเอาไว้แล้ว
“รู้สึกตั้งแต่เด็ก มันเป็นความรู้สึกว่าเขาพยายามให้อิสระ แต่ว่ามันเป็นอิสระในกรงที่ใหญ่ สุดท้ายเราก็ไม่มีอิสระอยู่ดี เพราะว่าเราอยู่ในเส้นทางที่เขาเลือก พอเราเลือกที่จะเดินออกนอกกรอบ หรือเลือกสิ่งที่ต่อต้านเขาโดยตรง เขาเลยเริ่มรู้สึก และใช้วิธีการต่อต้านเราเหมือนเดิม แต่แค่ครั้งนี้มันจะไม่ได้ผลกับเราอีกต่อไป”
ทางเลือกที่ไม่ได้เลือก
แรงกดดันกึ่งบังคับในด้านการศึกษาปรากฎขึ้นตลอดช่วงชีวิตวัยรุ่นของเมนู เธอเล่าความหลังเพิ่มเติมว่าในสมัยที่สอบเข้าชั้นมัธยมปีที่หนึ่งของโรงเรียนสาธิตเชียงใหม่เองก็ต้องใช้ชีวิตการเรียนในกรอบที่ตีเอาเส้นเอาไว้แล้วเช่นกัน ซึ่งเป็นชีวิตที่ไม่มีอะไรนอกจากการอ่านหนังสือและไปเรียนพิเศษ
อีกหนึ่งความเจ็บปวดของเมนูคือเรื่องการเลือกสายการเรียน ที่ทางครอบครัวมองว่าควรเลือกเรียนชั้นมัธยมปลายในสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์เพราะเป็นสายการเรียนของเด็กเก่ง หรือว่ามีทางเลือกมากกว่าในการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย
เมนูเล่าว่าในช่วงที่ต้องตัดสินใจเลือกสายการเรียนก็ทะเลาะกับทางครอบครัวเช่นกัน เพราะผู้ปกครองอยากให้เลือกสายวิทย์-คณิตฯ ในขณะที่ตัวเองรู้ว่าตัวเองนั้นไม่เหมาะกับการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์
เมนูยังเคยติดตัวสำรองในการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในสายการเรียนศิลป์-คำนวณ หากชะงักตรงเงื่อนไขของครอบครัวที่ไม่อยากให้เรียนนอกตัวเมืองเชียงใหม่
“เขาปากบอกว่า ถ้าติด เดี๋ยวคิดดูอีกทีหนึ่ง แล้วสุดท้ายเขาก็ไม่ให้ มันเหมือนเป็นการโดนหักหลังซ้ำซ้อนจากคำพูดที่เขาบอกว่าเขาจะให้ แต่สุดท้ายเขาก็ตามใจตัวเองอยู่ดี เพราะอย่างนี้เราก็เลยรู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องสนใจเหตุผลของเขาแล้ว เพราะว่าสุดท้ายแล้วเขาก็ทำตามสิ่งที่ตัวเองคิดว่ามันถูกสำหรับเรา ซึ่งเขาไม่เคยถามเรา”
จนกระทั่งประสบการณ์ความเจ็บปวดจากคำพูดและการกระทำ กลับกลายเป็นแรงผลักดันให้เมนูตัดสินใจก้าวออกจากกรงที่ชื่อว่าความห่วงใย
“หลังจากนี้จะไม่มีอะไรที่ห้ามหนูได้อีกแล้ว”
เมนูยังเสริมอีกส่วนว่าถ้าเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาหรือในทางวิชาการแล้วได้รับความสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทว่าแรงสนับสนุนนั้นไม่ใช่เกิดจากการสนับสนุนให้เมนูได้พัฒนาในสายการเรียนที่สนใจอย่างแท้จริง ครอบครัวมองเพียงว่าการสนับสนุนเหล่านี้สามารถต่อยอดไปยังการสมัครงานหรือว่าประกอบอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ ซึ่งเมนูไม่ได้รู้สึกแย่กับความจริงในข้อนี้สักเท่าไหร่ เพราะว่าตนเองเลิกคาดหวังภายหลังจากการผิดหวังซ้ำซ้อนหลายต่อหลายครั้ง
แรงหนุนจากเพื่อน
ถัดจากความสัมพันธ์ภายในครอบครัวแล้ว อีกสังคมที่มีความส่วนสำคัญในชีวิตการศึกษาย่อมไม่พ้นโรงเรียน
โดยเมนูเล่าด้วยท่าทีผ่อนคลายว่าเพื่อนทุกคนต่างสนับสนุนการแสดงออกในครั้งนี้ รวมถึงเป็นห่วงเช่นกัน เพราะว่าต้องแบ่งเวลาในการเข้าร่วมกิจกรรมอื่นนอกเหนือจากการเรียน ซึ่งเพื่อนก็จะช่วยในเรื่องของการเก็บงานหรือว่าตามงานเต็มที่
ในส่วนของครูนั้นไม่มีความกระทบกระทั่งรุนแรงอะไร จะมีแต่ทางคำพูดบ้างเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเมนูก็ไม่ได้ถือเป็นอารมณ์เพราะเข้าใจดีว่าข้อความเล่านั้นไม่ใช่การต่อต้าน ครูเองก็เห็นต้องตรงกันกับสิ่งที่เมนูได้แสดงออกเช่นกัน แต่เป็นเพราะว่าครูเองอาจได้รับการกดทับมาก่อนจึงไม่คุ้นเคยกับการแสดงออกมาต่อหน้าโดยไม่มีการอ้อมค้อม
โลกออนไลน์ที่เกินเลย
สื่อออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งในการกระจายของข่าวสารอย่างรวดเร็ว ตำแหน่งบุคคลสาธารณะทำให้สถานะของเมนูในโลกอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนไปเช่นกัน
เมนูเกริ่นจากเรื่องประเด็นเกี่ยวกับคำว่า ห อ ม และข อ บ คุ ณ ค รั บ ที่ได้รับการวิจารณ์เป็นวงกว้างเกี่ยวกับความเหมาะสมในการใช้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือมีชาวโซเชียลจำนวนไม่น้อยเข้าไปคอมเมนต์ใต้รูปในทิศทางที่พุ่งไปยังการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
สำหรับเมนูแล้วนี่เป็นปัญหา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือมีการนำคำเหล่านี้มาใช้โจมตี มีการคุกคามทางเพศ รวมถึงการบุลลี่หน้าตา ซึ่งเป็นสิ่งที่เมนูยืนกรานว่ายอมไม่ได้ มันไม่ใช่สิ่งที่ต้องจ่าย แลกกับการเป็นบุคคลสาธารณะ โดยในส่วนของวิธีการจัดการกับเหล่าคอมเมนต์เหล่านั้นเมนูตอบอย่างสั้นๆ แต่แน่วแน่ว่าฟ้องร้องเท่านั้น
“จริงๆ ถ้าโดนคุกคามทางเพศ หรือโดนเอาชื่อไปแอบอ้าง ไปใช้ ไปปล่อย วิธีเดียวที่เยียวยาจิตใจหนูคือการฟ้องค่ะ ซึ่งตอนนี้ก็กำลังฟ้อง คือหลังจากเหตุการณ์นั้นหนูจิตตกจริงๆ ต้องไปหาจิตแพทย์สามรอบ ช่วงที่ผ่านมา มันรู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่หนูควรได้ การที่เป็นคนสาธารณะแล้วคุณจะมาคอมเมนต์อะไรก็ได้ คุณจะมาทำอะไรก็เพียงเพราะคุณอยู่หลังแป้นพิมพ์ มันไม่ใช่สิ่งที่หนูควรได้รับ หนูจะไม่ยอมแบบนั้นด้วย”
เมนูรับรู้ว่าคงมีหลายคนที่ไม่พอใจในการตัดสินใจฟ้องร้องในครั้งนี้ หากสำหรับคนที่อยู่ในฐานะของเหยื่อแล้วเมนูยืนยันว่ามันเป็นสิทธิที่จะฟ้องและเห็นผู้กระทำความผิดมาขอโทษ เป็นวิธีการเยียวยาจิตใจที่ดีที่สุด เพราะหากผู้คนเหล่านั้นกล้าใช้บัญชีออนไลน์เหล่านั้นมาทำร้ายกัน นั่นแปลว่าต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะตามมาแล้วเช่นกัน
เรามีหน้าที่ต้องรักตัวเอง
ถ้าการเมืองดี ครอบครัวของเธอก็อาจจะดีกว่านี้ คือสิ่งที่เมนูได้อธิบายความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่เรียกว่าการเมืองกับโครงสร้างในเชิงครอบครัว เพราะว่าปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของสุขภาพของพ่อ ซึ่งอิงไปกับเรื่องของสวัสดิการรัฐ ทั้งในเรื่องของหน้าที่การงานที่อยู่ในระบบราชการ และเรื่องการเงินที่ไปอิงกับทุกภาคส่วน
ในฐานะที่เป็นหนึ่งคนที่เคยและกำลังเผชิญกับปัญหาไม่ว่าจะภายในครอบครัวหรือว่าสังคมภายนอก หากสามารถบอกคนที่กำลังพบความไม่ลงรอยกันภายในครอบครัว เนื่องจากความคิดเห็นทางการเมือง
เมนูมองว่าสิ่งที่สำคัญคือการรักตัวเองเป็นอย่างแรก เป็นหน้าที่ของคนทุกคนที่ควรรักตัวเอง เพราะว่าในท้ายที่สุดไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ทุกข์หรือว่าสุขคนที่มีส่วนร่วมก็มีเพียงตัวเราเอง
“หนูเชื่อว่าคนเราเกิดมามีหน้าที่อย่างหนึ่ง คือการรักตัวเอง เพราะฉะนั้นต่อให้ใครรักหรือไม่รักเรา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรักตัวเอง เพราะสุดท้ายคนที่อยู่กับเราคือตัวเอง คนที่อยู่กับเราในช่วงที่มีความสุขก็คือตัวเอง ช่วงที่ทุกข์ก็คือตัวเอง คนที่ควรให้ความสำคัญที่สุดคือตัวเอง มันเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก หนูเชื่อว่าทุกคนทำได้อยู่แล้ว”
ปล่อยให้ได้เรียนรู้
หลังจากการเรียนรู้ตัวตนของเมนูมาในหลายแง่มุม ไม่ว่าในฐานะลูก พี่ เพื่อน หรือว่ามนุษย์คนหนึ่ง เมนูได้ฝากคำพูดที่สั้น ตรงตัว และชัดเจนที่ส่งไปถึงผู้รับสารได้โดยไม่ต้องให้คำอธิบายเพิ่มเติม
“ปล่อย”
เมนูอธิบายเพิ่มว่าแม้จะมีเรื่องราวจำนวนมากเกิดขึ้นภายในครอบครัวแต่ไม่เคยเกลียดพ่อกับแม่ มันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าผู้ปกครองย่อมห่วงลูก แต่ว่าความห่วงนั้นไม่ควรจะมากเกินไป รวมถึงควรเชื่อใจที่จะปล่อยให้เด็กในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้คิดเอง ตัดสินใจเอง เพราว่าในท้ายที่สุดแล้วเมนูก็ต้องใช้ชีวิตด้วยตัวเอง
“เขาควรปล่อย ตั้งแต่ตอนนี้ เพราะต่อให้หนูร่วง หรือว่าต่อให้หนูโดนหมัดฮุกเหมือนประเด็นดราม่านี้ สุดท้ายหนูเชื่อว่าหนูจะลุกขึ้นมาได้ มันคือสิ่งที่หนูต้องเป็นอยู่แล้ว แล้วต้องทำให้ได้ เพราะฉะนั้นเขาควรเชื่อ และเขาควรเชื่อใจที่จะเห็นหนูเจ็บปวด ไม่ว่าจะเจ็บปวดร้องไห้เพราะเรื่องนี้หรือว่าโดนอะไรก็ตาม เขาควรเชื่อว่าหนูจะผ่านมันไปได้”
สายตาและน้ำเสียงที่ส่งข้อความนั้นบอกว่าเมนูพร้อมเสมอสำหรับความเจ็บปวดเพื่อการเติบโต