ArticlesLatest

เวที ดนตรี ชีวิต: น้ำ กัญญ์กุลณัช ปัญญากิตตินันท์

จากนักเดินสายแข่งขันรายการร้องเพลงในรายการโทรทัศน์ ขยับมาเป็นนักร้องที่อายุน้อยที่สุดของร้านเหล้าเจ้าเก่าแก่ละแวกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ก้าวกระโดดสู่ตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับสองของรายการ ทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย ซีซั่น 11 ทำงานในฐานะนักร้อง นักแสดง นักเอนเตอร์เทนใต้ค่ายทรูแฟนเทเชียกว่า 5 ปี สู่ดีเจประจำคลื่น Good Time 98.5 FM และนักร้องนำวงร็อกเกิร์ลแบนด์ ALIZ

ชีวิตของ น้ำ กัญญ์กุลณัช ปัญญากิตตินันท์ เต็มไปด้วยการผจญภัยและการค้นหาตัวตนอย่างน่าสนใจ

“ก็ทำทุกอย่างนะ งานที่มีก็ทำให้หมด ทำเท่าที่ทำได้ มีอะไรทำได้ก็ทำ” คือคำเล่าของน้ำ เมื่อย้อนไปยังจังหวะเส้นทางในการดำเนินชีวิตแต่ละช่วง

จุดเริ่มต้นในการเข้าสู่วงการประกวดร้องเพลงของน้ำ มาจากรับชมรายการแข่งขันร้องเพลงสำหรับเด็กทางโทรทัศน์ ซึ่งรายการเหล่านั้นจุดประกายและเป็นแรงบันดาลใจให้เธอเดินไปบอกคุณแม่ว่าตนเองอยากเข้าร่วมรายการบ้าง ผู้ปกครองของเธอก็สนับสนุนด้วยการจูงมือพาน้ำเข้าเรียนในโรงเรียนสอนร้องเพลง เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนสมัครเข้าร่วมรายการ

“เพราะว่าแม่เห็นว่าเราชอบ และเราอยากไปประกวด แม่เลยรู้สึกว่าเราควรจะเรียนก่อนที่เราจะไปประกวด ไปเรียนร้องเพลงก่อน”

จากนั้นเส้นทางการประกวดร้องเพลงก็เริ่มต้นจากรายการร้องเพลงสำหรับเด็กทางช่อง 3 ก่อนเดินสายประกวดตามเวทีและรายการเพลงต่างๆ เป็นระยะ จนถึงช่วงชั้นมัธยมปีที่ 6 ทางบ้านได้เสนอให้หยุดเดินสายประกวดไว้ก่อน เพราะอยากให้เธอเตรียมตัวสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ธรรมศาสตร์และการร้องเพลงในร้านเหล้า

น้ำเข้าเรียนในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำไปสู่การโยกย้ายถิ่นอาศัยจากนครราชสีมาสู่ทุ่งรังสิต จังหวัดปทุมธานี เธอเองก็เป็นอีกหนึ่งวัยรุ่นที่ทดลองใช้ชีวิตเด็กมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่ รวมไปถึงการเปิดประสบการณ์ใหม่อย่างการ ‘เที่ยวกลางคืน’ หรือร้านค้าที่เปิดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลากลางคืน

ประสบการณ์การเที่ยวสถานบันเทิงกลางคืนในร้านละแวกมหาวิทยาลัยที่มีบริการวงดนตรีแสดงสดประกอบ เป็นส่วนสร้างแรงบันดาลใจให้น้ำคว้าโอกาสในการยืนบนเวทีนั้นบ้าง เพราะในมุมมองของเธอแล้ว นักร้องเหล่านั้นไม่ต่างจาก ‘เทพเจ้า’ ที่สามารถสะกดให้ผู้ชมทั้งร้านคล้อยตามได้อย่างน่าประทับใจ ไม่ว่านักร้องจะขอให้ร้องตามไปพร้อมกัน หรือส่งเสียงเชียร์ พวกเขาก็ยินดีให้ความร่วมมือไม่มีอิดออด

และน้ำมั่นใจว่าเธอเองก็สามารถเป็นหนึ่งใน ‘เทพเจ้า’ ได้เช่นกัน

“พอเราไปเที่ยวกลางคืน เรารู้สึกว่าที่ตรงนี้มันเจ๋งจังเลย ทำไมพี่เขาร้องเพลงแล้วดูเท่จังเลย รู้สึกว่าเราอยากร้องแบบนี้ได้บ้าง พออยู่ในร้านเหล้า คนร้องเหมือนเทพเจ้าอะ มันแบบ เฮ เอ้า ร้องพร้อมกัน เท่มากเลย อยากทำได้แบบนั้น แล้วมั่นใจว่าตัวเองทำได้”

โอกาสในการยืนบนเวทีวนกลับมาหาน้ำอีกครั้ง เมื่อเธอทราบข่าวว่ามีร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งหนึ่งกำลังเปิดรับสมัครนักร้องคนใหม่ของร้านอยู่ น้ำสมัครเข้ารับการคัดเลือกอย่างไม่รอช้าและวางแผนสร้างความประทับใจแรกพบกับทางกรรมการเต็มที่ โดยในวันออดิชั่นเธอไม่ได้เดินทางไปเพียงตัวกับบทเพลง แต่ยังพ่วงกลุ่มเพื่อนในวัยเดียวกันไปส่งเสียงเชียร์ถึง 3 โต๊ะ ระหว่างการแสดงไม่ว่าเธอจะร้องอะไร เพื่อนก็ให้กำลังใจล้นหลาม เป็นการสร้างความฮึกเหิมในการร้องเพลงเป็นอย่างมาก

จนตัวเจ้าของร้านเองก็ยังออกปากว่า น้ำอาจจะไม่ใช่ผู้เข้ารับการคัดเลือกที่ร้องเพลงเพราะที่สุด แต่เจ้าของร้านเล็งเห็นว่าเธอมีความสามารถเฉพาะตัวในการเอนเตอร์เทนผู้ชม

“ใช่สิ เพราะเราเอาเพื่อนมานั่ง 3 โต๊ะ เราร้องอะไรเพื่อนก็เฮ” น้ำเล่ากลั้วหัวเราะเมื่อพูดถึงความหลัง

จากสถานะนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพียงอย่างเดียว ช่วงภาคเรียนที่ 2 ของปีเดียวกันเธอก็พ่วงตำแหน่งนักร้องประจำร้านขายเหล้าที่อายุน้อยที่สุดในร้านตั้งแต่เคยมีการจ้างงานมา รวมไปถึงเป็นผู้หญิงที่อายุน้อยที่สุดในวงดนตรีด้วย เพื่อไม่ให้ทางครอบครัวเป็นห่วงเกี่ยวกับการทำงานที่มีเวลาประจำการคือช่วงราตรี ในช่วงแรกน้ำให้ข้อมูลกับทางบ้านว่าตนเองรับงานร้องเพลงในช่วงเวลา 18.00-20.00 น. ก่อนจะมีการขยับเวลาการทำงานที่คล้อยดึกขึ้นตามลำดับ

เส้นทางสู่บ้านนักล่าฝัน

ในขณะที่น้ำยังทำงานในตำแหน่งนักร้องร้านก้ำกึ่ง ร้านเหล้าใกล้มหาวิทยาลัย ได้ไม่ถึงหนึ่งปีเต็ม วันหนึ่งเพื่อนของเธอก็ชักชวนให้ลองสมัครเข้าประกวดในรายการเพลงรายการหนึ่ง โดยในจังหวะแรกน้ำไม่ทราบว่าคือผู้จัดงานการประกวดร้องเพลงในครั้งนี้เป็นใคร แต่เมื่อมีโอกาสในการแสดงความสามารถเข้ามา เธอก็ไม่รีรอที่จะลองทดสอบฝีมือของตัวเอง

น้ำให้รายละเอียดว่ากว่าเธอจะรู้ชื่อรายการการแข่งกันก็คือในวันที่เดินทางไปออดิชั่น โดยผลของการแสดงรอบคัดเลือกสำหรับรายการร้องเพลง ทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย ซีซั่น 11 คือเธอผ่านการคัดเลือกและเข้ารอบเป็น 12 คนสุดท้าย สำหรับรายการการแข่งขันนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือผู้เข้าแข่งกันจะต้องอาศัยอยู่ในบ้านพักหลังเดียวกันตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีการเดินทางแยกย้ายกลับบ้านของตนนับตั้งแต่เริ่มการประกวด กองเชียร์และแฟนคลับสามารถรับชมทุกความเคลื่อนไหวของสมาชิกภายในบ้านพักผ่านการบันทึกและถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของชีวิตประจำวัน การฝึกซ้อมร้องเพลง หรือว่าการซ้อมการแสดง

การประกวดร้องเพลงเพื่อคัดผู้เข้ารอบถัดไปจะจัดขึ้นทุกสุดสัปดาห์ โดยกติกาอาจมีแตกต่างกันไปเล็กน้อยในแต่ละซีซั่น หากโดยทั่วไปแล้วในภายหลังจากจบหนึ่งรอบการประกวดก็จะมีการประกาศคนที่ตกรอบ หรือที่เรียกติดปากแฟนคลับรายการทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย ว่า ‘ออกจากบ้านเอเอฟ‘

การแข่งขันย่อมหมายถึงการทุ่มเทความพยายามและการฝึกฝนเพื่อเอาตัวรอด สำหรับเป้าหมายแรกสุดของน้ำ มีเพียงความคิดว่าขอให้ตนเองผ่านการคัดเลือกในครั้งแรก อย่าเพิ่งถูกคัดออกตั้งแต่สัปดาห์แรกก็เพียงพอ 

สำหรับน้ำแล้วประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กับการสร้างผลงานที่น่าประทับใจบนเวที คือเรื่องของการใช้ชีวิตภายในบ้านพักหลังใหม่ ที่มีการกั้นวางเขตพื้นที่และมีกฎระเบียบเฉพาะ ไม่สามารถเดินทางออกไปไหนมาไหนได้เองโดยอิสระ ข้าวของเครื่องใช้ที่เธอนำติดตัวเข้าไปจึงสำคัญมาก

ในฐานะเด็กใหม่ที่ไม่ประสีประสาเรื่องความสวยงามหรือการปรับตัวกับสมาชิกคนอื่น โชคดีเป็นของเธอที่มีกัลยาณมิตรจำนวนหนึ่งคอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำด้านต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อการอยู่อาศัยในบ้านเอเอฟ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเลือกของใช้ส่วนตัว ที่ควรคำนึงว่าจะมีเจ้าหน้าที่ของรายการผ่านมาเห็นตลอดเวลา หรือการพกอุปกรณ์ลบเครื่องสำอาง (คลีนเซอร์) ไปด้วย เพราะการประกวดย่อมมีการตกแต่งใบหน้าให้สวยงามเสมอ การรักษาความสะอาดใบหน้าหลังม่านเสดงปิดลงจะเป็นเรื่องที่มองข้ามไปไม่ได้โดยเด็ดขาด

“คือถ้าไม่มีคนบอกให้ซื้อที่เช็ดเครื่องสำอางนะ  ชีวิตแย่ยิ่งกว่านี้อีก แต่สุดท้ายก็ยังต้องไปยืมเพื่อนข้างในเลย เพราะที่คิดว่าที่เตรียมมามันพอ มันไม่พอ”

สำหรับน้ำแล้ว เมื่อมีโอกาสก้าวขึ้นบันไดไปสู่โลกกว้าง การยืนอยู่บนเวทีขนาดใหญ่ ต่อหน้ากลุ่มผู้ชมการแสดงที่ขยายขนาดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกแตกต่างกับการแสดงบนเวทีขนาดกะทัดรัดแม้แต่น้อย เธอยังคงทุ่มเทให้กับการร้องเพลงและการแสดงไม่ต่างจากวันแรกที่เธอได้รับโอกาสเป็น ‘เทพเจ้า’ ในร้านเหล้า สุดท้ายน้ำจบการประกวดในซีซั่นนี้ด้วยตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 3 และเปลี่ยนสถานะจากผู้เข้าแข่งขันรายการร้องเพลงเป็นศิลปินของค่ายทรู แฟนเทเชีย เป็นลำดับถัดมา

และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ ‘ทางเดินแห่งความฝัน’ เท่านั้น

โลกใบเดิมที่เปลี่ยนไป

เมื่อการประกวดระดับประเทศพลิกชีวิตของเธอจากหน้ามือเป็นหลังมือ ตำแหน่งบุคคลสาธารณะที่มาพร้อมกับความสนใจจากสังคมและแฟนคลับ มีผู้คนจำนวนมากบนท้องถนนสามารถจดจำใบหน้าและตัวตนของเธอได้ มีการเข้ามาทักทาย ขอถ่ายรูป และให้กำลังใจอยู่เสมอ

แต่ในอีกแง่หนึ่ง น้ำยอมรับว่าเธอ ‘กลัว’การเปลี่ยนแปลงนี้ ช่วงเวลาที่ขาดหายไปไม่กี่เดือนยามเธอเข้าร่วมการประกวด สร้างความรู้สึกว่าโลกแห่งความจริงที่เธอเคยรู้จักมาทั้งชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

นักร้องอาชีพหน้าใหม่เล่าว่าในช่วงแรกจำเป็นต้องปรับตัวและปรับความเข้าใจในหลายส่วน  ยกตัวอย่างเช่นการมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่ม ‘เพื่อนใหม่’ ที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อน เพื่อนใหม่เหล่านี้คือกลุ่มแฟนคลับที่คอยติดตาม สนับสนุน ให้กำลังใจเธอมาตลอดการประกวด และโดยทั่วไปแล้วกลุ่มแฟนคลับมักจะศึกษาและทำความรู้จักศิลปินนักร้องที่ตนเองชื่นชอบ สังเกตนิสัย การแสดงออก หรือว่าอาหารที่ชอบหรือไม่ชอบอยู่เสมอ

ดังนั้น เมื่อน้ำมีงานแสดงในสถานที่ใดก็ตาม กลุ่มแฟนคลับเหล่านี้ก็พร้อมยกพลไปให้กำลังใจอย่างเหนียวแน่น มีการซื้อสินค้าหรืออาหารที่น้ำชื่นชอบติดมือไปฝากให้นักร้องขวัญใจตัวเองเสมอ และจุดนี้เองที่ทำให้เธอกลัว ด้วยความไม่เข้าใจว่าคนกลุ่มนี้ทราบได้อย่างไรว่าขนมที่เธอโปรดปรานคืออะไร ทั้งที่เธอก็ไม่เคยเปิดเผยให้ใครทราบมาก่อน

จนมาได้คำตอบว่า ด้วยพื้นฐานของรายการการประกวดที่มีการฉายภาพอิริยาบทระหว่างที่เธอดำเนินชีวิตภายในบ้านเอเอฟตลอดเวลา จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ชมทางบ้านจะสามารถจับสังเกตได้ถึงบางการกระทำที่ทำจนติดเป็นนิสัย หรือว่าขนมที่เธอมักจะทานเสมอ และข้อมูลเหล่านี้สามารถต่อยอดเป็นการแสดงออกถึงมิตรภาพภายหลังได้ไม่ยาก

“คือคน (ผู้ชม) เห็นเราตลอด 24 ชม. ใช่ไหม เขาจะรู้สึกกับเรามาก รู้จักเรา ในขณะเดียวกันที่เราไม่รู้จักเขาเลย ตอนแรกที่เดินออกมาเจอหน้ากันแล้วมันมีคำว่า รู้ได้ยังไงวะ ในหัวตลอดเวลา คือเขาจะซื้อของ ขนม ที่เราชอบ ก็ต้องใช้เวลาปรับตัวแป๊บหนึ่งนะ”

อีกด้านของบทบาทการเป็นนักร้อง น้ำยังคงเรียนอยู่ในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ควบคู่กันไป การปรับตัวให้เข้ากับชีวิตที่เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย พาเธอไปสู่ความท้าทายในการแบ่งเวลาให้กับสองมิติของชีวิตไปพร้อมกัน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวางแผนการเดินทาง ที่ต้องการเทียวไปกลับระหว่างสถานที่ทำงานในเมืองกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต บางวันก็ทำงานในภาคเช้าแล้วเข้าเรียนบ่ายแบบที่ยังไม่มีเวลาลบเครื่องสำอางบนใบหน้า รวมไปการจัดการกับความรู้สึกผิดที่ ‘กินแรง’ คนอื่นในกลุ่มทำงานเดียวกัน จากปัจจัยที่ว่าในหลายครั้งเธอหัวหมุนกับการทำงานจนไม่สามารถแบ่งเวลามาปรึกษาหรือร่วมหาข้อมูลได้

“ความรู้สึกผิดในช่วงแรกที่จัดการตารางงานกับการเรียนไม่ได้ ก็ต้องแปะเขาไปเรื่อย งานกลุ่มขอแปะหน่อย แล้วอันที่เราไม่ได้ช่วยเขาจริงๆ มันรู้สึกผิดมากๆ ทุกวันนี้ยังรู้สึกผิดเลย”

ชื่อเสียงและข้อจำกัดบนพรมแดง

หลังจากที่น้ำสามารถปรับตัวได้กับอาชีพนักร้องและการเรียนได้แล้ว ก็ใช่ว่าบนทางเดินแห่งความฝัน โอกาส และชื่อเสียงที่มาพร้อมกับนามสกุล ‘เอเอฟ’ จะพาไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างการเป็นคนดังในแสงไฟที่ราบรื่นงดงาม

เพราะเมื่อมีการทำสัญญากับทางค่ายเพลง ย่อมตามมาซึ่งข้อจำกัดในการร้องเพลงและการแสดงออกหลายประการ แตกต่างกับสมัยที่ยังคงร้องอยู่ในร้านก้ำกึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสไตล์การร้องเพลง การเลือกเพลง หรือว่าจำนวนเพลงที่ร้องโชว์ ที่จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องลิขสิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้อง น้ำจะเลือกเพลงที่ใช้ร้องในการแสดงตามงานหรือสถานที่ต่างๆ ได้เพียงเท่าที่ค่ายเพลงกำหนดเอาไว้ หากเพลงไหนที่มีการตกลงเรื่องการใช้ลิขสิทธิ์เอาไว้แล้วก็ร้องได้ หากเพลงไหนไม่ได้ทำการซื้อขายสิทธิการร้องเอาไว้ ก็ร้องไม่ได้

“วิธีการร้อง สไตล์การร้อง การเลือกเพลง มันต่างกัน (กับตอนร้องที่ร้านก้ำกึ่ง) เพราะหลังจากออกบ้านเอเอฟ มันจะมีอีเวนท์ แล้วเราก็มีกำหนดว่า ร้องเพลงไหนได้บ้าง ต้องเป็นเพลงค่ายนั้น หรือค่ายนี้เท่านั้นที่เราจ่ายลิขสิทธิ์แล้ว เราก็จะไม่จอย แล้วงานนี้ร้องได้ 2 เพลง 3 เพลง อันนี้ 5 เพลง”

นอกจากข้อกำหนดเรื่องลิขสิทธิ์เพลง อีกเรื่องที่เธอมองว่าเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เธอเกิดคำถามกับตัวเองคือเรื่องของจำนวนเพลงที่ใช้แสดงในแต่ละงาน ในบางครั้งน้ำก็ขึ้นไปร้องบนเวทีเพียง 2-3 เพลง เป็นอันจบงาน ความราบเรียบของเนื้องานและการทำงานที่ไม่สามารถเติมเต็มจิตวิญญาณนักร้องของเธอ พาไปสู่จุดที่น้ำแอบเทียบว่าถ้าเธอเลือกทำงานอยู่ในร้านละแวกมหาวิทยาลัยเช่นเดิม เธออาจจะสนุกกับการร้องเพลงมากกว่านี้ก็เป็นได้

“ช่วง 2-3 ปีแรกรู้สึกตลอดว่า โหย กลับไปร้องที่ร้านดีกว่า มีความสุขกว่าเยอะ แบบนี้ไม่สนุกเลย ทำอะไรอยู่นะเรา  ตลอดเวลา ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องยอมรับไป ไม่สามารถกลับไปร้องที่ร้านได้…. ติดสัญญา”

ทั้งความยากลำบากในการตะลอนเดินทางไปทำงานทั่วเมืองหลวง การเรียนที่ไม่สามารถทุ่มเทให้อย่างเต็มที่ และเรื่องข้อจำกัดในการร้องเพลงที่มาพร้อมกับชื่อเสียง ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว หากตัวเธอเองมีพลังในการย้อนเวลากลับไปในช่วงที่เพื่อนมาชักชวนให้ไปออดิชั่น น้ำจะยังเลือกก้าวมาบนทางที่ดูยาวไกลนี้หรือไม่

คำตอบของน้ำไม่ต่างจากส่วนหนึ่งของเนื้อเพลงนักล่าฝันว่าฉันมั่นใจกับทางที่เลือกเดิน

“ไม่นะ กลับมาคิดก็คงทำ ชอบ มันมีช่วงที่เราทำได้ไม่ดีแหละ แต่พอเราจับทางได้ว่าเราควรจัดการอะไรยังไง มันก็สนุกกับมันนะ”

กายและใจยังคงเดินไป

นอกเหนือจากบทบาทของนักร้องแล้ว ค่ายทรู แฟนเทเชียยังคงผลักดันให้ศิลปินภายในค่ายมีความสามารถที่รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเต้น การแสดง หรือการดำเนินรายการ น้ำเองก็มีโอกาสได้เข้าร่วมการแสดงที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นตัวละครโทรทัศน์ ซีรีส์ ละครเวที และพิธีกร

เมื่อครบ 5 ปีใต้สัญญาของค่ายทรู แฟนเทเชีย น้ำขยับสถานะของเธอเข้าสู่วงการนักร้องฟรีแลนซ์ รับงานจ้างโดยไม่ผ่านค่ายหรือว่าตัวกลางใด สลับเดินสายร้องเพลงตามร้านค้าและอีเวนท์จนพูดติดตลกว่าไม่มีเวลานอน นอกจากนี้น้ำยังได้รับกระแสตอบรับที่น่าตกใจจากการโคฟเวอร์เพลงลงยูทูป มียอดวิวมากกว่า 10 ล้าน จนเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลารับทรัพย์อย่างแท้จริง

“ในจังหวะนั้นงานค่อนข้างโอเคมากๆ จะบอกว่าช่วงที่งานเยอะที่สุดคือช่วงที่ไม่มีค่ายก็ว่าได้ เยอะแบบว่า ไม่มีเวลานอน ล้างหน้าไปด้วยแล้วก็หลับ แล้วก็มองหน้าตัวเองในกระจกแล้วบอกว่า เฮ้ย….เพื่อเงิน สู้ว้อย”

ภายหลังจากรับงานด้วยตัวเอง ร้องเพลงโคฟเวอร์เป็นเวลามากกว่าหนึ่งปี น้ำกลับมาตั้งคำถามถึงอนาคตและเป้าหมายในชีวิตตัวเองอีกครั้ง เริ่มมองหาเส้นทางชีวิตต่อไป ในครั้งนี้เธอตัดสินใจเข้าร่วมกับค่ายเพลง มิวสิก มูฟ เอนเตอร์เทนเมนต์ (Muzik Move Records) ในฐานะนักร้องนำของของวงดนตรีร็อกที่มีสมาชิกหญิงล้วนอย่าง ALIZ

น้ำอธิบายเบื้องหลังของการตัดสินใจกระโดดข้ามจากนักร้องเดี่ยวมาอยู่ในวงดนตรี คือเรื่องของการพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย ว่าตัวเองคือ ‘ตัวปัญหา’ ของหลายๆ ความสัมพันธ์ก่อนหน้านี้หรือไม่ เธอย้อมความกลับไปว่าตนเองเคยทะเลาะกับคนรู้จักหลายคน ในหลายช่วงจังหวะของชีวิต จนเธออดคิดไม่ได้ว่าหรือที่ทุกความสัมพันธ์สะบั้นลงเป็นเพราะนิสัยของเธอไม่ดีเองหรือไม่

“คือมันมีส่วนที่เราผิด เราพลาด เราขอโทษ แต่ว่าหลายครั้งจนเรารู้สึกว่า เอ๋ หรือปัญหาอยู่ที่ตัวเรา เราคงต้องกลับมานั่งดูตัวเองแล้วว่า เฮ้ย ปัญหาคือมึงแล้ว มึงเป็นคนนิสัยไม่ดี ต้องเปลี่ยนตัวเองแล้วหรือเปล่า เลยตัดสินใจบอกเขาว่า เอาครั้งนี้ให้มันรู้ไปเลยว่า ถ้าเราทะเลาะกับเพื่อนในวง นั่นคือเราจะต้องรู้ตัวเองแล้วว่า ทั้งหมดที่ผ่านมาเป็นเพราะมึงนะ มึงนิสัยไม่ดี มึงต้องรู้ตัวนะ เราเลยบอกว่าเราทำ เพราะเราอยากรู้ว่าเรานิสัยไม่ดีหรือเปล่า”

เพราะการรวมตัวเป็นวงดนตรี มีความแตกต่างกับการร้องเพลงเพียงคนเดียว มีมิติของการซ้อมดนตรีร่วมกัน ทานข้าวร่วมกัน พักผ่อนร่วมกัน ซึ่งถ้าหากเป็นช่วงที่มีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่องก็เรียกได้ว่าน้ำจะมีเพียงเพื่อนร่วมวงวนเวียนอยู่รอบตัว ไม่ได้เจอหน้าคนในครอบครัวด้วยซ้ำไป และจุดนี้เองที่เธอมองว่า จะเป็นจุดที่ช่วยคลายปมในชีวิตของเธอได้

สำหรับวงดนตรี ALIZ เปิดตัวในช่วงปีพ.ศ. 2562 มีจุดเด่นคือเป็นวงดนตรีแบนด์ที่มีสมาชิกเป็นผู้หญิงทั้งหมด ออกผลงานเพลงต่อเนื่องรวมแล้วทั้งสิ้น 9 เพลง 

ชีวิตที่มักทำอะไรหลายอย่างไปพร้อมกัน

เรียนไปพร้อมทำงาน ร้องเพลงไปพร้อมกับเล่นละคร มาจนถึงฟอร์มวงดนตรีไปพร้อมกับการทำหน้าที่เป็นดีเจประจำคลื่น Good Time 98.5 FM เรียกได้ว่าตั้งแต่น้ำก้าวเข้าสู่โลกของเด็กมหาวิทยาลัยเธอไม่เคยหยุดนิ่งกับการพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าจะทางตรงหรือว่าทางอ้อม

“อย่างเราก็เล่นละคร พิธีกร ละครเวที ดีเจ วีเจ แทบจะไม่เหลืออะไรที่ไม่เคยทำ” น้ำไล่เรียงประสบการณ์การทำงานของตนเองให้ฟัง

น้ำแบ่งปัจจัยชีวิตการทำงานหลายตำแหน่งไปพร้อมกันเป็นสองส่วนใหญ่ ส่วนแรกคือเรื่องของการฝึกฝนและพัฒนาตัวเองที่ได้ติดตัวมาจากการใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเอเอฟและค่ายทรู แฟนเทเชีย ที่หล่อหลอม คอยเคี่ยวเข็ญให้เธอเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของตัวเองให้รอบด้าน ไม่ใช่แค่เรื่องของการร้องเพลงแต่รวมถึงทักษะวาไรตี้ ดังนั้นน้ำเลยมีโอกาสได้ทดลองเพิ่มพูนประสบการณ์ของตัวเองเสมอ

อีกปัจจัยคือเรื่องของค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยในปัจจุบันน้ำเป็นเสาหลักของบ้านและครอบครัว รับผิดชอบในส่วนของค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนั้นการทำงานให้เพียงพอกับรายจ่ายก็เป็นเรื่องจำเป็น

“ความเป็นเอเอฟเนี่ย เขาไม่ได้สอนให้เราเป็นนักร้องอย่างเดียว ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เอเอฟมีความเป็นวาไรตี้ เต้นด้วย ร้องด้วย จะไม่ใช่ศิลปินที่ต้องร้องเพลงอย่างเดียว … เราก็ทำงานเยอะ เพราะเลี้ยงดูที่บ้าน เป็นเสาหลักจริงจัง ผ่อนบ้านผ่อนรถ”

เนื้อเพลงท่อนถัดไปของชีวิต

ในทุกบทเพลงมักซ่อนเรื่องราวหรือบางข้อความเอาไว้ เพื่อสื่อถึงความรู้สึกนึกคิด ณ ขณะนั้น หากให้น้ำเลือกบทเพลงที่เล่าแทนของชีวิตช่วงที่ผ่านมา เธอตอบโดยไม่ต้องเสียเวลาคิดว่าเธอเลือกเพลงนักล่าฝัน อันเป็นเพลงประจำรายการการประกวดร้องเพลง ทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย

“มันคือบนทางเดินแห่งความฝันนี้ อาจไม่มีพรมแดงปูทาง ไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบ คือทุกวันนี้ต่อให้เราจบออกมาจากบ้านอะ เราได้ยินเพลงนี้เราก็จะรู้สึกขนหัวลุกซู่ ช่วงชีวิตการเป็นเอเอฟ บางคนอาจจะชอบนะ มีความสุข แต่สำหรับเรามันทรมาน มันก็รู้สึกขนลุกทุกครั้งว่า เออ มึงผ่านมันมาได้นะเว้ย เป็นวิธีการให้กำลังใจให้ตัวเอง มองในกระจก สู้มัน เอาเลย ทำได้”

อีกหนึ่งตัวเลือกของน้ำ ที่เป็นตัวแทนการเรียนรู้จากความผิดพลาดและการเติบโต คือเพลง Live & Learn ของ กมลา สุโกศล สะท้อนช่วงเวลาที่เธอเติบโตมากขึ้น รู้จักวิธีการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ รู้ว่าช่วงไหนที่ควรวางตัวอย่างไร ช่วงไหนควรแสดงออกอย่างไร จับจังหวะได้ว่าช่วงไหนที่เป็นเวลาที่ใช่ในการพูด และช่วงไหนที่ควรถอยห่างออกมา

“คือปลงแล้ว เราเรียนรู้มา ทำอย่างนี้ จะโดนด่าแบบนี้ ก็เพราะว่ามึงทำแบบนี้ไง แล้วก็ต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่า เพราะมึงทำแบบนี้ไง แล้วค่อยมาดูแลตัวเองใหม่ แล้วค่อยมาเปลี่ยนตัวเอง”

นับตั้งแต่วัยเยาว์ที่รายการร้องเพลงโทรทัศน์จุดประกายเส้นทางดนตรี จนถึงวันที่เธอได้รับการยอมรับในฐานะศิลปินที่มีความสามารถรอบด้าน น้ำยังไม่หยุดพัฒนาตัวเองและตั้งเป้าหมายถัดไปร่วมกับ ALIZ BAND คือการสร้างบทเพลง รังสรรค์ดนตรีที่เกิดขึ้นด้วยฝีมือของวงดนตรีหญิงล้วนนี้ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเนื้อร้องหรือว่าทำนองเองทั้งหมดภายในเวลาสามปีข้างหน้า

เพื่อให้สมศักดิ์ศรีของน้ำ กัญญ์กุลณัช ปัญญากิตตินันท์

About the author

PLUS SEVEN

PLUS SEVEN

Photo Editor/ Content Editor