ArticlesLatest

นักเขียนนิยายไทย อยู่หรือไปในยุคดิจิตอล

ในปี 2553 Nicholas Negroponte ผู้เขียนหนังสือ Being Digital และผู้ก่อตั้ง MIT Media Lab กล่าวว่า “หนังสือเล่มที่จับต้องได้จะตายภายใน 5 ปี” ปัจจุบันเวลาล่วงเลยมา 10 ปีแล้ว หากเป็นความตาย ก็เป็นความตายที่เนิ่นนานและทรมาน

ใช่ว่าคำพูดดังกล่าวจะไม่จริงไปเสียทั้งหมด เพราะการเข้ามาของแพลตฟอร์มออนไลน์ และการเปลี่ยนพฤติกรรมการอ่านของผู้คนจากกระดาษไปสู่จอสมาร์ทโฟนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็ชวนให้เกิดความสงสัยว่า เมื่อพฤติกรรมคนเปลี่ยนสู่ออนไลน์คอนเทนต์ที่เรื่องราวสามารถหาอ่านได้ง่าย ฟรี จากใครก็ได้ ซ้ำยังสามารถเขียนได้เอง ส่งต่อได้เอง หนังสือเล่ม และ “อาชีพนักเขียน” จะยังดำรงอยู่ต่อได้หรือไม่

ยอดขายหนังสือไทยลดต่อเนื่อง

จากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในช่วงต้นปีจึงถูกจัดผ่านช่องทางออนไลน์แทน ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยว่ามียอดขายอยู่ที่ราว 36 ล้านบาท ลดลงจากยอดขายในงานสัปดาห์หนังสือปี 2562 ที่มียอดขายราว 494 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2561 ยอดขายหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือ อยู่ที่ 508 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ในปี 2561 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยยอมรับว่า ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามูลค่ารวมตลาดหนังสือลดลงมาตลอดติดต่อต่อเนื่องกัน ช่วงปี 2554-2555 ภาพรวมตลาดหนังสือมีมูลค่า 26,000 ล้านบาท แต่ในปี 2560 เหลือประมาณ 15,000-16,000 ล้านบาท ในปี 2561 ยอดขายหนังสือกลับมาอยู่ตัวอีกครั้งมีมูลค่าแตะ 20,000 ล้านบาท จากกระแสยอดฮิต ละครบุพเพสันนิวาส ที่นำเอาโครงเรื่องมาจากหนังสือนิยาย

กิจกรรมลดราคาหนังสือของสำนักพิมพ์มติชน ถูกจัดขึ้นช่วงกลางปี 2563
ซึ่งสำนักพิมพ์อื่นๆ เองก็มีการจัดกิจกรรมเช่นนี้เพื่อส่งเสริมการขายหนังสือเล่มในยุคดิจิตอล

ทั้งนี้ในปริมาณหนังสือทั้งหมด สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศยังอธิบายว่าในปี 2563 หนังสือที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับหนึ่งคือหนังสือวรรณกรรม ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้อ่านหลากหลายช่วงวัย ตั้งแต่วัยเรียนไปจนถึงวัยทำงาน รองลงมาคือหนังสือการ์ตูนและไลท์โนเวล

เช่นเดียวกันกับในปีที่ผ่านๆ มาหนังสือประเภทที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับหนึ่งก็ยังคงเป็นหนังสือวรรณกรรมเช่นกัน เท่ากับว่าหากพูดถึงอุตสาหกรรมหนังสือเล่ม นักเขียนนิยาย นับเป็นอาชีพหลักในอาชีพหนึ่ง ในอุตสาหกรรม

นักเขียนนิยายรายได้พอ?

วีรพร นิติประภา นักเขียนวรรณกรรมรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2558 และ 2561 ตอบในประเด็นนี้แทบจะทันทีว่า “ไม่” ก่อนขยายความต่อว่าอาชีพนักเขียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเขียนวรรณกรรมเล่ม ไม่เพียงพอหล่อเลี้ยงชีวิต อย่างตนก็รายได้จากหนังสือถือว่าค่อนข้างสูง เพราะได้รางวัล แต่กับนักเขียนทั่วไปที่ตีพิมพ์ยอดปกติในช่วงเวลานี้หรือราว 2,500 เล่ม จะได้เงินราว 30,000-35,000 บาท ต่อเรื่อง โอกาสที่จะตีพิมพ์ครั้งที่ 2 ก็อยู่ที่ราว 5% ดังนั้นถ้าเขียนนิยายเฉลี่ยปีละ 1 เล่ม จะได้ปีละ 30,000 บาท ซึ่งเฉลี่ยแล้วต่ำกว่ากรรมกร

โดยตนอาศัยการทำคลาส และรับบรรยายตามมหาวิทยาลัยมีรายได้ชั่วโมง ละ 1,200 บาท รายได้ที่ไม่พอต่อการเลี้ยงชีพทำให้นักเขียนจำนวนมากหารายได้จากงานเขียนประเภทอื่นๆ เช่น ทำคอลัมน์ตามหนังสือพิมพ์ นิตยสาร กล่าวคือทำงานอย่างอื่นไปด้วย แล้วเป็นนักเขียนวรรณกรรมไปด้วย

วีรพร นิติประภา นักเขียนวรรณกรรมรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2558 และ 2561
ผู้เขียนไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต และ พุทธศักราชอัสดงในทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ

นิยาย วรรณกรรม ในอดีตเลี้ยงตัวได้ แต่ต้องทำงานเยอะ เพราะเรทราคานี้อยู่มาหลายปีแล้ว สมัยพี่เด็กๆ เขาพิมพ์กัน 7,000 เล่ม ตอนพี่วัยรุ่นพี่ก็คิดว่าสบาย พอไหว ไม่ได้คิดเยอะ แต่ทุกซีไรต์ก็ไม่ใช่จะทำยอดได้เยอะ ตัวงานเองก็ต้องมีความป๊อปพอสมควรซึ่งบีบคั้นมาก บางทีก็อยากทำอะไรแปลกๆ อย่างที่อยากลองทำ ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดของนักเขียน

ราคาของงานเขียน

หลายครั้งนักเขียนไม่รู้ว่านิยายมันจะจบลงเมื่อไร เสร็จตอนไหน ทำให้ต้องหารายได้ที่มั่นคงในส่วนอื่นๆ แทน เช่นงานเขียนคอลัมน์ เพื่อให้มีเงินซัพพอร์ตตัวเองในการเขียนหนังสือ นักเขียนส่วนใหญ่มักทำแบบนั้น ทำอย่างอื่นเพื่อเลี้ยงชีวิต

ตอนที่ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตยังไม่ได้รางวัล พี่มีเงินติดบ้านอยู่ 5000 บาท ถ้าไม่ได้รางวัล พี่เลิกเขียนอยู่แล้ว อาจจะตายเลยก็ได้ อดตาย

วีรพรกล่าวต่อว่าเมื่อโลกออนไลน์เขย่าพฤติกรรมการอ่าน นิตยสารหายไป ที่ลงงานเขียนก็ลงน้อยลง นักเขียนจึงต้องเขียนตามแพลตฟอร์มออนไลน์ คือถ้าจะใช้เงิน 30,000 บาท ต่อเดือน ก็ต้องเขียน 30 เรื่อง ในช่วงเวลาที่คอลัมน์เรื่องละ 1,000 บาท

คือในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีสำนักพิมพ์ หรือ คนที่เผยแพร่เขาก็ไม่มีเงินมาจ่าย การเขียนบทความนี่จริงๆ ต้องมี 2,000-3,000 บาท ทำสักเดือนละ 7-15 ชิ้น ก็พออยู่ได้ แต่อยู่ได้ในลักษณะอยู่ไปใช้ไป พอผ่านไปสัก 3-5 ปีคุณก็จะกลายเป็นคนเชยๆ เพราะไม่สามารถไปนั่งดื่มกินในร้านแพงๆ หรือคบหาคนที่สร้างไอเดียบรรเจิด ไม่ได้ไปเที่ยวยุโรป ไม่ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ แถมต้องเขียนสารพัด ต้องเป็นคนรอบรู้ ถ้าไม่สนุกก็อย่าไปทำมัน ตายเปล่าๆ

ถ้าเช่นนั้น ทำไมถึงยังเขียน วีพรอธิบายประเด็นนี้ว่า ผลตอบแทนของการเป็นนักเขียนคือ ความสนุก ความพึงพอใจที่ได้ทำงาน การได้เล่นกับโจทย์ การมองเห็นตัวเอง การรู้จักโลก การใช้ประสบการณ์ที่เคยใช้มาใช้ซ้ำ แต่จะเลี้ยงชีพอย่างไรค่อยว่ากัน

เจาะนิชมาร์เก็ต

ด้านนิยายออนไลน์นั้น วีรพรมองเห็นความเป็นไปได้ในการเป็นอาชีพหล่อเลี้ยงชีวิตนักเขียน แต่การจะเขียนนิยายออนไลน์ ต้องดูกลุ่มเป้าหมายที่ต่างจากหนังสือเล่ม เนื่องจากนิยายในแพลตฟอร์มออนไลน์ มักจะมีนิยายประโลมโลก สนุกสนาน จำนวนตอนเยอะ เนื้อหาไม่หนักมากแบบนิยายหนังสือเล่ม ซึ่งหลายคนสามารถหารายได้ได้เดือนละหลักแสนบาท ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น เว็บไซต์จอยลดาที่เป็นการใช้ภาพการตอบโต้กันของโปรแกรมแชทในการเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของตัวละคร เป็นต้น หรือในกลุ่มของนิยาย Y (Yaoi) หรือนิยายชายรักชาย ที่เป็นนิยายเฉพาะกลุ่ม ก็เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ เพราะมีฐานผู้อ่านเป็นวัยรุ่น ซึ่งวัยรุ่นนั้น ถือได้ว่าเป็นช่วงวัยที่อ่านวรรณกรรมเยอะ

30 ไปแล้ว คุณมีลูกมีเมีย คุณจะเอาเวลาที่ไหนอ่าน ทำงานเอาเวลาที่ไหนอ่าน กลุ่มคนที่อ่านได้คือกลุ่มอายุ 25 ลงมาถึง 12 ซึ่งพวกเขาอยู่กับโทรศัพท์มือถือ เขาอ่านจากโทรศัพท์มือถือ

ชั้นวางหนังสือ ในร้านหนังสือนายอินทร์ มีการจัดหมวดหมู่นิยาย Y แยกออกมาจากนิยายส่วนอื่น
เป็นภาพสะท้อนความนิยมของกลุ่มผู้บริโภคนิยายในกลุ่มนี้
นิยายรักวัยรุ่นยังอยู่ได้

ในขณะที่นักเขียนนิยายที่มีเนื้อหาค่อนข้างจริงจังพบกับความยากลำบากด้านรายได้ในการดำรงชีพ นักเขียนนิยายวัยรุ่น กลับไม่ได้เผชิญปัญหาเช่นนั้นอยากชัดเจนนัก เนื่องด้วยกลุ่มผู้อ่านที่แตกต่างกัน

พิไลมาศ ค้ำชู หรือนามปากกา Stampberry นักเขียนนิยายสไตล์ความรักวัยรุ่นหวานแหวว จากสำนักพิมพ์แจ่มใส ที่เขียนมาแล้วกว่า 16 ปีได้อธิบายว่าในส่วนของตนที่เขียนนวนิยายประเภทความรักหวานแหววนั้น ยังคงมียอดขายหนังสืออยู่ตลอด เนื่องจากกลุ่มผู้อ่านของตนเป็นอายุ 15-20 ปี เป็นวัยที่ชอบอ่านและสะสมหนังสือเล่ม ทำให้ส่วนใหญ่เลือกซื้อหนังสือเล่มมากกว่าการอ่านออนไลน์

พิไลมาศ ค้ำชู เป็นที่รู้จักในชื่อ Stampberry นักเขียนนิยายสไตล์ความรักวัยรุ่นหวานแหวว

“ในกลุ่ม 15-20 ก็ยังชอบอ่านหนังสือเป็นเล่มอยู่ดี เพราะวัยนี้เป็นวัยที่ชอบเก็บหน้าปกที่เป็นรูปการ์ตูนน่ารักๆ ต้องการของแถมอย่างแสตนดี้ โปสการ์ด ลายเซ็นนักเขียน หรือถ้ามีหนังสือเล่มมีงานหนังสือมีสามารถเอาเล่มมาขอลายเซ็นนักเขียนได้ แต่ถ้าซื้อเป็นอีบุ๊ค หรืออ่านผ่านช่องทางออนไลน์ เขาไม่สามารถเอาอะไรมาขอเราได้เลย เหมือนเป็นคุณค่าทางจิตใจ เพิ่มเงินอีกไม่มาก แต่ได้ของที่จับต้องได้ เป็นความคลาสสิคที่ทำให้หนังสือเล่มยังขายได้ แม้โลกจะเปลี่ยนเป็นดิจิตอลก็ตาม”

วัยรุ่นกลุ่มผู้อ่านออนไลน์

Stampberry นับได้ว่าเป็นนักเขียนวรรณกรรมที่มีความเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์กับโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยเผยแพร่งานผ่านช่องทางออนไลน์ ใน 2 เว็บไซต์ ได้แก่ Dek-D.com หรือที่รู้จักกันในนามเว็บเด็กดี และ Readawrite.com

สำหรับเว็บเด็กดีจะถือได้ว่ามีกลุ่มแฟนคลับที่เหนียวแน่นของ Stampberry เพราะเป็นที่นิยมในกลุ่มเด็กวัยรุ่น โดยเธอจะลงนิยายให้อ่านในเว็บเพียง 30-40% ของเล่ม เพราะเรื่องสัญญากับสำนักพิมพ์ จากนั้นเมื่อหนังสือออกวางจำหน่ายก็จะลงต่อ ถ้าคนอ่านชอบ อ่านแล้วสนุก อยากติดตามต่อ ก็ให้ช่วยไปอุดหนุนหนังสือแทน

“พอถึงจุดหนึ่งที่หนังสือออกมาสัก 1-2 เดือนแล้ว เราค่อยมาลงต่อจนจบ แต่การลงต่อนี้ก็จะมีการติดเหรียญ เพื่อคิดเงิน หารายได้ สำหรับการเก็บเงินผู้อ่านออนไลน์ ปัจจุบันมีการติดเหรียญหลายแบบ ตั้งแต่ขายเป็นตอนๆ ขายเป็นแพ็คทั้งเรื่อง หรือกระทั่งอ่านล่วงหน้า ยกตัวอย่างเช่น ลงตอนที่ 10 สัปดาห์ถัดไปลงตอนที่ 11 ถ้าจ่ายเงินก็จะสามารถอ่านก่อนคนอื่นได้”

เว็บไซต์ Readawrite.com นั้นต่างกันตรงจากเว็บเด็กดี ตรงที่สามารถลงนิยายที่มีฉาก NC (No Children. No one 18 and under admitted.) หรือ ฉากเลิฟซีน 18+ ได้ ส่วนเว็บเด็กดีมีนโยบายตามชื่อเว็บ เรื่องไหนมีฉากไหนติดเรท จะไม่ให้ลงหรือแบน ทำให้ Stampberrry เลือกจะเอานิยายบางเรื่องไปลงที่ Readawrite แทน เพื่อจะได้ซัพพอร์ทได้กับกลุ่มคนอ่านทุกเพศทุกวัย

สื่อสารผู้อ่าน ก้าวตามเทรนด์

แม้ช่วงเวลาจะเปลี่ยนแปลงไป แต่Stampberrry ก็มีวิธีรักษาฐานแฟนคลับท่ามกลางเทรนด์ กระแส และชุดภาษาที่เปลี่ยนไปของผู้คนแต่ละรุ่น ผ่านการสื่อสารด้วยเพจ Stampberry และเปิดกรุ๊ปไลน์ open chat ที่ผู้อ่านสามารถพูดคุยได้โดยตรง ไปจนถึงให้แฟนคลับแสกน Qr Code เข้ามาอยู่รวมกลุ่มแชท Line กลุ่มเดียวกันเวลาที่มีข่าวสาร หรือออกเล่มใหม่ก็จะพิมพ์บอกประชาสัมพันธ์ต่อได้

“นอกเหนือจาก Open Chat เราจะมีห้องแชทแยกสำหรับพูดคุยทั่วไปที่ปล่อยให้เขาคุยกัน แต่ก็มีเข้าไปอ่านบ้าง ว่าคุยอะไรกัน อะไรกำลังฮิต บางครั้งก็เข้าไปถามขอความเห็นจากนักอ่านของเราเลย ว่าเขียนแบบนี้ เป็นแบบนี้จะดีไหม ขอความเห็นจากนักอ่านไปเลย ซึ่งในกลุ่มนี้ตอนนี้มีราว 2,000 คน

นอกจากการสื่อสารที่เธอใช้โซเชียลมีเดียให้เกิดประโยชน์แล้ว Stampberry ยังใช้ชุดภาษาแปลกใหม่ใส่ลงไปในงานของเธอ

“เราใช้ภาษาวัยรุ่นเพิ่มเข้ามา แต่ถึงแม้เราจะใช้คำที่สร้างขึ้นใหม่ แต่ยังคงสะกดให้ถูก ไม่ถึงกับวิบัติ 100% แต่ยังอ่านรู้เรื่องอยู่ ส่วนคำใหม่ๆ ที่วัยรุ่นเข้าใจ จะใช้ในส่วนของบทพูดมากกว่าการบรรยาย เลยไม่ได้ผิดหลักภาษามาก ไม่ถึงกับอ่านไม่รู้เรื่อง เช่น บ้ง ปังไม่หยุด เจ๋งมากแม่ คำที่วัยรุ่นฮิตใช้ และเข้าใจกันในกลุ่มเขา ของเหล่านี้ถ้าเราเล่น Twitter และ Facebook ก็จะเห็นอยู่แล้วว่าเทรนด์อะไรกำลังมาแรง เขากำลังสนใจเรื่องอะไร”

ไม่ใช่ทุกเรื่องจะขายได้

Stampberry ย้ำว่าแม้นิยายรักหวานแหววยังคงขายได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะอยู่รอด ตนยังขายได้เพราะว่ามีโซเชียลมีเดีย มีสื่อในมือ มีแฟนคลับเก่าที่บอกต่อ มีสำนักพิมพ์ที่คอยช่วยโปรโมตให้

แต่หากเป็นใครสักคน ที่จะเริ่มเขียนนิยายออนไลน์สักเรื่อง ก็จะค่อนข้างเหนื่อยกว่ายุคก่อนที่แนวรักหวานแหววเป็นที่นิยม ใครเขียนมาถ้าดีก็ขายได้อย่างน้อยเป็นหมื่นเล่ม แต่ในปัจจุบันถ้าเป็นนักเขียนใหม่ โอกาสที่จะเขียนแล้วขายได้หลักหมื่นหลักแสนก็จะน้อย จะมีก็แต่นักเขียนเก่าที่ยังมีสื่อในมือและปัจจัยอื่นที่จะผลักดันตัวเองให้คนยังรู้จักอยู่

หนังสือยังไม่ตาย

แม้ภาพรวมตลาดจะมียอดที่หดหายลง แต่บรรณาธิการที่อยู่ในแวดวงการตีพิมพ์นวนิยาย และหนังสือเล่มมามากกว่า 20 ปีอย่าง พัลลภ สามสี บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์จงสว่าง และผู้จัดการสำนักงานประเทศไทย ของแอพลิเคชั่น iReader บริษัทด้านวรรณกรรมออนไลน์ยักษ์ใหญ่จากประเทศจีนมองว่าธุรกิจหนังสือเล่ม โดยเฉพาะในหมวดหมู่ของนวนิยายยังคงสามารถไปต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวสู่การอ่านผ่านช่องทางออนไลน์ และการขายรูปเล่ม

ในส่วนของการขายรูปเล่ม โจทย์สำคัญคือการทำหนังสือคืออย่างไร ให้ผู้อ่านอยากซื้อเก็บ เพราะหนังสือเล่มในปัจจุบันเปลี่ยนสถานะจากเพียงเพื่อการอ่าน เป็นเพื่อการสะสม และมีมูลค่าทางจิตใจ สำนักพิมพ์ต้องมีระบบเมมเบอร์ หรือบางที่ใช้รูปแบบแฟนคลับ เพื่อการตลาด รวมไปถึงเลือกคอนเทนต์ที่ทำหนังสือในลักษณะเฉพาะของกลุ่มลูกค้าเฉพาะทาง

พัลลภ สามสี ผู้จัดการ iReader (ประเทศไทย) และบรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์จงสว่าง

“ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มที่ทำนิยาย Y พิมพ์กันที่ 500 เล่ม ขายเล่มละ 1,000 บาท ขายหมด หรือพรีออเดอร์ 2,000-3,000 เล่มขายหมด ที่ยกตัวอย่างนิยาย Y เนื่องจากเป็นกลุ่มคนอ่านที่ละเอียด ไม่ว่าจะภาพปกต้องใครวาด ลายเส้นถูกใจ ไปจนถึงเนื้อหาและอารมณ์ภาพ เช่น ไม่ดูใกล้ชิดแสดงความรักมากเกินไป มีเชิงระยะห่าง เป็นต้น ซึ่งคนอ่านกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เฉพาะมาก แต่ทุ่มเท และพร้อมจ่าย บางคนงานสัปดาห์หนังสือครั้งหนึ่งใช้จ่ายครั้งละ 10,000-20,000”

พัลลภยกตัวอย่างการปรับตัวทางการตลาดกลุ่มผู้อ่านเฉพาะทางของธุรกิจหนังสือเพิ่มเติมอีกหลายกรณี เช่น สำนักพิมพ์ PS ทำเรื่องสั้นเล่มเล็กๆ ขายราคาสูง แต่ขายหมด เคล็ดไทยที่ออกหนังสือเป็นเซ็ทน่าสะสม

“เขาเจาะกลุ่มคนอ่านที่ชอบเรื่องสไตล์เดียวกัน ชอบปกที่มีความอาร์ตมากๆ ไปจนถึงแพคเกจเวลาส่งที่ใช้แมคกาซีนเก่าห่อ ไม่ใช่บั้บเบิลที่ทำให้ภาพลักษณ์ดูโรงงาน ดูมีความพิเศษ หรือกรณีของสำนักพิมพ์เคล็ดไทย ที่ทำหนังสือชุด เฮอร์มาน เฮสเส ก็เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะนักอ่านจำนวนมากมีหนังสือของเฮสเสอยู่แล้ว แต่เคล็ดไทยทำเฮสเสแบบรวมเซ็ท ออกแบบปกให้น่าสะสม เพื่อให้คนซื้อไปสะสม โดยเซ็ทนั้นสามารถขายได้ 1,000 ชุด”

นิยายจีนโมเดล

พัลลภยังได้ฉายภาพทางรอดของอาชีพนักเขียน ผ่านเรื่องราวของนักเขียนนิยายออนไลน์ในประเทศจีน ซึ่งมีอุตสาหกรรมนิยายออนไลน์ที่กว้างขวาง

“ในจีนมีการเปิดจักรวาลการเขียนศาสตร์ใหม่ในมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับเว็บโนเวลเลย ที่มหาวิทยาลัย หนานจิง หากเขียนดี สามารถทำเงินได้วันละเป็นล้าน เพราะประชากรเขามีจำนวนมาก อย่าง iReader ในจีน ก็มีสมาชิกผู้ใช้งานกว่า 700 ล้านคน ถ้าเป็นนักเขียนนิยายแล้วทำให้เรื่องติดตลาดได้ เป็นเศรษฐีได้เลย แต่คุณหยุดเขียนไม่ได้นะ เพราะคนอ่านก็พร้อมจะคอมเมนต์โจมตีคุณ สำนักพิมพ์ก็มีหน้าที่หวดให้นักเขียน เขียนๆๆ”

โดยข้อสำคัญของการเขียนวรรณกรรมออนไลน์คือ สามารถเห็นฟีดแบคของผู้อ่านได้ไว เขาอยากได้แบบไหน คนเขียนสามารถวิเคราะห์ได้ สำนักพิมพ์ก็สามารถเข้ามาช่วยได้ เช่น กระแสลูกแฝดมาแรงในจีน ก็สามารถนำมาวิเคราะห์และเขียนให้ตัวละครเป็นลูกแฝดเพื่ออิงกับกระแสได้ กล่าวคือเป็นวรรณกรรมที่มีการตอบสนองต่อกลุ่มผู้อ่านได้เกือบตลอดเวลา

พัลลภกล่าวสรุปว่านิยายออนไลน์จะไม่เข้ามาแย่งตลาดหนังสือเล่ม เป็นลูกค้าคนละกลุ่ม แต่ก็มีเส้นที่เหลื่อมกัน เช่น เอางานที่เป็นเล่มมาขายออนไลน์ ก็ยังมีคนอ่าน แถมบางครั้งได้กลุ่มคนอ่านใหม่อีกด้วย ขณะเดียวกันก็เอาออนไลน์มาขายทำเล่ม ได้อีก

โจทย์สำคัญคือหากจะพิมพ์หนังสือเล่มในช่วงเวลานี้ จะออกแบบ จัดจำหน่าย และทำการตลาดอย่างไร ให้คนต้องการซื้อหา

About the author

Varuth Pongsapipatt
Photo Editor/ Content Editor

Varuth Pongsapipatt

Photo Editor/ Content Editor