FEATUREDLatestReportages

4 ทศวรรษแห่งการต่อสู้ : ความสำเร็จและความฝันของชุมชนบ่อแก้ว

เมื่อพูดถึงการต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชนในการอยู่รวมกันของคนกับป่า หลายๆ คนก็คงจะนึกถึงชุมชนบางกลอยเป็นอันดับต้น และหากพูดขยายความต่อไปถึงขบวนการต่อสู้ที่ประสบความสำเร็จ หนึ่งในนั้นก็คงมีชื่อของชุมชนบ่อแก้ว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ รวมอยู่ในนั้นด้วย 

ชุมชนบ่อแก้ว เป็นชุมชนขนาดไม่ใหญ่ ตั้งอยู่บนถนนมะลิวรรณ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ชุมชนบ่อแก้ว เป็นชุมชนที่มีข้อพิพาทกับรัฐเรื่องที่ดินทำกินทับซ้อนกับเขตป่าสงวนแห่งชาติ เนื่องจากในปี พ.ศ. 2516 มีการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติซำผักหนาม ในกฎกระทรวงฉบับที่ 538 พ.ศ. 2516 

ต่อมาปี พ.ศ. 2521 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้ใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวปลูกสวนป่ายูคาลิปตัสขึ้น โดยมีเนื้อที่ 20,000 ไร่ ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวมาแต่เดิมต้องอพยพออกจากพื้นที่ แต่ก็มีความพยายามในการกลับเข้ามาเป็นระยะๆ และเกิดข้อพิพาทฟ้องร้องมากมายในช่วงดังกล่าว

มาถึงปี พ.ศ. 2547 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องขอที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่มาแต่เดิม เนื่องจากประกาศจากเขตอุทยานและทำสวนป่ายูคาลิปตัสนี้ทับที่ดินทำกินของชาวบ้านแต่ดั้งเดิม จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2552 ทางชาวบ้านตัดสินใจเข้ายึดพื้นที่บริเวณดังกล่าวสร้างที่อยู่อาศัยและปลูกที่ดินสำหรับทำกินขึ้น ทำให้เกิดข้อพิพาทใหญ่กับรัฐจนนำไปสู่การฟ้องร้องให้ชาวบ้านออกไปในปี พ.ศ. 2553 จากนั้นจึงมีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเรื่องนี้เรื่อยมาจนศาลมีคำสั่งในเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ให้ชาวบ้านบ่อแก้วย้ายออกจากพื้นที่ทันที ต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 ได้มีการเจรจากันอีกครั้งหนึ่งกับนาย วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 

ต้นปีพ.ศ. 2563 คณะทำงานยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกแผนในการคืนพื้นที่ให้กับประชาชนในชุมชนบ่อแก้วจำนวน 830 ไร่ โดยจะส่งมอบโฉนดให้จำนวน 366 ไร่ก่อนในวันที่ 9 พฤษภาคม 2564

แผนที่แปลงทั้ง 7 ที่ชุมชนบ่อแก้วได้รับจำนวน 366 ไร่ ถูกจัดวางเรียงตามพื้นที่จริง / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

การจัดสรรที่ดิน และกว่าจะฟื้นสภาพป่า

สำหรับแผนจัดสรรที่ดินจำนวน 366 ไร่ที่ชุมชนบ่อแก้วได้รับที่ดินคืนมาเป็นส่วนแรกนั้น  จะมีการปันที่ดินโดยการตกลงกันภายในชุมชนแบ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ทางการเกษตร และ พื้นที่อยู่อาศัยครอบครัวละ 2 ไร่ จำนวน 123 ครอบครัว โดยที่เหลืออีก 120 ไร่ จะเป็นบ่อน้ำของชุมชน ป่าชุมชน และ แปลงรวมที่จะเอาไว้ใช้ร่วมกัน ในส่วนของพื้นที่ใช้ทำการเกษตรนั้น ก็จะแบ่งให้แต่ละครอบครัวไปบริหารจัดการกันเอาเอง จะมีทั้งปลูกผัก สมุนไพรต่างๆ ทำเกษตรอินทรีย์ ทำเกษตรผสมผสาน และปลูกข้าว โดยข้าวที่ปลูกก็เป็นข้าวไร่ไม่ใช่ข้าวนา เพราะพื้นที่ทำเป็นนาไม่ได้ เนื่องจากอยู่พื้นที่สูง และข้าวไร่เองก็ใช้น้ำน้อยกว่า ฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็ต่างไปจากข้าวนาทั่วๆ ไป 

คำผัด ปลื้มกมล เลขาธิการชุมชนบ่อแก้ว ได้สะท้อนให้เราฟังว่า หลังจากที่ได้ที่ดินมาก็ยังมีภารกิจอีกมากที่ต้องทำ ได้ที่ดินมาแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะทำการเกษตรได้เลยเพราะพื้นที่ตรงนี้เสียหายไปแล้วจากการที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สร้างสวนป่าคอนสารขึ้นแล้วใช้พื้นที่แห่งนี้ปลูกต้นยูคาลิปตัส 

“พอปลูกต้นยูคาลิปตัสแล้วก็ทำให้พื้นที่บริเวณนี้เกิดปัญหาดินแห้ง ทำให้ปลูกอะไรก็ขึ้นยาก เราก็ต้องมาปรับหน้าดินกันใหม่ และต้นยูคาลิปตัสเองก็มีตอที่ทั้งใหญ่ทั้งลึกอยู่มาก และยังไม่สามารถขุดออกไปได้โดยง่ายเพราะต้องใช้รถแม็คโครมาขุดออกไป ซึ่งเราก็ยังเอาเข้ามาไม่ได้จนกว่าจะถึงวันที่ 9 พฤษภาคม”

อนึ่ง องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นองค์การรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบอุตสาหกรรมป่าไม้ เช่นการทำไม้ ไม่ว่าจะเป็นปลูกสวนป่าสัก ปลูกต้นยาง และ ปลูกป่ายูคาลิปตัส โดยนำผลผลิตที่ได้จากป่าไม้เหล่านี้ไปแปรรูปต่อ

คำผัด ปลื้มกมล เลขาธิการชุมชนบ่อแก้ว นำทางสู่ที่ดินจากการต่อสู้ ในขณะที่มือถือถังสำหรับเก็บพืชผักพื้นบ้านเพื่อนำมาประกอบอาหารมื้อเย็น / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

ป่าชุมชน คนกับป่า 

บ่อยครั้งเมื่อมีข่าวว่าชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ บุกรุกพื้นที่ป่า หรือบุกรุกป่าสงวนป่าอนุรักษ์ คนจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในชนบทมักเข้าใจไปว่าชาวบ้านเข้าไปยึดเอาที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์มาเป็นของตัวเองเพื่อทำการเกษตร

แต่ในความเป็นจริงแล้วบ่อยครั้งที่คนเหล่านี้คือผู้ที่อยู่มาก่อนและถูกรัฐไล่ให้ย้ายออกจากที่ดินทำกินตั้งแต่แรกเริ่มของตน และกว่าที่คนเหล่านี้จะได้กลับมายังถิ่นที่อยู่อาศัยของเขา ป่าดังกล่าวก็กลับกลายเป็นป่าเสื่อมโทรมไปแล้วจากการกระทำของรัฐ เช่นการนำป่าไปทำสัมปทานป่าไม้ และปลูกพืชพันธุ์ต่างถิ่นที่ไม่เหมาะสมกับระบบนิเวศ และหลายๆ ครั้งก็กลายเป็นว่าผู้ที่กลับมาอยู่ต้องเป็นผู้ฟื้นฟูผืนป่าเหล่านี้

ตอไม้ละลานตาในพื้นที่การเกษตรของชุมชนบ่อแก้ว / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

ชุมชนบ่อแก้วเองก็เป็นหนึ่งในชุมชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว จากการที่ อ.อ.ป. นำพื้นที่ดังกล่าวไปทำสวนป่าปลูกพืชต่างถิ่นเช่น ยูคาลิปตัส จนทำให้ดินเสื่อมโทรมลงอย่างมาก แต่ยังพอมีพื้นที่ป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำเหลืออยู่บ้าง

สุวรรณ ศรีสวัสดิ์ เหรัญญิกชุมชนบ่อแก้ว พาเราเดินลัดเลาะ เก็บเห็ด เก็บหน่อไม้ และเล่าให้เราฟังว่า

“คนกับป่านั้นอยู่ร่วมกันได้ ทำไมจะอยู่ไม่ได้ คนที่อยู่กับป่ามาเขาเข้าใจ เขารู้จักว่าป่าของเขาเป็นอย่างไร มีพืชพรรณอะไรอยู่ในนั้นบ้าง เรารู้จักป่าหนุ่ม ป่าแก่ เราเข้าใจอายุต้นไม้ คนเรามีไม่กี่คนเราไม่ได้เก็บกินจนหมด เราก็รู้วิธีอนุรักษ์ไว้อยู่”

สุวรรณ ศรีสวัสดิ์ เหรัญญิกชุมชนบ่อแก้ว, เสงี่ยม เดชบำรุง ประธานวิสาหกิจชุมชนบ่อแก้ว, และ คำผัด ปลื้มกมล เลขาธิการชุมชนบ่อแก้ว (จากซ้ายไปขวา) / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

เสงี่ยม เดชบำรุง ประธานวิสาหกิจชุมชนบ่อแก้ว เสริมว่า 

“ในป่าก็มีพืชพรรณที่หมุนเวียนตามฤดูกาล อย่างช่วงนี้ก็มี ผักหวาน มีหน่อไม้ มีไข่มดแดง แล้วเดี๋ยวก็มีเห็ด มีสมุนไพรต่างๆ ตลอดปี นอกจากนี้ก็มีสัตว์ตัวเล็ก เช่น กบ เขียด อึ่ง ก็นำมาเป็นอาหารได้ พอเก็บเสร็จถ้าเราเห็นว่าตรงไหนมันมีพื้นที่ว่างอยู่เราก็จะหยอดลูกไม้ลงไปแทรก เดี๋ยวมันก็โตขึ้นมาเอง แล้วก็จะทำแนวกันไฟไว้ด้วย” 

เสงี่ยม คำผัด และ สุวรรณ กำลังเก็บผักหวานจากต้น / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

สภาพป่าขนาดย่อมในชุมชนเช่นนี้มักจะพบเจอได้ทั่วไปในเขตที่มีพื้นที่อยู่ใกล้กับภูเขา โดยป่าเหล่านี้จำนวนมากเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ จะมีพืชพรรณท้องถิ่นขึ้นอยู่ตลอดทั้งปี ผลัดเปลี่ยนไปตามฤดูกาล เช่น ถัดจากหน้าแล้งเมื่อฝนตก ก็จะมีหน่อไม้แทงยอดออกมาให้ได้เก็บกิน หรือช่วงปลายฝนต้นหนาว เห็ดชนิดต่างๆ ก็จะเริ่มออกดอก ในช่วงหน้าแล้งก็มีไข่มดแดง มาคู่กับผักหวาน หลังฤดูวางไข่ของสัตว์สักระยะก็จะเริ่มมีกบเขียดออกมาให้ชาวบ้านได้จับไปบริโภคกัน

จะเป็นต้นแบบให้คนเรียนรู้

นอกจากการเกษตรแล้วอีกความฝันหนึ่งที่ชาวชุมชนบ่อแก้วมีคือการสร้างศูนย์เรียนรู้ โดยหวังว่าจะได้เผยแพร่ความรู้และเรื่องราวของชุมชน ที่ได้ต่อสู้จนประสบความสำเร็จออกไป รวมถึงการบอกเล่าวิถีชุมชนที่คนสามารถอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน ทั้งคำผัด สุวรรณ และเสงี่ยมต่างเล่ารายละเอียดด้วนสีหน้ายิ้มแย้มอย่างมีความสุขขณะพาเรานั่งรถกระบะไปดูพื้นที่ว่า

เสงี่ยมยิ้มขณะที่มองพื้นที่ทำกินที่ได้กลับคืนมา / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

“อยากให้มีฟาร์มสเตย์ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพราะอยู่ที่นี่อากาศก็ดี เป็นทางผ่านที่จะไปเชียงคาน ใครอยากไปเชียงคานก็ต้องผ่านเรา แวะมานอนมาดูที่นี่ก่อนก็ได้ แล้วตรงแปลงข้างๆ นี้ ก็จะทำเป็นตลาดอินทรีย์ จะเอาพืชผักของเราที่ปลูกกันในชุมชนมาขาย พวกอาหารแปรรูปด้วย พวกหน่อไม้ต้ม หน่อไม้ดอง ให้คนในชุมชนได้มีรายได้เพิ่ม เราจะอนุญาตให้คนจากที่อื่นมาขายด้วยได้ แต่ก็ต้องเป็นของปลอดสาร และไม่ได้มาจากพ่อค้ารายใหญ่” 

หนึ่งในพวกเขาพูดขึ้นขณะย่างเท้าผ่านพื้นที่รกร้างที่กำลังทยอยขุดและพรวนดิน ด้วยแรงกายของคนในชุมชน

ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ขณะขุดรากไม้ที่ตกค้าง เพื่อเตรียมแปลงเกษตร / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

“ติดกับตลาดตรงนี้ก็จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ จะเป็นพื้นที่ให้คนจากชุมชนอื่นๆ ที่กำลังต่อสู้ในเรื่องเดียวกับเรามาศึกษาว่าจะต้องต่อสู้แบบไหน ทำอย่างไร หรือให้พวกน้องๆ นักศึกษามาดูงาน มาเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนของเราด้วย พวกน้องๆ จาก มข. (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) ม.สารคาม (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) เครือข่ายเราที่อยู่กับ P. Move เครือข่ายปฏิรูปที่ดินต่างๆ”

รอยยิ้มของชาวบ้านในชุมชนบ่อแก้ว ขณะที่คำผัดกำลังแบ่งปันพืชผักพื้นบ้านที่เก็บมาแบ่งปันเพื่อนร่วมชุมชน / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

อนาคตที่ยังต้องต่อสู้

แม้ชาวชุมชนบ่อแก้ว จะได้รับที่ดินคืนมา 366 ไร่ แต่ด้วยพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ที่ดินบริเวณที่ได้รับมานั้นเป็นพื้นที่สูง และ ยังมีตอไม้ที่ยังเหลือจากการทำสวนป่าเพื่ออุตสาหกรรมของทางภาครัฐหลงเหลืออยู่จำนวนมาก ทำให้ยากต่อการทำเกษตรกรรม กอปรกับด้วยครัวเรือนในชุมชนมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย การที่ได้ที่ดินทำกินมาเพียงสองไร่กับจำนวนสมาชิกในครอบครัวถึง 7-8 คนจึงอาจจะไม่เพียงพอนัก  

นอกจากนี้ทาง อ.อ.ป. ยังต้องส่งต่อให้ชาวบ้านอีกจำนวน 464 ไร่ ตามมติของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ดินจำนวน 464 ไร่ดังกล่าวนี้เป็นพื้นที่ลุ่มที่เหมาะแก่การทำการเกษตรมากกว่า แต่ยังติดปัญหาในเรื่องของกระบวนการที่ล่าช้าและยังมีการสำรวจพื้นที่ยังไม่เสร็จสิ้นดี และยังไม่มีความชัดเจนว่าชาวบ้านจะได้พื้นที่คืนมาในช่วงเวลาใด

อาคารดินที่ถูกใช้เป็นศาลากลางของชุมชนยามมีกิจกรรม ตั้งตระหง่านอยู่กลางชุมชนเพื่อรอต้อนรับผู้มาเยือน และเป็นดุจสัญลักษณ์ของการร่วมแรงร่วมใจ / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

การพูดคุยจบลง ด้วยคำถามที่เรียบง่ายว่า จากที่ต่อสู้มากกว่า 40 ปี สุดท้ายได้ที่ดินกลับคืนมารู้สึกอย่างไร? 

ทั้งสามตอบเหมือนกันอย่างสั้นๆ ว่า รู้สึกดีใจ และภูมิใจ พร้อมกับน้ำตาที่คลอออกมาด้วยความรู้สึกตื้นตันอย่างบอกไม่ถูก พวกเขาขยายความต่อว่า 

“ที่ได้มาตอนนี้ถึงจะดีใจแล้ว แต่ก็ยังมีต้องทำต่อไปเพราะยังได้ไม่ครบจำนวน ยังขาดอีก 400 กว่าไร่ที่ อ.อ.ป. บอกว่าจะให้ก็ยังทำเรื่องดำเนินการต่างๆ อยู่ แต่ก็น่าจะยังอีกนาน”

“แต่วันนี้ได้เท่านี้ก็ดีใจมากแล้ว” 

อ้างอิง: 

About the author

Thanapong Kengpaiboon
Executive Editor
PLUSSEVEN phototeam

Photojournalists with a variety of interests—politics, economy, society, culture.

Thanapong Kengpaiboon and PLUSSEVEN phototeam

Photo Editor/ Content Editor