FEATUREDLatestReportages

โควิด-19 ในคลองเตย: เมื่อรัฐขยับตัวช้าเกินไป 

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อผู้คนในสังคม ไม่ว่าจะยากดีมีจน รวยล้นฟ้าย่อมมีสิทธิติดเชื้อได้ทั้งสิ้น 

แม้รัฐบาลจะพยายามบอกว่าทุกคนมีสิทธิได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน แต่กระแสข่าวที่ออกมาตามหน้าสื่อกลับสวนทาง เมื่อผู้มีชื่อเสียงหรือเป็นที่รู้จักในสังคมได้ออกมาเผยแพร่เกี่ยวกับข้อมูลการติดเชื้อ ภาพที่เห็นนั้นคือการบริการจากทั้งทางภาครัฐและเอกชนที่พร้อม ทั้งการตรวจเชื้อ การรับตัวไปรักษา หรือว่าในส่วนของสถานรักษาพยาบาลที่มีความครบครัน

แต่ประชาชนคนทั่วไป โดยเฉพาะประชาชนที่เปราะบางทางเศรษฐกิจกลับต้องเผชิญกับความยากลำบากในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้าถึงบริการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ราคาสูงเกินกว่าจะแบกรับต้นทุนได้ หรือต่อให้มีการบริการตรวจหาเชื้อฟรีก็มีจำนวนจำกัดจนเกิดการแย่งชิงสิทธิ การประสานงานที่เชื่องช้าระหว่างองค์กรที่มีหน้าที่ในการรับผู้ป่วยจากบ้านไปส่งที่โรงพยาบาล จำนวนเตียงในโรงพยาบาลที่ไม่เพียงพอสำหรับรองรับผู้ป่วย และรวมไปถึงความสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ไม่ทันท่วงทีจนเกิดเหตุการณ์เสียชีวิตในบ้านพักระหว่างรอการส่งตัวไปรักษาต่อในโรงพยาบาลมาแล้ว

ทางรถไฟเลียบขนานชุมชนคลองเตยทอดยาวไปกับบ้านเรือนที่แน่นขนัด / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

ชุมชนคลองเตย หรือที่คนเรียกขานกันว่าสลัมคลองเตย เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยไม่ต้องสงสัย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีประชาชน โดยเฉพาะผู้มีสถานะความเปราะบางทางเศรษฐกิจอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น ประกอบด้วยชุมชนขนาดย่อย 43 ชุมชน และผู้อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านราว 80,000 คน โดยตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมเหล่าประชากรแฝงอีกไม่น้อย 

เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของชุมชนคลองเตยที่เรียกได้ว่าอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ติดกับทั้งท่าเรือคลองเตยและตลาดคลองเตยที่เป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับกระจายสินค้าไปทั่วเมืองหลวง อีกทั้งยังมีเป็นจุดที่สะดวกต่อการเดินทางไปยังย่านธุรกิจใกล้เคียงเช่น ทองหล่อ อโศก สาทร สีลม ประชาชนผู้อยู่อาศัยในชุมชนคลองเตยที่ใครหลายๆ คนอาจมองว่าเป็นย่านเสื่อมโทรมหรือเป็นย่านที่ยังไม่มีการพัฒนาแท้จริงแล้วมีความสำคัญมากในฐานะพื้นที่พักอาศัยของเหล่าฟันเฟืองผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร 

หลังคาที่แน่นขนัด ผนังบ้านที่ต่อติดกัน ทางเดินแคบขนาดคนเดินสวน เป็นภาพปกติภายในชุมชนคลองเตย / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

เพราะผู้อาศัยในชุมชนคลองเตยนั้นประกอบอาชีพหลากหลายไม่ว่าจะเป็นแม่บ้านในห้างสรรพสินค้าหรือโรงแรม เป็นวินมอเตอร์ไซค์ หรือเป็นแมสเซนเจอร์ที่นำสินค้าและผู้คนกระจายไปทั่วกรุงเทพมหานคร

รวมถึงยังทำงานกระจายในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะทำงานในโรงงาน ในตลาดคลองเตย ในการท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือในย่านธุรกิจทั้งใกล้เคียงและห่างไกล ดังนั้นถ้าหากมีการระบาดเป็นวงกว้างเกิดขึ้นที่ชุมชนคลองเตยนั่นหมายถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการระบาดเพิ่มขึ้นทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครเช่นกัน 

สำหรับตัวเลขในปัจจุบัน (28 เมษายน พ.ศ. 2564) พบผู้อาศัยในชุมชนคลองเตยที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วจำนวน 73 คน โดยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆ แล้ว 65 คน อยู่ระหว่างการรอส่งตัวเพื่อรับการรักษาโดยวิธีการกักตัวอยู่ที่บ้านอีก 8 คน 

กักตัวไปด้วยกัน

ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวคลองเตยนั้นอยู่กันแบบครอบครัวขยาย โดยแต่ละครอบครัวอยู่กัน 4-6 คน ใต้หลังคาที่มีอาณาเขตต่อหนึ่งบ้านประมาณ 6-8 ตารางวา โดยบ้านมักติดกันเป็นแถวแนวยาวชิดกันในลักษณะกำแพงชนกำแพง ไม่ทีพื้นที่ว่างระหว่างบ้านแต่ละหลัง เมื่อเกิดการระบาดขึ้นการแพร่กระจายจึงเป็นไปได้โดยง่ายตามข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ที่อยู่อาศัย ส่งผลให้การปฏิบัติตามมาตรการเกี่ยวกับการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบใช้ในการประชาสัมพันธ์กลายเป็นเรื่องยากหรือเกือบจะเป็นไปไม่ได้

เมื่อการแพร่ระบาดเริ่มลุกลาม ทางกรุงเทพมหานครจึงได้จัดหน่วยเคลื่อนที่มาตรวจหาผู้ติดเชื้อที่บริเวณวัดสะพาน (พระโขนง) ในวันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2564 โดยระบุว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงจำนวน 500 คน ซึ่งคิดเป็นประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของผู้มีความเสี่ยงสูงทั้งหมดในชุมชน โดยคาดว่าจะได้ผลการตรวจไม่เกินวันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน

หน่วยเคลื่อนที่มาตรวจหาผู้ติดเชื้อที่บริเวณ วัดสะพาน (พระโขนง) / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

โดยในช่วงสายของวันอังคารที่ 27 เมษายน พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า จะจัดสถานที่กักตัวให้โดยเร็วและจะนำผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันผลการวิเคราะห์และยังตกค้างอยู่ในชุมชนประมาณ 30 คน ออกจากพื้นที่ และหาโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามให้ทันทีภายในวันอังคารที่ 27 เมษายน ภายในเวลา 11.00 น. แต่ความเป็นจริงแล้ว อีกหลายชีวิตยังคงตกค้างอยู่ภายในชุมชนจนถึงช่วงเย็นจึงจะได้ออกไปทั้งหมด อย่างไรก็ตามมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อต่อเรื่อยๆ ภายหลังช่วง 16.00 น.

หมูหวาน (ขอสงวนชื่อและนามสกุลจริง) อายุ 44 ปี หนึ่งในผู้ติดเชื้อได้เล่าให้เราฟังผ่านโทรศัพท์ว่ามีผู้อยู่อาศัยในบ้านกันทั้งหมด 6 คน พบผู้ติดเชื้อคนแรกวันพุธที่ 21 เมษายน และได้ไปโรงพยาบาลวันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน แต่ก่อนหน้านั้นไม่สามารถกักตัวได้เนื่องจากบ้านมีขนาดคับแคบทำได้เพียงไม่ให้ผู้ติดเชื้อออกไปข้างนอก จากนั้นวันศุกร์ที่ 23 เมษายน ได้นำคนในบ้านทั้งหมดไปตรวจหาเชื้อ และผลออกมาเมื่อวันจันทร์ที่ 26 เมษายน พบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 4 คน รวมเป็น 5 คน คือตัวคุณหมูหวานเอง ลูกคุณหมูหวาน และ หลาน วัย 11 ขวบ และ 5 ขวบอีกสองคน

หมูหวาน ขณะรับข้าวสาร อาหาร และสิ่งของจำเป็นจากตัวแทนชุมชน ในช่วงเที่ยงของวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2564 ก่อนที่ผลการตรวจจะออกมาเป็นบวก (ติดเชื้อโควิด-19) และต้องถูกนำตัวออกจากบ้านพัก / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

หมูหวานและผู้ติดเชื้ออีก 4 คนถูกส่งไปที่โรงพยาบาลสนามในตอนเย็นวันอังคารที่ 27 เมษายน ส่วนผู้สูงอายุอีกหนึ่งคนในบ้านนั้นผลเป็นลบ ตอนนี้อยู่คนเดียวที่บ้าน ส่วนทางชุมชนก็ได้พยายามส่งข้าวสารอาหารแห้งและยารักษาโรคเพื่อนำไปให้ผู้ที่ต้องกักตัวอยู่ในบริเวณชุมชน

“ก่อนหน้านี้ก็อยากจะกักตัวแต่เนื่องจากบ้านคับแคบมากไม่สามารถกักตัวได้หมด ทำได้เพียงกักตัวผู้สูงอายุซึ่งก็คือคุณพ่อให้อยู่ในอีกห้องหนึ่ง ส่วนกับผู้ติดเชื้อคนอื่นก็พยายามให้อยู่ห่างกัน แล้วก็ไม่ออกไปนอกบ้าน แต่สุดท้ายก็ติดกันเกือบหมด”

ประภา ชุมพลรักษ์ เหรัญญิกชุมชน ล็อก 1-2-3 อธิบายว่าในช่วงแรกที่มีผู้ติดเชื้อในชุมชนนั้น มีผู้ป่วยในชุมชนต้องกักตัวอยู่ที่บ้านเนื่องจากไม่มีโรงพยาบาลใดมารับ ทั้งๆ ที่ติดต่อกับทางโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว แต่ยังต้องให้รอ 2-3 วันกว่าจะมีการเข้ามารับผู้ป่วย ทำให้จำเป็นต้องกักตัวร่วมกับญาติพี่น้องที่ยังไม่ได้รับการตรวจว่าติดเชื้อหรือไม่ภายในบ้านหลังเดียวกัน โดยผู้ติดเชื้อจะกางเต็นท์นอนและอยู่แต่ภายในเต็นท์ แต่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องใช้ห้องน้ำหรือสิ่งของต่างๆ ร่วมกันกับผู้ที่อยู่ในบ้าน

กลุ่มเด็กเล็กเองก็ต้องถูกกักตัวอยู่ในบ้านด้วย เพราะศูนย์เด็กเล็กถูกสั่งปิด ทำให้เด็กเล็กก็ต้องถูกกักตัวรวมกับผู้ป่วยทั้งๆ ที่เด็กเล็กเองก็มีโอกาสติดต่อได้ง่าย นอกจากนี้ในชุมชนเองมีคนแก่ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงประมาณ 80 คน ถ้าบ้านไหนมีผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยแและคนแก่เหล่านี้ก็ต้องอยู่ร่วมไปด้วย ตอนนี้ก็อยากให้ช่วยเอาคนป่วย เด็กและคนแก่ ออกไปกักตัวที่อื่นก่อน”

ประภา ชุมพลรักษ์ เหรัญญิกชุมชน ล็อก 1-2-3 เดินถืออาหารส่งตามบ้านผู้ที่ได้รับความเสี่ยงสูงภายในชุมชน / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง?

ประชากรจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในชุมชนคลองเตยนั้น ประกอบอาชีพที่รับค่าแรงเป็นรายวัน การกักตัวย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ประภา กล่าวต่อว่า ณ ปัจจุบันคนที่กักตัวอยู่ทางชุมชนมีมาตรการดูแลโดยการตั้งกลุ่มไลน์ขึ้นมาสำหรับผู้ที่กักตัวเพื่อที่จะเป็นช่องทางการสื่อสารว่าต้องการของใช้อะไรบ้างในชีวิตประจำวัน เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาด หน้ากากและข้าวของที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค หรือหากต้องการข้าวกล่องก็ส่งข้อความมาแจ้งแล้วทางชุมชนจะพยายามจัดหามาให้ หรือในช่วงเช้าบางครั้งก็มาขออาหารจากวัดไปให้เป็นมื้อเช้าก่อน

การช่วยเหลือกันเองในชุมชนแบบนี้แม้จะเป็นเรื่องที่ดูสวยงามและน่าชื่นชมแต่ก็ยังมีปัญหาตามมาเนื่องจากทรัพยากรนั้นมีอยู่อย่างจำกัด 

“ชุมชนพี่ (ล็อก 1 2 3) ได้เงินจากเขตเดือนละ 10,000 บาท แต่ต้องดูแลหมดเลยทั้งถนนหนทาง ไฟส่องสว่าง อะไรเสียหายในชุมชนก็ต้องซ่อม แล้วพอมีผู้ป่วยขึ้นมาเราก็ต้องเอาเงินนี้ไปดูแลเขา ซึ่ง 10,000 บาทมันจะพอได้อย่างไรกับการดูแลคนตั้ง 1,500 ครัวเรือน (ประมาณ 7,000 คน)” 

ประภา ชุมพลรักษ์ ขณะจัดเตรียมอาหารแห้ง และข้าวที่เธอจะนำเดินส่งตามบ้านที่อยู่ในสภาวะกักตัว / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

นอกจากปัญหาเรื่องข้าวของเครื่องใช้ในการอุปโภคบริโภคแล้ว คนในชุมชนยังพบเจอปัญหาที่ตามมาจากการขาดรายได้คือภาระเรื่องค่าน้ำค่าไฟไปจนถึงค่าเช่าบ้านที่ยังต้องชำระตามเวลา โดยประภาบอกว่า 

“พี่ก็ยังไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน” 

และเมื่อถามถึงมาตรการเยียวยาจากรัฐ ว่าได้รับการดูแลในด้านเหล่านี้อย่างไรบ้าง ประภาก็ได้ให้คำตอบแสนสั้น

“ยังไม่มี”

ชุมชนสู้ไปด้วยกัน

ตั้งแต่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อในชุมชนคลองเตยตั้งแต่วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564 ทางชุมชนต้องหาทางบริหารจัดการและช่วยเหลือกันเองผ่านมูลนิธิต่างๆ และเครือข่ายประชาชนที่อยู่ในชุมชน โดยทางกลุ่มได้เชิญประธานชุมชนต่างๆ มาพูดคุยและหาทางออกร่วมกันในเรื่องนี้ 

เพ็ญวดี แสงจันทร์ ผู้จัดการมูลนิธิดวงประทีปเล่าว่า ทางมูลนิธิฯ ได้ร่วมกับทางชุมชนและกลุ่มในชุมชน เช่นกลุ่มคลองเตยดีจังเพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลของผู้ติดเชื้อ เนื่องจากตัวเลขของทางที่มูลนิธิฯ เก็บได้นั้นมีมากกว่าที่ทางศูนย์บริการสาธาณสุข 41 คลองเตยบันทึกไว้ โดยหวังว่าทางกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครจะได้เข้ามาช่วยเหลือจัดการตรงนี้ 

ในขณะนี้ทางมูลนิธิฯ ก็ได้เชิญประธานชุมชนต่างๆ มาพูดคุยกันทางออนไลน์ และมีมติว่าจะพยายามผลักดันหาทางสร้างสถานที่กักตัวเพื่อรอส่งต่อในขณะที่รอเตียง โดยจะตั้งขึ้นที่วัดสะพาน (พระโขนง) 

โดยได้คุยกับทางเจ้าอาวาสแล้วและท่านก็เห็นดีด้วย ขณะนี้กำลังพยายามติดต่อประสานงานกับทางกระทรวงสาธารณสุขและทางกรุงเทพมหานคร เพื่อจัดตั้งสถานที่กักตัวแห่งนี้ขึ้น รวมถึงทางมูลนิธิดวงประทีปก็ได้เปิดรับบริจาคเพื่อนำข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน และ ยารักษาโรคทั่วไปเพื่อจะนำไปแจกจ่ายให้คนในชุมชน และ ทางชุมชนหลายๆ ชุมชนเองก็มีการจัดตั้งครัวกลางขนาดเล็กขึ้นเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับครัวเรือนต่างๆ ที่ประสบปัญหาในช่วงนี้

“ตอนนี้ก็อยากให้มีโรงพยาบาลสนามขึ้นในบริเวณนี้ เห็นทางกองทัพออกมาพูดแล้วก็ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง จะได้จริงไหม อีกเรื่องคืออยากให้มีการฉีดวัคซีนกับคนในพื้นที่ที่เป็นผู้เปราะบาง เพราะถ้าทางชุมชนคลองเตยติดกันหนักจะพังกันไปหมดทั้งกรุงเทพฯ ได้ มีความพยายามผลักดันเจรจากันไปอย่างไม่เป็นทางการแล้วแต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไรต่อ” เพ็ญวดีกล่าว

ผู้ได้รับความเสี่ยงสูงในชุมชนคลองเตยออกมารับข้าวสาร และสิ่งของจำเป็นซึ่งตัวแทนชุมชนนำมาส่งไว้ที่หน้าบ้านขนาดเล็กซึ่งอยู่อาศัยกัน 4 คน
โดยวันถัดมา (28 เมษายน) มีผลตรวจว่าพวกเขาทั้ง 4 เป็นผู้ติดเชื้อ และต้องถูกนำไปรักษาพยาบาลทันที / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

มาตรการที่ยังไม่เร็วพอ

ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของตลาดบางแคและคลัสเตอร์ทองหล่อ รัฐบาลได้มีการเร่งตรวจและฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ทำงานอยู่ในบริเวณดังกล่าวและผู้มีความเสี่ยงสูงไปเรียบร้อยแล้ว แต่ในขณะเดียวกันเขตที่ติดต่อกันกับคลัสเตอร์ทองหล่ออย่างคลองเตย แม้จะมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่มาตรการจากภาครัฐกลับยังไม่ชัดเจนนัก

การรับมือของรัฐต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในชุมชนคลองเตยนั้น มีความท้าทายสูงมากด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด ทำให้การแพร่ระบาดเกิดได้ง่ายขึ้น และเมื่อการช่วยเหลือไม่เพียงพอคนในคลองเตยเองก็มีความจำเป็นที่จะต้องออกไปหาเลี้ยงชีพซึ่งก็อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างต่อไปอีกเช่นกัน 

ดังนั้นการระบาด ณ คลองเตยไม่เพียงจะเป็นบททดสอบความสามารถในการจัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสแต่เพียงอย่างเดียว แต่แนวทางในการรับมือครั้งนี้จะเป็นการสะท้อนมุมมองของรัฐที่มีต่อประชาชนที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษ ไปจนถึงการสะท้อนวิสัยทัศน์ของรัฐในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของการแก้ปัญหา ว่าจัดลำดับอย่างไร ทำไมผู้ที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จึงมีความสำคัญกว่าผู้เปราะบางทางเศรษฐกิจที่เป็นคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานราก

เพราะคลองเตยนั้นไม่ใช่เพียงกลุ่มชุมชนแออัดกลุ่มหนึ่งแต่คลองเตยยังเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากของเมืองหลวงแห่งนี้ ที่เมื่อพังทลายลงก็มีสิทธิที่จะฉุดกระชากทุกภาคส่วนลงด้วยเช่นกัน

About the author

Thanapong Kengpaiboon
Executive Editor
PLUSSEVEN phototeam

Photojournalists with a variety of interests—politics, economy, society, culture.

Thanapong Kengpaiboon and PLUSSEVEN phototeam

Photo Editor/ Content Editor