FEATUREDLatestReportages

COVID-19 : สภาวะขาดรายได้ ทำลายชีวิตคนจนเมือง

หลังจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ประเทศไทยต้องเผชิญมาเป็นระยะเวลา 1 ปีเศษ จนมีผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 100,000 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 500 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2564) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพมหานคร ศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่การระบาดรอบใหม่ เพิ่มปริมาณผู้ติดเชื้อขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2564 จนถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นมาสถิติของกรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 28,000 คน

นอกเหนือจากความน่ากังวลในเรื่องการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่รวดเร็วขึ้น อาการเจ็บป่วยที่มีความรุนแรงและนำไปสู่การสูญเสียมากขึ้น ผลกระทบจากมาตรการรัฐที่ประกาศใช้เพื่อควบคุมโรคระบาด ก็ทำให้เกิดผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจเช่นกัน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสั่งกะทันหันในการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผ่านวิธีการปิดการดำเนินการชั่วคราว เช่น การห้ามนั่งรับประทานในร้านอาหาร การห้ามจัดอีเวนท์ และการปิดสถานบริการหลายกลุ่ม โดยที่ไม่ได้ปรากฎมาตรากรการเยียวยาหรือชดเชยให้ผู้ที่ต้องขาดรายได้อย่างกะทันหันสักนิดเดียว

การประเมินข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยระบุว่าจากการระบาดระลอก 3 ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) ของไทยจะลดลงประมาณ 1.24% และ แรงงานที่สูญเสียงานไปราว 150,000 คน หากการระบาดครั้งนี้กินเวลาประมาณ 2 เดือน

ทว่าการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ได้ทำให้ประชาชนหยุดการมีชีวิตตามอาชีพที่สูญเสียไปได้ ดังนั้นการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จึงตามมาด้วยการขาดแคลนรายได้ ในขณะที่รายจ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชนยังคงเดิม

สำหรับปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่สวนทางกับรายได้ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดนั้น ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง คือกลุ่มคนที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ อย่างผู้คนที่อาศัยในชุมชนแออัด เพราะรายได้หลักของคนกลุ่มนี้มักมาจากการประกอบอาชีพเป็นรายวัน เมื่อเกิดการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจกะทันหัน นั่นหมายถึงการเผชิญหน้ากับการขาดรายได้โดยทันที

ไม่ว่าจะเป็นชีวิตที่ต้องขาดรายได้ สูญเสียงาน และ ปัญหาหนี้สิน รวมไปถึงภาระค่าใช้จ่ายที่ยังคงอยู่เป็นสิ่งที่ผู้คนในระดับฐานรากโดยเฉพาะคนที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัดต้องพบเจอ

ชุมชนสหกรณ์กัลยาณมิตร ในเขตบางซื่อ และชุมชนพัฒนา กม.11 ในเขตจตุจักร แม้จะไม่ใช่ชุมชนแออัดที่เป็นที่รู้จักดีเหมือนชุมชนคลองเตย ทว่าจากสภาพความเป็นอยู่ สถานะทางเศรษฐกิจ รวมถึงอาชีพของผู้อยู่อาศัย พวกเขาเองก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการของภาครัฐโดยตรง 

ชุมชนสหกรณ์กัลยาณมิตร ในความเงียบเหงา เมื่อทุกคนเก็บตัวอยู่ที่บ้าน / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

บ้านก็ต้องเช่า ข้าวก็ต้องซื้อ

สหกรณ์กัลยาณมิตรเป็นชุมชนเป็นหนึ่งในชุมชนแออัดที่ผู้อยู่อาศัยล้วนได้รับผลกระทบจากสภาวะปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณเลียบทางพิเศษศรีรัช – วงแหวนรอบนอก เขตบางซื่อ มีผู้อยู่อาศัย 185 ครัวเรือน หรือประมาณ 1,300 คน 

พรเทพ บูรณบุรีเดช ชาวบ้านสหกรณ์บ้านมั่นคงกัลยาณมิตรเล่าว่า ผู้คนในชุมชนส่วนมากประกอบอาชีพค้าขาย และทำงานในภาคบริการเป็นหลัก

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ขึ้น การที่ภาครัฐมีมาตรการต่างๆ ออกมา ไม่ว่าจะเป็นการห้ามไม่ให้รับประทานอาหารในร้าน สามารถซื้อกลับบ้านได้เท่านั้น ปิดตลาดบางซ่อน ซึ่งเป็นแหล่งทำงานของผู้คนหลายครัวเรือนในชุมชน การจำกัดเวลาซื้อขาย การห้ามจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ การปิดกิจการในภาคบริการ และการจำกัดการเดินทาง ล้วนทำให้ผู้คนในชุมชนได้รับผลกระทบจากการไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ซึ่งตามมาด้วยสถานการณ์ขาดรายได้ หรือซ้ำร้ายกว่านั้นคือประชาชนจำนวนหนึ่งต้องตกงานจากมาตรการเหล่านี้

พรเทพ บูรณบุรีเดช ชาวบ้านสหกรณ์บ้านมั่นคงกัลยาณมิตร

“คนในชุมชนบางคนก็ขายของในตลาดนัดบางซ่อน บางคนก็ขับวินมอเตอร์ไซค์ ขับแท็กซี่ แล้วพอโควิดมารอบนี้ ก็ตกงานกันหมด บางคนต้องออกไปเก็บขยะมาขายแทน ซึ่งราคาก็ไม่ดี” 

พรเทพ เล่าต่อว่า คนในชุมชนกว่าร้อยละ 80 – 90 กำลังประสบกับปัญหารายได้ลดลง แต่รายจ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวันยังคงเหมือนเดิม

“บางคนเคยได้วันละ 500-600 บาท ทุกวันนี้ได้ไม่ถึง 100 บาท แต่ก็อยู่กันทั้งครอบครัว ครอบครัวละ 4-5 คน หารายได้อยู่แค่ 1-2 คน แล้วจะอยู่อย่างไร” 

เด็กในชุมชนสหกรณ์กัลยาณมิตรแช่น้ำในอ่างยางคลายเบื่อ ในขณะที่คนในชุมชนซึ่งอยู่ในวัยแรงงาน ต้องจอดรถมอเตอร์ไซค์ หวังเพียงจะมีงานส่งอาหารโผล่เข้ามาให้เขาได้ออกไปหารายได้ / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

ในขณะที่อรนิตย์ รอดนาค เลขาสหกรณ์บ้านมั่นคงกัลยาณมิตร อธิบายเพิ่มว่า การขาดรายได้ของคนในชุมชนเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะนอกจากข้าวปลาอาหารในชีวิตประจำวันแล้ว ก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องจ่ายอยู่อย่างสม่ำเสมอ เช่นค่าผ่อนบ้านที่ต้องผ่อนกับสหกรณ์และ ค่าเช่าที่จากการรถไฟ ไปจนถึงค่าน้ำค่าไฟ ที่ไม่ปรากฎมาตรการช่วยเหลือหรือได้รับการลดหย่อนเลย

“ในส่วนของสหกรณ์ เราพยายามจะลดหย่อนให้ได้มากที่สุด และหารายได้จากทางอื่นมาโปะรวมกันเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนที่ยังจ่ายไม่ไหว แต่กับทางการรถไฟ รวมถึงค่าน้ำค่าไฟ เราผ่อนไม่ได้” 

นอกจากรายจ่ายประจำเหล่านี้แล้ว ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือในชุมชนแห่งนี้มีเด็กและผู้สูงอายุ อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งค่าอาหาร ค่ายา และผ้าอ้อมยังต้องมีอยู่ 


ชายวัยทำงานที่ขาดรายได้ เพราะไม่สามารถออกไปทำงานได้ ในขณะที่ของบ้านเขาในชุมชนบ้านสหกรณ์บ้านมั่นคงกัลยาณมิตร มีภาระค่าใช้จ่ายต้องเลี้ยงดูหญิงชรา ผู้ป่วยติดเตียง และเด็ก 2 คน / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

เสาหลักผู้แบกน้ำหนักของบ้าน

วิภาวี รอดเสียงล้ำ ชาวบ้านสหกรณ์บ้านมั่นคงกัลยาณมิตร อาศัยอยู่ในบ้าน กับครอบครัว รวมทั้งหมด 7 คน เป็นผู้ป่วยติดเตียง 1 คน คนชรา 1 คน เด็ก 2 คน มีผู้ที่อยู่ในวัยแรงงาน 3 คน คือวิภาวี พี่ชาย และพ่อ แต่สามารถออกไปทำงานได้เพียง 2 คน โดยขณะนี้พี่ชายของวิภาวีนั้นตกงานอยู่ ซ้ำยังประสบปัญหาขาดรายได้เนื่องจากสถานการณ์ที่รับงานได้น้อยลง 

“ตอนแรกก็มีงานทำกันสามคน แต่พอโควิดมา พี่ชายที่ทำงานเป็นลูกจ้างจัดดอกไม้ พอจัดงานพวกนี้ไม่ได้ก็ไม่ได้ไปทำงาน ทำให้ขาดรายได้ ส่วนพ่อก็เป็นช่างไฟ รับจ้างเป็นรายวัน แต่พอโควิดมาจากที่แต่ก่อนทำแทบทุกวัน ตอนนี้ก็ทำแค่สัปดาห์ละ 1-2 วัน จากที่พ่อจะได้สัปดาห์ละ 1,600-1,800 บาท ก็เหลือสัปดาห์ละ 400-500 บาท”  

แม่ของวิภาวีซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง และบุตรสาวของเธอบนบ้านชั้น 2 ภายในชุมชนสหกรณ์บ้านมั่นคงกัลยาณมิตร / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ 

ในขณะที่ครอบครัวรายได้ลดลงกว่าร้อยละ 70 แต่รายจ่ายกลับไม่ได้ลดตามไป

“ตอนนี้ก็มีทั้งค่าขนมลูก ค่ายาแม่ ค่าผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ค่าเช่าที่ ค่าสร้างบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอาหาร ช่วงนี้ทางสหกรณ์เข้ามาช่วยเหลือบ้างแต่ก็ยังต้องประหยัดกินอยู่ดี”

ถัดมาไม่ไกลจากสหกรณ์บ้านมั่นคงกัลยาณมิตร สิทธิพล ฮ้อยิ่ง ชายวัย 64 ปี ปลูกบ้านหลังหนึ่งอยู่กับภรรยา และ หลานชายวัย 13 ปี ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง เขาเล่าว่าปัจจุบันตนต้องเปลี่ยนมาเก็บของเก่าขาย เพราะต้องเอาเวลามาดูแลหลานชายที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง แต่พอเกิดการระบาดของไวรัสโควิด – 19 ยิ่งทำให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่แย่ลง 

“ตอนนี้แฟนผมเค้าทำงานคนเดียวเป็นคนสวนอยู่ที่สำนักงานเขต ผมไปทำงานก็ไม่ได้ต้องดูหลาน แต่ก่อนเคยจ้างพยาบาลมาก็เดือนละเป็นหมื่นเลยออกมาดูเอง ผมก็เก็บของเก่าขายไปแต่ก็ได้ไม่เยอะ เพราะไม่ได้มีซาเล้งเหมือนคนอื่นเขา” 

“ตรงนี้ไม่เสียค่าบ้านแต่ก็ต้องเสียค่าเช่าให้การรถไฟ พอเงินน้อยลงก็ต้องทำกับข้าวกินเอง ส่วนมากก็ทอดไข่ ตอนนี้ก็ลำบากมาก แต่ก่อนมีบ้านราชาวดีตรงปากเกร็ดเค้าเอาแพมเพิร์สเอาอาหารมาให้หลาน แต่พอตั้งแต่มีโควิดมาเค้าก็ไม่ได้เอามาให้แล้วเพราะที่นู่นเองเค้าก็ยังไม่พอ เราก็ต้องจ่ายตรงนี้เพิ่ม”

สิทธิพล ในบ้านไม้เก่าขนาดเล็กใกล้ชุมชนสหกรณ์บ้านมั่นคงกัลยาณมิตร / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

ไร้กรรมสิทธิ์จึงต้องรัดเข็มขัดชีวิต

ชุมชนพัฒนา กม.11 เขตจตุจักร บริเวณหลังกระทรวงพลังงานและสถานีขนส่งหมอชิต 2 ก็เป็นอีกชุมชนที่ผู้อยู่อาศัยเป็นกลุ่มผู้เปราะบางทางเศรษฐกิจ โดยเป็นชุมชนที่กำลังถูกไล่รื้อที่จากการรถไฟ เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจรองรับสถานีรถไฟกลางบางซื่อ สำหรับชุมชนนี้ในปัจจุบันผู้อยู่อาศัยไม่มีโฉนดที่ดินรองรับเรื่องกรรมสิทธิ์ 

ทำให้พวกเขาไม่ได้รับบริการจากสำนักงานเขตในด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งไฟฟ้าและน้ำประปา ส่งผลให้คนในชุมชนต้องต่อพ่วงสาธารณูปโภคเหล่านี้จากบ้านหลังอื่น และจากการสอบถาม พบว่าราคาค่าไฟที่ไปต่อพ่วงมาอยู่ที่หน่วยละ เกือบ 10 บาท ในขณะที่ราคาค่าใช้น้ำประปาอยู่ที่หน่วยละตั้งแต่ 22 – 30 บาท 

กิตติ พวงมาลา ชาวชุมชนพัฒนากม.11 ประกอบอาชีพขับวินมอเตอร์ไซค์ บอกเล่าว่า ตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 เป็นต้นมา รายรับลดลงอย่างมากโดยเฉพาะเมื่อรัฐจำกัดการเดินทาง 

กิตติ ในชุดทำงานของเขา พร้อมด้วยมอเตอร์ไซค์คู่ใจ ที่ไม่สามารถสร้างรายได้ให้เขาได้มากนักในช่วงเวลานี้ / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

“ผมวิ่งรถอยู่แถวหมอชิต พอคนเดินทางน้อยลงลูกค้าก็น้อยลง ปรกติวันละ 300-400 ผมต้องได้ เมื่อวานนี่ไม่ได้สักบาท วันนี้ทั้งวันได้เที่ยวเดียว 30 บาท”

เมื่อรายได้ลดลง การบริโภคของกิตติและครอบครัวก็ต้องลดลงตาม 

“ที่บ้านอยู่กัน 4 คน มีผม ลูกสะใภ้ แล้วก็ลูกชาย 2 คน คนแรกดีหน่อยมีงานทำ คนเล็กเพิ่งเข้ามหาลัย ก็ยังดีที่ลูกชายคนโตยังพอหามาช่วยบ้าง จากแต่ก่อนผมซื้อข้าวกล่องกิน มื้อละ 40-50 บาท ตอนนี้ก็กินวันละมื้อสองมื้อ ทำกินกับที่บ้านเอา ก็ต้องประหยัด ทอดไข่ให้เยอะๆ หน่อย” 

การศึกษาก็มีราคาที่ต้องจ่าย

กิตติ เล่าต่อว่า ลูกชายของเขาเพิ่งเข้ามหาวิทยาลัย และเพิ่งจ่ายค่าเทอมไป แต่ยังไม่ได้เปิดเทอม รวมถึงทางมหาวิทยาลัยก็ยังไม่มีมาตรการแน่ชัดว่าจะจัดการเรียนการสอนอย่างไร จะต้องเรียนออนไลน์หรือไม่ ก็ยังไม่แน่ชัดนัก 

ในขณะที่พรลภัส บัวคลี่ กรรรมการชุมชนพัฒนา กม. 11 มีลูกชาย 2 คน ในวัยประถม สะท้อนให้ฟังว่าเกิดปัญหาทั้งในแง่คุณภาพของการจัดการเรียนการสอน และการมาของรายจ่ายเพิ่มเติมจากการเรียนในรูปแบบออนไลน์ที่กลายเป็นภาระชิ้นใหม่ของครอบครัว

พรลภัส นั่งอยู่ในบ้านของเธอ ที่แน่นขนัดไปด้วยของใช้ และอาหาร ที่จะนำไปแบ่งปันเพื่อนบ้านในชุมชน ขณะที่ลูกของเธอนั่งทานอาหารอยู่ถัดไปไม่ไกล / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

“พอเรียนออนไลน์ ค่าเทอมก็เก็บเราเต็ม แต่ครูก็สอนไม่ได้จริงจัง มาถึงก็สั่งงานๆ ให้การบ้าน เราก็ต้องเอาเวลามาสอนการบ้านลูก ทั้งๆ ที่ควรจะต้องเอาไปทำอย่างอื่น ไหนจะต้องหามือถือหาอะไรมาให้เรียนอีก”

“อีกเรื่องคือ อยากให้ลูกไปโรงเรียน ไปโรงเรียนถูกกว่าอยู่ที่บ้าน ทั้งค่าไฟค่าอะไร ไปโรงเรียนนะก็ยังมีข้าวกลางวันให้กิน อยู่บ้านนี่ร้องจะกินทั้งวันของจะหมดตู้เย็น”

พรลภัสกล่าวพร้อมปรายตามองลูกชาย

“อย่างลูกพี่ก็น้ำหนักขึ้นเกือบสิบกิโลตั้งแต่ปิดโควิดมา 1 ปี”

เด็กในชุมชนริมทางรถไฟในเขตบางซื่อ ทำได้เพียงวิ่งเล่นไปมา รอบบริเวณบ้าน ในขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากหยุดลงจากมาตรการของรัฐ / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

รัฐที่มองข้ามคนจน

เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงเสียงและภาพสะท้อนของ 2 ชุมชน จากกว่า 2,000 ชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร ยังไม่รวมชุมชนที่ไม่ถูกจัดตั้งเป็นชุมชน และ ชุมชนที่ตกสำรวจอีกจำนวนมาก ซึ่งล้วนแต่มีสภาพทางเศรษฐกิจไม่ได้แตกต่างกันนัก โดยคนจำนวนมากไม่ได้รับการเยียวยาที่เพียงพอ จากมาตรการรัฐที่ออกมาในช่วงการแพร่ระบาด 

ชายชราซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียงนอนพักอยู่ใต้หลังคาสังกะสี ที่ถูกใช้เป็นเพิงพัก ภายในชุมชนแออัดย่านจตุจักร / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

นี่จะไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐออกมาตรการการแก้ไขปัญหาเรื่องโรคระบาดโดยการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หากจนถึง ณ นาทีนี้รัฐก็ไม่มีแนวทางในการเยียวยาปัญหาหลักของคนในชุมชน และดูเหมือนจะไม่ได้รับการแก้ไขแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเยียวยาในเรื่องค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทั้งค่าเช่าที่ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าสาธารนูปโภค ค่าการศึกษาของบุตรหลาน ค่ารักษาพยาบาล ไปจนถึงการพักชำระหนี้ที่ไม่ครอบคลุมไปถึงคนเหล่านี้

เมื่อประกอบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายพื้นที่ชุมชนแออัดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นจากคลัสเตอร์ชุมชนคลองเตยที่มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 1,000 คน แคมป์คนงานก่อสร้างหลักสี่ ที่มีผู้ติดเชื้อเกือบ 500 คน จากผู้อยู่อาศัย 559 ราย ไปจนถึงเรื่องราวของชุมชนแออัดจากจตุจักร และบางซื่อ ก็ล้วนสะท้อนภาพการจัดการโรคระบาดที่ไม่ทันท่วงที อีกทั้งยังไม่สามารถเยียวยาปัญหาทางเศรษฐกิจของผู้คนได้

ก่อรูปเป็นคำถามว่า ภาครัฐไทยดูแลประชาชนทุกคนได้ดีพอหรือยัง?

อ้างอิง

About the author

Thanapong Kengpaiboon
Executive Editor
PLUSSEVEN phototeam

Photojournalists with a variety of interests—politics, economy, society, culture.

Thanapong Kengpaiboon and PLUSSEVEN phototeam

Photo Editor/ Content Editor