จากงานศิลป์สู่ดิจิทัล: สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่พัดผ่านปัตตานี
JOURNEY TO THE PA(T)TANI WIND OF CHANGE
เรื่องและภาพโดย นนทรัตน์ สุวรรณพงศ์
เมื่อพูดถึงจังหวัดปัตตานี เราจะพบว่าปัตตานีถูกสร้างภาพให้กลายเป็นพื้นที่อันตรายมาหลายทศวรรษ ด้วยภาพจำว่าเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกอบไปด้วย ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งควบคุมดูแลโดยฝ่ายความมั่นคงหลากหลายหน่วย ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ตลอดจนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอบต. การปะทะกันและความขัดแย้งถูกโหมกระพือด้วยการใช้อำนาจรัฐ และการนำเสนอข่าว ล้วนขับเน้นความรุนแรงในพื้นที่ ทว่าชีวิตของผู้คนธรรมดายังคงเดินต่อไปภายใต้บรรยากาศเหล่านี้
ท่ามกลางความสงบเงียบและเป็นมิตรของเมืองปัตตานีในช่วงปลายฤดูฝนของเดือนธันวาคม ผู้คนที่เชื่อในศาสนาพุทธ อิสลาม และคนเชื้อสายจีนยังคงใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเป็นปกติสุข วัยรุ่นรวมตัวตามร้านคาเฟ่ ร้านน้ำชาริมทาง ผู้มีจิตศรัทธายังสักการะเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว มัสยิดกลางยังคงมีผู้มาประกอบกิจตามศรัทธาอย่างเนืองแน่น ผู้คนยังคงเดินเลือกซื้อเสื้อผ้าตามตลาดสินค้ามือสอง จับจ่ายใช้สอย ดำเนินชีวิตตามวงรอบที่เคยเป็น
นั่นคือบรรยากาศเมื่อผมเดินทางไปยังจังหวัดปัตตานี และมีเวลาอยู่ที่นั่นไม่กี่วัน สังเกตและย่างเท้า พูดคุยกับผู้คนในเขตตัวเมือง จนพบกับคลื่นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างค่อย ๆ ปรากฎ และแทรกตัวอยู่ในบรรยากาศของเมืองนี้ โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงในรูปของวัฒนธรรม ทั้งดนตรี และศิลปะ ที่ผมสามารถสัมผัสได้จากบรรยากาศกลางเมืองที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของความคิดสร้างสรรค์ ทั้งกลุ่มเยาวชนเล่นดนตรี จนถึงงานกราฟฟิตีใจกลางเมือง รวมทั้งเริ่มเห็นการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ และได้พูดคุยกับผู้คนส่วนหนึ่ง ผมจึงอยากรู้มากขึ้นว่า สิ่งที่ผมสัมผัสได้นี้ แท้จริงแล้วมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร และต้องการค้นหาผู้คนที่พยายามนำพาความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เข้ามาสู่สังคมปัตตานี
เครื่องมือทางวัฒนธรรมนำพาความเปลี่ยนแปลง
วันแรกของผมในปัตตานี ผมได้พบกับ อานัส พงศ์ประเสริฐ หนึ่งในนักเคลื่อนไหวพื้นที่สามจังหวัดผู้เติบโตมาในตระกูลการเมือง หนึ่งในลูกหลานของหะยีสุหลง โต๊ะมีนา อดีตผู้นำทางศาสนาอิสลามและหัวหน้าชุมชนในพื้นที่หรือโต๊ะอิหม่าม และปัญญาชนคนสำคัญของปัตตานี
อานัสคือหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคม The Looker ผู้ขนานตนเองว่าเป็น “ตัวเปิด” แห่งสังคมปัตตานีและสามจังหวัด โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรม พวกเขาคือคนกลุ่มแรก ๆ ที่เปิดพื้นที่สาธารณะสำหรับการเล่นดนตรีในพื้นที่สามจังหวัด ท่ามกลางสังคมมุสลิมที่ค่อนข้างปิดในเรื่องดนตรีและการแสดง
“The Looker เป็นเหมือนตัวเปิดของสังคมที่มันปิดอยู่ เปิดให้ลองดูสิว่าสังคมจะว่าอะไรบ้าง เรายอมเป็นหน่วยกล้าตาย พอเราเปิดก็เกิดกลุ่มก้อนต่างๆ พอเราเปิดปั๊บก็มีคนอื่นกล้าออก แต่ก่อนนี้ไม่มีใครกล้าเล่นดนตรีในที่สาธารณะนะ เราเป็นคนเริ่มต้น ยอมโดนสาด โดนว่า ทั้งสายศาสนา สายอะไรต่อมิอะไรต่าง ๆ มารุม แต่ไม่เป็นไร เพื่อให้เราเป็นตัวเปิด แต่สักพักสังคมเริ่มเข้าใจสิ่งที่เราจะสื่อ”
นับตั้งแต่เป็นตัวเปิดมาเป็นระยะเวลาหลายปี ทำให้อานัสได้มีโอกาสใช้เครื่องมือหลายอย่างเพื่อส่งเสริมความพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลง เขาได้ใช้ทั้งหนังสือ ดนตรี ศิลปะ เปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ชาวปัตตานีไปจนถึงเยาวชนในสามจังหวัด ตัวอย่างหนึ่งที่เขาภูมิใจเสนอคือกิจกรรมชื่อ “The Crown Night ดนตรี กวี ศิลป์” เมื่อปี พ.ศ. 2559 (Crown ในที่นี้ อานัสระบุว่ามีความหมายทั้งมงกุฎ และ “เครา” บนใบหน้าของชาวมุสลิม) ซึ่งเป็นเหมือนกิจกรรมปล่อยของของคนรุ่นใหม่ ที่เขามองว่าสิ่งเหล่านี้ถือเป็นอำนาจทางวัฒนธรรมโดยไม่ต้องบีบบังคับ (Soft Power) ที่หล่อหลอมและเข้าถึงคนรุ่นใหม่ปัตตานี ให้รับรู้ถึงตัวตนของความเป็น “ปัตตาเนี่ยน” หรืออัตลักษณ์ความเป็นปัตตานี โดยไม่คำนึงว่าคนเหล่านั้นจะเป็นชาวมุสลิม ชาวพุทธ หรือเชื้อสายจีน
“เมื่อคนรู้สึกร่วม ไม่ได้แบ่งเรื่องศาสนา คนจีน วัยรุ่นจีน มุสลิม ไทยพุทธ เมื่อมีความรู้สึกร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน มันก็จะขับเคลื่อนประเด็นสังคมได้อย่างถูกทิศถูกทาง แล้วตอนนี้มันเห็นภาพเหล่านี้ขึ้นเยอะ ทุกคนอินกับความเป็นพื้นที่มาก ภาคภูมิใจเหมือนเราเคยรู้สึกว่าคนเหนือภูมิใจความเป็นล้านนา คนที่นี่ก็ภูมิใจในความเป็นมลายู”
แต่อะไรที่ทำให้ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้น ผมถามอานัสไปว่า “เครื่องมือ” ที่ใช้สร้างความเปลี่ยนแปลง หรือขับเน้นอัตลักษณ์ความเป็นปัตตานี สามจังหวัด มลายู นั้นคืออะไร
อานัสจึงเล่าให้ผมฟังถึงเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ที่ปัตตานีเพิ่งได้รับศาสนาอิสลาม ความเป็นบริติชมาลายาเริ่มเข้ามา จนถึงการขยายอิทธิพลของสยาม ซึ่งกุญแจสำคัญของการใช้เครื่องมือเหล่านี้คือการเปิดรับและการประยุกต์ใช้ทางวัฒนธรรมในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลาย ตามแต่ละยุคสมัย ที่ส่งผลให้ชาวปัตตานีสามารถเลือกนำเครื่องมือทางวัฒนธรรมมาสื่อสารเรื่องราวที่ต้องการได้ตลอดเวลา
“คนที่นี่เปิดรับง่ายมาก ถ้าสิ่งเหล่านั้นไม่ไปกดหรือไปเปลี่ยนแปลงความเป็นตัวตน เขาจะรับมาง่ายมาก การหยิบใช้เครื่องมือต่างๆ นวัตกรรมที่มันมีอยู่ในโลกปัจจุบัน มันเป็นเรื่องที่คนที่นี่ชอบ เปิดรับเร็วด้วย เพราะว่าที่นี่คือเมืองท่า”
ในช่วงทศวรรษที่ 2480 จนถึง 2500 คนปัตตานีเริ่มใช้เครื่องมือทางวัฒนธรรมในการสื่อสารประเด็นที่ต้องการ ณ เวลานั้น เครื่องมือที่พวกเขาเห็นว่าสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง และเป็นสื่อกลางในการสื่อสารสิ่งที่ต้องการได้คือสิ่งที่เรียกว่า “วอยังกูเละ” หรือเรารู้จักกันในชื่อหนังตะลุง ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้สะท้อนประเด็นปัญหาทางสังคมด้วยภาษามลายู ไม่ต่างจากกวีในลักษณะกลอนเปล่า หรือที่คนที่นี่เรียกว่า “ซาเยาะ” ที่ใช้พรรณาถึงความเป็นไปของสังคมและความรู้สึกภายใน ไปจนถึงการสรรค์สร้างงานศิลปะ และในเวลาต่อมา การเล่นดนตรี การสร้างภาพยนตร์สั้น จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในฐานะเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดประเด็นทางสังคมตามลำดับ
“อย่างมีเรื่องเล่าในยุคของรุ่นปู่ผม เขาใช้ดนตรีโดย ปู่ผมเล่นแอกคอร์เดียนและในวงเขาก็มีไวโอลิน มีดับเบิลเบส มีเปียโน เขาเล่นดนตรีเพื่ออะไร เขาเล่นดนตรีเพื่อดึงคนเข้ามานั่งฟัง พอเขาเล่นดนตรีเสร็จ เขาขอเวลา 10 นาที เพื่อเผยแพร่ศาสนา ใช้เครื่องมือเหล่านี้ และยังคงใช้เครื่องมือเหล่านี้เป็นต้นมา แม้แต่กวี กลอนเปล่า ก็ยังใช้ในการพูดกระแนะกระแหนสังคม เพื่อสะกิดให้คนเห็นว่าตอนนี้เป็นยังไงนะ สิ่งเหล่านี้ยังมีอยู่ในสังคมที่นี่ โดยใช้เครื่องมือตามยุคตามสมัยแตกต่างกัน”
บรรดากิจกรรมและเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาสร้างขึ้น และหยิบฉวยขึ้นมาใช้นั้น มีวัตถุประสงค์อยู่อย่างน้อย 3 อย่าง คือการเผยแพร่ศาสนา การสะท้อนสังคม และการย้ำเตือนแสดงอัตลักษณ์ ที่นอกจากการใช้เครื่องมือทางศิลปวัฒนธรรมอย่างดนตรี ภาพยนตร์สั้น กวี หนังตะลุง หรือกลอนเปล่าข้างต้นแล้ว แบอานัสยังเลือกใช้ชุดมลายูเป็นเครื่องมือในการแสดงอัตลักษณ์อีกทาง ซึ่งเขามองว่า นี่คืออีกหนึ่งเครื่องมือที่บ่งบอกถึงความศิวิไลซ์และอารยธรมที่ปรับใช้กันมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นตัวตนของชาวมลายู ซึ่งเป็นความพยายามนิยามอัตลักษณ์ให้รัฐเข้าใจ และที่สำคัญยังสามารถต่อรองกับอำนาจรัฐและต่อสู้กับความพยายามกลืนกินทางวัฒนธรรมได้โดยตรง เพราะการสื่อสารทางวัฒนธรรมในการเรียกร้องกับรัฐ ในมุมของแบอานัสนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นให้รัฐได้คิดใหม่เกี่ยวกับความเข้าใจในตัวตนของพวกเขา ซึ่งท้ายที่สุดเขาคาดหวังให้รัฐได้ออกแบบนโยบายใหม่ ให้สอดคล้องกับตัวตนคนปัตตานีในพื้นที่
“การแสดงอัตลักษณ์ มันคือการต่อรองกับรัฐโดยตรงแล้ว มันเห็นผลได้ชัดในเรื่องของผลกระทบ เพราะมันหาข้อโต้แย้งไม่ได้จากรัฐส่วนกลาง เพราะนี่คือตัวตน ผมเคยใช้เสื้อผ้า พวกเรารวมตัวกันแล้วก็ทำแคมเปญ แต่ก่อนคนไม่ค่อยใส่ชุดมลายูกันนะ มันหายไป เราก็ใช้การแต่งกายชุดมลายู สื่อสารไปผ่านการใช้โซเชียล การทำวิดีโอ ทำเนื้อหาเกี่ยวกับชุดมลายู แล้วก็สร้างแคมเปญให้คนได้ใส่ชุดมลายู เพื่อให้เขาเข้าใจและนิยามความเข้าใจของเขาใหม่ แต่ก่อนเพื่อจะรวมเป็นก้อนเดียวกัน เพื่อจะกลืนด้านวัฒนธรรม เขา (รัฐไทย) อธิบายว่านี่คือคนไทยมุสลิม สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ จากนั้นมันก็เกิดกระแส จนถึงวันนี้ ชุมชนไหนมีวัยรุ่นก็จะรวมตัวกันใส่ชุดมลายู เพื่อจะแสดงตัวตน และเพื่อให้รัฐไทยเข้าใจว่าที่นี่คือมลายูปาตานี ไม่ใช่ไทยมุสลิม”
แบอานัสยังได้เล่าให้ผมฟังถึงตัวอย่างของเครื่องมือทางวัฒนธรรมในรูปแบบที่ร่วมสมัยมากขึ้น จากความทรงจำส่วนตัวของเขา โดยเมื่อหมุนเข็มนาฬิกามายังยุค 2530 หรือยุค 90’s ในสมัยที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต น้อยคนจะคาดคิดว่าวัฒนธรรมพังก์ (punk) และดนตรีออลเทอร์นาทิฟ (alternative) ได้เข้ามามีอิทธิพลกับคนรุ่นใหม่ในสามจังหวัดไม่น้อย ในฐานะเครื่องมือในการแสดงตัวตน เป็นความเท่ และความ “คูล” และยังแสดงความเป็น “ขบถ” ยุคสมัยนั้นบรรดาวัยรุ่นสามจังหวัดหลายคนเลือกแต่งกายแนวพังก์ไม่ต่างจากวัยรุ่นในเมืองหลวง พวกเขารู้จักวงดนตรีพังก์ร็อกอย่าง Rage Against the Machine, Sex Pistol, The Ramones, Manic Street Preachers ผ่านสถานีโทรทัศน์ MTV และนิตยสารดนตรีหลายหัว
เช่นเดียวกับการเล่นดนตรีแนวใหม่ ณ ขณะนั้น อย่างโฟล์ก และร็อก ตลอดจนการพ่นสีตามผนัง ทำกราฟฟิตี ที่แม้บางอย่างจะขัดกับหลักศาสนาหรือกฎหมาย แต่แบอานัสกลับมองว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร สะท้อนสังคม โดยที่เดินไปพร้อมกันกับศาสนาได้ ในฐานะของคนรุ่นใหม่ ณ เวลานั้น ที่ทั้งไม่พอใจต่อสภาพสังคม แต่ก็ใส่ใจในประเด็นศาสนา
ดังนั้น ความเป็นขบถที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความขบถต่อศาสนา แต่กลับเป็นความขบถต่อสภาพสังคมที่พบเจอและสภาพบางอย่างของรัฐที่ครอบสังคมสามจังหวัดอยู่ และความขบถนี้ยังคงอยู่กับเขามาจนถึงวันนี้ ในวันนี้ที่เขาเข้าสู่วัยเลข 3 แต่ยังคงมุ่งมั่นเคลื่อนไหวกับ The Looker สร้างพื้นที่เปลี่ยนแปลงสังคมให้กับคนรุ่นหลัง และที่สำคัญยังสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไปพร้อมกับการเรียกร้องเชิงอุดมการณ์ได้
“เพลงเองก็เป็นเครื่องมือที่ทำให้ความคิดเรามันเปลี่ยน เห็นในมิติต่าง ๆ ผ่านบทเพลง เช่นวง Rage Against the Machine เป็นวงที่ผมสนใจและชอบมาก เพราะมันมีเรื่องดนตรีบาปหรือไม่บาปในพื้นที่ ผมก็เลยเอาอัลบั้มวงนี้ไปปรึกษาหารือกับผู้รู้ศาสนา เขาก็ถามว่าเนื้อหาเป็นยังไงผมก็เล่าว่า เขาสะท้อนเรื่องมิติสังคมในอเมริกา การละเมิดสิทธิ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ เนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง ประวัติศาสตร์การเมือง มันทำให้เราเองเริ่มสนใจการเมือง”
“ผมมองว่าคนที่เป็นพังก์อะไรต่าง ๆ เขาเข้าใจสังคมอย่างดี คือเขาอยู่ในด้านมืดของสังคม จนเขาเองเข้าใจและเมื่อเขาเปลี่ยนเขาคงไม่อยู่ระหว่างกลาง เขาอาจไปอีกทาง แต่ส่วนตัวผมเองผมมันย้อนแย้งมาก ผมทำงานศาสนาตั้งแต่เด็ก แต่ผมก็เป็นพังก์ ผมมีความแตกต่างนิดหนึ่ง ตอนนั้นการแสดงออกอย่างขบถของเราก็เป็นไลฟ์สไตล์อย่างหนึ่ง”
“ผมมองว่าการส่งสาส์น ผ่านศิลปะหรืออะไรต่าง ๆ มันมีความสำคัญมากที่เราจะสื่อสารในสิ่งที่มันมีประโยชน์และมันสร้างผลกระทบได้ อย่างร้านคาเฟ่เมื่อกี้ก็เปิดเพลงปลุกใจให้คนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมที่เป็นอยู่ เพลงที่ให้ความหวัง หรือถ้าเราไปฟังร้านทั่วไปเขาอาจจะเปิดเพลงบอสซา เพลงแจ๊ส เพลงรัก ๆ ใคร่ ๆ ไป แต่ที่นี่เด็กมันอินกับแบบนี้ และมันรู้สึกว่าคูล รู้สึกว่าเท่ ขณะเดียวกันมันก็ขับเคลื่อนประเด็นได้”
“ถ้าในพื้นที่ที่เราต้องการสร้างบรรยากาศที่ดีในบ้านเรา เราก็จะใช้ศิลปะกับความสวยงาม ศิลปะเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่ แต่ถ้าเราจะใช้ในการวิพากษ์รัฐ เราก็ใช้ศิลปะที่มันใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ ใช้ทั้งสองแบบในเวลาเดียวกัน อยู่ที่ว่ากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสารคือใคร”
พื้นที่ศิลปะในปัตตานี
จากคำบอกเล่าของอานัสถึงเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยศิลปะแล้ว ผมพบว่าคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลงผ่านงานด้านศิลปวัฒนธรรม ที่ฝังอยู่ในสังคมปัตตานีมาโดยตลอดหลายสิบปียังไม่เคยพัดผ่านหายไป ในวันนี้คนรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมยังมีอยู่ในปัตตานี
แต่ในวันนี้พวกเขาอยู่ที่ไหน และเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงของปัตตานีในวันนี้คืออะไร มีหน้าตาเป็นอย่างไร จะเหมือนหรือแตกต่างจากคำบอกเล่าของแบอานัสอย่างไร เครื่องมือทางศิลปวัฒนธรรมในมิติต่าง ๆ ที่เขาบอกเล่า ยังคงทำงานอยู่หรือไม่ นั่นคือสิ่งที่ผมต้องค้นหาคำตอบ
ในวันถัดมา ผมจึงมีโอกาสได้เดินทางไปยังพื้นที่แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากตัวเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ศิลปะแห่งแรกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางทุ่งนาเขียวขจี “ปาตานี อาร์ตสเปซ” (Patani Artspace) คือตึกแสดงผลงานสีขาว เคียงคู่กับร้านอาหารและร้านกาแฟเล็ก ๆ
ที่แห่งนี้เองผมได้พบกับ ผศ. เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ หรือ “อาจารย์เจ๊ะ” อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้เชื่อมั่นว่าศิลปะสามารถสะท้อนตัวตนของชาวสามจังหวัด พร้อมทั้งสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง และเชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนสังคมผ่านงานศิลปะ โดยพยายามผลักดันให้ศิลปินในท้องถิ่นได้มีพื้นที่ในการแสดงผลงาน และยังเป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรมศิลปะขนาดใหญ่หลายต่อหลายครั้ง ที่สำคัญเพื่อการทลายกำแพงของคนในพื้นที่ต่องานศิลปะสมัยใหม่ เขาจึงตัดสินใจเปิดพื้นที่แห่งนี้เพื่อสถาปนาปริมณฑลของศิลปะสมัยใหม่ขึ้นในสามจังหวัด และสื่อสารประเด็นในบริบทพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งล้วนเผชิญหน้ากับประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกันในหลากหลายมิติ ทั้งการสร้างสันติสุขจากความขัดแย้งอันยาวนาน การเรียกร้องความเป็นธรรมจากการปฏิบัติโดยรัฐ ไปจนถึงประเด็นทางศาสนา
ผศ. เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
“มันก็เป็นปรากฏการณ์ใหม่สำหรับคนในพื้นที่ คือความเข้าใจของคนในพื้นที่ในความหมายของศิลปะ มันก็คือศิลปะเพื่อการใช้ประโยชน์ (Art for function) มันมีประโยชน์ใช้สอย เสื้อผ้าอะไรพวกนี้ เรือกอและ ผ้าปาเต๊ะ แต่พอมันมีงานศิลปะพวกนี้ เขาก็งงอยู่เหมือนกันในช่วงแรก แต่พอเราเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทำให้เขาได้ไปมาหาสู่แล้วก็เริ่มมีการสนทนาระหว่างศิลปิน ระหว่างผลงาน มันก็เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในมิติของศาสนา ที่มุมมองของศาสนาพอพูดถึงวาดรูป มันก็มีความอ่อนไหวเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่พอได้สนทนาทุกคนก็ยอมรับในความคิดตรงนี้”
สิ่งยืนยันแนวคิดของอาจารย์เจ๊ะ นอกเหนือไปจากงานศิลปะที่สะท้อนภาพสังคมและความคิดของคนสามจังหวัดที่ตั้งอยู่รายรอบพื้นที่ศิลปะแห่งนี้แล้ว คือนิทรรศการชั่วคราวเพื่อต่อต้านการซ้อมทรมานในชื่อ “STOP TORTURE” เป็นการรวบรวมผลงานจาก 7 ศิลปินท้องถิ่นในสามจังหวัด ที่เป็นการทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการซ้อมทรมาน และพยายามใช้ศิลปะในการเยียวยา พร้อมทั้งพยายามเชื่อมโยงกับสังคมและชุมชน ซึ่งมีเยาวชนมาเข้าชมอย่างไม่ขาดสาย โดยนิทรรศการนี้แสดงในช่วงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 จนถึง 30 มกราคม พ.ศ. 2565
ในนิทรรศการปรากฏผลงานจากศิลปินท้องถิ่นหลายต่อหลายคน ซึ่งล้วนแสดงความคิดและความเจ็บปวดผ่านผลงานเหล่านั้น เช่นผลงานที่ดูเสมือนร่างกายมนุษย์ที่ทำจากดินนอนราบอยู่บนพื้น ตามตัวมีหุ่นทหารขนาดจิ๋วตั้งเรียงราย
งานชิ้นนี้ออกแบบและจัดทำโดยอิชูวัน อาลี ที่ต้องการสะท้อนความหดหู่ ความเจ็บปวดของผู้ถูกซ้อมทรมาน และถูกกดขี่โดยรัฐในทุกแง่มุม ด้วยการเปรียบเปรยพวกเขาว่ามาจากดิน และมีกลุ่มหุ่นทหารที่คอยเหยียบย่ำอีกชั้นหนึ่ง และที่สำคัญงานชิ้นนี้เป็นงานที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ของศิลปิน ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาบุกรุกของเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่สวนยางของครอบครัว เขาจึงตัดสินใจที่จะนำประสบการณ์ข้างต้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะชิ้นนี้
งานอีกชิ้นที่สะดุดตาคืองาน “ดุอาห์” (ขอพร) ของศิลปินสูรีนา เจ๊ะมะ ที่เป็นภาพการภาวนาขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้า หรือ “ดุอาห์” ของเด็กสาวมุสลิม อยู่เบื้องหลังอักขระที่คล้ายบทสวดภาวนา เกิดจากความสะเทือนใจ และหดหู่ใจกับเหตุการณ์ในสามจังหวัด ที่มีผู้ถูกซ้อมทรมาน ที่ยิ่งนับวันยิ่งมีความน่ากลัว ศิลปินรายนี้จึงเลือกที่จะ “ขอพร” ให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม
หลังจากเดินชมนิทรรศการต่าง ๆ อยู่ครู่หนึ่ง ความรู้สึกหลายอย่างเคลื่อนเข้ามาในใจของผม จนเกิดคำถามว่า เพราะเหตุใดงานลักษณะนี้ จึงมีที่ทางจัดแสดงที่ดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากนั้นผมได้มีโอกาสสนทนากับอาจารย์เจ๊ะอีกครั้ง ครั้งนี้เขาได้เล่าถึงเส้นทางและความเชื่อในเรื่องงานศิลปะ ที่มีจุดเปลี่ยนคือสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดเมื่อปี พ.ศ. 2547 ซึ่ง ณ เวลานั้น อาจารย์เจ๊ะยังคงเป็นนักศึกษา ชีวิตทางศิลปะ กับสถานการณ์ทางการเมือง สำหรับเขาแล้วสิ่งเหล่านี้แยกกันไม่ขาด และทำให้เขาใช้สิ่งที่ถนัดเป็นเครื่องมือสะท้อนความเป็นจริงในพื้นที่
“งานที่เป็นลักษณะการเมืองของผมมันมีตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ตั้งแต่เริ่มต้นเหตุการณ์ตากใบ ตอนนั้นผมทำประเด็นเรื่องตากใบ ตอนนั้นยังเป็นนักศึกษาอยู่ แต่ขณะเดียวกันผมก็ยังเขียนรูปเชิงวัฒนธรรม งานที่มันยังเป็นแบบดั้งเดิม พูดถึงการแต่งกายบ้านเรือน ผมทำควบคู่กัน มันอาจจะเป็นเพราะผมโตมากับวัฒนธรรมที่มันสวยงามตรงนี้ จังหวะนั้นก็มีเหตุการณ์เหล่านี้เข้ามา ผมก็ทำชุดนั้นไปด้วย แล้วงานนั้นโดนมหาวิทยาลัยสั่งรื้อ ผมโดนเล่นงานเลยตอนนั้น”
“หลังจากนั้นเราเลยไปทำงานที่เป็นเชิงบวกตลอด จนมาถึงปีพ.ศ. 2552-53 ช่วงนั้นมันเริ่มหลังจากผมจบปริญญาโทที่ศิลปากร ผมก็รู้สึกไม่ไหวแล้ว ศิลปะมันต้องทำงานกับสังคมบ้างแล้ว มันต้องพูดให้กับสังคมบ้างแล้ว และตัวเราเองเราก็รู้สึกว่าตรงไหนล่ะ ศิลปิน ที่มันเป็นคุณประโยชน์ให้กับสังคม ที่เราจะส่งเสียงให้กับสังคม มันไม่ใช่แค่บอกว่าวัฒนธรรมสวยอะไรอย่างเดียว เขาหาว่าเราโลกสวย เราไม่พูดถึง เราก็เลยขยับเรื่องนี้ บวกกับเรามาพื้นที่ศิลปะตรงนี้ มันกลายเป็นว่าเราขยับแบบดังมาก เสียงของเรามันดังจนแบบคนมันมาโฟกัส”
เคยมีเรื่องเล่าว่า หากอาจารย์เจ๊ะไม่ทำงานศิลปะ ป่านนี้เขาคงเข้าป่าจับปืนไปแล้ว แต่เขายืนยันว่า ตัวเขาเองไม่มีวันที่จะจับปืนได้ แม้ความขัดแย้งที่นี่จะยังมีอยู่
เขาเชื่อว่าเราควรแปลงความขัดแย้งเป็นความคิดสร้างสรรค์ และต่อสู้กันทางความคิดมากกว่า เพราะงานศิลปะในมุมของเขา คือเครื่องมือในการต่อรองกับสังคม เขามองว่าการเปิดพื้นที่แบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วประเทศ เมื่อหลายคนทำ เสียงก็จะดังมากขึ้น
ในปัจจุบันงานของเขาส่งไปถึงกลุ่มขบวนการต่อสู้ที่เกี่ยวข้อง และฝ่ายรัฐ ซึ่งทุกฝ่ายต่างรับรู้ถึงการมีอยู่ของที่แห่งนี้ เขามุ่งมั่นที่จะใช้ศิลปะเพื่อสืบสนองต่อการสันติภาพ คู่ขนานไปกับการเรียกร้องความเป็นธรรมในพื้นที่
“ผมไม่มีผลประโยชน์จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผลประโยชน์ของผมคือความเป็นมนุษย์ ตรงนี้ผมจะต้องปกป้องความเป็นมนุษย์ให้ได้ หน้าที่ผม ผมทำแค่นี้ ฉะนั้นผมก็ไม่รู้ว่าฝั่งไหนไม่ชอบผม อันนี้โชคดีอย่างหนึ่งผมเชื่อในพระเจ้า ฉะนั้นผมจะเป็นอะไรไปก็ไม่รู้ พระเจ้ากำหนด”
“ผมจะพูดเสมอว่าการต่อสู้ที่เป็นลูกผู้ชายที่สุด ที่สมบูรณ์แบบที่สุดคือการต่อสู้ทางปัญญาไม่ใช่การใช้กำลัง ยิ่งเราใช้กำลังเมื่อไร สะท้อนว่าคุณยิ่งอ่อนแอ”
“ผมเห็นว่าประเด็นของผม ผมต้องการไม่ให้เกิดความรุนแรง และก็ให้เกิดความยุติธรรม ต่อให้เรามีนโยบายสวยหรู มีงบประมาณเยอะแค่ไหน ถ้าไม่มีสองประเด็นนี้ผมคิดว่าเมืองนั้นก็จะไม่สงบ”
สำหรับแผนการในอนาคตของปาตานี อาร์ตสเปซ อาจารย์เจ๊ะบอกผมว่าหลังจากที่เขาได้รับ “อาหารทางจิตวิญญาณ” จากการทำงานศิลปะตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา วันนี้เขาจึงต้องการไปทำโพรเจกต์เกี่ยวกับเรื่องอาหาร โดยการผสานงานศิลปะเข้ากับเรื่องอาหาร เพราะมองว่าอาหารคือสิ่งที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ เป็นศักยภาพของชุมชน และสามารถไปด้วยกันกับศิลปะได้ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการบ่งบอกตัวตน วิถีชีวิตของดินแดนแห่งนี้
“มามองเรื่องอาหารที่จะเชื่อมโยงกับชาวบ้าน ปากท้อง ที่เราจะเอาศิลปะมาแปรรูปให้เกิดมูลค่าขึ้นมา แน่นอนวัตถุดิบมันมีมูลค่าอยู่แล้ว แต่เราจะทำให้มันมีมูลค่าขึ้นมาโดยใช้ศิลปะมาจอยกัน ผมว่ามันสำคัญมากเลย ผมก็เลยคิดไอเดียที่อยากจะทำครัว เปิดให้คนจองทริปเดือนหนึ่งสองสามครั้ง เราก็มีที่พักมีอะไร เราก็พาไปลงทะเลไปดูศิลปวัฒนธรรม ไปจับปลา แบบลงอวน สัมผัสแบบสด ๆ แล้วก็มาทำอาหารร่วมกัน ผมอยากทำมาก เราก็เวิร์กชอปทำศิลปะร่วมกัน แล้วมันเป็นวิถีของเราด้วย เราเองก็ชอบ เราหาปลาอยู่แล้ว ผมอยู่ตรงนี้ผมหาปลาเลี้ยงตัวเองเรียนจนจบปริญญาโท เพราะเราอยู่กับอาชีพประมง เราก็เลยคิดว่านี่น่าจะเป็นไอเดียที่ดีในอนาคต เราสามารถเชื่อมกับชุมชนกับอะไรพวกนี้ได้ เราคิดว่าเออ เราต้องทำให้ศิลปะมันมีความหมายต่อคนทั่วไป ไม่ใช่แค่ศิลปินหรือคนในวงการกันเอง”
คำถามท้ายสุดที่ผมถามคือ “เชื่อมั่นหรือไม่ว่าศิลปะจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ?”
แน่นอนอาจารย์เจ๊ะเชื่ออย่างนั้น
เขาเล่าว่า อย่างน้อยที่สุด มีผู้ปกครองมาปรึกษาว่าอยากให้ลูกเรียนศิลปะ นั่นก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงแล้ว เนื่องด้วยปัจจัยทางศาสนาและเศรษฐกิจ
แต่เขามองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากศิลปะเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา จากตนเอง ไปสู่สังคมรอบข้าง กระทั่งไปสู่ระดับนโยบาย ตั้งแต่การสร้างบทสนทนาระหว่างตนเองกับศิลปะ ปรับเปลี่ยนผืนนาของที่บ้านเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ผลงานทางความคิด และค่อย ๆ กว้างขึ้นจนถึงสร้างการรับรู้ให้กับผู้มีอำนาจ และสามารถเป็นเครื่องมือในการต่อรองกับสังคมได้ในที่สุด
“สิ่งที่ผมทำ มันทำให้คนเหล่านั้นเกรงผม ทำให้ผมมีอำนาจต่อรอง แล้วเรื่องอำนาจมันไม่ใช่แค่มีอาวุธ มันไม่ใช่แค่มีกฎหมายอยู่ในตัว แต่ผมคิดว่าความคิดสร้างสรรค์มันคืออำนาจอย่างหนึ่ง ที่เราสามารถจะต่อรองกับสังคมได้ อันนี้สำคัญที่สุดเลย ผมมักจะคุยกับลูกศิษย์เสมอ สมองน่ะ ความคิดสร้างสรรค์นั่นคืออำนาจหนึ่ง ที่มันจะเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงบ้านเมือง เปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ เปลี่ยนแปลงความคิดคน”
จากหลอดรีไซเคิลสู่หนังสั้นกระตุกความคิด
ผมขอบคุณอาจารย์เจ๊ะ สำหรับการเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้และบทสนทนาอันมีค่า ผมได้รับทราบถึงแนวความคิดที่ได้ใช้เครื่องมือทางศิลปะเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และมันก็ทำงานกับความคิดผมค่อนข้างมาก แต่เวลาของวันนี้ยังคงเหลืออยู่ ผมตัดสินใจเดินทางเข้าไปยังตัวเมืองปัตตานี เพื่อค้นหาบุคคลที่ใช้เครื่องมืออื่น ๆ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งในช่วงค่ำ ผมพบร้านคาเฟ่แห่งหนึ่งตั้งอยู่ในตัวเมือง ที่แห่งนั้นคือ R.I.P Café (Rest in Pattani Café)
“กาแฟเม็ดรัมเรซิ่น ดริปเย็นที่หนึ่งครับ” ผมเอ่ยปากสั่งกาแฟ
“120 บาทครับ” เจ้าของร้านตอบ
ผมจ่ายเงิน โดยที่ไม่รู้มาก่อนว่าผู้ที่เป็นบาริสต้าและรับเงินผมไปนั้นคือ อนีส นาคเสวี เจ้าของร้านแห่งนี้ และเป็นผู้กำกับภาพยนตร์สั้นเรื่อง Pattani Landlord ภาพยนตร์สั้นความยาว 50 นาที ที่เล่าถึงปัญหาการจัดการขยะในปัตตานี ที่มีมากกว่ามิติด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังจับเอาปัญหาสังคม การเมือง และความขัดแย้งในสามจังหวัดมาเล่าไปพร้อมกับปัญหาการจัดการขยะได้อย่างคมคาย
งานชิ้นนี้ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์กันของปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ ผมจึงตัดสินใจขอสนทนากับเขา เพื่อค้นหาว่าเขาใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องสื่อสารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะเหตุใด เขาจึงเลือกสื่อสารด้วยศาสตร์ของภาพยนตร์ ที่นับว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางศิลปวัฒนธรรม
Trailer ภาพยนตร์สั้นเรื่อง Pattani Landlord : https://fb.watch/aCyKFre_S3/
อนีสเล่าว่า เขาเรียนจบทางด้านศิลปะ แต่มีความสนใจในภาพยนตร์ ถึงขนาดที่ว่ายกให้ทุกวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นวันที่ภาพยนตร์ใหม่ ๆ เข้าฉาย เป็นวันหยุดประจำร้าน เพื่อให้เขาได้มีเวลาออกไปชมภาพยนตร์ที่ อ. หาดใหญ่ เพราะเมืองปัตตานีไม่มีโรงหนัง นอกจากนี้ เขายังต่อยอดความรักในภาพยนตร์ ด้วยการใช้ร้าน R.I.P Café จัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์หลายครั้ง และพยายามสร้างชุมชนของคนชอบดูหนังที่ปัตตานี อย่างไรก็ตาม เมื่อเขาใช้งานศิลปะที่เขาร่ำเรียนมาอย่างงานภาพพิมพ์ 2 มิติในการสื่อสารจนถึงระยะหนึ่ง เขาจึงเห็นว่า งานที่ทำอยู่นั้นยังต้องอาศัยเสียงของเขาเองในการอธิบายเนื้องาน และยังไม่น่าสนใจมากพอ แล้วเพราะเหตุใดจึงไม่สื่อสารด้วยภาพยนตร์ที่มีทั้งภาพและเสียง นั่นจึงเป็นที่มาของโพรเจกต์ Pattani Landlord ที่เป็นการเล่นคำจากหลอดรีไซเคิลที่เขาใช้เป็นโจทย์พื้นฐานในการเริ่มต้นออกแบบโพรเจกต์นี้ จนกลายเป็น ปัตตานี “แลนด์หลอด” (ดินแดนแห่งหลอด) ในที่สุด
“เราทำ Pattani Landlord ในฐานะแคมเปญลดขยะก่อน แล้วไอเดียหนังมันเริ่มมาจากนั้นสัก 2 ปี หลังจากที่ลองทำ ไอเดีย Pattani Landlord มาจากการเอาหลอดรีไซเคิลในร้านมาตัดแล้วเอามายัดใส่หมอนแล้วนำเสนอว่าค่าใช้จ่ายของการรีไซเคิลมันเยอะมาก การรีไซเคิลไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหาขยะ ทางออกคือการลดวิธีการใช้อะไรประมาณนี้ แล้วมันก็ไหลมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมันเป็นหนัง แล้วหนังอาจจะไม่ได้เล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ก็จะมีเรื่องการเมืองเข้าสอดแทรกด้วย”
“Pattani Landlord เป็นเรื่องของการตั้งคำถามเกี่ยวกับปัญหาหลาย ๆ อย่างในปัตตานี เราก็จะยกเรื่องพูดเปรียบเทียบเป็นปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่เป็นมิติทางการเมืองกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นเรื่องของขยะ เหมือนกับว่าเราตั้งคำถามว่าถ้าปัญหาสองเรื่องนี้มันอยู่ เราอยากจะแก้ปัญหาในพื้นที่ให้มันดีขึ้นเราต้องแยกทีละเรื่องหรือแก้ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อไปสู่ปลายทางคือคุณภาพชีวิตของปัตตานี เราสามารถหาจุดร่วมได้อย่างไรบ้าง”
แน่นอนว่า เนื้อหาของ Pattani Landlord โดยแกนหลักแล้วกล่าวถึงปัญหาเกี่ยวกับการจัดการขยะในปัตตานี ผู้ชมจะได้เห็นภาพของบ่อขยะขนาดใหญ่ ภาพรวมของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวพันกับขยะในปัตตานี และจะได้เห็นภาพการใช้เทคนิคฉายโพรเจกเตอร์เป็นรูปทรงต่าง ๆ เพื่อสื่อสารประเด็นที่ต้องการ เปรียบเสมือนการฉายแสงไปยังจุดที่ไม่มีใครคิดว่าเป็นปัญหา ส่วนรูปทรงที่ถูกฉายออกมาทั้งวาฬ เต่าทะเล หรือมนุษย์ นั่นก็คือภาพแทนของผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาขยะ แต่ทว่านอกไปจากเรื่องขยะแล้ว สิ่งที่อนีสต้องการสะท้อนถึงคือ “ความเป็นเจ้าของพื้นที่” ของทุกฝ่าย ซึ่งเขามองว่าเป็นต้นตอของความขัดแย้งในสามจังหวัด ไม่ว่าจะฝ่ายรัฐ ฝ่ายผู้เห็นต่าง หรือประชาชนในพื้นที่ ที่ต่างต้องการรักษาและหวงแหนบ้านของตนเอง และเขามองว่านี่คือจุดร่วมที่สำคัญ มากไปกว่านั้น เขายังตั้งคำถามถึงคำว่า “สันติสุข” ในพื้นที่ ที่มากไปกว่าสันติสุขทางการเมืองหรือความขัดแย้ง เพราะสันติสุขของแต่ละฝ่ายถูกนิยามไม่เหมือนกัน สันติสุขในที่นี้ อาจหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดี และเขามองว่าปัญหาขยะกับความขัดแย้งในพื้นที่ ไม่สามารถแยกขาดกันได้อย่างง่ายดาย
“เราเป็นคนทำงานศิลปะ ก็คิดอะไรแบบนามธรรมมากกว่า ก็ตีหลักง่าย ๆ อะไรสักอย่างหนึ่งที่ทั้งคนที่วางระเบิด แล้วก็ประชาชน คงจะรัฐบาลด้วยมั้งชอบเหมือนกัน คิดเหมือนกัน ไม่มีทางคิดเป็นอื่น ก็คงจะเป็นเรื่องที่ว่าบ้านของคนพวกนี้ ก็คงไม่อยากให้มีขยะ และไม่อยากให้สกปรก และอยากจะอยู่ในบ้านเมืองที่สะอาดที่ดี มันก็เป็นจุดที่เอามาลองยกตัวอย่าง เพราะว่าปัตตานีเป็นเมืองที่ทุกคนแสดงความเป็นเจ้าของ”
“ภายใต้ความเป็นไปของพื้นที่แล้ว เราสามารถพูดถึงสันติสุขในส่วนของการรักษาความสะอาดหรือการจัดการขยะได้ไหม ยกตัวอย่างในชุมชนหนึ่ง ถ้าเกิดเขาจัดการขยะได้ดีแล้วคุณไปทำให้เขาสะอาด แล้วคุณภาพชีวิตเขาดี อันนี้เป็นสันติสุขหรือเปล่า เพราะว่าสันติสุขที่ถูกเรียกร้องกันมาหลายปีมันมีแค่เรื่องของการแสดงออกทางการเมืองอย่างเดียวเลย ทั้ง ๆ ที่มันน่าจะกว้างกว่านั้น อารมณ์เหมือนสันติสุขในภาพใหญ่ในหัวของเรา มันเป็นแค่ประตูบานเล็กๆ สำหรับสันติภาพใหญ่จริง ๆ แล้วมันก็มีประตูอีกหลายบานที่จะเข้าไปสู่สันติสุขนั้น”
สำหรับผลตอบรับของ Pattani Landlord อนีสเห็นว่ายังคงประเมินได้ยาก เพราะผู้ชมอาจให้ความสนใจในประเด็นที่แตกต่างกันไปในหนัง แต่ละส่วนของหนังอาจทำงานอย่างแตกต่างกันไปในทัศนะของผู้ชมแต่ละคน แต่สิ่งที่เห็นได้คือตัวหนังมีโอกาสได้ไปจัดฉายในหลายพื้นที่และคว้ารางวัลตามเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งแม้ในปัจจุบันยังไม่มีการจัดฉายเป็นวงกว้าง แต่อนีสก็พอใจในการเดินทางของหนังเรื่องนี้ เพราะทำให้เขาได้เล่าเรื่องที่ต้องการเล่า และเขายังคงเชื่อว่าภาพยนตร์จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้มากขึ้นในอนาคต
แม้บริบททางสังคมและศาสนาจะคอยกำหนดความเป็นไปของวัฒนธรรมเพลงและภาพยนตร์อยู่ก็ตาม แต่ยังไม่มีสิ่งใดที่จะหยุดยั้งความคิดสร้างสรรค์ของอนีสได้ ซึ่งนอกเหนือไปจากการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้แล้ว อนีสยังสร้างบอร์ดเกมอย่าง “In-Pattani” ขึ้นเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นไปในปัตตานี ผ่านการให้ผู้เล่นสวมบทบาทเป็นนักข่าว นักท่องเที่ยว ไปจนถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นบทบาทที่เขาคัดสรรแล้วว่าจะสามารถเป็นภาพแทนของบทบาทต่าง ๆ ในปัตตานีได้มากที่สุด โดยผู้เล่นที่ออกจากพื้นที่ได้ก่อนจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งอนีสบอกว่า หากคุณเป็นคนนอก คุณจะสนุกกับเกมนี้ได้ไม่ยาก เพราะจะได้สัมผัสกับเหตุการณ์ที่จำลองมาจากข่าวสารบ้านเมืองจริง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และหาหนทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งบอร์ดเกมนี้ยังคงเป็นรุ่นต้นแบบที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก แต่ผมมองว่า เกม ๆ นี้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสร้างการรับรู้เกี่ยวพื้นที่และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตาไม่น้อย
The new era of change disruption: Digital & Data
Pattani Landlord ได้ยืนยันความคิดผมที่ว่า เครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยภาพยนตร์ ยังคงทำงานอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ และยังมีบอร์ดเกม In Pattani ซึ่งเป็นอีกเครื่องมือที่น่าจับตามอง และจากการเดินทางที่ผ่านมาของผม ตั้งแต่ที่ได้สนทนากับแบอานัส จนได้สัมผัสกับสายลมของความเปลี่ยนแปลงที่อยู่คู่ปัตตานี และพัดผ่านเมืองแห่งนี้ แรงบ้าง เบาบ้าง กระโชกบ้างตามกาลเวลา
ผมยังได้พบตัวอย่างรูปธรรมอย่างผู้ที่เชื่อในการใช้ศิลปะเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และผู้ที่เลือกศาสตร์ของภาพยนตร์สะท้อนความคิดของตนเอง แต่ผมคิดว่า การเดินทางครั้งนี้ยังไม่จบ เพราะนี่คือยุคสมัยแห่งข้อมูลข่าวสาร หรือให้เรียกแบบสมัยนิยมก็คือยุคของการพัฒนาและต่อยอดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือ “Disruption” ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของอีกบุคคลที่ผมได้พบ
ภายในวันเวลาที่เหลืออยู่ ผมเดินทางต่อมาถึงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อหวังจะได้พูดคุยกับคนรุ่นใหม่ที่เลือกใช้วิธีการสมัยใหม่ในการเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งพบกับเยาวชนจากมูลนิธิดิจิทัลเพื่อสันติภาพ (Digital4Peace) ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในมหาวิทยาลัย
ผมถือโอกาสทักทาย และทำความรู้จักว่าพวกเขาเป็นใคร กำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งทำให้ผมได้มีโอกาสจับเข่าสนทนากับ
มะรูฟ เจะบือราเฮง หนึ่งในตัวแทนกลุ่ม ที่ได้เล่าถึงภารกิจของ Digital4Peace ในด้านการระดมมันสมองของเยาวชนในพื้นที่ สรรค์สร้างนวัตกรรมสังคมด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล อย่างเช่นการมุ่งเน้นเรื่องการขจัดข้อมูลเท็จหรือผิดพลาดในพื้นที่สามจังหวัด ในฐานะเครือข่ายผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ Deep South Cofact ซึ่งที่ผ่านมาพวกเขาได้มีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขข่าวสารที่ชาวสามจังหวัดเข้าใจคลาดเคลื่อนไปหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นสำคัญไม่นานมานี้อย่างการทำความเข้าใจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในมุมมองที่เกี่ยวพันกับศาสนา ด้วยวิธีการสื่อสารทั้งทางสื่อสังคมออนไลน์ และรายการวิทยุ เพื่อให้เข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม
หรือจะเป็นการช่วยเหลือผู้ค้าในตลาดผ่านรวบรวมข้อมูลและสร้างเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง (Augmented Reality -AR) นำทางให้ผู้ซื้อสินค้าไปพบกับร้านค้า ตลอดจนประเด็นสำคัญสูงสุดที่ขับเคลื่อนคือการสร้างสันติสุขด้วยการใช้ทักษะที่ถนัดอย่างเทคโนโลยีดิจิทัล เช่นการเปิดแพลตฟอร์มระดมทุน สร้างการพูดคุย รวบรวมข้อเสนอของเยาวชนสามจังหวัดไปเสนอต่อภาครัฐ พร้อมกับไม่ลืมที่จะสอดแทรกอัตลักษณ์ภาษามลายูลงไปในทุกกิจกรรม
“อันแรกสุดมันเกิดสันติภาพ แล้วสันติภาพที่มันเกิดขึ้นมันเกิดขึ้นด้วยเพราะฝีมือของคนที่อยู่ในพื้นที่จริง ๆ มันเป็นสันติภาพที่มาจากกระบวนการล่างขึ้นบน น้อง ๆ คิดเองทำเองลงมือเอง อาจจะมีผู้ใหญ่มาสนับสนุนอยู่บ้าง แต่ว่ามันเริ่มจากคนวงในขึ้นมาข้างบน มันไม่ใช่แบบนโยบายที่ขึ้นมาจากกรุงเทพฯ แล้วก็ลงมา ซึ่งหลายครั้งที่มันไม่ตรงกันกับความต้องการของน้อง ๆ จริง ๆ แล้วท้ายที่สุดแล้วมันก็กลายเป็นสันติภาพเชิงบวก ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของความขัดแย้ง ความยุติธรรม สันติภาพ เรื่องของการพูดคุย แต่ว่ามันไปที่ประเด็นอื่นด้วยอย่างเช่นการศึกษา ความเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ หรือไม่ก็ประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม คือมันไปได้ทุกทางเลย มันเป็นสันติภาพที่ลึกกว่า มันดีกว่าถ้าเทียบกับเฉพาะการพูดคุย”
เช่นเดียวกับ อัฐพล ปิริยะ จาก Patani Forum ที่กำลังทำงานวิจัยในโครงการชื่อ “Online Hate Speech Monitoring in Thailand” เพื่อลดถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังและสนับสนุนความหลากหลายในพื้นที่สามจังหวัดและสังคมไทย โดยเขาเลือกใช้วิธีการทางข้อมูล ในการเก็บรวบรวมสถิติและวิเคราะห์ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนของการใช้ถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) บนโลกโซเชียลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในสามจังหวัด จนพบว่ามีการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังกันทั้งสองฝ่าย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องทั้งกับรัฐชาติ ศาสนา และชาติพันธุ์ และมักเกิดการถกเถียงขึ้นในหน้าสื่อสังคมออนไลน์ของทั้งสองฝ่ายเหล่านี้เช่นกัน
สิ่งที่สำคัญคือการปฏิบัติการข่าวสาร (IO) มีบทบาทค่อนข้างมากในการสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น โครงการของเขาจึงเสนอว่า ต้องมีข้อเสนอต่อภาครัฐ เพื่อให้ภาครัฐมีบทบาทในการรับฟังประชาชน และเห็นความสำคัญของข้อเรียกร้อง โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้สังคมได้ถกเถียงกันในประเด็นทางกฎหมายเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง
ขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคมต้องมีส่วนร่วมในการเข้าถึงข้อมูล และเสนอให้แพลตฟอร์มเข้ามามีบทบาทตระหนักถึงปัญหานี้ และเกิดความเข้าใจที่เป็นธรรมจนนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานชุมชนที่สามารถยอมรับได้ และเขาคาดหวังให้โครงการนี้ได้รับความสนใจ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริง
“เรายังถือว่ามือใหม่มากในการดูงานชิ้นนี้ แต่ประการสำคัญก็คือ สิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นคือต้องการให้คนเกิดการพูด ว่าเรื่องนี้มีหน้าตาปัญหาอย่างไร เพราะในกรณีความขัดแย้งสามจังหวัดคือทุกคนก็จะมีมุมมองของตัวเองอยู่ บางคนก็จะมองเรื่องปฏิบัติการข่าวสาร (IO) มองเรื่องการบิดเบือนข้อมูล (Disinformation) ข้อมูลที่ผิดพลาด (Misinformation) ซึ่งหลาย ๆ กลุ่มก้อนที่กำลังทำเรื่องสามจังหวัดเขาก็มีความสนใจ ในขณะเดียวกันสิ่งที่เราโยนลงไปทั้งเรื่องศาสนาและชาติพันธุ์ ก็อยากจะให้คนเกิดการนำไปพูดต่อ เกิดการตัดสินใจ ถ้าพูดในทางภาษาข้อมูลคือ ผลลัพธ์ของข้อมูลทำให้คนเกิดการตัดสินใจ เพราะเรื่องนี้หลายคนก็มองว่าสำคัญ แต่ไม่รู้ว่าจะเข้าไปดูข้อมูลตรงนี้ยังไง”
ตลอดการเดินทางของผมในเมืองปัตตานี เพื่อตามรอยสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ผมสัมผัสได้ตั้งแต่ย่างกรายมาถึงที่แห่งนี้ ผมได้พบแล้วว่าพลวัตรของมันผันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ด้วยเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงรูปแบบต่าง ๆ ที่ถูกใช้ผ่านกลุ่มคนที่วาดหวังและจินตนาการถึงอนาคตที่ดีกว่าของปัตตานี รวมถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเขาได้ใช้วิถีทางตามที่เขาถนัดในการเปิดพื้นที่ ในดินแดนที่หลายคนอาจจะมองว่ายากจะเข้าถึง
พวกเขาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเพียงใด และสถานการณ์การต่อสู้ในสังคมจะขับเคลื่อนไปในทิศทางใด ยังมีกลุ่มคนที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงอยู่จริง และพร้อมจะสร้างสรรค์วิธีการใหม่ ๆ ขึ้นมาถ่ายทอดความเป็นปัตตานี และสร้างสันติสุขในพื้นที่อยู่เสมอ ไม่ว่าสันติสุขนั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ทั้งการพยายามเปิดพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์ของ The Looker การเปิดพื้นที่เล่าความเป็นไปในสามจังหวัดผ่านศิลปะของ Patani Artspace การทำหนังสั้นสะท้อนปัญหาขยะและตั้งคำถามกับสันติสุขในปัตตานีของ Pattani Landlord หรือการสร้างบอร์ดเกม In-Pattani ตลอดจนการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลสร้างสันติสุขของมูลนิธิ Digital4Peace และ Patani Forum ทั้งหมดนี้ล้วนยืนยันว่าคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลงยังคงพัดอยู่ในปัตตานี และมีท่าทีที่จะโหมแรงขึ้น เมื่อพวกเขาสามารถปลุกจินตนาการ และสร้างความหวังใหม่ๆ หรืออย่างน้อยได้สร้างการรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในที่แห่งนี้ และสิ่งเหล่านี้นับเป็นอีกสัญญาณเด่นชัดที่ทำให้ผมได้เห็นถึงความพยายามของผู้คนที่ต้องการจะสร้างความเข้าอกเข้าใจ สันติสุข และเรียกร้องความเป็นธรรม ไปจนถึงวาดหวังถึงอนาคตที่พวกเขาต้องการ บนพื้นที่ที่ถูกแต่งเติมจากภายนอกว่าเต็มไปด้วยความรุนแรงและร้อนระอุแห่งนี้
————————-