ArticlesLatest

15 ปี เหมืองแร่ทุ่งคำ: เมื่อคดีสิ้น แต่การต่อสู้ยังไม่ถึงที่สุด

นับตั้งแต่การเปิดเหมืองแร่ทุ่งคำในช่วงปี พ.ศ. 2549 เปิดการถลุงแร่ปี พ.ศ. 2551 และการปิดเหมืองในช่วงปี พ.ศ. 2559 เป็นเวลากว่าทศวรรษที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและข้อพิพาทมหาศาลระหว่างผู้ประกอบการเหมืองแร่กับประชาชนที่อาศัยรอบพื้นที่ ซึ่งแม้ต่อมาคดีความและความขัดแย้งจะเริ่มคลี่คลายในระดับหนึ่ง แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นก็ได้ทำลายชีวิตของผู้คนในชุมชนรอบเหมืองแร่ไปไม่มากก็น้อย

โดยเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย ตั้งอยู่ที่ 179 หมู่ที่ 3 ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง เป็นเหมืองแร่ทองคำ เงินและทองแดง มีพื้นที่ทั้งหมด 6 แปลง ซึ่งบริษัท ทุ่งคํา จํากัด ขออาชญาบัตรเพื่อทำการสำรวจแร่ได้ในปี พ.ศ. 2546 แปลงแรกได้รับสัมปทานตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2546 – 22 มกราคม พ.ศ. 2571 รวมพื้นที่ 592 ไร่ 3 งาน 32 ตารางวา และอีก 3 แปลงได้รับสัมปทานช่วง 27 กันยายน พ.ศ. 2545 – 26 กันยายน พ.ศ. 2570 รวมพื้นที่ 697 ไร่ 5 งาน 32 วา

การมาถึงของเหมืองแร่ทุ่งคำแม้ในช่วงแรกจะสร้างอาชีพให้คนในชุมชนจำนวนหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ภัยจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ก็เริ่มส่งผลต่อชีวิตของคนในชุมชน เมื่ออาการป่วยเกิดขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ การต่อสู้ของชาวบ้านกว่า 3,000 คน ใน 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทุ่งคำจึงเริ่มขึ้น พร้อมด้วยการตามมาของคดีความจำนวนมาก

อาคารถลุงแร่ ภายในเหมืองแร่ทุ่งคำ หลังการประกาศหยุดดำเนินการชั่วคราวในปี 2557 (ภาพถ่ายปี 2559) / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

ลำดับเหตุการณ์การต่อสู้เหมืองทองทุ่งคำโดยสังเขป

  • พ.ศ. 2549 เปิดเหมืองแร่
  • พ.ศ. 2550 ก่อตั้งชุมนุมฅนรักษ์บ้านเกิด หลังชาวบ้านเกิดผื่นคันตามร่างกาย
  • พ.ศ. 2551 เปิดการถลุงแร่ และในปีเดียวกัน ชาวบ้านเกือบ 100 คนพบอาการผื่นคัน รวมถึงพบสารจำพวกไซยาไนด์ และปรอท เกินค่ามาตรฐานในผลตรวจเลือด
  • 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 สาธารณสุขจังหวัดเลย ออกประกาศ ให้ประชาชนระมัดระวังการใช้น้ำอุปโภคบริโภคจากแหล่งน้ำในพื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย
  • 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 กองวิเคราะห์น้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล รายงานผลการทดสอบคุณภาพน้ำในบริเวณตำบลเขาหลวง พบว่าระบบประปาหมู่บ้านภูทับฟ้าพัฒนา อำเภอวังสะพุง มีสารหนู 0.10 และสารตะกั่ว 0.11 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นค่าที่เกินมาตรฐาน
  • พ.ศ. 2553-2554 เกิดรถบรรทุกเฉี่ยวชนเด็กในชุมชน จึงเกิดการตั้งสิ่งกีดขวางบริเวณสี่แยกหน้าชุมชน เรียกว่ากำแพงใจ เพื่อขวางรถบรรทุกแร่
  • 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย และโรงพยาบาลวังสะพุง จังหวัดเลย แจ้งผลการตรวจเลือดหาสารไซยาไนด์ ปรอท ตะกั่ว ในเลือดของประชาชนจำนวน 758 ราย พบว่า สารไซยาไนด์ในเลือดเกินค่ามาตรฐานจำนวน 124 ราย
  • ระหว่างปี พ.ศ. 2554 มีชายฉกรรจ์ลอบทำลายสิ่งกำแพงใจของชาวบ้าน
  • พ.ศ. 2556 มีการทำกำแพงรอบที่ 2 หลังการถูกทุบทำลาย เหมืองแร่ฟ้องคดีละเมิดแก่ชาวบ้านราว 14 คน
  • พ.ศ. 2557 เหมืองแร่ทุ่งคำมีการขอใช้พื้นที่ป่าในการทำเหมืองแร่เพิ่มเติมจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (สภาอบต.)
  • 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ชายฉกรรจ์นับร้อยบุกชุมชน ทำร้ายชาวบ้าน และขนแร่จำนวนหนึ่งออกจากเหมือง
  • 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เหมืองแร่ปิดทำการชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่าชาวบ้านปิดถนน ทำให้ไม่สามารถดำเนินงานได้
  • 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดราว 150 คน เดินเท้าไปที่ อบต.เขาหลวง เพื่อติดตามการประชุมสภา อบต. ในวาระการพิจารณาเรื่องการขอต่ออายุใบอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และ ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด หลังจากนั้น กอ.รมน. มีการใช้ พ.ร.บ. การชุมนุมในที่สาธารณะดำเนินคดีกับชาวบ้าน
  • 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ธนาคารดอยช์ แบงก์ เอจี ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอให้บริษัท ทุ่งคํา จํากัด ผู้เป็นจําเลยตกเป็นนิติบุคคลล้มละลาย
  • 13 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ศาลตัดสินให้เหมืองแร่ทุ่งคำฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกเหมือง ซึ่งนับเป็นคดีสุดท้ายที่จบลง เป็นอันว่าชาวบ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ทุ่งคำ ชนะคดีที่เหมืองแร่ฟ้องร้องทุกคดี
ป้ายรณรงค์ของชาวบ้านชุมชนรอบเหมือง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งในข้อหาคดีหมิ่นประมาทที่เหมืองแร่ทุ่งคำฟ้อง / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

เรื่องเล่าของการต่อสู้

มล คุณนา หนึ่งในชาวบ้าน บ้านนาหนองบง ผู้เคลื่อนไหวต่อต้านเหมืองแร่ในพื้นที่ เล่าถึงอดีตว่า เริ่มการต่อสู้ประมาณปี พ.ศ. 2550 มีการตั้งกลุ่มชุมนุมฅนรักษ์บ้านเกิด เพื่อรวมตัวกันเรียกร้องต่อปัญหาที่เกิดขึ้นและเชื่อว่าเป็นผลกระทบจากการทำเหมือง ทั้งอาการแสบคันตามร่างกาย ผดผื่น และอาการป่วยจากการใช้น้ำในลำห้วยซึ่งที่มีสารพิษเจือปน อาทิ ไซยาไนด์ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และแมงกานีส  โดยทางกลุ่มมีการร่างหนังสือยื่นไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดให้ช่วยตรวจสอบผลกระทบจากการทำเหมืองแร่

ในปี พ.ศ. 2551-2552 ผลกระทบจากการทำเหมืองแร่เห็นชัดมากขึ้น ชาวบ้านเกือบ 100 คนจากประมาณ 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่พบผื่น แสบตา และผลเลือดมีสารจำพวกไซยาไนด์ และปรอท เกินค่ามาตรฐานในร่างกาย จึงมีการทำหนังสือร้องเรียนไปถึงสาธารณสุขจังหวัดให้เข้ามาดูแลสุขภาพของคนในชุมชน

จากนั้นจึงมีประกาศสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย ฉบับที่ 1/ พ.ศ. 2552 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ลงชื่อโดยนายวิวรรธน์ ก่อวิริยกมล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย เรื่อง เตือนให้ประชาชนระมัดระวังการใช้น้ำอุปโภคบริโภคจากแหล่งน้ำในพื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย อย่างไรก็ตามนอกจากจากการประกาศเตือนประชาชนในการใช้น้ำแล้วหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้เข้ามากำกับการดำเนินงานของเหมืองแร่ ทำให้ชาวบ้านต้องต่อสู้ในรูปแบบของตนเองต่อไป

ป้ายรณรงค์เรื่องสารตกค้างในลำน้ำร่องห้วยเหล็กของหน่วยงานราชการ / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

ต่อมาช่วงปีพ.ศ. 2553-2554 ภายหลังจากเหตุการณ์รถบรรทุกแร่เฉี่ยวชนเด็กในชุมชน ระหว่างการขนสินแร่โคบอลต์จากตัวเหมืองแร่ ผ่านบริเวณหน้าชุมชนและข้ามไปยังภูพระปา ซึ่งเป็นอีกฝั่งหนึ่งของโรงงาน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำกับลูกหลานในชุมชน ชาวบ้านจึงได้ทำการก่อสร้างกำแพงขึ้นบริเวณสี่แยกหน้าชุมชนเพื่อกันไม่ให้รถบรรทุกแร่เข้ามา

“ทีนี้เราก็ลุกขึ้นมา ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เกิดมีการขนแร่แล้วทับลูกหลานเราตาย มันจะเป็นอย่างไร?” 

จากการตั้งกำแพงครั้งที่หนึ่งเพื่อป้องกันรถขนแร่เฉี่ยวชนประชาชนในพื้นที่ โดยการนำสิ่งกีดขวาางมาวางหน้าทางเข้าชุมชนเพื่อป้องกันรถผ่าน ชาวบ้านเรียกขานสิ่งกีดขวางนั้นว่า “กำแพงใจ” ทำให้เกิดเหตุมีชายฉกกรรจ์มาทุบกำแพง เพื่อให้เหมืองแร่สามารถนำรถขนแร่เข้าออกได้ดังเช่นเดิม ชาวบ้านจึงสร้างกำแพงครั้งที่สอง ณ จุดเดิมแต่สร้างให้ใหญ่กว่าเดิม กำแพงใจเป็นทั้งเครื่องป้องกัน เครื่องต่อต้าน และสัญลักษณ์ของการรวมแรงใจของชุมชนในการไม่ยอมให้เหมืองแร่เข้ามาทำลายชุมชน

หลังจากการก่อกำแพงครั้งที่ 2 ชาวบ้าน 14 คนก็ถูกฟ้องร้องจากเหมืองแร่ในคดีละเมิด โดยมีรายละเอียดว่าเป็นคดีหมายเลขดำที่ 859/2556 ณ ศาลจังหวัดเลย ว่าด้วยความแพ่ง โดยบริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยนายวิมล ศรีบุรินทร์ ผู้รับมอบอำนาจ ยื่นฟ้องชาวบ้านอำเภอวังสะพุงจำนวน 14 คน ได้แก่ นายสมัย ภักดิ์มี, นายกองลัย ภักมี, นางมล คุณนา, นายพุฒ อินทสอน, นายมานะ ภักมี, นายเลิศศักดิ์ ศรีทอง, นายถาวร ชัยสิทธิ์, นายจำเนียร คุณนา, นายเสถียน สนม, นายเตียม ปีนา, นายลำดวน ตองหว้าน, นางสาวดอกไม้ มูลกองศรี, นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ และนางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556 ข้อหาละเมิด และเรียกค่าเสียหายจำนวน 50 ล้านบาท

มล คุณนา หนึ่งในแกนนำต่อต้านเหมืองแร่ทุ่งคำ ชูภาพถ่ายทางอากาศของเหมืองแร่  / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์
ไล่ฟ้องปิดปาก

ต่อมาปี พ.ศ. 2557-2558 ทางเหมืองแร่ทุ่งคำมีการขอใช้พื้นที่ป่าในการทำเหมืองแร่เพิ่มเติมจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (สภาอบต.) ชาวบ้านในพื้นที่จึงแห่ไปคัดค้าน เหล่าผู้ที่มีส่วนได้เสียที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างเข้าไปแสดงความคิดเห็นจนมีปากมีเสียงกับทางฝ่าบบริหารของ อบต. และนำไปสู่การการฟ้องคดีระหว่างเหมืองแร่กับชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง

สมัย ภักดิ์มี ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง เล่าว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ตอนที่เปิดเหมืองแร่ทุ่งคำ เขาเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล พอเริ่มทำเหมือง และก่อสร้างโรงงานถลุงสินแร่ อบต. ในพื้นที่ลุ่มน้ำฮอย ก็เข้าไปเป็นกรรมการเฝ้าระวังโดยตำแหน่ง 

สมัย ภักดิ์มี ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

ระหว่างการทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภานั้น สมัยได้พบกับเรื่องน่ากังขาด้านเอกสารบางประการเกี่ยวกับการทำประชาคมเพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้อยู่อาศัยและชุมชนใกล้เคียงก่อนการอนุญาตให้เปิดเหมือง

“ผมก็ได้เอกสารมาสองสามชิ้นนี่แหละ เอามาเปิดดูแล้วทีนี้มันเป็นเอกสารการทำประชาคมก่อนที่เขาจะมาเปิดเหมือง คือเขาต้องมาทำประชาคมก่อน ไปตรวจสอบถามผู้ใหญ่บ้านว่าประชุมมีชาวบ้านเข้ามาแค่ยี่สิบคนแต่ในรายงานตรงนั้นมีสี่ร้อยห้าสิบคน แล้วทีนี้คนบ้านนาหนองวงที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ก็มีรายชื่อเข้าไปรับรองในประชาคมด้วย ก็เลย เอ คิดว่าทำไมมันมีอะไรแปลกๆ” 

สมัยเล่าต่อว่าในช่วงนั้น มีการประชาสัมพันธ์ว่าถ้ามีเหมือง เศรษฐกิจในชุมชนจะดีขึ้น ลูกหลานก็จะไม่ได้ไปทำงานที่กรุงเทพฯ ร้านค้าจะเพิ่มขึ้น เพราะว่ามีคนมาทำงานที่นี่ แต่พอเอาเข้าจริงแล้วกลับมีปัญหาด้านอื่นๆ ที่เพิ่มมากขึ้นแทนที่ และทำให้ชีวิตของชุมชนรอบเหมืองเกิดความเปลี่ยนแปลงมหาศาล

“พอปี พ.ศ. 2549 เหมืองเริ่มเดินเครื่องไปประมาณสามเดือน เรามองเห็นว่าอันตรายจะเข้ามา ฝุ่นฟุ้งเลย เสียงระเบิด เสียงรถอะไร เวลารถบรรทุกข้ามสี่แยกมันจะเกิดอุบัติเหตุ ก็เลยคุยกันกับพวกเพื่อนๆ น้องๆ ด้วยกันประมาณสิบคน ก็มีพวกประชาสังคมจังหวัดเลยเข้ามาช่วย เราก็เก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ มันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เด็กอาบน้ำมันจะเป็นผื่นคัน อะไรพวกนี้ เราก็เลยหาข้อมูลมาอ้างอิง เจ้าหน้าที่รัฐก็แต่งตั้งคณะกรรมการลงมาตรวจน้ำ เฝ้าระวัง”

โดยหนึ่งในปัญหาใหญ่คือเรื่องการสร้างบ่อเก็บกากแร่ที่เกิดขึ้นหลังจากการทำเหมืองที่ไม่ได้มาตรฐาน จนเกิดการรั่วซึมลงไปในแหล่งน้ำสำหรับการใช้สอยของชาวบ้าน

ร่องน้ำใกล้เคียงกับบ่อเก็บกากแร่ บริเวณเหนือเนินเขาในเงามืด ยังคงมีร่องรอยของสารเคมีที่ตกค้าง / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ 

“ประเด็นหนึ่งที่เราสู้ก็คือบ่อเก็บกากไม่ได้มาตรฐาน มันทำให้รั่วลงร่องน้ำห้วยเหล็ก และห้วยอินดำ พอทางร่องน้ำห้วยอินดำ มันขึ้นผิวดินเนี่ย เขาจะพยายามไม่ให้ขึ้นผิวดิน เพราะเมื่อกรมควบคุมมลพิษไปตรวจมันจะเจอ เขาก็เลยสูบน้ำบาดาลขึ้นไปกระบวนการผลิตข้างบน เขาจะไม่ให้ตรวจเจอ”

แม้จะมีผลรายงานถึงสารพิษที่พบเจอแต่หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ไม่ได้ดูแล กำกับ แก้ไข ให้บริษัททุ่งคำปฏิบัติตามรายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ทั้งยังไม่เพิกถอนใบประทานบัตร ใบอนุญาตโลหกรรม

จากนั้นสมัยก็เข้าร่วมกับชาวบ้านในการเรียกร้องให้สิทธิชุมชนจากผลกระทบที่เหมืองแร่ทุ่งคำก่อขึ้น ทว่าแม้จะเป็นผู้มีตำแหน่งในการเมืองท้องถิ่น ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นของการรอดจากคดีความ สมัยถูกฟ้องหลายคดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งคดีบุกรุกจากการพานักศึกษาไปดูพื้นที่เหมือง เพื่อศึกษาปัญหาที่เกิดกับชุมชน   

คราบน้ำมันที่ตกค้างในร่องน้ำใกล้บ่อเก็บกากแร่ที่ยังตกค้างจนถึงปัจจุบัน (ภาพถ่ายปี พ.ศ. 2564)  / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ 

“ช่วงนั้นโดนทางบริษัทไปฟ้องนายอำเภอ แล้วก็ฟ้อง ปปช. กฎหมายอาญามาตรา 157 (ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่) 28 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2558 นายอำเภอเรียกไปสอบถาม เขาก็กดดันเราทุกที่ทุกทาง แต่เราก็ยืนหยัดอุดมการณ์อยู่ตรงนี้ เพราะว่าเราอยู่ที่นี่ เราพูดความจริง เราไม่ได้ให้ร้ายผู้ประกอบการเลย เราก็หลุด”

“คดี 157 นี่ผมโดน 2 รอบ เรื่องการขอต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าไม้ ทั้ง 2 คดีเลย”

“ตามระเบียบทำได้ คือเขาก็จะฟ้อง…ให้เราพออะ”

สมัยอธิบายว่า ปี พ.ศ. 2559 ช่วงเดือนพฤศจิกายน บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องประชาชนทุกคนที่มีตำแหน่งใน อบต. พื้นที่ลำน้ำฮวยอย่างหนัก คนที่มีตำแหน่งในฝ่ายบริหาร เช่น ประธานสภา อบต. โดนเรียกค่าเสียหายเกือบ 2,000,000 บาทต่อคน ในขณะที่สมาชิกสภา อบต. ถูกเรียกค่าเสียหายเฉลี่ยคนละ 300,000 บาท ทั้งที่ในองค์การบริหารส่วนตำบลมีสมาชิกสภาที่เห็นด้วยกับเหมืองแร่ 16 คน และไม่สนับสนุนเหมืองแร่เพียง 10 คน 

และคดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา จากการที่สมัยใช้ดุลยพินิจในฐานะประธานสภา อบต. ไม่ลงมติ แต่ให้ชาวบ้านแสดงความคิดเห็นแทน ในประเด็นการขอต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าไม้ของเหมืองแร่

“ที่หนักที่สุดก็คือ 157 รอบ 2 หนักเพราะว่ามันเกี่ยวกับเอกสาร คือผมน่ะยกวาระออกจากในที่ประชุมโดยที่ไม่ขอมติเนี่ย คือหนักสุด แต่ที่เรารอดก็คือเราได้ทำหนังสือเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ถึงรอดตรงนี้ได้”

แรงกดดันที่มากขึ้นในการปฎิบัติหน้าที่คดีความและการติดคุกอยู่ไม่ไกล แต่ชาวบ้านในชุมชนที่โดนคดีพร้อมสมัยก็ยังยืนยันจะสู้ต่อ

“เราอาสากับพี่น้องว่า ถึงยังไงเราก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องไว้ เพราะว่าผมเข้าไปเป็นสมาชิก สิบปีเนี่ย สามสมัยสิบกว่าปีเนี่ย ผมไม่เคยซื้อเสียงเลย คือพี่น้องเอาใจให้ผม ผมก็ต้องเอาใจให้พี่น้อง ทำทุกอย่างเพื่อแผ่นดินเกิดของเรา เพื่อพี่น้องเขาเรา ก็ต้องยึดพี่น้องไว้เป็นหลัก”

“ผมก็ปฏิญาณตนไว้ว่า ติดคุกก็ติดคุก แต่ถ้าติดเพราะว่าเราทำเพื่อชุมชน ไม่มีอคติต่อฝ่ายตรงข้าม ผมพร้อมที่จะเดินเข้าคุก ผมพูดกับพี่น้องไว้อย่างนั้นเลย ก็ยังดีที่เรารอด”

แปลงเกษตร ในพื้นที่ใกล้ลำห้วยที่เต็มไปด้วยสารพิษกำลังรอการฟื้นฟู หลังการต่อสู้อันยาวนาน (ภาพถ่ายปี พ.ศ. 2564) / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ 

27 คดี 300 ล้านบาท 

แม้ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2564) คดีความทั้งหมดได้รับการพิพากษายกฟ้องแล้ว แต่ร่องรอยของการต่อสู้ยังคงฝังรากลึกลงไปในชุมชน ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ชาวบ้านในชุมชนรอบเหมืองแร่คำ ถูกฟ้องคดีแพ่งและอาญารวมกันกว่า 27 คดี เป็นการเรียกค่าเสียหายจำนวน 300 ล้านบาท

รจนา กองแสง หนึ่งในแกนนำผู้เคลื่อนไหวต่อต้านเหมือง และผู้ดูแลศูนย์ทอผ้าประจำชุมชนบ้านนาหนองบง ได้แจงรายละเอียดการถูกคดีต่างๆ ไว้ว่าเจ้าหน้าที่ของภาครัฐเองก็ได้เข้ามามีส่วนในการดำเนินคดีอย่างเต็มตัว 

“ทั้งตำรวจทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ที่เข้าร่วมประชุมกับเรา แล้วก็พยายามหาภาพที่คิดว่าจะฟ้องเราได้ แล้วเขาก็ฟ้องเราได้ทุกอย่าง ซึ่งในการที่เขาฟ้องเราอะ อัยการก็สมควรที่จะไม่สั่งฟ้องก็ได้บางคดี อะไรอย่างนี้ แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ฟ้องหมด จน 27 คดีทั้งหมด รวมค่าเสียหายแล้ว 300 กว่าล้านบาทที่เรียกค่าเสียหายจากชาวบ้าน แกนนำเนี่ยโดนคนละ 9 คดี 7 คดี 10 คดี” 

รจนา ขณะเปิดดูเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีความทั้งหมายศาล และคำพิพากษา ซึ่งถูกรวบรวมไว้ในศูนย์ทอผ้าของชุมชน / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

โดยภาพเหล่านี้โดยมากเป็นการดำเนินคดีภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมในที่สาธารณะ ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดราว 150 คน ได้เดินเท้าไปที่ อบต.เขาหลวง เพื่อติดตามการประชุมสภา อบต. ในวาระการพิจารณาเรื่องการขอต่ออายุใบอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และ ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และเรียกร้องให้ยกเลิกการประชุมในวาระดังกล่าว เนื่องจากชาวบ้านรอบๆ เหมืองทองคำที่ยังไม่ได้รับการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งชาวบ้านได้เดินทางมาติดตามการประชุมสภาทุกวาระเป็นประจำตั้งแต่วันที่ 2, 4, และ 9 พฤศจิกายน 2559 แต่ไม่มีการแจ้งว่าการที่ชาวบ้านมาติดตามผลการประชุมบริเวณรอบที่ตั้งของอบต. นั้นมีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุม 

ต่อมาในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ร.ต.อ.วสันต์ แสงโทโพ ได้นำหมายเรียกตัวไปให้ นางพรทิพย์  หงชัย หรือ แม่ป๊อบ ชาวบ้าน 1 ใน 7 คน ตามข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ถึงที่บ้านพัก เพื่อให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งแม่ป๊อบได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาและไม่ยอมรับหมายเรียกฉบับดังกล่าว เนื่องจากตนไม่ได้ไปชุมนุม เพียงแต่ไปติดตามการประชุมสภา อบต. และพบปะผู้แทนฯ ของตัวเองเพียงเท่านั้น

“เราโดนทั้งพ.ร.บ. การชุมนุมในที่สาธารณะ แล้วก็คดีหมิ่นประมาท อะไรอย่างนี้ที่โดน ทั้งๆ ที่ เรื่อง พ.ร.บ. ชุมนุมอะ เราก็ไม่ได้ไปชุมนุม เราก็ไปเพื่อที่จะตามหนังสือเชิญของประธานสภา อบต. ที่ผู้มีส่วนได้เสียจะไปฟัง พอเราไปแล้วแล้วก็มีกฎหมายข้อนี้ขึ้นมาว่าถ้าไม่ออกเกินนั่นเกินนี่ เวลาเท่านั้นเท่านี้ คือแจ้งแล้ว ถ้าคุณไม่ไปจะโดน พ.ร.บ. การชุมนุม อะไรอย่างนี้”

คำพิพากษาในคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ของชุมชนรอบเหมือง / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

การไล่ฟ้องร้องคดีความต่างๆ ลามไปถึงเยาวชนในชุมชน โดยพลอย (สงวนชื่อและนามสกุลจริง) ขณะนั้นอายุได้ 16 ปี เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการนักข่าวพลเมืองของไทยพีบีเอสจัดคลิปเรื่องฮักบ้านเจ้าของ และได้พูดถึงแม่น้ำที่บ้านตน ซึ่งเคยเล่นน้ำในวัยเด็ก แต่ไม่สามารถเล่นได้แล้วเพราะสารพิษจากเหมือง ซึ่งจากคำพูดเหล่านั้น ทำให้พลอยถูกเหมืองแร่ทุ่งคำฟ้องหมิ่นประมาท และเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท เนื่องจากเหมืองแร่ทุ่งคำอ้างว่าเหมืองไม่ได้เป็นผู้ทำให้เกิดผลกระทบต่อลำน้ำตามที่ถูกกล่าวอ้าง

รจนา เล่าว่าในการเคลื่อนไหวเรื่องเหมืองแร่ ของชุมชนรอบเหมืองทุ่งคำนั้นดูดกลืนทรัพยากรในการใช้ชีวิตมหาศาล รวมถึงเม็ดเงินทั้งที่ควรได้จากการประกอบอาชีพและเงินที่เสียไปจากการสู้คดี

“เราเสียเวลาทำมาหากิน…..เพราะว่าคดีเนี่ย นับหนึ่งคดี กว่าคดีหนึ่งจะแล้วเสร็จมันใช้เวลานานมาก แล้วเราอะ ต้องไปศาลตลอด แล้วเราไม่ได้ไปแค่คนที่ติดคดี คือในชุมชนมองว่าคนที่ติดคดีเนี่ย คือเป็นคนที่เสียสละแล้ว …แต่ว่าคดีมันคดีร่วมทั้งหมด ชาวบ้านทั้งหมดต้องไปร่วมรับฟังด้วยกัน เราไปแต่ละครั้งเราไปทั้งบ้าน ทุกคนก็ต้องยอมรับว่าต้องเสียเวลา”

“คดีมันมาพร้อมกันหลายคดี ไม่ใช่แบบเดือนนี้เราสู้แต่คดีนี้ แต่ว่าในหนึ่งเดือนมันก็มีหลายคดี ที่เขาฟ้องมาเรื่อยๆ แล้วเราก็ไปรับ บางทีไปฟ้องที่สถานีตำรวจ บางคดีต้องไปอัยการ แล้วบางคดีอยู่ในชั้นศาล และก็มีคดีที่เป็น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่เราไปที่แม่สอด แล้วก็ภูเก็ต”

“คือเขาเห็นข้อความที่ภูเก็ตแล้วเขาก็ฟ้องที่ภูเก็ต แม่สอดเหมือนกัน ก็เห็นข้อความที่นู่น ซึ่งแม่สอดมีบริษัทที่เกี่ยวพันกับบริษัทนี้ เออ เขาก็ฟ้อง แล้วระยะเวลา ระยะเดินทาง เนอะ หกร้อยกว่ากิโล มันก็ไกล ไปแม่สอดอะ แล้วเราต้องเทียวไป โห มันก็หนักมาก”

ทั้งนี้การฟ้องที่มีความหลากหลายเรื่องสถานที่ฟ้องคดี เนื่องด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ได้ระบุว่าสามารถฟ้องได้ ณ สถานที่ทราบการกระทำความผิด เลยนำไปรูปแบบการฟ้องในพื้นที่ที่ไกลจากถิ่นที่อยู่ของคู่กรณีเพื่อให้เกิดอุปสรรคในเรื่องการเดินทาง

ทว่าพวกเขาก็ไม่ได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว เพราะภาคประชาสังคมจำนวนมากสนใจและให้การช่วยเหลือ โดยองค์กรที่เข้ามา เช่น ศูนย์ทนายอาสา, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), และ Amnesty รวมถึงสื่อมวลชนสำนักต่างๆ ที่ให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง

เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชน ลงพื้นที่ตรวจสอบเหมืองแร่ทุ่งคำ ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559 หลังมีข่าวการฟ้องร้องน้องพลอยวัย 16 ปี / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

ทั้งนี้ปรากฎการณ์ของเหมืองแร่ทุ่งคำ มีความน่าสนใจเนื่องจากคดีความที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดความไม่ปกติของชีวิตในหมู่ชุมชน นำมาซึ่งความสูญเสียในเรื่องเวลาและรายได้จำนวนมากระหว่างการสู้คดี ซึ่งมีการนิยามรูปแบบของปรากฎการณ์ดังกล่าวว่าคือการใช้กฎหมายฟ้องปิดปาก หรือ SLAPPs Law (Strategic Lawsuit Against Public Participation) มีการนิยามไว้ในหนังสือเรื่อง SLAPPs: Getting Sued for Speaking Out ที่ตีพิมพ์ในปีพ.ศ. 2539 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 

ใจความสำคัญคือ เป็นการฟ้องคดีแพ่ง ที่ยื่นฟ้องต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนอกภาครัฐโดยเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับประเด็นสาธารณะหรือประเด็นที่มีความสำคัญทางสังคม 

ประเด็นการฟ้องปิดปากดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ แต่เป็นกลเม็ดทางกฎหมายที่ผู้มีอำนาจ หรือบริษัท ใช้โจมตีกลุ่มคนเคลื่อนไหวในประเด็นสาธารณะ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้เกิดอุปสรรค และความยากลำบากในการต่อสู้

คนมีสีมีเอี่ยว

ไม่เพียงแต่กฎหมายฟ้องปิดปากเท่านั้นที่ชุมชนรอบเหมืองทุ่งคำต้องเผชิญ แต่ผู้มีอำนาจ ยศ และตำแหน่งในระบบราชการไทยเอง ก็มีท่าทีคุกคามอย่างเห็นได้ชัด โดยวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นายทหารพ่อลูก พลโทปรเมศ ป้อมนาค และ พันโทปรมินทร์ ป้อมนาค นำชายฉกรรจ์นับร้อยคนบุกชุมชน และเริ่มทำร้ายชาวบ้าน เพื่อจะนำแร่ที่ตกค้างในเหมืองออก หลังจากชาวบ้านในชุมชนรอบเหมืองนำสิ่งกีดขวางมาวางกั้นรถบรรทุกขนแร่ ทำให้ทางเหมืองแร่อ้างว่าไม่สามารถนำแร่ออกมาได้

“เขาทั้งตีทั้งคืนนั้นนะ ที่มีการอัพคลิป พี่ก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์แต่ว่าดูในคลิปน่ะ ที่น้องเขาอยู่ทางนี้แล้วโทรไปบอก แล้วได้ยินเสียง มีทั้งเสียงปืนขู่ ทั้งขวดน้ำ ขว้างแก้ว ขวดแก้วอะไรใส่ชาวบ้าน แล้วก็ยิงปืนขู่ด้วย มีการจับแกนหลักๆ บางคนไขว้มือข้างหลังแล้วเอาหน้าคว่ำลงไป จากนั้นเท้าเหยียบหน้า อย่างพ่อไม้แกนนำอีกคนหนึ่งก็ถูกจับไปเป็นตัวประกัน ขู่ว่าฆ่าทิ้ง ชาวบ้านไม่ยอมลดที่จะทิ้งตัวประกัน คือต่อสู้กันจนตี 4 ตี 5” 

“พ่อไม้ที่เป็นแกนนำคนหนึ่งโดนชกหน้า แล้วก็เอาแกมัดไว้บนเหมือง ขู่ว่าจะโยนลงเหมือง แล้วก็ผู้หญิงข้างล่างที่วิ่งเข้ามาช่วยกันก็โดนจับมือมัดแล้วคว่ำหน้า บอกว่ามาทำไม บอกว่าจะโดนข่มขืน เอาไปทิ้ง เอาไปฆ่า โดนทั้งหมด แล้วก็โดนเอากล้องถ่ายรูปไป บางคนโดนกระชากสร้อยไป เหมือนเป็นโจรอะ เหมือนบ้านเมืองแบบเป็นไรไปไม่รู้”

รจนา จัดเรียงแผ่นป้ายบันทึกเหตุการณ์วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งถูกรวบรวมไว้ / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

สถานการณ์ในค่ำคืนนั้นจบลงด้วยการที่เหล่าชายฉกรรจ์ขนแร่ออกจากเหมืองได้สำเร็จ ก่อนปล่อยตัวชาวบ้านช่วงเช้ามืด จากนั้นชาวบ้านจึงเดินทางไปสถานีตำรวจเพื่อแจ้งความ ในขณะที่สถานีตำรวจมีเจ้าหน้าที่เพียง 1 คนประจำการ 

แม้จะเจ็บปวดแต่การต่อสู้ก็ยังเข้มข้นขึ้น ชาวบ้านจัดเวรยามเฝ้ากำแพง และเครื่องกั้น 24 ชั่วโมง จนเหมืองแร่ต้องปิดการทำเหมืองชั่วคราวเนื่องจากพนักงานไม่สามารถเข้าไปทำงานในเหมืองได้

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวบ้านได้ร้องเรียนถึงหน่วยงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทำการปิดเหมือง และให้ถอนใบอนุญาติของบริษัทฯ แต่คำตอบที่ได้รับจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน คือ บริษัทฯ “ขออนุญาตขนแร่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย”

เวลาล่วงเลยมาหลายปี ความปวดร้าว และความหวาดกลัวยังคงฝังอยู่ในใจ แม้ชาวบ้านจะรู้ว่าสิ่งที่ต่อสู้ด้วยมีคนในเครื่องแบบมาเกี่ยวข้อง แต่พวกเขาก็ยังเดินหน้าการต่อสู้เพื่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ก่อนที่ศาลมีคำสั่งจำคุกนายทหารพ่อลูก 1 ปี 12 เดือนในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 เป็นอันจบคดีความที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเป็นทางการ

ยังไม่ได้รับการเยียวยา

หลังจากเกิดข้อพิพาทยาวนานนับทศวรรษ และคดีหลากหลายรูปแบบที่เหมืองแร่ทุ่งคำฟ้องประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา หมิ่นประมาทตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมถึงบุกรุก และละเมิด ต่างกรรมต่างวาระ ในที่สุดชาวบ้านที่ถูกฟ้องร้องก็ชนะทุกคดี

แม้คดีฟื้นฟูชุมชนในปี พ.ศ. 2561 จะคดีสุดท้ายที่มีคำพิพากษาเรียบร้อยแล้วว่าให้เหมืองแร่เป็นผู้ฟื้นฟู และในขบวนการการฟื้นฟูต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน

แต่การต่อสู้ที่ยาวนานก็ยังไม่จบลง

“คือเขาพยายามบอกว่า ความเจ็บป่วยของชาวบ้านไม่ได้มาจากการกระทำของเหมือง ซึ่งชาวบ้านป่วย ตรวจพบว่าไซยาไนต์ เขาบอกว่าชาวบ้านไปกินมันสำปะหลังดิบ คือเขาหลีกเลี่ยงไปได้ทุกทาง จากผลของหน่วยงานรัฐ แต่ว่าเราก็มีนักวิชาการที่สามารถชี้ชัดว่ามันมาจากเหมือง เราก็เอาไปสู้ที่ชั้นศาล เราก็ศาลก็เชื่อว่ามาจากเหมือง”

คราบน้ำมันในลำห้วยใกล้กับบ่อเก็บกากแร่ของเหมืองเหมืองแร่ทุ่งคำ เปรียบเทียบภาพถ่ายปี พ.ศ. 2559 และภาพถ่ายในปี พ.ศ. 2564 แม้ว่าเวลาจะผ่านพ้นไปถึง 5 ปี แต่คราบน้ำมันยังคงปรากฎให้เห็นได้อย่างเด่นชัด/ วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

ชัยชนะของกลุ่มชาวบ้านในคดีฟื้นฟูชุมชนไม่ได้ความว่าการรับผิดชอบของเหมืองแร่จะมาถึง ในท้ายที่สุดแล้วกฎหมายก็ยังถูกนำมาใช้เป็นอาวุธจนถึงวินาทีสุดท้าย โดยทางเหมือนแร่ได้ใช้ช่องว่างในเรื่องของกฎหมายล้มละลาย เพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบ ทางบริษัทแม่ของบริษัททุ่งคำได้ใช้กลเม็ดผ่านการให้ธนาคารดอยช์ แบงก์ เอจี ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอให้บริษัท ทุ่งคํา จํากัด ผู้เป็นจําเลยตกเป็นนิติบุคคลล้มละลาย และได้มีคําสั่งลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ให้พิทักษ์ทรัพย์ของ บริษัท ทุ่งคํา จํากัด อย่างเด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483

และเมื่อตกเป็นบริษัทล้มละลายแล้ว บริษัททุ่งคำจะเป็นนิติบุคคลที่ไม่มีความสามารถในการผูกพันตามนิติกรรมใดๆ ได้ ทำให้เหมืองแร่ทุ่งคำยังไม่ได้ชดใช้ค่าเสียหายทางคดีแก่ชาวบ้านแม้แต่น้อย 

ป้ายเหมืองแร่ทุ่งคำที่ถูกทิ้งร้างหลังคดีสิ้นสุดลง  / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ 

“บางคดีที่เขาฟ้องเรา เขาจะต้องจ่าย แต่ว่าเขามาล้มละลาย เขาเลยไม่จำเป็นต้องจ่าย เราก็ไม่ได้อะไร เราเสียไป แล้วมันมีคดีที่เราฟ้องเขากลับเป็นคดีฟื้นฟู พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม ที่เราฟ้องไปแล้วเราชนะ แล้วศาลตัดสินให้ชาวบ้านที่ฟ้องไป 149 ครัวเรือน ฟ้องค่าเยียวยาไปสามแสน ศาลตัดสินให้คนละ 104,000 (หนึ่งแสนสี่พัน) บาท แต่เราก็ไม่ได้อะไรเลย เพราะเขาล้มละลาย”

“โห มันเยอะมาก แล้วส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านช่วยกันเองได้คือเอาที่ดินไปประเมิน ก็เป็นล้านอะ แล้วก็ดีที่คดีทุกคดีเราชนะหมด”

รจนาพูดด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยความรู้สึกอันหลากหลาย

สานต่อการฟื้นฟู

แม้คดีจะสิ้นสุดลง แต่สิ่งที่เหมืองแร่ทุ่งคำได้กระทำต่อชุมชนใกล้เคียงยังคงดำรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีที่ยังตกค้างอยู่ในพื้นที่ และไหลลงสู่ลำห้วยที่ชุมชนใช้อุปโภค บริโภค และทำการเกษตร ไปจนถึงเวลาและโอกาสในการประกอบอาชีพที่ถูกทำลายไป

รจนา เล่าต่อว่าสิ่งที่ยากกว่าการต่อสู้เพื่อสิทธิ์ในชีวิตของชุมชน คือการฟื้นฟูการล่มสลายลงจากภัยร้ายที่ทำลายชุมชนอย่างหนัก และความเชื่อใจต่อคนของภาครัฐก็หมดสิ้นลงไปด้วย

เพราะนอกจากความเชื่อใจจะหมดสิ้นแล้ว มันก็ยังถูกเหยียบย่ำซ้ำอีกครั้งด้วยการยื่นข้อเสนอจากรัฐที่ให้ตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมการประชุมแผนการฟื้นฟูเพียงสามคน

“รัฐก็ต้องเข้ามารับผิดชอบ แต่ว่าในความรับผิดชอบของรัฐมันก็ยากที่จะเอาเงินมาเสียตรงนี้ แล้วในแผนฟื้นฟูเราก็พยายามเอาชาวบ้านมามีส่วนร่วม แต่เขาไม่ยอม คือตอนนี้เรามีแผนของเราเนอะ ชาวบ้านมีแผนฟื้นฟูของตัวเองไว้ร่วมกับนักวิชาการและภาคประชาสังคม เราก็ไปเปิดแผนของเราให้เขาแล้วครั้งหนึ่ง ก็เชิญหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาแล้วเปิดแผน ทีนี้ต่อมา กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เขาก็เอาแผนเขามาเปิด แล้วเขาก็บอกว่า เอาแผนของเราเข้าร่วมแล้ว ก็ขอตัวแทนชาวบ้าน 3 คน”

“ชาวบ้านก็ไม่ยอม ทำไมคุณมาเอาเราเข้าแค่ 3 คน จากทั้งหมด 17 คน ส่วนอื่นก็เป็นคนของคุณแล้ว เราก็ไม่ยอมถ้าจะเอาเราเข้าไปเป็นแค่ตราแสตมป์ เพราะว่าถึงแผนผ่าน แล้วคุณไปเบิกงบมา แล้วคุณก็จ้างบริษัทสุดท้ายก็มีผลกระทบต่อ เราไม่ต้องการแบบนั้น เราต้องการฟื้นฟูร่วมกับคุณด้วย”

ระนอง กองแสง และรจนา กองแสง แม่ลูกนักเคลื่อนไหวต่อต้านเหมืองแร่ในชุมชนนาหนองบง พร้อมด้วยแผนที่ชุมชนรอบเหมืองแร่ทุ่งคำ / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ 

โดยแผนการฟื้นฟูในมุมมองของชุมชนนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การทำในพื้นที่เหมืองแร่ และหลุมเหมือง แต่รวมถึงบ่อเก็บกากสารพิษรอบเหมืองที่ตั้งอยู่ใกล้ลำห้วยที่ไหลเข้าสู่ชุมชน

“ร่องน้ำที่เราเคยใช้ เราเคยมีผักกิน มีหอยกินเนี่ย เราต้องฟื้นฟูร่วมไปด้วย อะไรอย่างนี้ ถึงสารพิษเราไม่มีความรู้ เราก็อยากรู้ว่าคุณทำอะไรบ้าง เราก็อยากร่วมรู้ด้วย เพราะว่าเราก็มีนักวิชาการที่คอยให้ความรู้เราเหมือนกัน เรื่องร่องน้ำใครจะมารู้ดีกว่าชาวบ้านจริงไหม ร่องน้ำแต่ละร่องที่มันแยกมาจากเขา ที่มาจากภู เหมืองเนี่ย มันมายังไง แล้วมันเคยมีอะไรอยู่ในนั้น แล้วทำยังไงมันถึงจะกลับมา”

ระหว่างขั้นตอนอันยาวนานที่ผ่านกระบวนการของภาครัฐ สิ่งที่พอหล่อเลี้ยงชุมชน นอกเหนือจากรายได้เดิมอย่างแปลงเกษตร ทั้งข้าว และยางแล้ว กลุ่มทอผ้าก็เป็นพื้นที่สำคัญที่ยึดโยงชุมชนเข้าด้วยกัน โดยกลุ่มทอผ้าของฅนรักษ์บ้านเกิดที่ถูกตั้งในหมู่บ้านนาหนองบง ซึ่งเดิมถูกใช้ในการหารายได้เป็นทุนในการสู้คดีกับเหมืองแร่ทุ่งคำ 

ชาวบ้านในชุมชนนาหนองบง ทอผ้าเพื่อนำมาขายเป็นรายได้หล่อเลี้ยงชุมชน / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์
ตัวอย่างผ้าทอผลงานจากชุมชนที่ถูกเก็บในศูนย์ทอผ้าบ้านนาหนองบง / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์
ชาวบ้านในกลุ่มทอผ้าบ้านนาหนองบง ถ่ายภาพร่วมกับชาวต่างชาติที่ช่วยสนุบสนุนการนำผ้าฝ้ายไปขายในต่างประเทศ / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

และเมื่อคดีความสิ้นสุดลง ที่แห่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งรายได้ สำหรับเหล่าผู้หญิงในชุมชนที่จะใช้หารายได้เลี้ยงครอบครัว นอกเหนือจากการเกษตร และโชคดีของชุมชน ที่การเข้ามาของนักวิชาการ และภาคประชาสังคมได้เข้ามาคอยเกื้อหนุน เมื่อเหตุการณ์สงบลง โดยนักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวต่างชาติที่โครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยน  Council on International Educational Exchange (CIEE) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นกลุ่มหนึ่ง ได้ช่วยเหลือชุมชนผ่านการนำผ้าฝ้ายที่ผลิตในชุมชน ไปขายต่อให้ยังต่างประเทศ

หมู่บ้านที่เงียบสงบหลังการต่อสู้ 15 ปี เมื่อมองผ่านศูนย์ทอผ้าต้านเหมืองแร่ประจำชุมชน / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ 

“คือมันก็ได้เยอะกว่าที่ประเทศไทย ส่วนต่างเขาก็เก็บไว้ ขายจนส่วนหนึ่งสามารถสร้างศูนย์ทอผ้าชุมชนได้ แล้วก็ทางนู้นเขาชอบสีอะไรเยอะ ก็ส่งมาเป็นออเดอร์ให้แม่ทอ เราก็กระจายรายได้ให้แม่ๆ ในชุมชน วัตถุดิบเป็นฝ้ายที่ปลูกเองโดยที่ไม่ใช้สารอะไรเลย​ โดยที่ย้อมสีธรรมชาติ”

เพราะชีวิตยังต้องเดินต่อไป จะด้วยเส้นทางใดก็แล้วแต่ แม้คดีจะสิ้นลง แต่การต่อสู้เพื่อชีวิตของชุมชนรอบเหมืองทุ่งคำ ยังคงต้องดำเนินไปต่อ

อ้างอิง

About the author

Varuth Pongsapipatt
Photo Editor/ Content Editor

Varuth Pongsapipatt

Photo Editor/ Content Editor