เส้นทางมวยไทย ชีวิตที่น้อยคนจะถึงฝั่งฝัน
“ชก!!!!” สิ้นเสียงกรรมการ นักมวย 2 ฝ่ายโผเข้าใส่กันด้วยเหงื่อท่วมกาย ก่อนที่ฝ่ายน้ำเงินจะเหวี่ยงหมัดฮุคซ้ายเข้าปลายคางฝ่ายแดงอย่างเหมาะเหม็ง นักมวยฝ่ายแดงล้มกองกับพื้น ถือเป็นหมัดน็อคที่สวยงามท่ามกลางการชกอันดุเดือดที่สนามมวยสยามอ้อมน้อย ในช่วงต้นเดือนมีนาคม รอบเวทีรายล้อมด้วยเหล่าแฟนมวยที่ส่งเสียงเฮลั่นจนหลังคาอาคารสั่นสะเทือน
ท่ามกลางเสียงตะโกนอันบ้าคลั่ง มือไม้ชูผลุบโผล่จากอัฒจันทร์ เป็นสัญลักษณ์สื่อสารของแต้มต่อในมวยแต่ละคู่ ธนบัตรสีแดงและม่วงถูกเปลี่ยนมืออย่างรวดเร็ว กระดาษตารางชกถูกจับแน่นจนยับย่นในมือของผู้ชม ยิ่งนักมวยมีชื่อเสียง เม็ดเงินหมุนเวียนยิ่งพลุ่นพล่านราวกับเลือดในกายที่ถูกสูบฉีดยามออกแรงวิ่ง
จากนักชกสู่ผู้ฝึกสอน
“ผมเริ่มชกมวยตอนอายุ 17 ปี ซึ่งถือว่าโตเกินจะฝึก หัวหน้าค่ายแรกที่ไปหาเขาก็ไม่รับ แนะนำให้ไปค่ายโน้น ค่ายนี้ ไม่มีค่ายไหนรับ สุดท้ายกลับมาที่ค่ายเดิม ขอร้องเขา เขาเลยรับไว้”
นายจำเริญ ขุนเภา อายุ 45 ปี ปัจจุบันเป็นครูมวยในค่ายจิตรเมืองนนท์ บอกเล่าเรื่องราวของเขาบนเส้นทางสู่สังเวียนมวยไทย เขายิ้มสลับหัวเราะ ระหว่างเล่าเรื่องราวในอดีต สมัยโลดแล่นในสังเวียนมวย จำเริญ เป็นที่รู้จักในชื่อนักมวยว่าสมิงไพร อ อุกฤษณ์ ชื่นชอบมวยเพราะมีพี่ชายเป็นแบบอย่าง อยากเจริญรอยตามที่พี่ชาย

เขาเริ่มก้าวสู่เส้นทางนักมวยเมื่อเริ่มเปรียบมวย (การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง สรีระ เพื่อวัดรุ่นที่จะขึ้นชก) ในพื้นที่จังหวัดบ้านเกิด ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา แม้อายุจะมากเกินเริ่มต้นเข้าสู่สังเวียนมวย แต่ด้วยความพยายาม เขาขอร้องจนเจ้าของค่ายมวยตกลงรับเขาไว้ ฝึกซ้อมอยู่ 3 เดือนเต็ม เขาก็ขึ้นชกไฟท์แรกอย่างเป็นทางการ
“ยกแรกก็แพ้เลยครับ” เขาตอบพลางหัวเราะ “แต่ก็ไม่ได้ท้อนะ ผมสู้ฝึกมาต่อเรื่อยๆ”
เขาเล่าต่อว่า ต่อมาได้ไปอยู่ค่ายมวยที่ชลบุรี เป็นคู่ซ้อมให้เขาบ้าง คอยซักถุงเท้ารองเท้าคนในค่ายบ้าง เรียนรู้งานทุกรูปแบบ จนอยู่มาได้ 4 ปี หัวหน้าค่ายเห็นแวว จึงให้ลงชกมวยสากล และชกสากลต่อเนื่องอีกราว 20 ไฟท์ ก่อนที่จะถูกขอร้องให้เลิกชก เพราะน้ำหนักกับส่วนสูงไม่สมดุล
จำเริญมองดูเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันก้าวขึ้นไปเป็นที่รู้จักบนสังเวียนมวยไทยในขณะที่ความใฝ่ฝันของตนสิ้นสุดลง แต่เหมือนโชคชะตาจะมีที่ทางที่เหมาะสมกว่าสำหรับเขาบนสังเวียนมวย
เขาเริ่มหัดล่อเป้า หรือการเป็นเทรนเนอร์ในการประกบดูแลนักมวย พอทำได้ราว 4-5 ปี หัวหน้าค่ายจึงส่งเขาไปอยู่ค่ายมวยในต่างจังหวัดที่ห่างไกล ในค่ายเล็ก ๆ ที่ฝึกนักมวยเพื่อป้อนค่ายใหญ่ ๆ อยู่ฝึกปรือได้ราว 10 กว่าปีก็ได้ขยับขยายเข้าสู่ค่ายใหญ่ที่มีมาตรฐาน จนสามารถปั้นนักมวยรุ่นเด็กมาชกออกโทรทัศน์ และได้แชมป์ ทำให้หัวใจของเขาเริ่มชุ่มชื้นด้วยกำลังใจ และเห็นที่ทางของตนบนเส้นทางของครูมวย

ก่อนที่เขาจะมาอยู่ค่ายจิตรเมืองนนท์ เขามีประสบการณ์ในการทำงานกับค่าย Fairtex ถึง 13 ปี ค่ายใหญ่ที่สอนชาวต่างชาติ ทำให้มุมมองของเขาในฐานะครูมวยกว้างขวางยิ่งขึ้น
“ชาวต่างชาติที่มาฝึกมวยเขาจริงจังครับ เขารู้ว่าเขาจะมาเอาอะไร บางคนเป็นมืออาชีพในกีฬาอื่น เช่น MMA เขาเปิดตัวเปิดใจ เสียเงินเพื่อเรียนรู้จริงๆ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเขาเก็บหมดเพื่อไปผสมผสาน จนบางคนเก่งกว่าคนไทยอีกครับ ผิดกับคนไทยหลายคนที่เก่งแล้วแต่ฝึกซ้ำๆ ความชำนาญอาจจะได้ แต่ไม่ได้ต่อยอดเพิ่มเติม”
มวยไทยต้องหัดแต่เด็ก
จำเริญอธิบายว่าโดยปกติมวยไทยจะต้องหัดตั้งแต่เด็ก โดยมากเริ่มกันที่อายุ 7 ขวบ เนื่องจากเทคนิค ความจำ ความคุ้นชิน จะสามารถพัฒนาได้ดีกว่าคนที่โตแล้ว ดังนั้นหากเทียบกับเขาที่เริ่มตอน 17 ปี คือช้าไปมาก

เด็กๆ ที่เดินทางเข้าสู่เส้นทางสังเวียนมวยไทย มักมาจากครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะยากจน และทางบ้านส่งมา มีหลายกรณีที่เด็กถูกบังคับ ไม่ได้รักและอยากเป็นนักมวย แต่ต้องจำใจทำเพราะพ่อแม่ เนื่องจากอาชีพนักมวยนั้นเป็นอาชีพที่เห็นเงินได้ไว อายุราว 15 ปีหากสามารถเข้ามาชกในกรุงเทพฯ ก็จะเริ่มมีรายได้จากการขึ้นชกครั้งละขึ้นหลักหมื่นบาท โดยจะได้เงินมาจากโปรโมเตอร์มวย หรือผู้จัดแข่งที่เที่ยวส่องกล้องหานักชกที่มีฐานแฟนคลับในค่ายต่างๆ จัดรายการมาประกบคู่เก็บเงินค่าชม
การฝืนบังคับให้ลูกเป็นนักมวย บางครั้งก็อาจจะไปได้ดี หากแต่ผู้ไม่ประสบความสำเร็จอาจจะมีมากกว่า เพราะมวยไทยเป็นกีฬาที่ต้องการความมุมานะ มีวินัย ไปจนถึงไหวพริบ และความเฉลียวฉลาดบนเวที หากขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะประสบความสำเร็จได้ยาก
สู้เพื่อแม่
“มันไม่มีอาชีพไหนแล้วครับ ที่จะเรียนแบบมีคนส่งเสียไปด้วย และได้เงินไปด้วย แถมพอจบออกมาเขาก็ไม่มาอะไรกับเรา ทุกอย่างที่ได้เป็นประโยชน์กับเราล้วนๆครับ” นายอัสณะ เอี่ยมพิศ กล่าว
เด็กหนุ่มวัย 17 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนนทบุรี เช่นเดียวกับที่ค่ายมวยจิตรเมืองนนท์ที่เขาสังกัดตั้งอยู่ เขาชกมวยมาได้ราว 50 ไฟท์แล้ว มีชื่อมวยคือ ทศกัณฑ์ จิตรเมืองนนท์

“แม่ผมรู้จักกับคนที่นี่ เลยส่งผมมาตอนอายุ 11 ครับ เวลาฝึกเวลาซ้อมที่นี่บางทีมีเหนื่อย มีท้อ ผมก็คิดถึงแม่ แม่เราขอไว้ ทำเพื่อแม่ และทำเพื่ออนาคตของตัวเองครับ”
อัสณะ เล่าเพิ่มเติมว่า การใช้ชีวิตอยู่ในค่ายมวยนั้น ทำให้ไม่ค่อยได้เจอครอบครัว เนื่องจากต้องอยู่กินที่ค่ายมวยตลอด ตื่นแต่เช้าวิ่งออกกำลังกาย ซ้อมมวย แต่งตัวไปเรียนหนังสือ เรียนเสร็จตกเย็นกลับค่ายมาซ้อมช่วงเย็น โอกาสกลับบ้านจะมีเป็นช่วงๆ เมื่อหมดรายการชกจะได้กลับบ้านครั้งละ 5-6 วัน
“อยู่นี่ก็สนุกดีครับ ไม่เหงามีเพื่อนวัยเดียวกันหลายคน เวลาที่บางครั้งเราเครียด กดดัน มีเรื่องไม่สบายใจ ก็จะมีคนมาแกล้ง มาเล่นด้วย จนลืมเรื่องพวกนั้นไปครับ และในค่ายก็จะมีการเล่นให้ได้หัวเราะกันตลอดครับ” อัสณะพูดพลางยิ้ม
เส้นทางแสนไกลของนักมวย
วัยรุ่นบางคนต้องจากบ้านเกิดมาไกลแสนไกลเพื่อสังกัดค่ายมวยที่มีชื่อเสียงในเขตปริมณฑล
นายฮัมดัน มะแซ เด็กหนุ่มจากจังหวัดนราธิวาส วัย 15 ปี เดินทางจากบ้านเกิดมาไกลกว่า 1,000 กม. ในขณะที่ยังพูดภาษาไทยได้ไม่คล่องแคล่วนัก เขานิ่งเงียบและนึกคำที่จะพูดเมื่อถูกถามคำถาม ก่อนค่อยๆ ตอบด้วยภาษาไทยสำเนียงมลายู

ฮัมดันเริ่มชกในวัย 11 ปีเท่ากันกับอัสณะ อาจเพราะด้วยความที่พื้นเพเติบโตและสังกัดค่ายมวยในพื้นที่ห่างไกลมาก่อน เขาจึงมีแววตาที่ดุดันมุ่งมั่น พร้อมด้วยประสบการณ์การชกกว่า 60 ไฟท์
“ผมชอบมวยไทยครับ สนุกดี เริ่มชกครั้งแรกก็เห็นเพื่อนๆ ซ้อม ผมก็เหมือนคนอื่น ชกไฟท์แรกก็แพ้เลย แต่ก็ไม่ท้อครับ ฝึกซ้อมชกไปเรื่อยๆ จุดมุ่งหมายคือใช้เป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้” เขากล่าว พลางมองออกไปที่ต้นไม้หน้าค่ายมวย
ไม่นานนักหลังจากพูดคุย เหล่านักมวยวัยรุ่นก็เริ่มเดินไปที่ห้องอาบน้ำที่อยู่หลังโรงนอน อาบน้ำชำระร่างกาย พร้อมสวมใส่รองเท้าวิ่ง และกางเกงขาสั้น ออกวิ่งวอร์มก่อนการซ้อมในช่วงบ่ายจะเริ่มขึ้น
เสียงตะโกนบอกรอบในการวิ่งจากลานทรายที่พวกเขาออกวิ่งดังขึ้นเป็นระยะๆ ครูมวยและหัวหน้าครูมวย นั่งกอดอกดูข้างสนาม พร้อมกำชับให้เหล่านักมวยวัยรุ่น ยกขาให้สูงระหว่างการวิ่ง

“ยกขาสูงมันได้กล้ามเนื้อ เด็กพวกนี้บางคนรู้มาก ยกขาต่ำๆ เพื่อให้เหนื่อยน้อยลง แต่มันไม่ได้ประโยชน์อะไร ชกมวยถ้าขาไม่แข็งไม่มีกล้ามเนื้อ โดนเขาเตะทีก็ล้ม” ครูมวยท่านหนึ่งอธิบาย
การวิ่งวอร์มเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะของเหล่านักมวยวัยรุ่น ลูกสุนัขพันธุ์พิทบูล วัยไม่กี่เดือน พุ่งกระโจนขัดแข้งขา ทั้งยังกระโดดใส่เหล่านักมวยตลอดการวิ่ง

“ไอ้ตัวนี้มันแสบ ยังเล็กแต่ต้องใส่ตะกร้อไว้ นักมวยกี่คนต่อกี่คนมันกัดหมด” แม่เพ็ญ หญิงวัยกลางคนผู้ดูแลค่ายมวยพูดขณะที่จับสุนัขอีกตัวอาบน้ำ
จอมยุทธ์ชรา
เมื่อการวอร์มร่างกาย ด้วยการวิ่ง กระโดดเชือก สิ้นสุดลง การซ้อมมวยจึงเริ่มขึ้น นักมวยจะได้รับช่วงเวลาพักหายใจระหว่างเตรียมผ้าพันมือก่อนใส่นวม พวกเขาแยกกันนั่งตามจุดต่างๆ ของค่ายมวย ใช้ปลายเท้าคีบปลายผ้าเพื่อไม่ให้พันกัน ในขณะที่ใช้มือคลี่ผ้าออกจากม้วน
เมื่อสวมใส่นวมและอุปกรณ์ป้องกันเสร็จเรียบร้อย เสียงอันดุดันก็เริ่มดังขึ้นทั่วทุกสารทิศ ครูมวยจับคู่เทรนนักมวยบางคน ทั้งบนเวที และบนลานยางด้านข้างเวที นักมวยบางคนชกกระสอบทราย บ้างจับคู่กันเองซักซ้อมเทคนิคต่างๆ เสียงเตะดังสนั่นป้าปๆ หน้าแข้งปะทะเข้ากับเป้าซ้อมที่ครูมวยสวมใส่เข้ากับร่างกายตน “การล่อเป้า” คือการฝึกซ้อมขั้นพื้นฐานในการออกอาวุธเกือบทุกรูปแบบ พร้อมๆ กับการให้ครูมวยซึ่งมักเป็นอดีตนักมวย คอยชี้แนะด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมา
นักมวยเป็นอาชีพที่ใช้ร่างกายเข้าแลก ร่างกายที่ถดถอยลงตามกาลเวลาจากการฝึกฝนและใช้งานหนักหน่วง ทำให้ไม่สามารถดำรงอาชีพบนสังเวียนได้นานนัก แต่ประสบการณ์ และไหวพริบที่สั่งสมมานานนับทศวรรษ ก็สามารถสร้างครูมวยที่จะถ่ายทอดวิชาให้กับนักมวยรุ่นหลังได้
“คมอีก ไวอีก!” บุญเชิด เอี่ยมเอิบ หรือ เชิดศักดิ์ ศรีเมืองนนท์ ชายชราวัย 60 เกือบ 70 ตะโกนขณะที่ยืนดูการซ้อมออกอาวุธของนักมวย และการล่อเป้าของครูมวย สายตาอันเฉียบคมเต็มไปด้วยประสบการณ์ของเขา เพ่งไปยังนักมวยทีละคน ยืนประกบ ตะโกนออกเสียงคำแนะนำ พร้อมออกท่าทางมือไม้อย่างดุดัน

“ผมมีตำแหน่งเป็นสตาฟ เทรนเนอร์ หรือพูดก็คือ หัวหน้าผู้ฝึกสอนที่คอยดูการฝึก แผนการฝึกทั้งหมด วางแผนเวลาใครจะไปชกกับใครนั่นล่ะ มันไม่ใช่แค่ชกยังไงก็ได้ มันต้องดูคู่ชก ดูเด็กในค่าย จัดสรรการฝึกให้เหมาะสม”
บุญเชิดกล่าว ก่อนออกไปควบคุมการฝึกต่อ
เสียงชก และเสียงตะโกนดำเนินต่อไปจนเย็น ในขณะที่ตะวันลับขอบฟ้า การซ้อมจบลงตามมาด้วยการพักผ่อน วนเวียนไปราวกับฤดูกาลในแต่ละปี
——————————