ArticlesFEATURED

Fake News Series | ส่องอำนาจรัฐจัดการข่าวปลอม

หลังจากรัฐบาลจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti-Fake News Center Thailand) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ภายใต้การดูแลของนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็มีการโหมระดมจับกุมผู้ปล่อยเฟคนิวส์อย่างต่อเนื่อง แล้วอำนาจของรัฐในการจัดการกับสิ่งที่ถูกนิยามว่าเป็นข่าวปลอมนั้นมีอะไรบ้าง

บัญญัติกฎหมายในมือ

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการข่าวปลอมถูกระบุอยู่ใน พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560

โดยได้ระบุไว้ดังนี้

 มาตรา 8 ให้ยกเลิกข้อความใน มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน 

ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทำต่อประชาชน แต่เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทำ ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้

การนิยามความผิดดังกล่าว หากสังเกตดูจะพบว่า กำหนดขอบเขตให้ตีความได้ค่อนข้างกว้าง และเปิดให้เจ้าหน้าที่ใช้วิจารณญาณในการตีความเอาเอง เช่นคำว่า ‘ความมั่นคง’ ในวรรคสอง ซึ่งน่าสนใจว่านี่เป็นการให้อำนาจรัฐมากเกินไปในระดับที่อันตรายต่อประชาชนหรือไม่

ที่ผ่านมาการที่รัฐกล่าวอ้างถึง ‘ความมั่นคง’ ล้วนแต่ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นการจงใจทำลาย ล้มล้าง หรือเล่นงานผู้เห็นต่างทางการเมือง เช่น การจับกุมแอดมินเพจล้อเลียนพลเอกประยุทธ์ การเรียกปรับทัศนคติ การจับกุมวัยรุ่นจากแอคเคาท์นิรนามในเว็บไซต์ทวิตเตอร์ และอีกหลายกรณี

‘ความมั่นคง’ มีแนวโน้มถูกผูกขาดการนิยามโดยกองทัพและรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่เป็นมรดกสืบเนื่องจาก คสช. และกฎหมายฉบับดังกล่าวยังถูกบังคับใช้ภายใต้การพิจารณาของสภานิติบัญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ซึ่งนับเป็นแขนขาด้านกฎหมายภายใต้รัฐบาล คสช.

วศิน ปั้นทอง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายว่า ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับปี 2550 และ ฉบับปี 2560 ล้วนมีปัญหาใหญ่เดียวกัน คือการเปิดกว้างให้ตีความ

พ.ร.บ. คอมฯ มีรูปแบบกฎหมายอิงกับอนุสัญญาบูดาเปสต์ ค.ศ. 2001 (Budapest Convention) ซึ่งเป็นอนุสัญญาของสภายุโรปว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ มีเนื้อหาเน้นการสร้างพันธะกรณีระหว่างประเทศในการจัดการอาชญากรรมไซเบอร์ที่มีลักษณะข้ามพรมแดนของรัฐ โดย พ.ร.บ. คอมฯ ของไทยจะมีประเด็นทางเทคนิคที่นิยามคล้ายกัน เช่น เรื่องระบบคอมพิวเตอร์ และการยับยั้งการเข้าระบบคอมพิวเตอร์สำหรับอาชญากรรมไซเบอร์

แต่สิ่งที่ พ.ร.บ. คอมฯ ของไทย มีมากกว่าที่อนุสัญญาบูดาเปสต์ กำหนดไว้ก็คือมิติทางการเมือง เพราะมีบทบัญญัติเปิดให้ตีความเกี่ยวกับความมั่นคงที่ค่อนข้างกว้าง ถ้าถูกตีความว่าเป็นปัญหาความมั่นคง รัฐก็จะสามารถใช้มาตรการพิเศษที่กระทบสิทธิ์และเสรีภาพของประชาชนได้

หากดูมาตรา 18 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่เรียกตรวจข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากบุคคลที่เกี่ยวข้อง สั่งให้บุคคลส่งมอบข้อมูลในครอบครอง รวมถึงเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงและทำสำเนาข้อมูลของบุคคล ที่มีเหตุอันควร “เชื่อ” ได้ว่ามีการกระทำความผิด ในกรณีที่คอมพิวเตอร์นั้นยังมิได้อยู่ในการครอบครองของเจ้าหน้าที่ ก็จะเห็นได้ว่า ในส่วนการดำเนินการจับกุมและตรวจสอบ มีแนวโน้มเปิดช่องทางให้รัฐละเมิดสิทธิ์ประชาชน

ข่าวปลอม = ข่าวด้านลบของรัฐบาล(?)

ผลงานเด่นของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เห็นจะเป็นการจับกุม และ ‘ประทับตรา’ ข่าวที่อาจส่งผลลบต่อรัฐบาลให้เป็นข่าวปลอม ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมออกประกาศ เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2563 ระบุว่า ข่าวจากเว็บไซต์ข่าวสด ออนไลน์ ที่เกี่ยวกับการกักกันคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศนั้น เป็นข่าวปลอม โดยเนื้อหาของข่าวคือ “คนไทยที่เดินทางเข้าสหราชอาณาจักรอาจต้องถูกกักกันเพื่อดูอาการ 14 วัน ถ้าพวกเขามีอาการส่อว่าจะเกิดโรค ไม่ว่าจะเป็นไข้ ไอ จาม หายใจติดขัด” 

ศูนย์ต่อต้านข้าวปลอมยังอธิบายอีกด้วยว่าเพจเฟซบุ๊กสถานทูตไทยในลอนดอน ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลแรกของเรื่องดังกล่าวและถูกอ้างอิงโดยเว็บไซต์ข่าวสด เป็นเพจปลอม ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้ว พบว่าเพจดังกล่าวเป็นเพจอย่างเป็นทางการของสถานทูตไทยประจำกรุงลอนดอน และได้เผยแพร่ข้อความดังกล่าวจริง ทำให้กลับกลายเป็นว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของรัฐ เป็นผู้เผยแพร่ข่าวปลอมเสียเอง

นอกจากนี้ การออกมาให้ความเห็นในประเด็นต่างๆ ของผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาล ยังส่อเค้าว่าจะเป็นข่าวปลอมเสียเองอีกหลายครั้ง เช่น วันที่ 27 ม.ค. 2563 พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีคนไทยในเมืองอู่ฮั่นอยากเดินทางกลับประเทศไทย จากกรณีการแพร่ระบาดของ ไวรัส COVID-19 สวนทางกับบทสัมภาษณ์นักศึกษาไทยในอู่ฮั่นของรายการข่าวจากช่อง 3 ที่ระบุว่ามีนักศึกษาไทยตกค้างอยู่ถึง 67 ราย และต้องการเดินทางกลับประเทศไทย

นอกจากนี้ ‘ข่าวปลอม’ ยังดูเหมือนว่าจะถูกใช้เพื่อกลบเกลื่อนความบกพร่องและไม่เป็นหนึ่งเดียวกันในด้านการสื่อสารของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2563 คณะกรรมการอำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กทม. มีมติปิดห้างสรรพสินค้า และตลาดทั่วกทม. บังคับใช้ 22 มี.ค.-12 เม.ย. รวม 22 วัน แต่ต่อมาภายในวันเดียวกัน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กลับระบุว่า ข่าวการปิดห้างนั้นเป็นข่าวปลอม ก่อนที่ทางกรุงเทพมหานครจะขอให้ยกเลิกการเผยแพร่ข่าวชิ้นดังกล่าว และแถลงอย่างเป็นทางการอีกครั้งในเวลา 13.00 น. โดยมีใจความสำคัญไม่แตกต่างจากเดิม

นอกจากนี้ ดูเหมือนว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจะมีขอบข่ายการทำงานที่จำเพาะเจาะจง หากมีข่าวที่ส่งผลให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลดูแย่ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมก็มักจะนิ่งสงบ เช่น ข่าวพรรคฝ่ายค้านมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดนและก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ข่าวการถือหุ้น PICNI ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

เฟคนิวส์ทางการเมืองของรัฐ

หากพูดถึงข่าวปลอมที่ถูกเผยแพร่โดยรัฐบาล กรณีที่รุนแรงที่สุดเห็นจะเป็นเมื่อคราว “ผังล้มเจ้า” ที่ถูกแจกจ่ายเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2553 โดยพลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งโฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอฉ.) และมียศเป็นพันเอก แม้ในช่วงเวลาดังกล่าวจะยังไม่มีการก่อรัฐประหารโดย คสช. แต่ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ครั้งนั้นอยู่ร่วมในรัฐบาลปัจจุบันอย่างครบถ้วน

แผน ผังที่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด แจกต่อผู้สื่อข่าวเมื่อ 26 เม.ย. 53

ผังล้มเจ้า กล่าวหาว่าผู้ชุมนุมและหน่วยงานจำนวนมากมีความเกี่ยวข้องกับขบวนการล้มเจ้า ซึ่งจนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นขบวนการที่มีอยู่จริง การออกมาปล่อยข่าวปลอมเรื่องนี้ นำไปสู่การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงด้วยกระสุนจริงโดยทหารเมื่อปี 2553

หลังจากนั้น สรรเสริญ แก้วกำเนิด ผู้ปล่อยข่าวปลอม ก็ยอมรับต่อศาลว่า “แผนผังล้มเจ้า” ที่แจกไปมิได้หมายความว่าผู้ที่มีชื่อในเอกสารอยู่ในขบวนการล้มล้างสถาบันฯ แต่ให้สังคมวินิจฉัยเอาเอง ส่วนที่สื่อมวลชนเอาไปขยายผล ผู้ที่มีรายชื่อในผังจะไปฟ้องร้องก็สุดแล้วแต่จะพิจารณา

‘ผังล้มเจ้า’ สร้างกระแสความเกลียดชังฝังรากทางการเมืองมาเป็นเวลาเกือบทศวรรษ ซึ่งจนวันนี้ก็ยังไม่มีการแสดงความรับผิดชอบใดๆ จากผู้เผยแพร่และผู้อยู่เบื้องหลัง อีกทั้งยังมีการแต่งตั้งพลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด ให้รับตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์

แม้รัฐไทยจะยกปัญหาเรื่องข่าวปลอมขึ้นเป็นวาระสำคัญ โดยอ้างเรื่องประโยชน์ต่อประชาชน ปกป้องประชาชนจากข่าวปลอมที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม แต่ภายใต้ระบบการเมืองในปัจจุบัน ‘ความจริง’ และ ‘ข่าวปลอม’ ที่รัฐกล่าวหา น่าสงสัยว่ามีจุดประสงค์ทางการเมืองแอบแฝงและไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อปกป้องประชาชน

About the author

PLUS SEVEN

PLUS SEVEN

Photo Editor/ Content Editor