ArticlesFEATURED

Fake News Series | บุหรี่ไฟฟ้า – ความจริงที่รัฐไทยไม่พูดถึง

หากพูดคำว่าข่าวปลอม (Fake News) เราคนไทยก็คงจะนึกถึงประเด็นเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งเป็นที่พูดถึงกันอย่างร้อนแรงตั้งแต่ช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีอีกหลากหลายประเด็นที่ดุเดือดไม่แพ้กัน หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวของบุหรี่ไฟฟ้า ที่แม้หลายประเทศทั่วโลกจะให้การยอมรับว่าคือนวัตกรรมที่ช่วยชีวิตผู้สูบบุหรี่ เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูบและคนรอบข้างน้อยกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับบุหรี่แบบดั้งเดิม แต่องค์กรภาครัฐและ NGOs (ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ) กลับแสดงออกว่าไม่คิดเช่นนั้น

รู้จักบุหรี่ไฟฟ้า

บุหรี่ไฟฟ้าถูกจำแนกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มเวเปอไรเซอร์ (vaporizer)​ หรือที่เรียกกันว่าเวป (vape)  ซึ่งใช้ขดลวดสร้างความร้อน ให้นิโคตินเหลวผสมสารประกอบอื่น ๆ ระเหยเป็นไอน้ำ กับกลุ่ม Heat Stick ที่ใช้เทคโนโลยีให้ความร้อนแท่งยาสูบโดยไม่เผาไหม้ ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะได้รับสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายโดยไม่มีสารพิษอื่นอย่างทาร์ ไซยาไนด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ เหมือนบุหรี่มวนที่ใช้การเผาไหม้และส่งผลอันตรายต่อร่างกายมากกว่า

สารนิโคตินซึ่งเป็นตัวการทำให้เสพติดนั้นมีส่วนกระตุ้นให้ร่างการสร้างโดพามีน (Dopamine)​ ซึ่งทำให้รู้สึกสบายใจ มีความสุข นิโคตินสามารถพบได้ในผักผลไม้อย่างมะเขือเทศ และแม้ว่านิโคตินจะเป็นพิษแต่ร่างกายก็สามารถขับออกได้เองตามธรรมชาติในระดับหนึ่ง  

ทั้งนี้การเสพนิโคตินในระดับที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงถึงชีวิตหรือเสพเกินขนาดนั้น หากไม่ได้บริโภคน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าทั้งขวดเข้าไปในครั้งเดียว ก็ยากมากที่จะทำให้เกิดอาการเช่นนั้น กล่าวคือการเสพนิโคตินผ่านบุหรี่ไฟฟ้า มีลักษณะไม่ต่างจากการดื่มกาแฟไม่ใส่ครีม นมข้น น้ำเชื่อม และน้ำตาล หรือคือการเลือกเพียงสารกระตุ้นโดพามีน เพื่อให้เกิดความสบายใจ โดยเลือกที่จะไม่ผสมสารอื่น ๆ ลงไปนั่นเอง

ผลวิจัยมาตรฐานโลกย้ำบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่า

ในรายงานชื่อ E-cigarettes: an evidence update  จัดทำโดย Public Health England องค์กรภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุขประเทศอังกฤษ ได้อธิบายว่า บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวนและเป็นทางเลือกที่ดีในการช่วยเลิกบุหรี่มวน

ส่วนในงานวิจัย Nicotine without smoke: Tobacco harm reduction จาก Royal College of Physicians ประเทศอังกฤษ ปี ค.ศ. 2016 อธิบายว่า อัตราส่วนสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกายที่วัดจากผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นระยะเวลานานนั้น มีเพียงไม่ถึง 5% ของบุหรี่มวน

สำหรับอันตรายจากควันบุหรี่มือสอง มีบันทึกจากสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐสภาอังกฤษ (Parliamentary Office of Science and Technology) อธิบายถึงภัยต่อคนรอบข้างไว้ว่าไม่เพียงแต่สารพิษที่ผู้ใช้ได้รับไม่ถึง 5% ของบุหรี่มวน สารพิษที่ถูกพ่นออกมาก็เป็นจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น 

นอกจากอังกฤษแล้ว อีกหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน มาเลเซีย ลาว เวียดนาม นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ล้วนให้การยอมรับบุหรี่ไฟฟ้าในฐานะสิ่งทดแทนบุหรี่ธรรมดา โดยอ้างอิงจากผลการวิจัยต่างๆ ว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวนเป็นอย่างมาก

แบนบุหรี่ไฟฟ้า และความกำกวมของกฎหมาย

นับตั้งแต่กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศกำหนดบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในวันที่ 12 ธันวาคม 2557 การใช้อำนาจของภาครัฐ ก็เริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น การจับกุมผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการใช้กฏหมายอย่างไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ทูตจากหลายประเทศส่งเรื่องร้องเรียนมายังรัฐบาลไทย

ไปจนถึงการที่สำนักข่าว The Independent ได้รายงานข่าวเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย โดยอาจถูกปรับเป็นเงินจำนวนมาก หรือรับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี เนื่องมาจากการจับกุมผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่พัทยาบ่อยครั้งนั่นเอง

อันที่จริงแล้ว กฎหมายไทยนั้นไม่มีข้อใดระบุให้การมีบุหรี่ไฟฟ้าในครอบครองถือเป็นความผิด มีเพียงความผิดฐานนำเข้า จำหน่ายหรือมีให้บริการสินค้าต้องห้าม ซึ่งมีบุหรี่ไฟฟ้ารวมอยู่ด้วยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยที่ได้รับข้อกล่าวหาหรือคำฟ้อง จะพบว่าเนื้อหาจะโยงเข้าสู่พฤติกรรมการเป็นผู้ลักลอบนำเข้าสินค้าต้องห้าม หากผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าคนใดยืนยันไม่ยอมรับข้อกล่าวหาและสู้คดีต่อ มักจะจบที่ศาลในรูปแบบเพียงการยึดอุปกรณ์ และเสียค่าปรับเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากไม่สามารถหาหลักฐานเอาผิดได้ว่า ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้านั้นเป็นผู้นำเข้าสินค้าต้องห้าม

ส่วนผู้ที่ไม่ต้องการจะให้เป็นคดีความยืดเยื้อไปถึงชั้นศาลมักจะเลือกเซ็นรับข้อกล่าวหา โดยแลกมาด้วยการปรับเป็นเงินจำนวนมหาศาลหลักพันจนถึงหลักหมื่นบาท อาศัยความไม่รู้ของประชาชน และความยุ่งยากของกระบวนการยืดเยื้อให้ผู้ถูกกล่าวหาเข็ดขยาดกันทั้วไป

นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มลาขาดควันยาสูบ ซึ่งเคลื่อนไหวในการเรียกร้องสิทธิ์ของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ได้ระบุว่าข้อกฎหมายเดียวที่เกี่ยวข้องต่อผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าคือข้อกฎหมายเรื่องพื้นที่สูบบุหรี่เท่านั้น และการจับกุมที่ผ่านมาเป็นการตีความกฎหมายผิด เพราะหากดูในกรณีเทียบเคียงกันแล้ว กฎหมายนำเข้าสินค้าต้องห้ามนั้นทำให้บุหรี่ไฟฟ้าอยู่ในพิกัดกฎหมายเดียวกันกับเสื้อผ้าและรองเท้าแบรนด์ก๊อปปี้ ซึ่งเมื่อเทียบแล้วไม่มีการจับกุมผู้ใส่สินค้าเหล่านี้

วิวาทะแพทย์ไทย

แล้วสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับข่าวปลอมอย่างไร คำตอบคือการให้เหตุผลในการแบนบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย เพราะเมื่อลองย้อนอ่านข่าว จะพบได้ว่าเหล่านายแพทย์ในประเทศไทย ล้วนมีความเห็นตรงกันข้ามกับหมอและงานวิจัยในต่างประเทศทั้งสิ้น เช่น

“บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายต่อสุขภาพ แม้จะมีรายงานว่าปลอดภัยกว่าบุหรี่ทั่วไปกว่าร้อยละ 95 นั่นเป็นเพียงการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ระบุที่มา และยังพบผู้เชี่ยวชาญที่ได้ทุนจากบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ด้วย และบางรายงานบอกว่ามีอันตรายน้อยกว่า แต่ยังมีอันตราย แม้ใช้น้ำยาที่ไม่มีนิโคติน ซึ่งอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการเสพติดนิโคตินที่เข้มข้นกว่าบุหรี่ทั่วไป ซึ่งมีอำนาจเสพติดสูงเทียบเท่าเฮโรอีน สารพิษของบุหรี่ไฟฟ้ามีมากกว่า 250 ชนิด และกว่า70 ชนิด เป็นสารก่อมะเร็งและยังมีสารพิษ อีกมากที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังศึกษาเกี่ยวกับอันตรายต่อสุขภาพ”

นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค-หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 21 กันยายน 2560

โดยหัวหอกของการโจมตีบุหรี่ไฟฟ้าแบบสุดลิ่มทิ่มประตูนี้ คือ มูลนิธิรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กร NGOs ที่ได้รับการสนับสนุน จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้รับงบประมาณจากภาษีสรรพสามิตเป็นรายได้หลัก

โดย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวในงานเสวนา “พิษของบุหรี่ต่อสตรี ยิ่งมีมากกว่าบุรุษ” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในวันที่ 6 มีนาคม 2561 ว่า การสำรวจความชุกการสูบบุหรี่ของนักเรียนไทยอายุ 13-15 ปี พบว่า วัยรุ่นหญิงสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจาก 2% ในปี 2551 เป็น 5% ในปี 2558 ขณะที่นักเรียนชายยังคงที่อยู่ประมาณ 21% ถือเป็นสัญญาณอันตราย โดยประเด็นที่น่าห่วงคือเยาวชนหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งมีแนวโน้มว่าเยาวชนไทยสูบบุหรี่มากขึ้น เพราะมีหลักฐานการวิจัยจากต่างประเทศว่า เยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อมาเปลี่ยนไปสูบบุหรี่ธรรมดา

อีกทั้งเพจ Ash Thailand ของมูลนิธิรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ยังเคยเผยแพร่อินโฟกราฟฟิก อ้างอิงข้อมูลจาก ผศ.ดร.จิตรลดา อารีย์สันติชัย ศูนย์วิจัยยาเสพติด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อธิบายว่า วัยรุ่นผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีโอกาสหนีเรียนและถูกครูลงโทษร้ายแรง มากกว่าวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ธรรมดา ผ่านการเก็บกลุ่มตัวอย่างในจำนวนหลัก 100 คน

สวนทางกับองค์กรชื่อพ้องกันในต่างประเทศอย่าง Ash UK ของประเทศอังกฤษ ซึ่งได้สำรวจข้อมูลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ปี 2561 จากเยาวชนอายุ 11-18 ปี จำนวน 2,291 คน ในสหราชอาณาจักรถึงประเด็นบุหรี่ไฟฟ้า พบว่า 87% ของกลุ่มตัวอย่าง ไม่เคยลองบุหรี่ไฟฟ้า และในกลุ่มเยาวชน ที่ไม่ได้สูบบุหรี่มาก่อนนั้น มี  7% ไม่รู้จัก 5% เคยลอง1-2ครั้ง และน้อยกว่า 1% ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำ

ดุเดือดที่สุดก็คือการสวมรอยโทษของบุหรี่ไฟฟ้าจากกรณีที่มีผู้ป่วยและเสียชีวิตในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยละเลยรายละเอียดว่า อาการป่วยเหล่านั้นมีสาเหตุมาจากการสูบไอระเหยของ วิตามินอี อะซิเตท ซึ่งเป็นส่วนผสมเพื่อให้น้ำยาเกิดความหนืด โดยเฉพาะในหลอดน้ำยาที่มีสาร THC สารสกัดจากกัญชา ที่มีฤทธิ์ทำให้ผู้สูบตกอยู่ในอาการเคลิบเคลิ้ม

กล่าวให้ชัดเจนคือ การใช้บุหรี่ไฟฟ้าปกตินั้นไม่ได้เป็นตัวการทำลายปอด หากแต่เป็นน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าแบบกัญชาที่ผลิตแบบไม่ได้มาตรฐานต่างหากที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อปอดและนำไปสู่การเสียชีวิต แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีการอธิบายสาเหตุอย่างชัดเจนของเหล่าแพทย์ จากองค์กรที่พร่ำโทษบุหรี่ไฟฟ้าแม้แต่น้อย

กราฟิกประชาสัมพันธ์จากเพจ Facebook ของศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ เผยแพร่ข้อมูลว่าบุหรี่ไฟฟ้าห้ามนำเข้า ขาย บริการ และครอบครอง ทั้งที่ความเป็นจริงตามข้อกฎหมายแล้ว ไม่มีข้อบัญญัติเอาผิดการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า

องค์กรและนายแพทย์เหล่านี้ยังคงพูดโจมตีผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ทั่วโลกยอมรับ โดยไม่นึกถึงสิทธิ์ในสิ่งที่ปลอดภัยกว่าของผู้ที่ยังต้องการเสพนิโคติน ถือได้ว่าดำเนินการจัดทำ Fake News ด้านสุขภาพขนานใหญ่ ด้วยใบอนุญาตจากภาครัฐ

หากพูดอย่างเป็นธรรม บุหรี่ไฟฟ้าถูกคิดค้นและใช้อย่างแพร่หลายมาได้ไม่นาน จึงยังไม่มีข้อพิสูจน์ถึงผลกระทบในระยะยาว แต่การกระทำของภาครัฐไทยเองก็เป็นการปิดกั้นการศึกษานวัตกรรมด้วยปฎิกิริยาที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ

เช่นนั้นเมื่อข่าวปลอมในด้านสุขภาพยังถูกพูดโดยหน่วยงานขนาดใหญ่ ที่มีคนกุมบังเหียนเป็น “นายแพทย์” ประชาชนจะสามารถไว้วางใจการดูแลสุขภาพจากภาครัฐได้อย่างไร

ติดตาม Fake News Series ได้ทาง https://plusseven.in/thai/ และ https://www.facebook.com/PLUSSEVEN.IN

About the author

PLUS SEVEN

PLUS SEVEN

Photo Editor/ Content Editor