ย้อนรอยอภิวัฒน์สยาม จากภาพเหตุการณ์ในอดีตถึงปัจจุบัน
89 ปีที่แล้ว วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 กลุ่มประชาชนและนายทหารหนุ่มจำนวนหนึ่งภายใต้ชื่อคณะราษฎรได้ทำการยึดอำนาจการปกครองจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบรัฐธรรมนูญ นับเป็นปฐมบทประวัติศาสตร์การเมืองฉบับประชาธิปไตยของไทย
อย่างไรก็ตาม แม้ผ่านมาเกือบเก้าทศวรรษให้หลัง ประเทศไทยยังคงวนเวียนอยู่กับข้อถกเถียงจากเหตุการณ์ดังกล่าวว่าการตัดสินใจกระทำการปฏิวัติในครั้งนั้นเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องหรือไม่ และเป็นการชิงสุกก่อนห่ามหรือไม่
และข้อถกเถียงที่ไร้คำตอบดังกล่าวก็จะเวียนวนกลับมาเสมอเมื่อเกิดการรัฐประหารดังเช่น 19 ครั้งที่ผ่านมา โดยไม่มีใครสืบลึกไปถึงเจตนารมณ์ดั้งเดิมของผู้ทำการอภิวัฒน์เหล่านั้น ว่าแท้จริงแล้วการตัดสินใจกระทำการเปลี่ยนระบอบเพื่อแปลงบ้านเมืองเป็นไปเพื่ออะไร
ในโอกาสอดึตวันชาติไทยในอดีต PLUS SEVEN พาทุกท่านเยี่ยมชมถนนราชดำเนินอันเป็นสถานที่ที่ประชาธิปไตยได้ลงหลักปักฐานครั้งแรก ผ่านภาพอดีตที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการอภิวัฒน์สยาม และสภาพปัจจุบันของสถานที่เหล่านั้น
ลานพระราชวังดุสิต
อดีต: เช้าวันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 กลุ่มกองกำลังทหารรวมพลบริเวณหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วยความสับสนงุนงง เพื่อรอคำสั่งถัดไปจากผู้บังคับบัญชา จากนั้นพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ได้ปีนขึ้นไปบนรถถังเพื่ออ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1
ปัจจุบัน: โดยรอบของพระราชวังดุสิตอยู่ระหว่างการปรับปรุง สาธารณสถานต่างๆ ที่เคยเปิดให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมเช่น พระที่นั่งอนันตสมาคมและสวนสัตว์ดุสิตปิดลงเป็นการถาวร
หมุดคณะราษฎร
อดีต: ในปีพ.ศ. 2479 คณะราษฎรได้ประกอบพิธิฝังหมุดทองแดงเพื่อระลึกถึงการอภิวัฒน์สยาม โดยหมุดดังกล่าวฝังอยู่บริเวณใกล้กับพระบรมรูปทรงม้ารัชกาลที่ 5 ในพื้นที่ลานพระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นบริเวณที่พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรได้ทำการอ่านประกาศคณะราษฎรและสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญขึ้น ข้อความในหมุดเขียนว่า “ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”
ปัจจุบัน: ช่วงปีพ.ศ. 2560 หมุดคณะราษฎรที่ฝังอยู่ ณ ตำแหน่งแรกเริ่มหายไปอย่างลึกลับ และยังไม่สามารถสืบหาได้จนถึงปัจจุบันว่าใครเป็นผู้สั่งการและจุดประสงค์ในการถอนหมุดคืออะไร อย่างไรก็ตามได้มีการนำหมุดใหม่มาฝังแทน โดยบนหมุดมีข้อความว่า “ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน”
ปัจจุบันได้มีการนำกระถางดอกไม้มาวางทับบริเวณหมุดดังกล่าว และต่อมาในปี 2564 ได้มีการปิดการจราจรไม่ให้เข้าถึงบริเวณดังกล่าว
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
อดีต: อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสร้างขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2482 ก่อนประกอบพิธีเปิดในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 เพื่อเป็นการรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ และได้มีการกำหนดให้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของเครือข่ายทางหลวง
ปัจจุบัน: หลังการรัฐประหารในปีพ.ศ. 2557 พื้นที่รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกกั้นด้วยแผงเหล็กและนำกระถางดอกไม้มาตั้งไว้จนเต็ม แตกต่างจากอดีตที่บริเวณดังกล่าวสามารถเดินขึ้นไปจนถึงส่วนฐานชั้นในของอนุสาวรีย์ได้ อย่างไรก็ดีตั้งแต่ปีพ.ศ. 2563 เมื่อเกิดการประท้วงของกลุ่มราษฎร อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมักถูกยึดเป็นสถานที่นัดชุมนุมประท้วงรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง โดยกลุ่มผู้ชุมนุมมีการนำกระถางและย้ายแผงกั้นออกเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์ในการทวงคืนประชาธิปไตย
พระบรมมหาราชวัง และ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้วมรกต)
อดีต: ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ได้มีการจัดขบวนแห่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรจากบริเวณพระบรมมหาราชวังไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม และ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ได้ประกอบพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกภายในท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคม นับเป็นระยะเวลาเกือบ 6 เดือนภายหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ทำให้พระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ลดลงเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการแห่รัฐธรรมนูญจากพระบรมมหาราชวัง และ วัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้วมรกตผ่านสถานที่ต่างๆ เป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นสิ่งที่พระมหากษัตริย์พระราชทานลงมาให้แก่ประชาชน เป็นสถาบันกษัตริย์เองที่เต็มใจจะมอบอำนาจอธิปไตยของพระองค์ให้กับชาวไทยทุกคนผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ บ่ายเบี่ยงว่าการเกิดขึ้นของระบอบรัฐธรรมนูญไม่ใช่ความพยายามของคณะราษฎรที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองที่ราษฎรเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง
ปัจจุบัน: พระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้วมรกตมักใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่างๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รวมถึงเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมบางส่วน