FEATUREDLatestReportages

COVID-19: ย่างก้าวระหว่างความเป็นและความตาย

นับตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา การแพร่ระบาดจนเกิดเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ซัดโครมเข้ามายังประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยผู้คนซึ่งอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น ผมได้เดินทางไปทั่วกรุงเทพฯ บันทึกภาพของผู้คนที่พยายามนำพาชีวิตเพื่อนมนุษย์ผ่านพ้นวิกฤติโรคระบาด ท่ามกลางการจัดการของรัฐบาลที่ติดขัดในเรื่อง ‘ขั้นตอน’ จำนวนมาก จนหลายชีวิตไม่อาจดำรงอยู่ในวันนี้

ก่อนที่สถานการณ์ (เกือบ) ล็อกดาวน์จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ ในเดือนเมษายนผมเดินทางไปที่วัดสะพาน พระโขนง เขตคลองเตย เพื่อบันทึกภาพการตรวจโควิดเชิงรุกของกรุงเทพฯ โดยเน้นหนักไปยังกลุ่มผู้อาศัยอยู่ในสลัมคลองเตย

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง เดินทางมาในช่วงเช้า ก่อนจะประกาศอย่างแข็งขันว่าจะนำตัวผู้ติดเชื้อออกจากชุมชนเพื่อหาที่รักษาพยาบาลก่อนช่วงเที่ยงของวันให้ได้

แต่คำสัญญานั้นไม่สัมฤทธิ์ผล

ท้ายที่สุดแล้วผู้ติดเชื้อจำนวนมากก็ยังคงไม่ได้รับความช่วยเหลือภายในวันนั้น ตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่สลัมคลองเตยก็ยังคงสะสมเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเชื้อได้แพร่กระจายไปทั่วแล้ว โดยมีหนึ่งข้อจำกัดสำคัญคือเรื่องของสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด ผู้ติดเชื้อจำนวนมากต้องกักตัวร่วมกับครอบครัวในบ้านที่ไม่สามารถจัดแบ่งพื้นที่ได้มากนัก

ผมเดินไปตามตรอกแน่นขนัดของชุมชนคลองเตยล็อค 1-2-3 นำโดย ประภา ชุมพลรักษ์ เหรัญญิกชุมชน ล็อก 1-2-3 ประภาและคนในชุมชนจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องดูแลสร้างระบบการช่วยเหลือเพื่อนในชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากการเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยกันเอง โดยไร้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร หรือ รัฐบาล 

ประภา ชุมพลรักษ์ เหรัญญิกชุมชน ล็อก 1-2-3 คลองเตย จัดเตรียมข้าวสารอาหารแห้ง และใช้โทรศัพท์สั่งอาหารที่จะนำไปส่งในแต่ละบ้านที่กักตัว

เพราะพื้นที่ในบ้านที่แน่นขนัดและอยู่รวมกันหลายคน เมื่อมีผู้เสี่ยงสูงในครอบครัวรอผลตรวจเชื้อ สมาชิกทุกคนจึงจำต้องกักตัวแบบรวม…หรือกล่าวอีกทางคือกักตัวภายในบ้านหลังเดียวกัน และด้วยความที่พวกเขาเหล่านั้นเป็นแรงงานหาเช้ากินค่ำ หรือลูกจ้างรายวัน เมื่อทุกคนจำเป็นต้องกักตัวพร้อมกัน รายได้ใดๆ ของครอบครัวจึงหายไปเกือบทั้งสิ้น เหล่ากรรมการชุมชนจึงต้องเข้ามามีบทบาทในการส่งข้าวสารอาหารแห้ง รวมถึงอาหารรายวันให้ครอบครัวพวกเขาเหล่านี้

หลังจากการบันทึกภาพภารกิจการส่งอาหารตามบ้านของกรรมการชุมชนล็อก 1-2-3 ราว 1-2 วัน ผลตรวจของบ้านที่ผมไปเยี่ยมเยียนก็ออกมา และปรากฎว่าสมาชิกทุกรายในบ้านทุกหลังเป็นผู้ติดไวรัส โควิด-19 พวกเขาถูกนำตัวออกจากชุมชนเพื่อไปยังสถานพยาบาล ก่อนที่สถานการณ์โดยรวมของกรุงเทพฯ จะปะทุขึ้นอย่างรวดเร็วกลายเป็นคลัสเตอร์คลองเตยอย่างเป็นทางการ และตามมาด้วยคลัสเตอร์ในพื้นที่อื่นซึ่งรุนแรงขึ้นตามลำดับ พร้อมๆ กับข่าวการเข้ามาของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในช่วงเวลาถัดมา 

ระหว่างนั้นเหล่าคนจนเมืองตกอยู่ในปัญหาทางเศรษฐกิจขนาดมหึมา หลายคนทำงานไม่ได้ ทำให้คนบางคนที่ยังคงสามารถทำงานได้ ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดในครอบครัวที่ไม่ได้ลดลง

อ่านเพิ่มเติม:

https://plusseven.in/thai/klongtoey-covid19/
https://plusseven.in/thai/covid-19-economic-crisis-in-bangkok-slums/

วัคซีน

ณ เวลาที่สถานการณ์อึมครึมจากโรคระบาดคืบคลานและครอบคลุมไปทั่วทั้งกรุงเทพฯ ช่วงเดือนมิถุนายน ในที่สุดการคิกออฟฉีดวัคซีนทั่วประเทศที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง แต่การมาถึงดังกล่าวก็มาพร้อมกับข้อเท็จจริงที่ว่าต่อให้ประเทศไทยเริ่มปฏิบัติการ ’ฉีดวัคซีน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ แล้ว แต่ระบบสาธารณสุขมวลรวมก็ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เพราะผู้คนจำนวนมากก็ยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ 

เนื่องจากความรุนแรงของโรคระบาดที่ทำให้เกิดความขาดแคลนบุคคลากร และทรัพยากรต่างๆ ในการรักษาพยาบาลอ อีกทั้งประเทศไทยังคงตกอยู่ใต้ควันคลุ้งตลบอบอวลของความไม่รู้ และความไม่แน่ใจในการรับมือ

ผมเดินทางไปบันทึกภาพที่จุดให้บริการฉีดวัคซีนต่างๆ 

จุดฉีดวัคซีนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต เป็นหนึ่งในจุดฉีดวัคซีนจำนวนมากที่รัฐบาลประกาศเริ่มคิกออฟการฉีดวัคซีนพร้อมกันทั่วทั้งประเทศ
ในวันที่ 7 กรกฎาคม

ทว่าเมื่อการฉีดวัคซีนเป็นไปด้วยตัวเลือกวัคซีนเพียง 2 ชนิด คือแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) และซิโนแวค (Sinovac) ความเสี่ยงจากการมีตัวเลือกที่จำกัด ด้วยการนำเข้าวัคซีนเพียง 2 ยี่ห้อก็เริ่มเกิดขึ้น เมื่อการฉีดวัคซีนที่ควรเป็นการป้องกันเชื้อกลับกลายเป็นการเปิดประตูให้กับอาการเจ็บป่วยและความตายไปเสีย

ผมเดินทางไปยังวัดสถานที่จัดงานศพหญิงชราวัย 79 ปี ที่เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

เธอได้รับวัคซีนในก่อนเที่ยงของวันศุกร์ ก่อนเริ่มปรากฎอาการป่วยในช่วงเย็น และล้มหมดสติในเช้ามืดวันเสาร์ เธอถูกส่งโรงพยาบาลและเข้าสู่การรักษาอย่างเร่งด่วน ก่อนเสียชีวิตในช่วงสายวันเสาร์

นับเวลาตั้งแต่เธอได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกจนถึงเวลาเสียชีวิตเป็นเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง โดยแพทย์ระบุว่าเกิดจากเลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง ซึ่งเป็นอาการร่วมจากการฉีดวัคซีน โควิด-19

งานศพของหญิงชราวัย 79 ผู้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าถูกจัดขึ้นท่ามกลางความเศร้าโศกของครอบครัวในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม

โรงพยาบาลสนาม

ผมเดินทางไปยังโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์แล้วครั้งหนึ่งกลางปีพ.ศ. 2563 เมื่อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก 

อาคารที่เคยเป็นโรงแรมให้เช่าถูกเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลสนาม เพื่อผู้ป่วยที่อาการไม่หนัก การจัดสรรปันส่วนพื้นที่เป็นอย่างดี การทำความสะอาดลิฟท์และพื้นที่ที่ผู้ป่วยต้องผ่านเมื่อเดินทางเข้ามาในโรงพยาบาลสนามเป็นไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน 

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนาม รศ.ดร.นายแพทย์ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ พูดคุยกับผม ได้ให้ข้อมูลมากมายในช่วงเวลานั้น การรักษาและประเมินอาการผู้ป่วยด้วยจอโทรทัศน์ที่เรียงกันเป็นแผง พยาบาล และหมอที่นั่งเฝ้าจอคอยติดต่อประสานงานและพูดคุยกับคนไข้ ไปจนถึงการจัดคิวการเข้าเวรที่ชัดเจน

โต๊ะคอมพิวเตอร์ที่เรียงรายด้วยเอกสารจำนวนมหาศาลและบุคลากรทางการแพทย์นับ 10 ชีวิตประสานงานอย่างยุ่งเหยิงตลอดวันภายในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้

แต่เมื่อผมกลับไปอีกครั้งในช่วงกลางปีพ.ศ. 2564 หลังมีข่าวว่าโรงพยาบาลสนามที่หยุดให้บริการไปครั้งหนึ่ง แต่ต้องกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง เพราะปริมาณที่มากขึ้นของผู้ป่วย ใบหน้าของผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด แววตาของเขาเหนื่อยล้า และร่างกายที่ซูบลงจากการพบกันในปีก่อน

ผมสำรวจพื้นที่ด้านล่างของอาคารทำการที่เหล่าบุคลากรทำงานอยู่ ซึ่งเป็นเพียงพื้นที่เดียวที่ผมได้รับอนุญาตให้เข้าไปบันทึกภาพ ทุกอย่างยังคงเดิม มีเพียงบรรยากาศของความเหนื่อยล้าที่เพิ่มมากขึ้นทวีคูณ

หน้าจอที่แสดงภาพผู้ป่วยซึ่งถูกกักตัวอยู่ในห้องถูกตรวจสอบด้วยแพทย์ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาดูแลตลอด 24 ชม.

ช่วงการระบาดระลอกแรก 26 มีนาคม – พฤษภาคม พ.ศ. 2563 โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์รับผู้ป่วยจำนวน 311 คน ในขณะที่ช่วงของการระบาดรอบใหม่ วันที่ 11 เมษายน – 18 ตุลาคม พ.ศ. 2564 รับผู้ป่วยรวม 4,857 คน

บันทึกห้วงสุดท้าย

ช่วงเดือนกรกฎาคม สถานการณ์ของคนป่วยและคนตายรุนแรงขึ้นทั่วทุกหนแห่งจากข้อเท็จจริงที่ผู้ติดเชื้อจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ทันท่วงที บ้างต้องรอคิวสำหรับเตียงว่าง บ้างต้องรอการมาถึงของยารักษาที่ล่าช้า หรือบางคนไม่สามารถแม้กระทั่งโทรติดต่อศูนย์ประสานงานที่เกี่ยวข้องได้ด้วยซ้ำ 

ความยากลำบากในการตะกายสู้เพื่อมีชีวิตรอดเป็นผลสืบเนื่องจากสภาวะขาดแคลนเตียง และความแน่นขนัดที่เกินศักยภาพที่โรงพยาบาลจะรับได้ไหว ผมติดต่อไปยังทีมอาสาสมัครเส้นด้าย เหล่าคนตัวเล็กตัวน้อยที่รวมตัวกันเพื่อหาทางช่วยเหลือผู้คนที่ทรมานจากโรคระบาดที่ไม่สามารถหาเตียงสำหรับรักษาในสถานพยาบาลได้ และจำเป็นต้องรอคอยด้วยความหวังริบหรี่อยู่ภายในเขตบ้านพักของตัวเอง 

โดยในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ระบุว่ามีผู้ป่วยยืนยันสะสม 549,512 ราย (นับจากวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2564) และมีผู้เสียชีวิตสะสมมากถึง 4,585 ราย ซึ่งในวันดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 117 ราย และเป็นช่วงที่กราฟผู้เสียชีวิตในแต่ละวันก้าวกระโดดต่อเนื่อง 

กระทั่งวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ก็เพิ่มสูงจนถึง 312 คนภายในเวลา 24 ชั่วโมง

โดยก่อนหน้านั้นวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เป็นวันที่มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงที่สุดราว 23,000 คน

ช่วงแรกที่ผู้เสียชีวิตเริ่มทะยานเกือบแตะหลัก 200 รายต่อวัน ในค่ำคืนหนึ่ง ผมขอติดตามการทำงานของทีมเส้นด้ายไม่ต่างกับหลายคืนที่ผ่านมา ระหว่างการเตรียมถังออกซิเจนในช่วงหัวค่ำเตรียมพร้อมสำหรับการท้าฝ่าช่วงเวลาเคอร์ฟิว เพื่อส่งต่ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ผู้ติดเชื้อที่ต้องการความช่วยเหลือ  

อาสาสมัครเส้นด้ายจดบันทึกและนับสต็อกของที่จะเตรียมไว้ช่วยเหลือผู้คนในวิกฤตโรคระบาด
ไม่ว่าจะเป็นถังออกซิเจนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้าไม่ถึงโรงพยาบาล และอุปกรณ์ต่างๆ
สำหรับป้องกันอาสาสมัคร เช่น หน้ากากอนามัย ชุด PPE และ สเปรย์แอลกอฮอลล์

ผมได้รับข้อมูลว่าเนิร์สซิ่งโฮมทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ คือจุดหมายในการทำงานคืนนี้ ตึกแห่งนั้นเป็นที่พักพิงของผู้ป่วยติดเตียงมากกว่า 10 คน และคนดูแลอีก 2 คน ซึ่งทั้งหมดได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19

ก่อนหน้านั้นสถานที่แห่งนี้มีผู้ป่วยติดเตียงเสียชีวิตแล้ว 2 รายเนื่องจากไม่สามารถหาเตียงในโรงพยาบาลได้ เพราะสถานการณ์ขาดแคลนเตียงสำหรับผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาลทั่วทั้งเขตกรุงเทพฯ ทั้ง 2 รายได้รับการวินิจฉัยว่าเสียชีวิตเนื่องจากไวรัสลงสู่ปอด และพวกเขาไม่สามารถหาเครื่องช่วยหายใจชนิดแรงดันสูง (High-flow oxygen) สำหรับช่วยดันออกซิเจนเข้าสู่ปอดและยื้อชีวิตได้ทัน

ทุกการปฏิบัติงานอาสาสมัครของกลุ่มเส้นด้ายต้องสวมชุดป้องกันที่ครบถ้วน เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่อาจนำไปสู่การแพร่โรคสู่คนรอบตัวต่อไป

เมื่อผมไปถึง มีผู้ป่วยอีกหนึ่งรายอยู่ในสภาวะที่ปอดไม่สามารถทำงานได้ ทำให้เขาต้องสวมใส่เครื่องช่วยหายใจชนิดแรงดันสูง (High-flow Oxygen) ตลอดเวลา หากไม่ได้อุปกรณ์ชิ้นนี้เพื่อช่วยเหลือการทำงานของปอด เขาก็จะเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 3 ทันที

ค่ำคืนนี้เป็นคืนที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด อาสาสมัครของเส้นด้ายส่งถังออกซิเจนขนาดใหญ่สู่เนิร์สซิ่งโฮมเพื่อประคองชีวิตของผู้ติดเชื้อทุกราย ระหว่างนั้นพวกเขาสาละวนโทรศัพท์ติดต่อหาทุกช่องทางที่สามารถส่งต่อคุณตาวัย 91 ปี ที่จำเป็นต้องอาศัยเครื่องช่วยให้ออกซิเจนสู่โรงพยาบาล ก่อนที่เวลาจะหมดลงพร้อมออกซิเจนในถัง

ทุกคนยืนอยู่นอกเนิร์สซิ่งโฮมด้วยความว้าวุ่นใจ ผมตัดสินใจที่จะไม่เข้าไปบันทึกภาพในเนิร์สซิ่งโฮมดังกล่าว เนื่องจากขาดความพร้อมในส่วนของอุปกรณ์ป้องกันจำพวกชุด PPE และไม่มีอะไรสามารถยืนยันได้ว่าผมจะไม่นำเชื้อไวรัสที่แทรกซึมอยู่ทุกพื้นที่ในเนิร์สซิ่งโฮมแห่งนี้กลับไปติดคนในครอบครัว

เมื่อการประสานงานอันวุ่นวายจบลงด้วยเสียงตอบรับจากปลายสายว่าจะช่วยสุดกำลัง ทุกคนจึงตัดสินใจเดินทางกลับ

คืนนั้นผมกลับไปถึงบ้านราว 5 ทุ่ม เสียบเมมโมรี่การ์ด และโอนถ่ายภาพที่บันทึกตลอดทั้งวันลงคอมพิวเตอร์ อาบน้ำ เอนกาย แต่ไม่อาจหลับตาได้ลง เหมือนสัญชาตญาณบางอย่างกระตุ้นเตือนว่ายังไม่ควรหลับใหลสิ้นสติ ผมเลยนอนฟังเพลงอยู่จนถึงราวตี 5

กระทั่งเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น

 อาสาสมัครของทีมเส้นด้ายที่เจอกันในคืนที่ผ่านมาโทรหาผม แจ้งข่าวดีว่าสามารถหาเตียงในโรงพยาบาลให้คุณตาคนดังกล่าวได้แล้ว ผมรีบแต่งตัว คว้ากล้อง และขับรถผ่าความมืดไปยังที่แห่งนั้นทันที

เมื่อไปถึง ผมได้เผชิญกับความอลหม่านที่หน้าเนิร์สซิ่งโฮมแห่งนั้น 

ซึ่งเป็นการช่วงชิงเวลาระหว่างความเป็นและความตาย

เหล่าอาสาสมัครนำร่างของชายชราที่ไร้สติขึ้นสู่รถตู้เพื่อเตรียมการขนส่ง ทว่าเครื่องช่วยหายใจชนิดแรงดันสูง (High-flow Oxygen) ซึ่งเป็นอุปกรณ์แสนสำคัญที่ช่วยสูบฉีดออกซิเจนเข้าสู่ปอดของชายชรากลับเกิดปัญหาบางอย่าง ค่าปอดของเขาลดลงเหลือเพียง 30 ซึ่งเป็นตัวเลขที่อันตรายและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต 

อาสาสมัครในเครือข่ายของเส้นด้าย พยายามช่วยยื้อชีวิตชายชราผู้ซึ่งเป็นผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ป่วยติดเตียง ขณะพยายามนำเขาส่งโรงพยาบาล

อาสาสมัครเส้นด้ายคนหนึ่งวิดีโอคอลพูดคุยปรึกษากับแพทย์ เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับอุปกรณ์หน้างาน ทั้งหมดกินเวลาหลายสิบนาที ก่อนที่ปัญหาจะบรรเทา ในที่สุดประตูรถฉุกเฉินก็ได้ปิดลง พร้อมมุ่งตรงสู่โรงพยาบาลด้วยความรีบเร่ง

หากมันสายเกินไป

ไม่ถึง 10 วินาทีหลังจากนั้น ผมที่ยืนอยู่ที่เดิมได้ยินเสียงโทรศัพท์ของอาสาสมัครที่ยืนถัดออกไป เป็นสายจากอาสาสมัครอีกคนที่ประจำอยู่บนรถที่เพิ่งออกไป

“พี่ ไม่ทันว่ะ” 

ผมได้ยินเสียงอันเศร้าสลด ตามมาด้วยเสียงสะอื้น

ผู้ป่วยวัย 91 ปีที่เพิ่งได้รับโอกาสต่อชีวิตเมื่อครู่ เสียชีวิตแล้ว

รถตู้ฉุกเฉินที่ยังไม่ลับสายตาถอยหลังกลับ ลำเลียงร่างผู้เสียชีวิตกลับสู่เนิร์สซิ่งโฮม รออาสาสมัคร หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาจัดการในส่วนของขั้นตอนการห่อศพต่อ

เครื่องช่วยหายใจชนิดแรงดันสูงถูกถอดออกจากร่างอันไร้วิญญาณ และนำเข้าสู่เนิร์สซิ่งโฮมเพื่อเตรียมเปลี่ยนมือ พร้อมใส่ให้ผู้ป่วยติดเตียงรายอื่นๆ ที่อาการกำลังหนักขึ้น และต้องใช้อุปกรณ์ราคาแพงนั้นพยุงชีพต่อไป

เมื่อถอดชุด PPE ออกหลังความตายของชายชราวัย 91 ปี อาสาสมัครในเครือข่ายของเส้นด้ายนั่งและพิงรถด้วยความอ่อนล้า ร่างกายชุ่มไปด้วยเหงื่อ สายตาเต็มไปด้วยความหดหู่

อาสาสมัครที่เหลือจัดการทำความสะอาดรถด้วยแอลกอฮอล์เข้มข้น พร้อมน้ำตาเปื้อนใบหน้า เหงื่อไหลท่วมไปทั้งร่างเพราะการทำงานในชุด PPE ท่ามกลางอากาศอบอ้าว

มันควรเป็นกลิ่นแฮลกอฮอล์ที่อวลอาย หากผมสัมผัสได้เพียงกลิ่นความหดหู่ห่อล้อมรอบกาย

ไม่มีเวลาให้เสียใจ

ผมไม่ได้ตามติดทีมเส้นด้ายในทุกๆ วัน หากไปทุกครั้งเท่าที่ตารางชีวิตของผมจะเอื้ออำนวย 

ในตอนนั้นทีมเส้นด้ายขยับขยายศูนย์กลางการประสานงานจากบ้านหลังเล็กไปเป็นร้านกาแฟขนาดใหญ่ที่เจ้าของยินดีให้ใช้โดยจ่ายเพียงค่าไฟฟ้า

ผมเดินเข้าไปในร้าน ทักทายชายหนุ่มวัย 20 ต้นๆ คนหนึ่งที่เป็นอาสาสมัครของทีมเส้นด้าย เขายังคงยิ้มแย้มเช่นที่เคยเป็น แต่แววตากลับพยายามซุกซ่อนความเศร้าเอาไว้

เขาเป็นชายหนุ่มที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม เราพูดคุยกันหลายครั้งยามที่พักสูบบุหรี่ ก่อนการพบเจอครั้งนั้นเพียงไม่กี่วัน เพื่อนของผมจากสำนักข่าวต่างประเทศติดตามเขาไปช่วยเหลือผู้ป่วยยามค่ำคืน 

หากภารกิจครั้งนั้นจบลงด้วยความสูญเสียขณะที่ชายหนุ่มผู้นี้กำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือ

ผู้ป่วยรายนั้นเสียชีวิตคามือเขา

“มันไม่มีเวลาให้เสียใจพี่ เหวอไปเลยเหมือนกัน” 

อาสาสมัครเส้นด้ายขับรถตรงไปยังพื้นที่ทำงานของพวกเขาในขณะที่โทรศัพท์มือถือเป็นทั้งอุปกรณ์สื่อสาร สำหรับประสานงาน และเครื่องนำทางชิ้นสำคัญ
พวกเขายังต้องทำงานต่อ แม้ชายหนุ่มหลังพวงมาลัยจะเพิ่งผ่านการตายจากของผู้ป่วยตรงหน้าเมื่อไม่กี่วันที่ผ่า

ผมยังคงวนเวียนอยู่กับภารกิจของทีมเส้นด้ายอีกหลายวัน เจอเคสเบาเคสหนักสลับกันไป บ้างเป็นการตรวจอาการของคนไร้บ้านยามค่ำคืน บ้างเป็นผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ บ้างเป็นผู้ป่วยที่อาการป่วยไม่หนัก แต่ไม่สามารถเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่คอยแนะนำการกักตัวอยู่ในบ้านได้ ทำให้อาการทรุดลงในท้ายที่สุด

อาสาสมัครของเส้นด้ายพุ่งตรงไปหาพวกเขาเหล่านั้น พูดคุยถามไถ่อาการจากทางโทรศัพท์ ตรวจสุขภาพหน้างาน ให้คำแนะนำการใช้อุปกรณ์จำพวกถังออกซิเจน ดูแลทุกอย่างเท่าที่แรงของเขาจะทำได้

อาสาสมัครเส้นด้ายขณะเข้าประเมินอาการหญิงไร้บ้านบริเวณถนนอัษฎางค์ หลังมีผู้แจ้งว่ามีอาการอ่อนแรงและอาจมีไวรัสโควิด-19
เคราะห์ดีที่ผลตรวจของหญิงไร้บ้านคนดังกล่าวไม่ปรากฎเชื้อโควิด-19

ผมพูดคุยกับอาสาสมัครหลายต่อหลายคน ทั้งระหว่างการเตรียมพร้อมสำหรับออกให้ความช่วยเหลือ บนรถที่เดินทางสู่การช่วยเหลือ วงสนทนาหลังภารกิจในแต่ละค่ำคืน ความอ่อนล้าปรากฎในดวงตา หากเพียงในสถานการณ์ที่เดิมพันด้วยความตายนี้ไม่มีช่วงพักเบรกสำหรับความโศกเศร้าหรือเมื่อยล้า ทุกคนจำเป็นต้องเดินหน้าช่วยเหลือผู้ติดเชื้อที่ยังรอคอยความหวังต่อไป

ผมเปรยถามอาสาหนุ่มคนหนึ่งว่าเขาคิดว่างานของเขาจะจบลงเมื่อไร ท่ามกลางฝนที่โหมกระหน่ำจนภาพนอกหน้าต่างรถเป็นภาพเบลอ

เขาขับรถไปด้วย สายตายังมองไปยังถนนอันว่างเปล่าที่เปียกโชก

“จนกว่าจะไม่เหลือลมหายใจให้ทำต่อพี่”

กลางดึกสงัด อาสาสมัครเส้นด้ายงีบหลับบนโซฟาในสำนักงานขนาดเล็กที่ถูกใช้เป็นศูนย์ประสานงานของกลุ่มเส้นด้าย

ความตายตามติด

ในช่วงหลายเดือนที่หนักหน่วง ไม่ใช่เพียงทีมเส้นด้ายที่ผมติดตาม ในบางวัน และบางช่วงตอน ผมติดตามทีมงานของมูลนิธิสยามนนทบุรี ทีมกู้ภัยขนาดใหญ่ในนนทบุรีออกปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน

ทีมนี้แตกต่างจากอาสาเส้นด้ายอย่างเห็นได้ชัดในแง่ภารกิจ เพราะความเกี่ยวโยงกับวัดในเขตบางใหญ่จำนวนมาก ทำให้ภารกิจเน้นหนักที่การรับจัดงานฌาปนกิจผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 แม้ในบางวันจะมีการช่วยเหลือผู้ป่วย แต่ภารกิจหลักคือการจัดการศพผู้เสียชีวิตแบบไม่มีค่าใช้จ่าย 

เป็นการให้เกียรติผู้เสียชีวิตด้วยการจัดเตรียมพิธีกรรมสุดท้ายตามความเชื่อของชาวพุทธอย่างถูกต้องและเหมาะสม

การอำนวยความสะดวกในช่วงปลายสายเส้นด้ายชีวิตนำผมไปสู่ภารกิจอีกรูปแบบ

เจ้าหน้าที่มูลนิธิกู้ภัยสยามนนทบุรีทำความเคารพร่างผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ก่อนเคลื่อนย้ายร่างไปฌาปนกิจที่วัด
การทำความเคารพนี้เป็นดุจพิธีกรรมสุดท้ายขนาดย่อม เมื่องานศพตามประเพณีกลายเป็นเรื่องต้องห้าม เพราะต้องฌาปนกิจร่างของผู้มีเชื้อโควิด-19ให้รวดเร็วที่สุด

เพราะการจัดการศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มีขั้นตอนที่มากกว่าศพทั่วไป เนื่องจากต้องห่อคลุมด้วยถุงศพหรือถุงพลาสติกหลายชั้น ซีลศพอย่างแน่นหนา ทำให้ประสิทธิภาพของเตาเผาในวัดแต่ละแห่งมีผลต่อการฌาปนกิจ 

เพราะวิธีการห่อคลุมมากชั้นทำให้อุณหภูมิที่ใช้ในการเผาต้องสูงขึ้น ใช้น้ำมันมากขึ้น และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

หากเตาเผาแรง ใหม่ เทคโนโลยีสูง ช่วงเวลาที่ใช้ในการฌาปนกิจก็น้อยลง

ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จำนวนมากมาจากพื้นเพครอบครัวที่มีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข ที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถได้รับการรักษาที่รวดเร็วและเหมาะสม อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นช่วงเวลาหลังความตายรายจ่ายก็ไม่จบลง

วัดในอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี จำนวนมากจึงตกลงช่วยเหลือจัดการศพให้ผู้เสียชีวิตเหล่านี้ ทั้งเพื่อคนตาย และเพื่อคนที่ยังอยู่ ผ่านโครงข่ายของมูลนิธิสยามนนทบุรี ที่มีศูนย์ประสานงานอยู่หลังเมรุวัดราษฎร์ประคองธรรม

เจ้าหน้าที่มูลนิธิสยามนนทบุรีนั่งพักหน้าเมรุ วัดราษฎร์ประคองธรรม ก่อนการขนย้ายร่างผู้เสียชีวิตขึ้นสู่เมรุจะเริ่มขึ้น

ผมติดตามเหล่าเจ้าหน้าที่มูลนิธิสยามนนทบุรีปฏิบัติภารกิจหลายต่อหลายครั้ง บันทึกภาพร่างไร้วิญญาณในถุงศพของผู้เสียชีวิตจากห้องดับจิตสู่เมรุเผา บางศพมีข้อมูลติดระบุชัดเจนว่าเป็นผู้ต้องขัง 

ผมฉุกถึงบรรยากาศการแพร่ระบาดในเรือนจำที่เราไม่อาจทราบสถานการณ์ที่แท้จริงข้างหลังกรงขัง

ผมยังคงกดชัตเตอร์ระหว่างสังเกตเหล่าเจ้าหน้าที่ที่ต้องระดมพลในการขนย้ายร่างผู้เสียชีวิตในแต่ละครั้ง ที่จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่หลายชีวิตก็เพราะว่าเพียงแค่น้ำหนักของโลงที่ใช้ก็ปาไป 30 กิโลกรัม ซึ่งย่อมมากขึ้นไปอีกหลายเท่าเมื่อรวมเข้ากับน้ำหนักของร่างไร้วิญญาณ ในบางครั้ง เมื่อร่างในโลงนั้นมีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม โลงดังกล่าวต้องใช้เจ้าหน้าที่มากกว่า 6 ชีวิตในการลำเลียงขึ้นสู่เมรุ

สำหรับขั้นตอนเรียบง่ายในภารกิจของทีมสยามนนทบุรีคือ เมื่อถึงห้องเก็บศพ หรือห้องดับจิตตามโรงพยาบาล พวกเขาจะแต่งตัวด้วยชุด PPE เต็มยศปกปิดมิดชิดทุกส่วนของร่างกาย ไม่เว้นแม้แต่ตัวผมเอง เพราะการป้องกันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด 

บางครั้งพวกเขาก็ต้องถือถุงห่อศพไปห่อในห้องดับจิต บางครั้งโรงพยาบาลก็เตรียมไว้ให้ เมื่อร่างที่ถูกห่อด้วยถุงศพราว 2-3 ชั้น มาถึงรถพวกเขาจะลำเลียงใส่โลงและปิดทุกช่องว่างด้วยเทปกาวอีกครั้ง

เจ้าหน้าที่มูลนิธิสยามนนทบุรีทำความสะอาดตู้แช่และพื้นที่โดยรอบห้องดับจิตด้วยแอลกอฮอล์ เพราะแม้ร่างผู้เสียชีวิตจากโควิดจะถูกห่ออย่างแน่นหนา
แต่การทำความสะอาดทุกพื้นที่ ที่ร่างเหล่านั้นเคลื่อนผ่านเป็นเรื่องจำเป็นของผู้ปฏิบัติงาน

เป็นอันจบการลำเลียงระลอกแรกด้วยการถอดชุด PPE ทำความสะอาดร่างกายด้วยแอลกอฮอล์ ก่อนขับรถตรงสู่วัดเพื่อส่งร่างผู้เสียชีวิตเข้าสู่พื้นที่หลับใหลนิรันดร์

เช่นเดียวกับกรณีที่เสียชีวิตที่บ้าน เมื่อพวกเขาจัดการห่อร่างผู้เสียชีวิตด้วยถุงพลาสติกและนำร่างใส่โลงเรียบร้อยแล้วพวกเขาก็จะถอดชุด PPE ออก ตามด้วยการพ่นแอลกอฮอล์ทั่วร่างกายก่อนเคลื่อนรถเช่นกัน

 หนึ่งในข้อปฏิบัติงานที่มีความเคร่งครัดสูงสุดคือเรื่องของการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ พวกเขาระแวดระวังใส่ชุดป้องกันและทำความสะอาดร่างกายเสมอ เพราะงานของพวกเขาอยู่บนความเสี่ยง พวกเขาล้วนใช้ชีวิตอยู่กับความตาย… ความตายที่ไม่รู้จะมาถึงตนเมื่อไร

เจ้าหน้าที่มูลนิธิสยามนนทบุรีเตรียมการถอดชุด PPE หลังจากการบรรจุร่างผู้เสียชีวิตลงสู่โลงศพเสร็จสิ้น
เบื้องหน้าของเขาคือโลงศพ 2 ใบจาก 2 โรงพยาบาล ที่จะถูกนำไปฌาปนกิจพร้อมกันในการเดินทางเที่ยวเดียว

เมื่อร่างไร้วิญญาณในโลงถึงวัดที่หมาย พวกเขาจะใส่สวม PPE ชุดใหม่ ก่อนลำเลียงโลงศพสู่เมรุ ทุกขั้นตอนการขนย้ายถูกคั่นด้วยพิธีกรรมเล็กๆ อย่างการไหว้ทำความเคารพผู้เสียชีวิต เป็นดังพิธีกรรมส่งวิญญาณเท่าที่จะทำได้ เพราะการเปิดหีบห่อทั้งหมดเป็นความเสี่ยงร้ายแรง ร่างเหล่านี้ล้วนโดดเดี่ยว ไม่สามารถเปิดโลงให้ญาติมิตรดูหน้าครั้งสุดท้ายหรืออำลา 

“ผมเผามาเกือบร้อยแล้วพี่ บางทีอีกหน่อยพี่กลับมาร่างที่ถูกเผาอยู่อาจเป็นผมก็ได้”

หนึ่งในเจ้าหน้าที่มูลนิธิสยามนนทบุรีกล่าวกลับผมขณะที่เขากำลังมองเข้าไปในเตาเผาที่กำลังลุกไหม้ ร่างของผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 กำลังมอดไหม้เป็นเถ้าถ่าน

หลายเดือนต่อมาผมกลับไปอีกครั้งชายคนนี้ก็ยังคงทำหน้าที่ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มทีเล่นทีจริง เพื่อผ่อนคลายบรรยากาศของทีมงานผู้ดำรงอยู่กับร่างไร้วิญญาณ

บางครั้งเมื่อผู้เสียชีวิตมีน้ำหนักตัวที่มากเกินกว่า 100 กิโลกรัม มูลนิธิสยามนนทบุรีจำเป็นต้องระดมเจ้าหน้าที่มากขึ้นเพื่อการขนย้าย

“ความหดหู่ที่สุดของผมคือมีวันหนึ่งเราเผาร่างหนึ่ง วันถัดมา เป็นร่างคนในครอบครัวเขาอีก 2 คน สรุปว่าทั้งครอบครัวเสียชีวิตหมด” 

พี่แป๊ะหนึ่งในผู้อาวุโสของทีมสยามนนทบุรีกล่าว

ความตายเป็นเรื่องยากจะก้าวผ่าน แต่เมื่อยมทูตที่ชื่อว่าโควิด-19 ยังคงปฏิบัติงานต่อเนื่องจนทำให้ความสูญเสียกลายเป็นเรื่องคุ้นชิน การลืมและก้าวต่อไปก็เป็นเรื่องจำเป็น

เตาเผาปกติจะใช้เวลาในการฌาปนกิจร่างผู้เสียชีวิตจากโควิดอย่างน้อย 3-4 ชม. และต้องใช้อุณหภูมิสูงถึง 1,000 องศา
โดยเจ้าหน้าที่มูลนิธิสยามนนทบุรี จำเป็นต้องเปิดเมรุดูและคอยควบคุมการฌาปนกิจเป็นระยะ

“จบงานก็กินเบียร์พี่ เมา หลับไป พรุ่งนี้ทำใหม่ เก็บใหม่ เผาใหม่” 

หนึ่งในเจ้าหน้าที่มูลนิธิบอกกับผมเมื่องานในวันนั้นจบลง

มูลนิธิสยามนนทบุรีดำเนินการจัดการศพผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 มากถึงวันละ 5-10 ศพในช่วงเวลาอันหนักหน่วง ในช่วงเดือนกรกฎาคมพวกเขามียอดรวมการจัดการศพมากถึง 200 ศพ

ห้องเก็บศพที่ล้นเกิน

ท่ามกลางตัวเลขการรายงานยอดผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตที่สะสมเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ วัน เดือนสิงหาคมนับเป็นช่วงเดือนที่ยอดผู้เสียชีวิตในแต่ละวันพุ่งทะยานขึ้นสูงที่สุดในรอบหลายเดือนของการแพร่ระบาด ซึ่งเนื่องมาจากยอดผู้ป่วยหนักที่มากเกินกว่าที่ความสามารถของโรงพยาบาลจะรับไหว

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ นับเป็นโรงพยาบาลหนึ่งที่ประสบปัญหาล้นเกิน ของสถานที่เก็บร่างผู้เสียชีวิตก่อนเข้าสู่กระบวนการฌาปนกิจ เมื่อแผนกนิติเวชประสบปัญหา “ศพล้น” จนต้องมีการปรับวิธีการโดยต้องใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนสินค้าติดเครื่องปรับอากาศทำความเย็น เพื่อใช้เก็บร่างที่ล้นเกินจากตู้แช่เย็นในห้องดับจิต

ร่างผู้ต้องสงสัยว่ามีเชื้อโควิด-19 ถูกห่อและเตรียมบนเตียงเข็นเหล็ก ในห้องดับจิต โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
เพื่อเตรียมขนย้ายไปพักยังตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกดัดแปลงเป็นห้องเก็บศพขนาดย่อม เนื่องด้วยปริมาณที่เกินความจุของตู้เก็บปกติ

เนื่องจากการสะสมของปริมาณผู้เสียชีวิตจำนวนมากในแต่ละวัน ร่างของผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อยต้องอยู่ห้องดับจิตหลายวันเพื่อรอผลการตรวจสารคัดหลั่งในศพว่าเป็นผู้มีไวรัสโควิด-19 หรือไม่ ทำให้ตู้จัดเก็บไม่เพียงพอ ร่างไร้วิญญาณหลายร่างถูกตั้งอยู่บนเตียงเหล็กเพื่อ ‘เข้าคิว’ รอบรรจุในตู้ทันทีที่ร่างอื่นๆ ถูกขนย้ายออก

ผมเดินเข้าไปในห้องดับจิต ร่างผู้เสียชีวิตที่ห่อด้วยถุงพลาสติกหลายชั้นวางเรียงรายทั้งซ้ายขวา กลิ่นบางอย่างแตะจมูกเพราะช่วงเวลาการพักรอผลของศพแต่ละร่างค่อนข้างนาน จนทำให้สารฟอร์มาลีนเริ่มไม่สามารถจัดการได้ 

เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเดินผ่านร่างไร้วิญญาณในห้องด้านในสุดของแผนกนิติเวช
ซึ่งถูกใช้เป็นที่ชันสูตร และตรวจสอบการมีอยู่ของเชื้อโควิด-19

และแม้หลายร่างจะถูกตรวจสอบสารคัดหลั่งแล้ว แต่การรอคอยผลก็ยังมีห้วงเวลาอีกระยะหนึ่ง ทำให้การผลัดเปลี่ยนร่างจากห้องดับจิตสู่ตู้คอนเทนเนอร์เพื่อเคลียร์พื้นที่ให้กับร่างผู้เสียชีวิตรายถัดไป เป็นเรื่องที่พบเห็นได้เกือบจะทั่วไปหลังการตรวจสารคัดหลั่งในแต่ละวัน

“กลิ่นของความตายเต็มไปหมด”

เพื่อนช่างภาพข่าวชาวต่างชาติที่ไปด้วยกันเอ่ยกับผม

ตู้คอนเทนเนอร์นอกอาคารเปิดออก เพื่อทำการย้ายร่างที่ผ่านการตรวจเชื้อโควิด-19 แต่ยังต้องรอผลตรวจ เข้าไปเพิ่ม หลังมีร่างบางส่วนถูกขนย้ายออก ภายในสามารถอัดร่างไร้วิญญาณได้มากกว่า 10 ร่าง ถุงห่อศพบางถุงเริ่มมีคราบเลือดและหนองไหลซึมออกมา บ่งบอกถึงระยะเวลายาวนานที่สารเคมีใกล้หมดประสิทธิภาพในการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพของร่างผู้เสียชีวิต

ตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกดัดแปลงเป็นห้องเย็นสำหรับเก็บศพที่ล้นเกินจากความจุในห้องดับจิตโรงพยาบาลธรรมศาสตร์

หลังจบวันนั้น ผมและเพื่อนพูดคุยถึงเรื่องราวหลายอย่าง ขณะที่เราขับรถจากปทุมธานีกลับเข้าสู่ที่พักในกรุงเทพฯ

ผมเสร็จภารกิจในการบันทึกภาพในวันนี้ เช่นเดียวกับวันก่อนๆ 

และผมจะไม่ลืม…ว่ามีชีวิตจำนวนมากปวดร้าว สิ้นหวัง และสูญเสียผ่านเลนส์กล้องที่ผมใช้บันทึกภาพ

และเพื่อให้ความทรงจำนั้นถูกส่งต่อ ผมจึงเริ่มเขียนสิ่งที่คุณกำลังอ่านอยู่

เพื่อย้ำเตือน… ว่าภายใต้การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบปีพ.ศ. 2564 แม้เราจะเป็นผู้อยู่รอดจากเหตุการณ์เหล่านั้น แต่ผู้คนมากมาย ไม่อาจมีชีวิตอยู่อยู่จนถึงวันที่ประเทศจะเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เพื่อหวังการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ให้ชีวิตที่ยังอยู่ได้เลี้ยงปากท้อง

จนถึงวันนี้ เรายังไม่เคยเห็นน้ำตาและคำขอโทษอย่างจริงใจ จากฝ่ายบริหารและฝ่ายนโยบายในประเทศไทยจากการบริหารงานที่ผิดพลาด

ไม่เคยเห็นความพยายามในการซ่อมรอยรั่วต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ในระบบราชการแสนล่าช้าท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด 

มีเพียงน้ำตาและหยาดเหงื่อของประชาชนและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานจำนวนหนึ่งที่หยดรินให้กับทุกความสูญเสีย

—————————-

เรื่องและภาพ: วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์
บรรณาธิการ: จามาศ โฆษิตวิชญ, ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์

About the author

Varuth Pongsapipatt
Photo Editor/ Content Editor

Varuth Pongsapipatt

Photo Editor/ Content Editor