ผู้ชายขายบริการ
เดือนมิถุนายนถือเป็น Pride Month หรือเดือนแห่งการเฉลิมฉลองขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) เนื่องในโอกาสนี้ Plus Seven ขอนำเสนอ Photo Essay บอกเล่าเรื่องราวของผู้ชายขายบริการในประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่คาบเกี่ยวกับความหลากหลาย เสรีภาพ และความปลอดภัยทางเพศ หากแต่ถูกพูดถึงน้อยกว่ากลุ่มอื่น จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘ชายขอบของชายขอบ’
ต้นฉบับเรื่องและภาพโดยวรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ บรรณาธิการภาพ
ฉบับภาษาไทยเผยแพร่ครั้งแรกที่ the101.world
ฉบับภาษาอังกฤษเผยแพร่ครั้งแรกที่ Prachatai English
ผู้ชายขายตัว เป็นกลุ่มอาชีพที่เผชิญกับปัญหา ความเสี่ยง การคุกคาม ไม่ต่างจากผู้ให้บริการทางเพศที่เป็นผู้หญิงหรือคนข้ามเพศ (transgender) หากแต่ด้วยเพศสภาวะที่เป็นชายทำให้เจ้าหน้าที่รัฐกล้ากระทำความรุนแรงทางร่างกายและใช้วาจาคุกคามเหยียดหยาม ยิ่งไปกว่านั้น ทัศนคติที่คนไทยมีต่อเพศสภาพและผู้ทำงานด้านนี้ ยังทำให้พวกเขาไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวความรุนแรงที่ประสบพบเจอ และทำให้พวกเขาได้รับความช่วยเหลือต่างๆ น้อยกว่าพนักงานบริการที่เป็นหญิง
แม้ธุรกิจบริการทางเพศในประเทศไทยจะเป็นที่รู้จักไปทั่ว แต่สถานะของสายอาชีพนี้ก็ยังคงผิดกฎหมาย นั่นหมายความว่าเหล่าพนักงานบริการชายต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะถูกลูกค้ากระทำความรุนแรง แต่กลับไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐได้ มีเหตุการณ์ตัวอย่างที่พนักงานบริการชายเข้าแจ้งความเรื่องถูกลูกค้าทำร้ายร่างกาย แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่บีบบังคับให้ยอมรับสารภาพว่าค้าประเวณี เพื่อเอาผิดและปรับแทน
พนักงานบริการชาย เป็นกลุ่มที่มีความลื่นไหลทางเพศวิถี แม้ว่าลูกค้าของพวกเขาส่วนใหญ่จะเป็นชาย แต่ไม่ใช่ว่าพนักงานทั้งหมดจะมีรสนิยมทางเพศแบบชายรักชาย พนักงานบริการชายมีทั้งที่เป็นเกย์ และเป็นผู้รักเพศตรงข้าม บางคนมีภรรยาและลูกแล้ว แต่เลือกเข้าสู่อาชีพนี้ด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ
จากการพูดคุยกับมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ Service Worker In Groups (SWING) และพนักงานบริการชายหลายคน พวกเขาล้วนแต่เลือกอาชีพนี้เพราะมีค่าตอบแทนสูง อีกทั้งยังไม่จำกัดวุฒิการศึกษา ขอเพียงมีความมั่นใจในรูปร่างหน้าตาและความสามารถในการบริการให้ลูกค้าพึงพอใจ พนักงานหลายคนมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมไม่สูง อาชีพนี้เป็นหนทางให้พวกเขาสามารถหาเงินได้รวดเร็วกว่าอาชีพอื่นๆ เพื่อช่วยปลดเปลื้องภาระหนี้สินของตนเองและครอบครัว
ช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 สถานบันเทิงต่างๆ ต้องปิดตัวลง นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเข้ามาในประเทศไทยได้ ทำให้เหล่าพนักงานบริการขาดรายได้มาจุนเจือปากท้อง นอกจากนี้ ความที่พวกเขาเป็นแรงงานรับจ้างนอกระบบในธุรกิจที่ยังไม่ถูกกฎหมาย ทำให้พวกเขาไม่อาจเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐ มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ต้องเข้ามามีบทบาทอย่างหนักในการช่วยเหลือและเยียวยาพนักงานบริการ ผ่านการทำอาหารแจก และเปิดกองทุน ‘กองทุนเพื่อพนักงานบริการ โควิด-19’ สำหรับการจัดการเรื่องอาหาร และความช่วยเหลืออื่นๆ ให้พวกเขาผ่านพ้นแต่ละวันไปได้
ช่วยเหลือต่อลมหายใจให้พวกเขาและเธอได้ที่
ชื่อบัญชี มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ
เลขที่บัญชี 031-025695-3 โทร. 0 2632 9502