Articles

ภารกิจของคนรุ่นเก่า คือทำความเข้าใจคนรุ่นใหม่ : อาจินต์ ทองอยู่คง

ผนงรจตกม” “ชั่ย” “ละแมะ” และอีกหลายคำแปลกประหลาดจากโลกอินเทอร์เน็ตปรากฎบนป้ายหรือแผ่นกระดาษระหว่างชุมนุมทางการเมืองภายในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมไปถึงการชู 3 นิ้วที่กลายเป็นสัญลักษณ์หลักของการชุมนุมตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา 

แม้การชุมนุมเกิดขึ้นด้วยกลุ่มและวัยที่หลากหลาย ทั้งนักศึกษา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง แรงงาน และรวมถึงกลุ่มเสื้อแดงเก่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเคลื่อนไหวระลอกปี 2563 มีคนรุ่นใหม่ในช่วงอายุ 25 ลงมาเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อน สิ่งที่บ่งชี้ได้ชัดคือการสื่อสาร การรวมตัว การคิดแฮชแท็กที่เชื่อมโยงกับเอกลักษณ์ที่บ่งชี้จุดประสงค์ของการชุมนุม ไปจนถึงชุดภาษาที่ใช้ในการชุมนุม ล้วนมีความเกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมในโลกอินเทอร์เน็ตอย่างเห็นได้ชัด

อาจินต์ ทองอยู่คง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายความน่าสนใจและนิยามของการใช้ชุดคำแปลกประหลาด แฮชแท็ก อักษรย่อ รวมถึงสัญลักษณ์จากโลกอินเทอร์เน็ตว่า “มีม”

อาจินต์ ทองอยู่คง
อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“มีม” คือการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม หรือ สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม (Cultural Code) การนิยามความหมายดังกล่าวเริ่มจากไอเดียของนักชีววิทยาชื่อ Richard Dawkins เกี่ยวกับการดัดแปลงและกลายพันธุ์ของไวรัส เช่นเดียวกับวัฒนธรรม ที่เมื่อแพร่กระจายเข้าไปในต่างพื้นที่และมีความเข้าใจร่วมชุดใหม่ วัฒนธรรมนั้นจึงเกิดการผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องจนปรับแปลงเป็นเอกลักษณ์ชุดใหม่ขึ้น

อาจินต์ อธิบายเพิ่มว่าไอเดียหลักของ มีม คือการสร้างสัญลักษณ์แบบหนึ่งแบบใดแบบขึ้นภายหลังจากการตกผลึกเป็นความคิดรวบยอด ผ่านสี่องค์ประกอบได้แก่ 

1. เป็นการสร้างชุดสัญญะทางวัฒนธรรม โดยรวบยอดความคิดภายใต้หนึ่งสัญญะนั้น ผู้รับสารสามารถเข้าใจได้ด้วยตนเองว่าถ้าเห็นสัญญะนี้จะนึกถึงสิ่งใด 

2.แฝงความตลกขบขัน การสื่อสารมักทำได้ง่ายขึ้นเมื่อมีส่วนประกอบเป็นความขำขัน เช่น หากวิจารณ์รัฐบาลด้วยมุกตลก หรือใส่มีมเพิ่มความตลก ผู้ส่งสารก็รู้สึกสบายใจในการพูดมากขึ้น รวมถึงไม่กังวลที่จะสื่อสารกับคนอื่นๆ 

3.สามารถซ่อนหรือหลบบทสนทนาที่ ‘คุยยาก’ โดยไม่ต้องเอ่ยถึงตรง ๆ โดยจะใช้การคุยผ่านหลายนัยทดแทน ทำให้คนที่เข้าใจรหัสทางวัฒนธรรมนี้ว่ากำลังเอ่ยถึงเรื่องใด เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงทั้งทางกฎหมาย ทางวัฒนธรรม และทางสังคม 

4. ผลิตซ้ำได้ง่าย เช่น การนำรูปมีมต้นฉบับมาใส่ข้อความใหม่ลงไป เป็นต้น

“อย่างคำว่า ชั่ย ชั่ย ชั่ย เนี่ย คือ พูดขึ้นมาเนี่ยคุณก็เข้าใจ คุณเก็ทว่าพอใครพูดอะไรออกมาแล้วเราตอบกลับไปว่า ชั่ย มันไม่ได้หมายถึงใช่หรือว่าไม่ใช่ มันไม่ใช่ yes หรือ no นะแต่มันหมายถึงได้ทั้งคู่ ไม่ว่าฝ่ายนั้นจะพูดอะไรมาเนี่ยการตอบว่าชั่ยเนี่ยแปลว่าเราอยู่ใน position แบบนี้ แต่คนฟังก็ไม่มีปัญหาอะไรคนเก็ตก็เก็ตโอเคเข้าใจคุณพวกเดียวกัน”

อาจินต์กล่าวต่อว่า มีมในช่วงแรกมีการรับรู้และเข้าใจในลักษณะของกราฟิกมีม หรือมีมประเภทรูป เช่น มีมรูป Success kid (เด็กผู้ชายที่กำลังกำมือด้วยสีหน้ามุ่งมั่น) ที่เป็นแพร่พลายไปทั่วโลก เป็นต้น โดยเสน่ห์ของมีมคือเมื่อมีคนเข้าใจนัยของมีมดังกล่าวแล้ว เพียงใส่ข้อความที่ตรงกับบริบทลงไปในภาพ ก็สามารถใช้มีมนั้นแทนการเล่าเรื่องดังกล่าวได้

ตัวอย่าง มีมรูป Success kid จากเว็บไซต์ 9gag.com
ทวิตเตอร์แหล่งรวมพล

“สำหรับมูฟเม้นของการต่อต้านในรัฐบาลในช่วงนี้ โดยเฉพาะที่มาจาก วัยรุ่น ผมคิดว่ามันไม่ใช่แค่กราฟิกมีม แต่เป็นอีกยุคหนึ่งคือ เป็นข้อความ เป็นสัญลักษณ์ เป็นการดึงป๊อปคัลเจอร์ต่างๆ มาใช้ ไอเดียเรื่องมีมจริงๆ ก็ครอบคลุมเรื่องพวกนี้ มันคือรหัสทางวัฒนธรรมชุดหนึ่ง เป็น Cultural Code ที่คนเข้าใจเหมือนกัน ใช้ออกมาเพื่อสื่อความหมาย มันขยับออกมาจากการเป็นรูปกราฟิก แต่เป็นชุดคำ” 

เมื่อการสื่อสารบนอินเทอร์เน็ตใช้การเขียนเป็นหลัก ลักษณะเด่นและข้อจำกัดในแต่ละแพลตฟอร์มจึงส่งผลต่อการสื่อสาร โดยเฉพาะทวิตเตอร์ที่จำกัดการสื่อสารให้อยู่ในข้อความสั้นๆ เพียง 280 ตัวอักษรต่อหนึ่งทวีต จึงทำให้การแสดงออกทางการเมืองของวัยรุ่นปัจจุบัน ผ่านพื้นที่หลักอย่างทวิตเตอร์ให้ความสำคัญกับการใช้ภาษา การเลือกคำและแฮชแท็คที่จับใจ ซึ่งกลายเป็นวิธีสำคัญในการเคลื่อนไหว และเผยแพร่ไอเดียทางการเมืองของแต่ละคน และนำเสนอจุดยืนทางการเมืองของตัวเองได้ง่ายยิ่งขึ้น

วัฒนธรรมที่แตกกระจาย

แม้มีม หรือ รหัสทางวัฒนธรรมเหล่านี้สามารถเข้าใจผ่านแนวคิดที่ซ่อนเอาไว้ของแต่ละรหัสทางวัฒนธรรมที่ถูกหยิบยกมาใช้ 

อาจินต์ยังพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในการเสพสื่อของ “วัยรุ่น” เต็มไปด้วยความหลากหลาย

เนื่องจากในปัจจุบันสภาวะวัฒนธรรมที่แตกกระจาย (Fragmented of culture) ได้กร่อนความเป็นสื่อกระแสหลักมากขึ้น กลุ่มสื่อที่มีความหลากหลายทั้งด้านเนื้อหาและช่องทางส่งผลต่อพฤติพรรมการบริโภค ในด้านความบันเทิงที่มีทั้ง Netflix หรือ YouTube ซึ่งผู้ให้บริการเหล่านี้ไม่จำกัดช่วงเวลาในการเข้าใช้งานเหมือนละครโทรทัศน์ ที่จะบีบให้ดูตามช่วงเวลา ทำให้ผู้ชมมีอิสระให้การจัดการเวลาในอีกรูปแบบ จะดูสิ่งไหนเมื่อไรก็ได้ ไม่ได้จำกัดคนให้อยู่ในเวลาและสื่อแบบเดียวกันอีกต่อไป

เสื้อยืดมีม “พรี่คาซึยะ” ที่ถูกดัดแปลงถ้อยคำของนักศึกษาในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่แมสมากในแง่ป็อปคัลเจอร์ที่ชนชั้นกลางเสพ คือ กปปส. ที่เกิดขึ้นไปแล้ว คือช่วงนั้นคุณจะเห็นว่ามีการโปรโมทฐานเซเลปที่เป็นศิลปิน ดารา มาเคลื่อนไหวทางการเมือง มีการเคลื่อนไหวทางศิลปะ มีกิจกรรมอาร์ตเลน ถนนผลิตงานศิลปะ ในปัจจุบันเหมือนกันไหม มันไม่เหมือน มันอาจจะเป็นป็อปคัลเจอร์ แต่มีความนิช มันสะท้อนผ่านการบริโภคสื่อร่วมสมัยของคนยุคนี้ ที่ต่างจากยุคก่อนแต่พอยุคนี้การบริโภคสิ่งต่างๆ มันนิชมากขึ้น มันแทบจะไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเมนสตรีมอีกแล้ว”

ต้องทำความเข้าใจ หากไม่อยากเป็น “คนรุ่นเก่า”

ไม่เพียงแต่มุมมองการเมืองเท่านั้นที่ผู้ใหญ่ต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่วัยรุ่นกำลังสื่อสาร อาจินต์มองว่าความยากของการเคลื่อนไหวเหล่านี้คือความเฉพาะทางของเนื้อหา  (exclusive)

“คุณจะเข้าใจไอเดียนี้ได้ คุณต้องมีความเข้าใจทางวัฒนธรรมก่อน ดังนั้นใครจะเก็ทบ้าง? ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน มันไม่ได้เหมือนการเคลื่อนไหวทางการเมืองยุคก่อนที่มีขบวนการใหญ่ ๆ แบบเดิม ที่พยายามดึงคนเข้ามาให้มากที่สุด ประเด็นเรียกร้องจึงเป็นกว้างๆ รวมๆ สัญญะกว้างๆ รวมๆ ใส่เสื้อแดงมา ใส่เสื้อเหลืองมา ห้อยนกหวีดมา แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือมันเกิดประเด็นที่หลากหลาย มันอาจเป็นกลุ่มเดียวกันได้ในหลายกลุ่ม คือพอมัน Exclusive มันก็กระจายไปในหลายกลุ่ม ก็เกิดหลายประเด็นหลายทอปปิก แต่ทางก็ยังมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน ”

ถ้าเช่นนั้น ผู้ใหญ่จะทำความเข้าใจชุดภาษาเหล่านี้ของวัยรุ่นได้อย่างไร? 

อาจินต์อธิบายว่าวัยรุ่นในยุคปัจจุบันเติบโตมากับวัฒนธรรมอินเตอร์เน็ต โตมากับการที่อยากรู้เรื่องอะไรก็สามารถหาความรู้ได้ด้วยตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์

“เท่าที่ผมพอจะรู้จักวัยรุ่นอยู่บ้าง ไอเดียคือเขาอยากจะบอก คุณไม่ต้องเข้าใจก็ได้ เราอยากจะชูป้าย เขาอาจจะไม่ได้แคร์ก็ได้ว่าคุณต้องเข้าใจก็ได้ ซึ่งเขาไม่ได้ไม่แคร์เลย 100% แต่คุณอยากเข้าใจคุณก็ต้องศึกษาเอง มันกลับเป็นภารกิจของคนรุ่นเก่ามากกว่า คุณอยากจะเข้าใจเขาไหมล่ะ ถ้าอยากจะเข้าใจเขาก็ต้องไปศึกษานะ เขาไม่มาแคร์คุณหรอกว่าเขาเป็นใครรหัสของเขาคืออะไร ทุกสิ่งที่เขาพูดมันรออยู่ในโลกออนไลน์คุณไปหาเอาเองสิ”

พลังในการดันเพดาน

เนื่องจากรหัสทางวัฒนธรรมที่ถูกใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นซ่อนความกำกวมเอาไว้ ทำให้อาจินต์มองว่าความสนุกคือการดันเพดานในการพูดถึงประเด็นต่างๆ ให้สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่คนยุคก่อนไม่กล้าพูดถึงกันนักอย่างสถาบันกษัตริย์

“คุณจะเห็นว่าทุกวันนี้พูดกันไกลมาก คือคุณดูในทวิตเตอร์ คนรุ่น 30-40 ปี ซึ่งโตมากับการเมืองสมัยเสื้อแดง เห็นแล้วก็ตกใจกันมาก สมัยนั้นยังพูดกันไม่ถึงขนาดนี้ คือลิมิตมันถูกผลักให้ไกลขึ้นพอสมควรในหลายๆ เรื่อง ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์สถานะทางสังคม การพูดถึงเรื่องที่กฎหมายห้าม แต่มันไม่ใช่ปัญหานะ เพราะการเคลื่อนไหวทางการเมืองมันเป็นไปเพื่อจะบอกว่า สิ่งที่รัฐทำ สิ่งที่กฎหมายเป็น ตรงไหนเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นมันต้องท้าทายกับอะไรบางอย่างอยู่แล้ว ลักษณะ และไอเดียของมีมต่างๆ ข้อดีของมันคือมันการดันเพดาน ดันลิมิตของประเด็นให้มากขึ้น”

การล้อเลียนผ่านป้ายในวันที่ 16 ส.ค. 2563

ซึ่งวิธีในการผลักเพดานที่กล่าวมานั้นมีการนำเอกลักษณ์เฉพาะตัวของรหัสทางวัฒนธรรมแบบ “มีม” เข้ามาร่วม คือสนุก ตลก และพูดถึงเรื่องซีเรียส ผ่านรูปแบบที่ผ่อนคลาย ให้ง่ายต่อการแชร์ไปยังผู้อื่น

การเมืองของวัยรุ่น

อาจินต์ยังได้ฉายภาพความแตกต่างของการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่หลังปี 2540 จนถึงปัจจุบัน ในสมัยม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (เสื้อเหลือง) แนวคิดทางการเมืองคือการบอกว่าการเมืองเป็นเรื่องเชิงจริยธรรม ซึ่งจริยธรรมมีหลายองค์ประกอบ การทุจริต การทำผิดกฏหมาย และจริยธรรมสำคัญที่พันธมิตรชูคือ ความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์

พอยุคม็อบแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือเสื้อแดง สิ่งที่เรียกร้องคือสิทธิ์ทางการเมืองของคนต่างจังหวัดให้เท่ากัน คนเหล่านี้คือคนกลุ่มใหญ่ที่อยู่นอกกรุงเทพฯ คนที่ไม่ได้เป็นชนชั้นกลางระดับบน ประเด็นการเคลื่อนไหวจึงเป็นเรื่องชนชั้นทางเศรษฐกิจ ปากท้อง หรืออีกนัยหนึ่งคือการต่อรองเรื่องอำนาจที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจ

ส่วนยุค กปปส แนวคิดทางการเมืองถูกขยับไปในอีกประเด็นหนึ่ง ผ่านการอธิบายของแกนนำอย่างสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ออกมาพูดว่า “สุเทพคนเดิมตายไปแล้ว มาเกิดใหม่เป็นลุงกำนัน” ซึ่งสะท้อนไอเดียของ กปปส. ในการปฎิเสธนักการเมือง ดังนั้นการเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่ใช่เรื่องการเมือง เป็นการเลือกคนดีมาปกครองบ้านเมือง เป็นเรื่องของความดีความเลว ความรักชาติ เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีจุดยืนปฏิเสธความเป็นการเมือง

ภาพแฮมทาโร่อ้างอิงจากม็อบวิ่งแบบแฮมทาโร่
ในวันที่ 26 ก.ค. 2563
ส่วนภาพด้านขวาอ้างอิงจากลุงคนหนึ่ง
ซึ่งเป็นมีมในความสนใจของชาวเน็ท

ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของวัยรุ่นที่เอาวัฒนธรรมร่วมสมัยมาเป็นสัญลักษณ์ สิ่งหนึ่งที่พบคือการหยิบจับปรับใช้เรื่องที่ดูไม่จริงจังมาปรับใช้กับการแสดงออกทางการเมือง

กิจกรรมด่าตุ๊กตา
ในม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล
ในวันที่ 25 ก.ค. 2563

“พวกเขาเลือกหยิบสิ่งที่ดูไม่เคร่งขรึมมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนที่เด็กดู เป็นวัฒนธรรมการสันทนาการแบบ LGBT เป็นนิยายแบบแฮรี่พอตเตอร์ นัยของมันคือการจะบอกว่าอะไรๆ ก็เป็นการเมือง ไม่ใช่การเมืองเป็นเรื่องไม่ดี แต่ว่าทุกเรื่องเป็นเรื่องการเมือง และใครๆ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งนั้น”

อาจินต์ยังได้อธิบายต่อในเรื่อง “การมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองของเรื่องทั่วไป” ที่เหล่าวัยรุ่นได้กล่าวถึงในโลกอินเทอร์เน็ต

“มีทวิตอันหนึ่งที่ผมเห็นแล้วชอบมาก ทวิตที่บอกว่า ‘ถ้าการเมืองดีกว่านี้ การซื้อบัตรคอนเสิร์ตเกาหลีใบละ 5,000 คุณจะไม่ต้องอดข้าว คุณจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า’ คือเขาอธิบายแค่นี้ ตามลักษณะของทวิตเตอร์ ซึ่งมันก็จริงถ้าคนเปรียบเทียบค่าบริโภคความบันเทิงเทียบกับค่าปัจจัยพื้นฐานต่างๆ คุณต้องทำงานกี่ชั่วโมงเพื่อไปดูคอนเสิร์ตเกาหลี หรือกีฬาสักนัด ไม่ต้องนึกถึงราคาบอลอังกฤษ คิดถึงราคาบอลไทย ค่าตั๋วหลักร้อย 100-200 บาท ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ต้องทำงานครึ่งวัน หรืออย่างคอนเสิร์ต 5,000 บาท คุณต้องทำงานเท่าไร เพื่อซื้อบัตรคอนเสิร์ต 1 ใบ”

ภาพจากแทบเล็ตของนักศึกษา
แสดงภาพพลเอกประยุทธ์
พร้อมถ้อยคำ “Parasite”
ซึ่งเป็นชื่อภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง
ในช่วงปีที่ผ่านมา

การเอาเรื่องที่อยู่รอบตัวมาเปรียบเทียบเช่นนี้มีนัยสำคัญคือการแสดงให้เห็นว่ามุมมองของการเรียกร้องทางการเมืองในปัจจุบันของวัยรุ่น ไม่ได้มองการเมืองที่แยกขาดออกจากชีวิตประจำวัน การเมืองเป็นเรื่องที่อยู่กับชีวิตประจำวันตลอดเวลา 

“การออกมาของวัยรุ่นเขาก็พยายามจะบอกว่าเขาเรียกร้องถึงอนาคต คุณจะอยู่กับสังคมแบบนี้ พอคุณเรียนจบไปทำงาน ด้วยโครงสร้างทางการเมืองแบบนี้ ชีวิตคุณจะดีขึ้นหรือ? ไอ้คนรุ่นเก่าทำไมมันส่งต่อสังคมแบบนี้ให้เขาล่ะ เขาก็คาดหวังสังคมที่มันจะดีกว่าในยุคของเขาที่เขาจะโตขึ้นมา”

สิ่งที่โซเชียลมีเดีย อย่าง ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก ได้หล่อหลอมการลุกขึ้นมาของวัยรุ่นมีความสนใจอย่างมาก อาจินต์นิยามว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของวัยรุ่น มีความเป็นไปได้ว่าเกิดจาก วัฒนธรรมของกลุ่มแฟนคลับในโลกอินเทอร์เน็ต กลุ่มที่เริ่มจากการรวมตัวกันของคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน เช่น แฟนคลับศิลปินเกาหลี แฟนคลับภาพยนตร์ แฟนการ์ตูน แฟนบอล เป็นต้น 

ทักษะชาวทวิตฯ

แนวคิดที่น่าสนใจในวัฒนธรรมกลุ่มแฟนคลับ คือคนเหล่านี้จะมีศักยภาพในการรวมกลุ่มและเรียกร้องอะไรบางอย่างจากผู้ผลิต เช่น เวลาผู้ผลิตทำซีรีส์ไม่ถูกใจก็มีต่อต้านหรือไม่ยอมรับ เป็นต้น โดยอำนาจต่อรองของกลุ่มคนเหล่านี้แปรผันตามจำนวนสมาชิกในกลุ่ม ยิ่งสมาชิกมาก เสียงก็ยิ่งดังมาก ท้ายที่สุดกลุ่มแฟนคลับหลายกลุ่มสามารถไปถึงจุดที่ทั้งรวมคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน และมีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตซีรีส์ หรือภาพยนตร์ ซึ่งลักษณะดังกล่าวส่งผลมาสู่พฤติกรรมทางการเมือง เพราะว่าเมื่อกลุ่มคนที่อยู่ในวัฒนธรรมเหล่านี้เข้ามาสนใจการเมือง ทักษะและวิธีคิดที่ถูกใช้ในฐานะแฟนคลับจึงถูกนำมาใช้จึงถูกนำมาใช้ในการเรียกร้องทางการเมือง

ป้ายการกระเซ้าเย้าแหย่รัฐบาล
โดยอิงกับซีรี่ย์เกาหลี
ภายในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ช่วงต้นปี 2563

อาจินต์อธิบายประเด็นดังกล่าวอย่างเจาะจงไปยังเรื่องราวของแฟนคลับของศิลปินเกาหลี โดยเขาให้ความเห็นว่าทวิตเตอร์เป็นฐานทัพสำคัญในการรวมตัวกันของเหล่าแฟนคลับและจากการทำวิจัยของนักศึกษา เขาพบว่าแฟนคลับศิลปินเกาหลีชาวไทยมีการรวมกลุ่มก้อนที่น่าสนใจ 

“แฟนคลับศิลปินกาหลีชาวไทยมักถูกเรียกว่าเจ้าแม่โปรเจกต์ เพราะว่าแฟนคลับไทย มักรู้สึกว่าบริษัทศิลปินที่เกาหลีมักไม่ให้ความสำคัญกับตลาดที่ไทย เพราะเป็นตลาดไม่ใหญ่ บริษัทฯ มักให้ความสนใจตลาดจีนกับญี่ปุ่นมากกว่า เพราะมีสเกลใหญ่ จึงต้องหากิจกรรมดึงดูดใจศิลปินเวลามา เช่น ทำโปรเจกต์น่าประทับใจ (การร้องเพลงพร้อมกัน การทำป้ายมาชูอวยพร การเช่าโฆษณาตามป้ายไฟLED) มีเป้าหมายให้ศิลปินซาบซึ้ง ซึ่งเขาจริงจังมาก ในแง่นั้นคือเขา Mobilize คน (มีการจัดกลุ่มแบ่งหน้าที่ เขียนแนวทางการนำเสนอและที่มาที่ไปในการทำกิจกรรม) และทุนที่ไม่ได้หมายถึงเงินอย่างเดียว แต่หมายถึงความรู้ ไอเดีย เครือข่ายทางสังคม ทรัพยากร มาช่วยกันทำโปรเจกต์”

การชุมนุมทางการเมืองจึงเทียบได้กับการเรียกร้องความต้องการของตนเองต่อภาครัฐ ซึ่งเป็นการบอกกล่าวสิ่งที่ตนเองต้องการ และสมควรจะได้รับ

และเมื่อการเรียกร้องทางการเมืองหรือการชุมนุม คือการเรียกร้องความต้องการของตนเองต่อภาครัฐ มีลักษณะเดียวกันกับกลุ่มแฟนคลับเรียกร้องจากผู้ผลิต เป็นการเรียกร้องและกล้าบอกสิ่งที่ต้องการ และสมควรจะได้รับ

————————————

หากกล่าวโดยสรุปแล้ว การเมืองของคนรุ่นใหม่คือการเมืองที่ถูกหล่อหลอมมาด้วยอินเทอร์เน็ต

“สายตาเขากว้างขึ้น เห็นโลกว่าเป็นแบบไหน ไปได้แค่ไหน แต่ทำไมที่ที่เขาอยู่มันถึงเป็นแบบนี้ คือตามองไปไกล แต่สิ่งที่เท้ายืนอยู่กลับไม่โอเค มันเห็นความเป็นไปได้ ให้ต้องเรียกร้อง คนรุ่นก่อนไม่เป็นเพราะเขาไม่ได้เห็นอินเทอร์เน็ตเร็วเหมือนคนยุคนี้ ไม่เห็นความน่าจะเป็นอื่นในโลก แต่คนทุกวันนี้เขาเห็นความเป็นไปได้มากขึ้น และเริ่มรู้สึกว่าที่เป็นทุกวันนี้ไม่โอเค” 

About the author

Varuth Pongsapipatt
Photo Editor/ Content Editor
PLUSSEVEN phototeam

Photojournalists with a variety of interests—politics, economy, society, culture.

Varuth Pongsapipatt and PLUSSEVEN phototeam

Photo Editor/ Content Editor