COVID-19: สถานการณ์ขยะในกรุงเทพฯ
เมื่อร้านอาหารในกรุงเทพฯ ถูกสั่งห้ามให้บริการลูกค้าที่ร้าน ตามมาตรการป้องกันการระบาดของโรค COVID-19 บริการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น และส่งผลต่อประเภทและปริมาณขยะโดยรวมด้วย
วันชัย พนักงานเก็บขยะเขตวัฒนา กล่าวว่า ปริมาณและลักษณะของขยะที่พบในช่วงนี้เปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่ เช่น โซนโรงแรมหรือบริเวณที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ ปริมาณขยะลดลงมาก เพราะชาวต่างชาติส่วนใหญ่เดินทางกลับประเทศ และไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่ม
บริเวณคอนโดมิเนียมที่ผู้อาศัยส่วนใหญ่เป็นคนไทย ปริมาณขยะไม่แตกต่างจากช่วงปกติ แต่พบขยะประเภท กล่องข้าว ถุงพลาสติก และบรรจุภัณฑ์ห่ออาหารมากขึ้น ซึ่งสาเหตุเกิดจากการสั่งอาหารผ่านบริการเดลิเวอรี่ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้
วันชัยกล่าวอีกว่า ในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ อาชีพของเขาย่อมมีความเสี่ยงอยู่แล้ว แต่ตนเองเป็นลูกจ้างประจำของ กทม. ซึ่งได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาล และสำนักงานเขตยังสนับสนุนถุงมือ หน้ากากอนามัย น้ำยาฆ่าเชื้อ และเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ มาให้ใช้
บรรจุภัณฑ์ห่ออาหาร
ชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา (2562) กรุงเทพฯ มีปริมาณขยะเฉลี่ย 10,500 ตัน/วัน เมื่อเกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 ปริมาณขยะลดลงเหลือ 9,004 ตัน/วัน เนื่องจากธุรกิจต่างๆ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร ศูนย์การค้า ปิดให้บริการ หรือปรับเปลี่ยนวิธีการให้บริการ แต่ในขณะเดียวกัน ขยะประเภทบรรจุภัณฑ์ห่ออาหารมีจำนวนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถระบุได้ว่าขยะประเภทบรรจุภัณฑ์ห่ออาหารมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเท่าไร เนื่องจากวิธีการจัดการขยะของกรุงเทพฯ เพราะแม้จะมีการรณรงค์ให้แยกประเภทขยะ แต่ก็ไม่ได้มีการแยกขยะจากต้นทางในครัวเรือน เป็นการเก็บแล้วส่งที่ศูนย์คัดแยกและกำจัดเลย
“ขยะที่ลดลงนั้นคือประเภทเศษอาหารที่มีมวลมาก น้ำหนักเยอะ และมีความชื้นมาก เป็นอัตราส่วนถึง 60% ของขยะทั้งหมดในแต่ละวัน พอห้างร้านปิดให้บริการ ปริมาณเหล่านี้ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะเดียวกันน้ำหนักของแพคเกจจิ้งบรรจุอาหารที่มีมากขึ้นในช่วงนี้นั้น มีน้ำหนักเบา ทำให้ตัวเลขขยะรวมมีปริมาณที่ลดลง” ชาตรีกล่าว
สอดคล้องกับข้อมูลจากร้านอาหาร ซึ่งหลายร้านอธิบายตรงกันว่าหลังจากภาครัฐออกมาตรการห้ามรับประทานอาหารในร้าน ปริมาณขยะเศษอาหารที่ทิ้งในแต่ละวันของแต่ละร้านลดลงราว 50-70%
“มันต้องลดลงอยู่แล้วล่ะ เพราะลูกค้าไม่ได้มาทานที่ร้านเลย อย่าว่าแต่ขยะที่ทิ้งลดเลย ยอดขายกับรายได้ก็ลดลงด้วย แต่พอเสาร์อาทิตย์ก็ยังพอได้เรื่องเดลิเวอรี่บ้างนะ” เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวย่านตลิ่งชันกล่าว
การจัดการขยะติดเชื้อ
สำหรับหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ซึ่งเป็นขยะติดเชื้อ สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพฯ ได้สั่งการให้สำนักงานเขตรณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะหน้ากากอนามัยออกจากขยะทั่วไป โดยแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยใช้แล้วในถุงพลาสติกแล้วมัดให้เรียบร้อย และทำสัญลักษณ์ว่าเป็นหน้ากากอนามัย หลังจากนั้น พนักงานจัดเก็บขยะของกทม. จะจัดเก็บใส่ถังขยะสีส้มหลังรถขยะ เพื่อไม่ให้ปะปนกับขยะประเภทอื่น
นอกจากนี้ยังมีบริการถังขยะสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยโดยเฉพาะ ที่สำนักงานเขตของ กทม. ทั้ง 50 แห่ง ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขในการดูแลของ กทม. 69 แห่ง และที่โรงพยาบาลของ กทม. อีก 11 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน โดยจะมีรถเก็บความเย็น หรือที่เรียกว่า ‘รถห้องเย็น’ ซึ่งมีระบบปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และป้องกันการปนเปื้อน จัดเก็บหน้ากากอนามัยใช้แล้วเหล่านี้ไปกำจัดที่เตาเผาขยะติดเชื้อ ที่โรงกำจัดขยะอ่อนนุช และโรงกำจัดขยะหนองแขม
ส่วนแนวทางดูแลพนักงานเก็บขยะนั้น กทม. มีแนวทางให้สำนักงานเขตป้องกันและดูแลตนเองในการจัดเก็บขยะ โดยจัดหาชุด PPE หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง และรองเท้าบู๊ต ให้พนักงานเก็บขยะใส่ในการปฎิบัติงาน รวมถึงให้พนักงานเก็บขยะตรวจร่างกาย และฉีดแอลกอฮอล์ทำความสะอาดร่างกายทั้งก่อนและหลังปฎิบัติงาน
การจัดการขยะติดเชื้อ ได้มอบหมายให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม มี กทม. เป็นผู้ก่อตั้งและถือหุ้น เป็นผู้ดำเนินการ โดยในสภาวะปกติ กรุงเทพธนาคมรับหน้าที่เก็บและกำจัดหน้ากากอนามัยและขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาล 3,000 กว่าแห่งอยู่แล้ว เมื่อเกิดสถานการณ์เชื้อไวรัสระบาด ก็ได้เพิ่มหน้าที่ในการจัดเก็บหน้ากากอนามัยใช้แล้วด้วย ซึ่งในช่วงนี้พบว่าปริมาณขยะที่จัดเก็บได้โดยกรุงเทพธนาคม มีปริมาณเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1.5 ตัน/วัน จากปริมาณราว 40 ตัน/วัน ในช่วงสถานการณ์ปกติ