FEATUREDLatestReportages

สลัมตกสำรวจ: มุมเมืองที่ถูกเมิน

เมื่อพูดถึงชุมชนแออัดในเมือง หรือ “สลัม” หลายคนมักจะนึกถึงชุมชนที่มีชื่อเสียง เช่น ชุมชนคลองเตย ชุมชนบ่อนไก่ หรือชุมชนบ้านครัว ชุมชนเหล่านี้ล้วนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้คนในชุมชนขาดรายได้มาจุนเจือครอบครัว มีปัญหาด้านสุขอนามัย และขาดแคลนทรัพยากรที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ชุมชนเหล่านี้ยังได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชนเป็นครั้งคราว 

แต่ในกรุงเทพมหานครยังมี “สลัมตกสำรวจ” อีกเป็นจำนวนมากที่มีปัญหาไม่ต่างกัน แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างชุมชนชื่อดังที่เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว

ชายขอบของความเหลื่อมล้ำ

สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา เล่าให้ฟังว่า ในกรุงเทพฯ มีชุมชนแออัดขนาดเล็กหรือชุมชนตกสำรวจที่มีขนาดประมาณ 20-30 ครัวเรือนอยู่ไม่ต่ำกว่า 1,000 ชุมชน โดยชุมชนเหล่านี้เป็นชุมชนที่ไม่ได้ลงทะเบียนกับทาง กทม. ทำให้มักจะถูกละเลยและไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ 

“แม้แต่คนในสังคมทั่วไปก็ไม่ทราบว่ามีชุมชนเหล่านี้กระจายตัวอยู่เป็นจำนวนมากทั่วกรุงเทพฯ ทำให้การช่วยเหลือเข้าไม่ถึง เวลาเกิดวิกฤตต่างๆ การช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนก็มักจะไปกระจุกตัวอยู่ที่ชุมชนที่เป็นที่รู้จักมากกว่า”

เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงาหอบถุงยังชีพมาแจกจ่าย
ตามบ้านต่างๆ ในชุมชนหมาหลง ชุมชนแออัด
ตกสำรวจย่านพระโขนง

สิทธิพลอธิบายต่อว่า ผู้คนที่เข้ามาอยู่อาศัยในช่วงแรกคือคนต่างจังหวัดที่เข้ามาอยู่อาศัยและทำมาหากินในกรุงเทพฯ หลายคนเข้ามาเป็นแรงงานตามโรงงาน แต่พอโรงงานหลายแห่งปิดตัวไป ผู้คนเหล่านี้ก็ไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกไปได้เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเคลื่อนย้ายและไม่มีโอกาสเข้าถึงที่ดินทำกิน ทำให้ต้องอยู่ที่นี่ต่อด้วยความจำเป็น 

ความยากจนราคาแพง

หลังวัดราษฎร์ศรัทธาธรรม มีชุมชนขนาด 24 ครัวเรือนตั้งอยู่ริมคลองเป็นชุมชนที่ไม่มีแม้แต่ชื่อเรียก พี่หมี บุญนิสา ผู้เป็นเสมือนหัวหน้าชุมชน กล่าวว่า ปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งของชุมชนลักษณะนี้คือสาธารณูปโภคที่มีราคาแพงกว่าที่อื่น ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาแพงมากเพราะต้องไปเชื่อมต่อไฟและน้ำประปาจากบ้านคนอื่นที่มีทะเบียนบ้านเป็นหลักเป็นแหล่ง 

เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงาหลบฝนภายในบ้านพัก
และพูดคุยให้คำปรึกษากับพี่หมี
ตัวแทนชุมชนไร้ชื่อ

พี่หมียกตัวอย่างว่า บ้านตนมีเพียงพัดลมสองตัว โทรทัศน์หนึ่งเครื่อง ตู้เย็นหนึ่งตู้ และหม้อหุงข้าวหนึ่งใบ แต่ค่าไฟกลับสูงถึงเดือนละ 2,000-3,000 บาทมาตลอด เนื่องจากเจ้าของบ้านที่ไปต่อไฟและน้ำมา คิดค่าไฟคนในชุมชนหน่วยละ 11 บาท ค่าน้ำหน่วยละ 20 บาท ทำให้ในหนึ่งเดือนต้องหาเงินมาสำรองไว้เพื่อจ่ายค่าสาธารณูปโภคเหล่านี้มากกว่า 3,000-4,000 บาท

ใบเสร็จค่าน้ำและค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน ครอบครัวพี่หมีต้องหาเงินมาชำระหนี้

“บ้านแม่พี่พ่วงกันสามหลังโดนไป 4,500 ไม่มีแอร์ มีแต่พัดลมเนี่ย พัดลมหน้าเล็ก ประหยัดสุดละ บางวันร้อนๆ ยังงี้ก็เห็นแกออกมานั่งถือพัดพัดเอา แกบอกสงสารลูก เพราะช่วงนี้มีแค่พี่ชายพี่ที่ทำงาน” พี่หมีกล่าวพร้อมกับโชว์ใบเสร็จค่าไฟ 

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้ ทำให้รายได้ที่เคยพอมีบ้างหดหาย

“อย่างพี่เองพี่ทำงานโรงงาน พอโรงงานไม่สามารถผลิตของส่งนอกได้ พี่ก็ไม่ได้ไปทำงาน ก็ไม่มีรายได้ ก็ต้องติดค่าไฟเค้า เค้าก็ต้องเดินมาทวง ก็อายนะ พี่ก็เห็นใจเข้าใจเค้านะเพราะเค้าก็ต้องเอามาขายต่อเราอีกที แต่เราก็ไม่มีเหมือนกัน อย่างพี่เคยมีเงินเดือน แต่ทุกวันนี้ก็ไม่มีแล้ว ไหนจะต้องส่งลูกไปโรงเรียน พอลูกขึ้นมัธยมแล้วก็ต้องใช้ตังค์ ต้องผ่อนค่ามอไซค์ หนี้สินจิปาถะอื่นๆ อีก เดือนนึงก็แทบจะไม่เหลืออยู่แล้ว พอเป็นช่วงนี้ก็หนักเลย ไม่พอด้วยซ้ำ”

พี่หมี บุญนิสา หน้าบ้านของเธอ
ที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าหลักเพียงพัดลมขนาดเล็กที่หน้าบ้าน รวมถึงตู้เย็น โทรทัศน์
และหม้อหุงข้าวภายในตัวบ้าน

คนในชุมชนล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าแม้ราคาจะแพงแต่ก็เข้าใจเพราะต้องไปต่อเขามา ก็เห็นใจเขา ข้อเรียกร้องเดียวของชุมชนคือ “เราขอแค่น้ำไฟ ไม่ต้องฟรีก็ได้ แต่ขอแค่ราคาปกติเหมือนชาวบ้านเค้า แค่นี้พวกเราก็อยู่ได้แล้ว”

ประชาชนที่ถูกทิ้ง

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ขาดรายได้และมีรายได้น้อยในชื่อโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ผู้ที่เดือดร้อนและมีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขตามที่รัฐกำหนด จะได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 ต่อเดือน เป็นระยะเวลาสามเดือน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนในชุมชนเหล่านี้คือ คนที่เดือดร้อนไม่มีโอกาสจะได้รับเงินเยียวยาและเข้าไม่ถึงโครงการดังกล่าว

“ชุมชนหมาหลง” เป็นสลัมขนาดเล็กที่มีอายุกว่า 50 ปี อยู่ไม่ห่างจากวัด ราษฎร์ศรัทธาธรรม นัก เป็นตัวอย่างหนึ่งของชุมชนแออัดขนาดเล็กจำนวนมากในกรุงเทพฯ ในชุมชนมีขยะที่เป็นสารพิษตกค้างสะสมมาเป็นเวลาหลายสิบปี ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีปัญหาด้านสุขภาวะ เด็กที่เติบโตในชุมชนมีความเสื่องต่อภาวะผิดปกติทางร่างกายและสมอง ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการประกอบอาชีพ ทำให้ผู้คนในชุมชนเกิดปัญหาขาดแคลนรายได้

กองขยะทอดยาวดุจเนินดิน
เคียงคู่ไปกับทางเดินเข้าสู่ชุมชนหมาหลง

คนในชุมชนส่วนมากประกอบอาชีพเป็นแรงงานไร้ทักษะ รับจ้างรายวัน และเก็บผักริมรั้วขายเพื่อประทังชีพ ในชุมชนประกอบด้วยเด็กและผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ แทบไม่มีคนวัยทำงานเป็นแรงงานหลักในการหารายได้

ยายถวิล คือหนึ่งในผู้อยู่อาศัยของชุมชนหมาหลง ประกอบอาชีพขายขนมไทย อาศัยอยู่กับหลานสาวหนึ่งคน

“ยายออกมาจากนครสวรรค์เป็นสิบปีแล้ว ชื่อในทะเบียนบ้านก็ไม่มี เบี้ยคนชราก็ไม่ได้ จะย้ายไปไหนก็ไม่ได้เพราะยังห่วงหลานสาว” ยายถวิลกล่าว

ยายถวิล และหลานสาว ภายในบ้านพักขนาดเล็ก

“ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเลย ลงทะเบียนก็ไม่ได้ ทำไม่เป็น ถึงทำเป็นก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีทะเบียนบ้าน ไม่มีที่อยู่ ก็เลยไม่รู้จะลงยังไงต้องทำยังไง ตั้งแต่อยู่มาทางเขตก็เข้ามาแค่สองครั้ง ครั้งนึงก็หลายปีที่แล้ว กับเมื่อวานนี้ก็ได้มาม่า ปลากระป๋อง ข้าวสารบ้าง” ยายถวิลกล่าวถึงโครงการเราไม่ทิ้งกัน

โป้ง ชายหนุ่มซึ่งเกิดและโตในชุมชนหมาหลงเล่าว่า “แต่ก่อนผมทำงานโรงงาน ตอนนี้โรงงานปิด มีเมียกับลูกอีกสองคนที่ต้องเลี้ยง ตอนนี้ก็หันมาขายกับข้าวทำไก่ทอดไปขายที่ตลาด ก็พอกินไปวันๆ อ่ะพี่ แต่ค่าใช้จ่ายของเด็กมันแพง ทั้งค่านมค่าผ้าอ้อม … ตั้งแต่ผมเกิดมายี่สิบกว่าปี เคยได้รับการแจกของอยู่สองครั้ง คือหลายปีที่แล้วทางเขตมาแจก กับเมื่อวานนี้เป็นครั้งแรกที่มาแจกตั้งแต่มีโควิดมา แล้วก็มีมูลนิธิกระจกเงาที่มาวันนี้” 

เมื่อถามถึงมาตรการเยียวยาสำหรับผู้มีรายได้น้อยจากภาครัฐ โป้งกล่าวว่า
“ผมก็ได้จากประกันสังคมมาครั้งเดียว 4,500 แล้วก็ไม่มีอะไรอีกเลย”
ความช่วยเหลือไม่ถ้วนหน้า

มูลนิธิกระจกเงาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาของมาตรการเยียวยาต่างๆ ว่า ปัญหามีอยู่หลายรูปแบบ ทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐ ในช่วงเฉพาะหน้านี้ ความสำคัญอยู่ที่การยืนระยะ จะทำอย่างไรให้คนในชุมชนยืนระยะได้ทั้งครอบครัว ในช่วงนี้ความช่วยเหลือมักจะมาในรูปแบบข้าวสารอาหารแห้ง แต่จริงๆ ชุมชนตกสำรวจเหล่านี้มีเด็กและคนแก่เป็นจำนวนมาก ซึ่งขาดแคลนผ้าอ้อม นม และของจำเป็นอื่นๆ

ในส่วนของการจัดการโดยภาครัฐนั้น สิทธิพลมองว่า การจัดการโดยภาครัฐนั้นไร้ระเบียบและขาดความทั่วถึง

“รถหมูแดง” หรือรถบรรทุกขนาดเล็กของมูลนิธิกระจกเงา จอดหน้าชุมชนหมาหลง
ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ ทยอยยกข้าวสาร อาหารแห้ง ไข่ไก่ น้ำขวด และนิทานสำหรับเด็ก
มาแจกจ่ายในชุมชน

“ผมคิดว่าการช่วยเหลือของรัฐ เราควรคิดเรื่องความถ้วนหน้า ไม่ควรตั้งใครเป็นทาร์เก็ต เพราะถ้าเราถือหลักว่าทุกคนได้รับผลกระทบเหมือนกัน ดังนั้นก็เหมือนสิทธิสวัสดิการแบบถ้วนหน้าอื่นๆ เหมือนกับสิทธิรักษาพยาบาล 30 บาท เราก็มองว่าทุกคนควรได้สิทธิทางสุขภาพ ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน ทุกคนได้รับผลกระทบและทุกคนควรจะได้รับการปกป้องจากรัฐ และต้องดูแลเยียวยาทุกคนอย่างเท่าเทียม อาจไม่ต้องเยอะมาก แต่ต้องคิดว่าให้ทุกคนอยู่ได้แบบไม่เดือดร้อนนัก” 

สำหรับแนวทางการจัดการที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อจะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามชุมชนต่างๆ สิทธิพลเสนอว่า รัฐในฐานะกลไกหลัก เป็นระบบที่ใหญ่ที่สุด ต้องเป็นผู้ตั้งหลักในการตอบสนองความต้องการที่จะช่วยเหลือกันของคนในสังคม เพื่อไม่ให้เกิดภาวะโกลาหลไร้ระเบียบ ของล้นหรือขาดในบางพื้นที่อย่างที่เป็นอยู่

เด็กๆ ผู้อยู่อาศัยในชุมชนไร้ชื่อ ช่วยเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงาแบกข้าวสาร
อาหารแห้ง ถุงยังชีพ น้ำดื่ม และไข่ไก่
มากองรวมไว้ที่ลานกลางชุมชนเพื่อเตรียมแจกจ่ายให้บ้านแต่ละหลัง

ในแต่ละเขตควรต้องมีจุดบริการต่อชุมชนให้คนมีความมั่นคงทางอาหาร ดังที่กทม. ได้จัดไว้ 71 จุด ใน 50 เขต อย่างไรก็ตาม ภาครัฐไม่ได้ใช้ข้อมูลที่มีอยู่ และไม่จัดสรรงบประมาณลงมาให้ ผลคือผู้ที่ต้องการช่วยบริจาคไปกระจุกตัวกันอยู่ในเมือง ไม่ไปจุดที่ห่างไกล และรัฐไม่ใช้กลไกของตัวเองกระจายความช่วยเหลือออกไป

ชุมชนหมาหลง และชุมชนไร้ชื่อข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างของชุมชนแออัดขนาดเล็กที่ประสบปัญหาเดียวกันอยู่อีกนับพันชุมชนทั่วกรุงเทพฯ และอาจมีมากกว่านั้นอีกหลายเท่าตัวทั่วประเทศ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นว่ายังมีผู้ได้รับผลกระทบและไม่ถูกมองเห็นอีกจำนวนมาก และคนเหล่านี้ควรถูกมองเห็นเช่นเดียวกับทุกคน ให้สมกับชื่อโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่ในความเป็นจริงแล้วยังมีผู้คนจำนวนมากที่ถูกทิ้ง 

About the author

Thanapong Kengpaiboon
Executive Editor
PLUSSEVEN phototeam

Photojournalists with a variety of interests—politics, economy, society, culture.

Thanapong Kengpaiboon and PLUSSEVEN phototeam

Photo Editor/ Content Editor