ArticlesOpinion

ร่อนหมายจับ โปรยหมายเรียก: ยุทธการเด็ดปีกผู้ชุมนุม

การชุมนุมปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังรัฐบาลคลายล็อคดาวน์จากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 แม้รัฐบาลจะอ้างถึงการคง พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ท้ายที่สุดกลับถูกใช้ในคดีการเมืองอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นการออกหมายจับรวมกว่า 31 รายชื่อจากการชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา โดย 15 รายแรกถูกหมายจับในหลายข้อหา ได้แก่

1. กระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอัน มิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อ ความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 

2. ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215

3. ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ กระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาดแพร่ออกไป ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

4. ร่วมกันกีดขวางมทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385

5. ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ. การจราจรทางบก มาตรา 14

6. ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใด ๆ บนท้องถนน ตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง มาตรา19ร

7. ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง มาตรา 4

การชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 หน้าอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย
ตามจับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

โดยการจับกุมแบ่งเป็น กลุ่มที่ถูกจับกุมคืนวันที่​ 19 สิงหาคม​ 63​ ประกอบด้วย​ 1.บารมี ชัยรัตน์ เลขาธิการกลุ่มสมัชชาคนจน  2.สุวรรณา ตาลเหล็ก นักกิจกรรม 3.กรกช แสงเย็นพันธ์ นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และกลุ่มที่ถูกจับกุมจับเช้า 20 สิงหาคม 1.เดชาธร บำรุงเมือง ฮอคแฮคเกอร์ แรปเปอร์กลุ่ม RAD เจ้าของเพลง “ประเทศกูมี” 2.ทศพร สินสมบุญ นักศึกษาที่เข้าร่วมการชุมนุม 3.ธานี สะสม 4.ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ ​ผู้ปราศรัยจากการชุมนุม 5. ธนายุทธ ณ อยุธยา แร็ปเปอร์วง Eleven Finger โดยทั้งหมดเนื่องมาจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ก่อนหน้านี้มีการจับกุมไปแล้ว ​3 รายคือนายอานนท์​ นำภา​ จากการชุมนุมในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 (มีการจับกุมแล้ว 1 ครั้ง จากการชุมนุมในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563) นายภานุพงศ์​ จาดนอก​ หรือไมค์​ ระยอง​ และนายพริษฐ์​ ชิวารักษ์​ จากการชุมนุมในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 

นายภานุพงศ์​ จาดนอก​ หรือไมค์​ ระยอง​
ขณะปราศรัยในการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน”
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
วันที่ 10 สิงหาคม 2563

24 สิงหาคม 2563 มีการควบคุมตัวนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง จากการขึ้นปราศรัยธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค.63 มาส่งให้พนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ดำเนินคดี เนื่องจากเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรี ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 

ต่อมาวันที่ 26 สิงหาคม 2563 นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิการคณะประชาชนปลดแอก และ เจมส์ ภานุมาศ ถูกเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าไปแสดงหมายจับและจับกุมตัว จากกรณีเข้าร่วมชุมนุม เยาวชนปลดแอก วันที่ 18 ก.ค. 2563 จากข้อหา 1. ยุยงปลุกปั่น ม.116 2. มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ม.215 3. ฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 4. พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ม.34 (6) 5. กีดขวางทางสาธารณะ ม.385 6. พ.ร.บ.จราจรทางบก ม.114 7. พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณา ม.4 8. พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ม.19

จับกุม-ย้าย สน.-ปล่อยประกันตัว

ท่ามกลางการจับกุมตัว กลายเป็นกระแสโจมตีการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในอินเตอร์เน็ต จากกระแสข่าวของการดำเนินการหลากหลายรูปแบบ อาทิ ข่าวเรื่องการย้ายสถานีตำรวจในการแจ้งข้อกล่าวหา เช่น ในคืนวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ที่มีการย้ายนายอานนท์ นำภา และ นายภาณุพงศ์ จาดนอก จากสถานีตำรวจนครบาลบางเขนไปสู่ สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง ก่อนนำไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังในคดียุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 และข้อหาอื่นๆ รวม 7 ข้อหา ในวันถัดมา

นายพริษฐ์​ ชิวารักษ์
หน้าสถานีตำรวจนครบาลบางเขน
วันที่ 7 สิงหาคม 2563

ไปจนถึงกระแสข่าวการย้ายตัวนายพริษฐ์​ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักศึกษา กลุ่มกลุ่มประชาชนปลดแอก ในวันที่ 14 สิงหาคม 2563 จากสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ ไปยังสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน เพื่อทำการสอบสวนต่อ และส่งฟ้องศาลแขวงตลิ่งชัน ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะล้อมสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ เพื่อคัดค้านการย้ายตัว จนทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่าจะไม่มีการย้ายตัวดังกล่าว ในช่วงเวลา 20.25 น. ทั้งนี้ก่อนช่วงเวลาดังกล่าว สถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชันมีการตั้งแนวรั้ว เพื่อป้องกันผู้ชุมนุม ตลอดจนการระดมเจ้าหน้าที่ ก่อนจะเก็บแนวรั้วในช่วงเวลาก่อนการแถลงยืนยันดังกล่าวไม่นานนัก ซึ่งแหล่งข่าวภายในฝ่ายความมั่นคงให้ข้อมูลว่า แนวทางการย้ายตัวผู้ต้องหา เป็นไปเพื่อการแยกมวลชน เพื่อป้องกันความวุ่นวาย และการกดดันเจ้าหน้าที่

ในขณะที่ช่วงวันที่ 19 สิงหาคม 2563 มีการเปิดเผยว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบพยายามจับกุม สุวรรณา ตาลเหล็ก นักกิจกรรม โดยไม่แสดงหมายจับเพื่อจับกุม และมีการฉุดกระชาก เป็นต้น 

ตะกี้ ตอนระหว่างย้ายจากสน.ชนะสงคราม มา สน.สำราญราษฎร์ ผมมาพร้อมกับพี่ลูกตาล Suwanna Tallekก่อนมา…

Posted by Ratthapol Supasopon on Wednesday, 19 August 2020

นอกจากนี้แทบทุกคดีที่เกิดขึ้นล้วนเป็นการจับกุม ออกหมายเรียก ไปจนถึงหลายกรณีที่มีการเข้าจับกุมตัวในช่วงเวลากลางคืน และช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อกักตัวไว้ที่สถานีตำรวจก่อนส่งฟ้องศาล แม้ภายหลังจะให้ประกันตัว ปล่อยตัว รวมถึงไม่สั่งฟ้องก็ตาม โดยมีผู้ชุมนุมหลายคนตกอยู่ในวงเวียนดังกล่าวซ้ำไปมาจากการปราศรัยในต่างกรรมต่างวาระ อาทิ นายอานนท์ นำภา ที่ถูกตั้งหมายจับหลายกรณี ในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งรูปแบบและกระบวนการเหล่านี้ล้วนมีลักษณะในการทอนกำลังของผู้ชุมนุมให้เกิดความเหนื่อยล้าจากกระบวนการทางคดีความ

นายกรกช แสงเย็นพันธ์ นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ขณะถูกควบคุมตัว
ที่สถานีตำรวจนครบาลสำราษราษฎร์ วันที่ 20 สิงหาคม 2563
จับตาก้าวต่อไป

คำถามสำคัญจากการจับกุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมขับไล่รัฐบาลและโจมตี คสช. ในช่วงที่ผ่านมาคือ เช่นนั้นเรื่องทั้งหมดจะดำเนินต่อไปอย่างไร?

หากมองไปในกลุ่มประชาชน และผู้ชุมนุมประท้วงโจทย์สำคัญคือ “ข้อต่อรอง” ต่อภาครัฐที่มากกว่าการชุมนุมเคลื่อนไหวและจัดกิจกรรม ในระยะเวลา ไม่เกิน 1 คืน การยกระดับเพื่อเรียกร้องต่อการปฏิบัติของรัฐ ไปจนถึงการวางเงื่อนไข กรณีรัฐบาลยืนยันจะไม่ทำตามข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ ว่าด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ การลดอำนาจ สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. และการยุบสภา ซึ่งหากรัฐบาลยังยืนยันจะใช้กระบวนการตามจับ ออกหมายเรียก ควบคุมตัว ปล่อยให้ประกันตัว เช่นเดิม สิ่งที่ต้องคิดคำนึงอย่างต่อเนื่องคือการดำเนินกิจกรรมต่ออย่างไร เพื่อให้รัฐบาลยอมทำตามเงื่อนไขดังกล่าว

ในขณะที่เมื่อมองไปทางภาครัฐแล้ว คำถามกลับหาคำตอบยากกว่าหลายเท่า เพราะสถานการณ์การเมือง และสังคมตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาอยู่ในจุดที่ไกลเกินกว่าจะประณีประณอมเนื่องจาก หลายข้อเสนอในการชุมนุม ล้วนพุ่งเป้าตรงไปที่กลุ่มฐานอำนาจหลักของรัฐบาล อาทิ การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และรื้ออำนาจของ สว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงการต่อต้านการรัฐประหาร ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นการเอื้อต่อการนั่งอยู่ในตำแหน่งของรัฐบาลปัจจุบัน

การชุนนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการของกลุ่ม “นักเรียนเลว” ในวันที่ 19 สิงหาคม 2563

ยังไม่นับการชุมนุมประท้วงรายสัปดาห์ที่เกิดอย่างแพร่กระจายไปทั่วประเทศทั้งในมหาวิทยาลัย และในโรงเรียนมัธยม ประกอบรวมกับสภาวะเศรษฐกิจดิ่งเหว กำลังซื้อลดฮวบ จากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอันเนื่องมาจากสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งล้วนสะท้อนภาพการไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้มากพอ แม้จะอยู่ในอำนาจมาเนิ่นนานหลายปี และมีอำนาจเบ็ดเสร็จตั้งแต่ มาตรา 44 ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ไปจนถึงการประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

คำถามสำคัญที่สุดคือ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะจัดการสถานการณ์อย่างไร จะยอมลดทอนอำนาจที่สั่งสมมาจากการประท้วงแสดงความไม่พอใจที่เริ่มรวมทุกปัญหาเข้าด้วยกัน หรือหากไม่แล้ว จะยืนยันในอำนาจและใช้วิธีจับกุมไปเรื่อย ๆ และคาดหวังให้การต่อต้านเบาแรงลงได้อย่างไร

นักเรียนมัธยมผูกโบว์ขาวที่รั้วกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ ก่อนยุติการชุมนุม
ในวันที่ 19 สิงหาคม 2563

ในขณะที่การล้อมปราบและใช้ความรุนแรงอาจกลายเป็นสิ่งที่ไม่ควรหวังให้เกิดขึ้น เพราะการประท้วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มิได้เกิดขึ้นจากกลุ่มอาชีพ หรือคนเพียงกลุ่มเดียว แต่กลับกลายเป็นความหลากหลาย ที่รวมเอาทุกกลุ่มคนที่รู้สึกไม่เป็นธรรมต่อ “อำนาจ” ของภาครัฐและระบบโครงสร้างทางสังคมมาประท้วงเรียกร้องในวันนี้ ดังนั้นการล้อมปราบตามความเคยชินของรัฐไทย อาจเป็นมูลเหตุสำคัญในการทำลายประเทศในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการประท้วงมีนักเรียน นักศึกษา ที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในวันข้างหน้า

ล้วนเป็นคำถาม และทางเลือกที่ยากลำบากของทุกฝ่าย ในการตัดสินใจ

About the author

PLUS SEVEN

PLUS SEVEN

Photo Editor/ Content Editor