ArticlesFEATUREDLatest

โรงเรียนสุด (เหลื่อม) ล้ำ

ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ทุกคนมักหยิบยกมาพูดเมื่อเอ่ยถึงปัญหาด้านการศึกษาในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างอย่างมหาศาลของคุณภาพการศึกษาในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนชั้นนำ โรงเรียนต่างจังหวัด หรือโรงเรียนในกรุงเทพฯ ไปจนถึงการมีอยู่ของโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนต้องใช้ต้นทุนทางเศรษฐกิจเพื่อยกระดับการเข้าถึงทางการศึกษา

การเดินทางที่หลากหลาย ของนักเรียนในอำเภอเมือง จังหวัดของแก่น / ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์
โอกาสที่ซื้อได้ด้วยเงิน

อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ ติวเตอร์วิชาสังคม และภาษาไทย ในจังหวัดขอนแก่น อธิบายถึงความเหลื่อมล้ำของการศึกษาผ่านมุมมองของติวเตอร์ว่า

“ในสังคมใดๆ ก็ตามที่ปริมาณเงินที่มากกว่า สามารถซื้อคุณภาพด้านการคมนาคม การรักษาพยาบาลและการศึกษาที่ดีกว่า เราต้องตระหนักแล้วว่าสังคมเหล่านั้นกำลังมีปัญหา และนี่คือสังคมแบบที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ การที่ครอบครัวหนึ่งสามารถซื้อการศึกษาที่ดีกว่าได้ เป็นการถ่างช่องว่างทางการศึกษา และไม่ใช่แค่ช่องว่างทางการศึกษา แต่ยังเป็นการเพิ่มช่องว่างทางสังคมให้มากขึ้นไปอีก”

อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ ติวเตอร์วิชาสังคม และภาษาไทย ในจังหวัดขอนแก่น / วรพิพัฒน์ ลามพัด

เพราะโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่สูงกว่า  ย่อมนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันทางวิชาการที่มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกับนักเรียนคนอื่น และไม่ใช่เพียงแง่มุมเรื่องการศึกษาที่ดีกว่า แต่ครอบครัวที่มีศักยภาพทางการเงินสูงกว่า ยังสามารถลงทุนกับสิ่งที่เรียกว่าคอนเน็กชันหรือการซื้อสังคมในโรงเรียนอีกด้วย 

ครูใหญ่ยกตัวอย่างว่า การที่ผู้ปกครองยอมจ่ายเงินเพื่อให้ลูกของตนเองมีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ก็เพื่อพัฒนาสายสัมพันธ์กับเด็กคนอื่นที่มีโอกาสทัดเทียมกัน กลุ่มนักเรียนเหล่านี้ก็จะเกื้อหนุนกันเพื่อขยับสถานะทางสังคมให้สูงขึ้นไป

ในขณะกลุ่มนักเรียนที่ผู้ปกครองไม่สามารถสนับสนุนเรื่องเงินก็ไม่มีโอกาสถีบตัวเองขึ้นไปเพื่อเปลี่ยนชนชั้นทางสังคม 

เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในแง่หนึ่งการศึกษาเองมีหน้าที่ตอบสนองต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ในระบบเศรษฐกิจโดยทั่วไปแล้วก็มีทั้งผู้ประกอบการ มีเจ้าของธุรกิจ มีพนักงาน ลูกจ้างแรงงาน แต่ระบบการศึกษาในปัจจุบันกำลังเอื้อให้คนที่มีกำลังซื้อมากกว่าเท่านั้นมีสิทธิเป็นผู้ที่อยู่จุดบนของระบบเศรษฐกิจ คนที่ไม่มีเงินซื้อคอนเน็กชัน ไม่มีเงินเพื่อเตรียมความพร้อมให้ลูกหลาน ก็จะส่งผลสืบเนื่องให้คนเหล่านี้ต้องเป็นแรงงานหรือลูกจ้างต่อไป ทั้งๆ ที่การศึกษาควรเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเลื่อนชนชั้นและสถานะทางเศรษฐกิจได้ไม่ว่าปูมหลังจะเป็นอย่างไร หรือเป็นบุตรหลานของใครก็ตาม แต่ระบบการศึกษาที่ใช้เงินซื้อโอกาสเช่นนี้ทำให้การเลื่อนชนชั้นสำหรับคนที่ไม่มีทุนทรัพย์เป็นไปได้ยากขึ้น 

โรงเรียนกวดวิชา ปลายปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ครูใหญ่ แม้ประกอบอาชีพเป็นติวเตอร์หรือครูกวดวิชา แต่ก็มีมุมมองต่อความเหลื่อมล้ำที่มาพร้อมกับโรงเรียนกวดวิชาว่า แต่เดิมโรงเรียนประเภทนี้มีหน้าที่ตามชื่อ คือสอนซ่อมเสริมสิ่งที่เด็กนักเรียนบางคนตกหล่นจากการศึกษาในโรงเรียน เพื่อให้เด็กเหล่านั้นสามารถเรียนทันกับนักเรียนคนอื่นๆ หรือสอนสิ่งที่โรงเรียนไม่ได้สอน และสอนสิ่งที่เด็กอยากรู้เพิ่มที่ไม่ได้มีในโรงเรียน 

หากในปัจจุบันโรงเรียนกวดวิชาทำหน้าที่อีกแบบคือสอนซ้ำในสิ่งที่เป็นเนื้อหาของการเรียนในระบบ และ กลับกลายเป็นสถานที่สำหรับการซุ่มซ้อมเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันมากกว่าคนอื่น 

“การมีอยู่ของโรงเรียนกวดวิชาอาจไม่ใช่ต้นตอของความเหลื่อมล้ำ แต่เป็นภาพสะท้อนของความเหลื่อมล้ำมากกว่า” 

ในขณะที่ อัฐนันท์ พรมพาดี หรือ ครูอัฐ ครูประจำชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนทางเลือกแห่งหนึ่ง มีความเห็นต่อเรื่องนี้ไม่แตกต่างกัน

“เพราะโรงเรียนกวดวิชาเป็นผลผลิตของระบบการศึกษาแบบปัจจุบัน ตราบใดที่ยังมีการสอบแข่งขันเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยด้วยระบบแบบนี้ การกวดวิชาก็จะยังมีต่อไป เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันเงินซื้อการศึกษาที่ดีกว่าได้จริงในระบบที่เน้นการสอบแข่งขันและใช้ข้อสอบแบบนี้อยู่”

อัฐนันท์ พรมพาดี หรือ ครูอัฐ ครูประจำชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนรุ่งอรุณ / วรพิพัฒน์ ลามพัด

ครูอัฐอธิบายต่อว่าแม้โดยส่วนตัวจะไม่ได้เห็นด้วยกับการมีระบบกวดวิชา แต่เพื่อที่จะให้เด็กสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือเรียนต่อในโรงเรียนอื่นที่เด็กเหล่านั้นอยากเรียน การติวเสริมเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้

สำหรับมุมมองของ ขวัญข้าว ตั้งประเสริฐ นักเรียนและนักเคลื่อนไหวภาคีนักเรียน KKC (กลุ่มนักเรียนในจังหวัดขอนแก่น) มองว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจากค่านิยมที่ให้เด็กต้องเรียนแบบเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ  และโดยส่วนมากก็เป็นการเรียนแบบท่องจำเพื่อไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยไม่ได้ทำให้เกิดความรู้ 

ขวัญข้าวสะท้อนว่าอีกปัญหาหนึ่งภายใต้การเข้าถึงการกวดวิชาคืออภิสิทธิ์แบบหนึ่งที่ถูกสงวนไว้ให้เฉพาะคนชนชั้นกลางที่อาศัยอยู่ในเมือง เพราะสถานที่ตั้งของศูนย์ของกวดวิชามักจะอยู่ในเขตเมืองเป็นส่วนมาก 

“คนที่ไม่มีเงินมากพอไม่มีสิทธิ์เรียนแน่นอน หรือคนที่ต้องทำงานช่วยเหลือที่บ้านก็ไม่มีสิทธิ์เรียน เด็กที่อยู่ห่างไกล ที่อยู่ต่างอำเภอแม้จะพอจ่ายได้จ่ายไหว แต่ก็ไม่สามารถเรียนได้ตลอดเพราะบางครั้งก็ต้องรีบกลับบ้าน ถ้าดึกไปอาจไม่มีรถกลับ การจะต้องมาเช่าที่พัก หรือ จ่ายค่ารถเข้ามาเรียนในวันหยุดก็เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไปอีกที่ทำให้คนหลายคนจ่ายไม่ไหว ดังนั้นโอกาสทางการศึกษาจึงไม่ใช่แต่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้นแต่ยังรวมถึงเรื่องของโครงสร้างสาธารณูปโภคและขนส่งมวลชนด้วยที่ทำให้นักเรียนจำนวนมากเข้าไม่ถึงโอกาสด้วยซ้ำ”

การจัดสรรงบประมาณต้นตอความเหลื่อมล้ำระบบการศึกษา 

เช่นนั้นแล้ว หากโรงเรียนกวดวิชาถือเป็นภาพสะท้อนหรือเป็นปลายทางของปัญหา แล้วต้นตอของปัญหาอยู่ตรงไหน?

ครูใหญ่แสดงความคิดเห็นว่าต้นตอของปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย ก็คือการจัดสรรงบประมาณ เพราะประเทศไทยอาศัยการจัดสรรงบประมาณแบบรายหัว 

“หมายความว่ารัฐจะมีงบประมาณจำนวนหนึ่งต่อนักเรียนหนึ่งคน ถ้าโรงเรียนมีนักเรียน 3,000 คน โรงเรียนก็จะได้เงินจำนวนดังกล่าวคูณด้วยจำนวนนักเรียน ทำให้โรงเรียนที่มีนักเรียนเยอะก็ได้เงินไปเยอะ โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยก็จะได้เงินน้อย ทำให้เกิดปัญหา เช่นอุปกรณ์การเรียนการสอนไม่เพียงพอเพราะโรงเรียนขนาดเล็กไม่สามารถซื้อได้ “

“ทำไมคนต้องไปเรียนโรงเรียนประจำอำเภอ ทั้งที่มีโรงเรียนประจำตำบลใกล้บ้าน มันน่าอนาถใจนะ ที่เราต้องนั่งรถผ่านโรงเรียนใกล้บ้าน ผ่านโรงเรียนประจำตำบล เพื่อไปเรียนอีกโรงเรียนหนึ่งเพราะเรารู้สึกว่าโรงเรียนนี้มันต๊อกต๋อย มันเล็ก มันไม่พร้อม”

บรรยากาศการบริเวณหน้าสถานศึกษาแห่งหนึ่งในหัวเมืองภาคอิสาน
นักเรียนบางส่วนขึ้นรถสาธารณะและเดินไปโรงเรียน
ในขณะที่บางส่วนที่ผู้ปกครองมีกำลังทรัพย์ขับรถมาส่ง / วรพิพัฒน์ ลามพัด

“ทั้งๆ ที่ครูก็สอบผ่านมาด้วยมาตรฐานข้อสอบแบบเดียวกัน เราไม่ได้จะบอกว่าคุณภาพของครูแตกต่างกัน เพียงแค่ความพร้อมของโรงเรียนมันต่างกัน โรงเรียนขนาดเล็กก็ได้ครูน้อย พอครูน้อยก็ต้องมีภาระงานเพิ่มขึ้นอีก” ครูใหญ่กล่าว  

สอดคล้องกับครูอัฐ ที่มองว่าถ้ารัฐมีงบประมาณที่เพียงพอและจัดสรรได้ดีจะไม่มีปัญหาเรื่องความสมดุลระหว่างปริมาณครูกับนักเรียน ปัญหาอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือในโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่หรือโรงเรียนในตัวเมืองจะมีนักเรียนเฉลี่ยห้องละ 50-60 คน ต่อครูหนึ่งคน ถ้าขยับออกไปนอกเมืองจำนวนนักเรียนก็จะลดลง แต่ภาระงานครูเองก็มีเยอะกว่าเช่นกัน ทำให้ครูก็ไม่สามารถที่จะดูแลเด็กได้ทั่วถึง

การรวมศูนย์ทางการศึกษาทำให้พัฒนาไม่ได้

ภาพที่เด็กจากนอกเมือง ต่างอำเภอ หรือ ต่างจังหวัด พยายามเข้ามาเรียนในเมืองเนื่องจากมีภาพในอุดมคติว่าเป็นโรงเรียนที่ดี เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ หากมองในอีกแง่คือการกระจุกตัว ทั้งในแง่ประชากรและคุณภาพเพราะการจัดสรรงบประมาณกระจุกอยู่ในเมือง ไม่มีการกระจายออกไปยังพื้นที่รอบนอก โดยครูใหญ่มองว่า หากต้องการกระจายการศึกษาให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ รัฐต้องเปลี่ยนแปลงประเด็นดังกล่าว 

“ทำไมเราไม่เปลี่ยนเป็นงบประมาณพื้นฐานล่ะ ให้ทุกโรงเรียนได้เท่ากันไปก่อน โรงเรียนไหนมีนักเรียนเกินจำนวนค่อยคูณรายหัวให้เพิ่ม แบบนี้จะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กได้พัฒนาบ้าง แล้วมันน่าจะเกิดการถ่ายเทนักเรียนบ้าง” 

การสัญจรมาโรงเรียนด้วยหลากหลายวิธีของนักเรียนในจังหวัดขอนแก่น / ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์

ครูใหญ่อธิบายต่อว่าหากมีการจัดสรรในส่วนของงบประมาณพื้นฐานให้กับทุกโรงเรียนหรือโรงเรียนขนาดเล็ก ก็จะทำให้เกิดการถ่ายเทนักเรียนจากที่ต้องไปกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ ให้นักเรียนสามารถกลับไปเรียนใกล้บ้านได้ เพราะเมื่อโรงเรียนเหล่านี้มีความพร้อมและพัฒนาขึ้นแล้ว เด็กก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปเรียนไกลบ้านอีกต่อไป 

เช่นเดียวกับครูอัฐที่เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวว่า 

“การพัฒนามันกระจุกตัวไป อย่างตัวเราเองที่เป็นคนต่างจังหวัด ก็ต้องขวนขวายเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เพราะทรัพยากรมันอยู่ที่นี่ ถ้าในชุมชนต่างๆ มีแบบที่มีในกรุงเทพฯ เขาก็จะพัฒนาได้” 

นอกจากเรื่องการกระจายงบประมาณแล้ว หลักสูตรที่รวมศูนย์ก็เป็นปัญหาเช่นกัน 

“หลักสูตรส่วนกลางก็เหมือนเสื้อโหล เขาตัดมาแล้วก็มาสวมให้ทุกคน” 

ครูอัฐขยายความต่อว่าถ้าโรงเรียนในระดับท้องถิ่นสามารถออกแบบหลักสูตรด้วยตัวเองได้และมีทรัพยากรที่เพียงพอ ก็จะมีโอกาสพัฒนาได้ และอาจได้มากกว่ากรุงเทพฯ ด้วยเพราะในแต่ละท้องที่ก็มีทรัพยากรเฉพาะ มีภูมิปัญญาความรู้เฉพาะถิ่นเฉพาะพื้นที่ที่แตกต่างกัน ทำให้สามารถสร้างองค์ความรู้ได้มากกว่าและดีกว่าการผูกขาดความรู้จากส่วนกลาง

ความเหลื่อมล้ำที่ชุดนักเรียนปิดไม่อยู่

ขวัญข้าว มองว่าเป้าหมายของการศึกษาสำหรับเขา คือการทำให้เด็กหนึ่งคนพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้ได้มากที่สุดเพื่อไปใช้ชีวิตต่อในโลก ไม่ว่าจะทำอะไร หรือ เป็นอะไรก็ตาม แต่สภาวะสังคมรวมไปจนถึงโครงสร้างและหลักสูตรต่างๆ ที่อยู่รายรอบระบบการศึกษาไม่ได้เอื้อให้คนพัฒนาตัวเองได้มากที่สุด แต่กลับกลายเป็นว่าโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนในต่างจังหวัดเองกลับมุ่งเน้นที่จะสร้างแรงงานให้กับระบบทุนนิยมมากกว่า 

ขวัญข้าว ตั้งประเสริฐ นักเรียนและนักเคลื่อนไหวภาคีนักเรียน KKC / วรพิพัฒน์ ลามพัด

“เวลาเรามองเข้าไปที่โรงเรียนแค่หนึ่งโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่หน่อย เราก็จะเห็นความเหลื่อมล้ำมากมายในโรงเรียน ตั้งแต่มีการจัดลำดับห้องเรียน เช่นมีห้องคิง ห้องควีน เพียงแค่การจัดเด็กที่มีความสามารถใกล้เคียงกันไว้ในห้องเรียนเดียวกันก็เป็นการขยายความเหลื่อมล้ำแล้ว เพราะครูก็จะทุ่มเทสอนเด็กที่เป็นเด็กห้องเหล่านี้มากกว่าไม่ว่าจะเพราะเป็นเด็กที่เป็นอุดมคติของรัฐ หรือเพราะมีความสามารถที่ดีในการเรียนรู้อยู่แล้วทำให้สอนง่ายกว่าก็ตาม”

“ในขณะที่เด็กห้องอื่นที่อยู่ตรงกลางหรือล่างลงมาก็จะถูกละเลยไปเพราะครูอาจจะรู้สึกว่าสอนไปก็เท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ควรจะเป็นเช่นนั้นเพราเด็กทุกคนควรจะได้รับการดูแลและต้องถูกสอนเพื่อที่จะให้เขาพัฒนาศักยภาพของเขาให้ได้เต็มที่มากที่สุด” 

ขวัญข้าวอธิบายต่อว่าการมีหลักสูตรที่แตกต่างกันออกไปภายในหนึ่งโรงเรียน เช่น การมีหลักสูตร English Program (EP) หรือ หลักสูตรพิเศษต่างๆ ที่นอกจากนักเรียนจะต้องใช้ความสามารถในการสอบเข้ามากกว่าหลักสูตรทั่วไป รวมไปถึงสามารถรองรับการเรียนที่มีความเข้มข้นมากกว่าแล้ว ผู้ปกครองเองก็ต้องมีกำลังทรัพย์มากพอที่จะจ่ายค่าหลักสูตรพิเศษเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นต่อให้เด็กคนหนึ่งมีความสามารถในการเรียนที่อาจจะเทียบเท่าหรือมากกว่าคนที่ได้เรียนในหลักสูตรพิเศษ แต่เมื่อผู้ปกครองมีทุนทรัพย์ไม่เพียงพอจึงไม่สามารถเข้าเรียนได้ ทั้งๆ ที่การเรียนในหนึ่งโรงเรียนนั้นควรจะถูกจัดให้เท่ากัน อะไรที่นอกเหนือจากนั้นก็ควรเป็นเรื่องของการเรียนพิเศษมากกว่า 

“มันจึงกลับมาที่ถ้าต้นทุนที่บ้านของเด็กไม่ได้สูงพอ สุดท้ายเด็กก็จะถูกผลิตออกไปให้เป็นแค่แรงงานของระบบทุนนิยม และไม่ได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพเพื่อที่จะเป็นอย่างอื่นได้เลย หลักสูตรและระบบมันล็อกให้คนจนต้องจนต่อไป”

เพราะท้ายที่สุด หากไร้ซึ่งต้นทุน การเข้าถึงการศึกษาก็ยังถูกจำกัด จนเส้นแบ่งของความเหลื่อมล้ำในการศึกษายังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

About the author

Thanapong Kengpaiboon
Executive Editor
PLUSSEVEN phototeam

Photojournalists with a variety of interests—politics, economy, society, culture.

Thanapong Kengpaiboon and PLUSSEVEN phototeam

Photo Editor/ Content Editor