ArticlesFEATUREDLatest

อุ้มหาย ความอำมหิตอย่างไม่เป็นทางการของรัฐไทย : “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์

การบุกจับตัว จ่านิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ จากบริเวณหน้าประตูรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในช่วงเวลากลางคืนเป็นการกระทำที่อุกอาจอย่างไม่ต้องสงสัย โดยภาพจากกล้องวงจรปิดปรากฏชัดว่ามีชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่งได้มาดักรอและมีการพาตัวสิรวิชญ์ในลักษณะของการบังคับอุ้มขึ้นรถ โดยไม่มีใครทราบว่าใครพาไปหรือพาไปที่ไหน ก่อนที่จะนำตัวไปปล่อยไว้ที่สถานีตำรวจในเวลาราวสี่ชั่วโมงถัดมา

จากประสบการณ์ในช่วงเดือนมกราคมเมื่อห้าปีที่แล้ว จ่านิว สิรวิชญ์ย้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นอีกครั้ง

จ่านิวเริ่มเล่าจากความเป็นมาของการจับตัวว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบทุจริตในโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ “นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” 

โดยตัวเขาและผู้เข้าร่วมกิจกรรมรายอื่นได้โดยสารรถไฟจากสถานีบางกอกน้อยไปยังสถานที่ตั้งของอุทยานที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหลังจากกิจกรรมในวันนั้นสิรวิชญ์ถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งขัดต่อคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เมื่อมีการแจ้งข้อหา ตำรวจก็นำหมายเรียกมามอบให้ถึงข้างในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เขายังได้อธิบายกลวิธีการกลั่นแกล้งผ่านการแจ้งหมายเรียกว่าเป็นการนำเอาหมายมามอบให้ในวันเดียวกับที่กำหนดว่าต้องไปรายงานตัว

“หมายให้ไปรายงานตัวเนี่ย บอกว่าให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาวันที่ 13 ซึ่งตำรวจคลองหลวงเอาหมายมาให้ที่คณะรัฐศาสตร์วันที่ 13 พอดี ใครจะไปรายงานตัว จะไปรับทราบข้อกล่าวหาได้ คือมันมีความทุเรศทุรังหลายอย่างมาก เราเลยไม่ไป”

เมื่อไม่สามารถไปรายงานตัวได้ในวันที่กำหนด จึงมีการขอไปยังศาลทหาร (ในช่วงหลังการรัฐประหารปีพ.ศ. 2557 คสช. ได้มีการออกประกาศฉบับที่ 37/2557 ให้อำนาจศาลทหารในการพิจารณาคดี) ให้ออกหมายจับต่อไป 

ภายหลังจากการขอออกหมายจับ จ่านิวก็ยังใช้ชีวิตภายในรั้วมหาวิทยาลัยตามปกติไม่ต่างจากนักศึกษาคนอื่น จนกระทั่งราวหนึ่งสัปดาห์ถัดมา การออกไปทานอาหารเย็นบริเวณรอบนอกรั้วมหาวิทยาลัยของเขาก็แตกต่างไปจากเดิม

“ผมก็ออกไปกินข้าว ร้านแถวๆ ยูสแควร์ (โซนร้านค้าด้านนอกของมหาวิทยาลัย) โอเค สี่ทุ่มแล้ว กลับเข้ามหา’ ลัยกันดีกว่า ช่วงนั้นก็เริ่มรู้ว่าทหารจะมาเล่น ก็เลยไม่อยากเข้ามหา’ ลัยดึก ด้วยความที่เรามั่นใจว่ายังไงในมหาวิทยาลัยมันทำอะไรเราไม่ได้ เท่านั้นแหละ มันก็เหมือนรู้ทันเรา มันก็มาดักรอหน้าประตูมหา’ ลัยเลย”

โดยภาพจากกล้องวงจรปิดที่ถูกบันทึกไว้บริเวณหน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ฝั่งถนนเชียงราก จับภาพได้อย่างชัดเจนว่ามีกลุ่มชายในชุดลายพรางแปดนาย สวมแมสก์ปกปิดใบหน้า มายืนรอบริเวณรั้วทางเข้ามหาวิทยาลัยพร้อมรถสองคัน

ประมาณสิบวินาทีคือระยะเวลาตั้งแต่จ่านิวพบกับทหารกลุ่มนั้นและถูกบังคับให้ขึ้นไปบนรถ ขั้นตอนถัดมาที่ผู้อุ้มทำคือการเอาหมวกไหมพรมมาสวมให้ จากนั้นก็เป็นการขับรถวนไปมาเพื่อให้เกิดความสับสนและหวาดกลัว 

“พอลากขึ้นไปเสร็จมันก็เอาหมวกไหมพรมเนี่ย มาคลุมหัวก่อน ด้วยความที่ผมก็เป็นคนรู้ทาง บอกเขาว่า จะเข้าทางนี้ใช่ไหม คือมันพาไปกลับรถอยู่ประมาณสิบรอบอะ จนผมถามว่ากลับรถทำไมตั้งสิบรอบ จากหมวกไหมพรมก็เอาถุงดำครอบอีกชั้น คราวนี้ก็ไม่รู้แล้วพาไปไหน”

“จ่านิว” หน้าประตูเชียงราก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
บริเวณที่เขาถูกอุ้มเมื่อ 5 ปีก่อน
ตบ ถีบ ปืนจ่อศีรษะ

ตลอดการเดินทางบนรถที่ไม่รู้จุดหมายจ่านิวที่ถูกปิดหน้าและมัดแขนกับช่วงตัวด้วยเชือกได้ถามนายทหารว่าจะพาตัวไปที่ไหน โดยคำตอบนั้นบอกเพียงว่า ‘เดี๋ยวจะพาไปที่ดีๆ เองแหละ’ เมื่อวนรถนานพอสมควรก็นำตัวลงจากรถไปยังบริเวณพงหญ้าสักแห่ง

สิรวิชญ์เดาจากเสียงและการพูดคุยว่ามีเจ้าหน้าที่สี่ห้านายเดินวนไปมาคล้ายการข่มขู่ด้วยจำนวน ร่วมด้วยการสร้างบทสนทนาว่าสิ่งที่เขาทำเป็นการก่อความวุ่นวาย เป็นพวกไม่รักชาติ เรียกได้ว่าเป็นคาถาของคสช. ในสมัยนั้น และเมื่อเขาถามกลับว่า แล้วสิ่งที่พวกทหารเหล่านี้กำลังทำเป็นการรักชาติหรือไม่ ก็โดนตบศีรษะ

จากการโต้เถียงก็เริ่มมีการลงไม้ลงมือที่รุนแรงขึ้นเป็นลำดับ นอกจากตบศีรษะแล้ว จ่านิวเสริมว่ามีการถีบบริเวณแผ่นหลัง รวมทั้งเอาปืนมาจ่อด้านหลังศีรษะอีกด้วย

“ถีบประมาณสองรอบ แต่เหมือนพยายามทำให้มันไม่รุนแรง ไม่เกิดบาดแผล พอท้ายที่สุดแล้วก็เอาปืนมาจ่อ เรารู้ว่าเป็นปืน จ่อที่หัวด้านหลัง แก๊กๆ ทำท่าเหมือนจะลั่นไกประมาณสิบรอบ เราก็บอก คนอะไรจะยิงปืนแล้วลั่นไกเป็นสิบรอบ จะยิงก็ควรลั่นไกตั้งแต่รอบแรกแล้ว”

โดยระหว่างที่ถูกจับไปนั้นมีผู้คนที่ใกล้ชิดกับจ่านิวพยายามติดต่อผ่านทางโทรศัพท์ที่เปิดเสียงแจ้งเตือนตลอดเวลา ชายกลุ่มที่จับตัวเขาไปก็ถามว่าปิดโทรศัพท์อย่างไร แต่เขาก็ไม่ได้บอกและให้หาทางปิดเอาเอง สุดท้ายจึงพยายามกลบเสียงด้วยการเอาโทรศัพท์ยัดใส่กระเป๋าของเขาที่ติดมาด้วย แต่เสียงคนโทรเข้าก็ยังดังตลอดอยู่ดี

นอกจากความพยายามที่จะตัดการติดต่อสื่อสารกับคนรู้จักแล้ว คนกลุ่มนี้มีการค้นของส่วนตัวชิ้นอื่นที่เก็บเอาไว้ข้างในกระเป๋าด้วย ชายกลุ่มดังกล่าวพบเอกสารการผ่อนผันการเกณฑ์ทหารในกระเป๋าจึงสอบถามว่ายังไม่เกณฑ์ทหารอีกหรือ คำตอบของจ่านิวที่ตอบกลับไปคือให้ดูเอาเองว่าเอกสารเขียนว่าอย่างไร ก็ตามนั้น

จ่านิวยอมรับว่าตนมีโชคเพราะมีวิดีโอบันทึกเหตุการณ์เอาไว้ได้ครบ ภายหลังจากกลุ่มเพื่อนที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมดติดต่อขอตรวจสอบกล้องวงจรปิดภายในมหาวิทยาลัย และเผยแพร่การกระทำอุกอาจเหล่านั้นบนโซเชียล กระแสวิจารณ์ของสังคมเปลี่ยนแผนการอุ้มเป็นการลากกลับขึ้นไปบนรถคันเดิมก่อนที่จะมีการเปลี่ยนเป็นรถตู้เมื่อเวลาผ่านไปพักหนึ่ง

เมื่อนำตัวลงมาจากรถอีกครั้งและดึงหมวกไหมพรมออกไป ทำให้รู้ว่ารถที่พาตนเองมายังสถานที่นี้ คือรถตู้ของตำรวจ และที่แห่งนี้ก็คือหน้าสถานีตำรวจนครบาลนิมิตรใหม่ อีกทั้งมีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบยืนคุมอยู่

เขาได้ขอหมวกไหมพรมใบนั้นที่ใช้ปิดหน้าคืน หากตำรวจก็บอกเพียงว่า ‘ลืมๆ มันไปเถอะ’

ถ้าตายก็ต้องไว้ลาย

ไม่ว่าใครที่ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นย่อมมีความหวาดกลัว แล้วจ่านิวควบคุมอารมณ์ในสถานการณ์นั้นอย่างไร?

ต้องทำใจแข็งสู้เข้าไว้ คือสิ่งที่จ่านิวยืนยันหนักแน่น และถ้าต้องตาย ก็ต้องได้ด่าก่อน

“ไอ้ที่เขาเจอๆ กันเราเจอแล้วหรือ เราก็ไม่คิดว่าไอ้ที่เขาเจอๆ กันสมัยก่อน อ๋อ มันเป็นแบบนี้หรือเนี่ย แล้วยังไง มันจะทำอะไรเราต่อไป ความไม่มั่นคง ความไม่แน่นอนมันเกิดขึ้นแล้ว แต่อย่างน้อยเอาวะ ผมคิดในใจ ถ้าตายก็ต้องไม่ยอม เราถือว่าเราไม่ได้ทำในสิ่งที่ผิดมาโดยตลอด พวกเขาต่างหากที่ผิด”

จ่านิวคิดว่าในอนาคตจะต้องไม่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ทำเช่นนี้ได้ ไม่อย่างนั้นแล้วการต่อสู้ของประชาชนกับอำนาจอื่นเป็นเรื่องที่ยากมาก การหายตัวหรือว่าเสียชีวิตโดยไร้ผู้รับผิดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

เขาไม่ใช่รายเดียวที่เคยตกอยู่ใต้การอุ้มตัวนอกกฎหมาย ยังมีคนอื่นที่เจอในรูปแบบคล้ายคลึงกันคือเมื่อบุกเข้าจับตัวแล้วก็จัดการคลุมศีรษะ ปิดหน้าปิดตา สักพักก็เอาถุงดำมาคลุมอีกชั้น

การสร้างความไม่แน่นอนและหวาดระแวงที่ผู้ประสบเหตุบางรายพบคือการทำให้ไม่รู้ทิศรู้ทาง หลังจากที่คุมตัวมาแล้วก็จะพาไปยังห้องหนึ่ง ซึ่งในห้องนี้จะมีเสียงนก เสียงสุนัขหอน รวมถึงเสียงไก่ร้อง ทำให้ผู้ถูกจับสับสนในเรื่องของช่วงเวลา

จ่านิวเล่าว่าจากเรื่องเล่าของคนอื่นๆ ที่ถูกกระทำ สถานที่ดังกล่าวจะเขียนป้ายเอาไว้ข้างหน้าว่า พล.ร.9 กาญจนบุรี ภายในห้องก็จะเป็นห้องมืดๆ ไม่รู้เวลาที่แท้จริง อย่างไรก็ตามหลายคนให้การยืนยันตรงกันว่าสถานที่ที่มีไว้สำหรับการสร้างความสับสนนี้ไม่ได้อยู่ในจังหวัดกาญจนบุรีอย่างที่ระบุไว้ แต่ยังอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร

เขายอมรับว่าในวันที่ถูกอุ้ม หากไม่มีโลกออนไลน์เข้ามาให้ความสนใจ เขาก็อาจจะต้องผ่านประสบการณ์ในห้องนี้เช่นกัน

รองอธิการฯ บอก “ควบคุมตัวตามกฎหมาย”

จ่านิวเล่าต่อว่าภายหลังมหาวิทยาลัยออกมาเปรยในทำนองว่าทำไมไม่ขออนุญาต ไม่ทำเรื่องขอดูกล้องวงจรปิดก่อน และตัวเขาเองก็ชื่นชมเจ้าหน้าที่ที่เปิดกล้องให้ทางเพื่อนของได้ตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นย้อนหลังทันทีที่ให้ข้อมูลว่ามีนักศึกษาถูกจับตัวไป

“ก็ต้องยอมรับว่ารปภ. คนนั้นตัดสินใจด้วยความกล้าหาญจริงๆ คือ คนมันถูกอุ้มไปต่อหน้าต่อตา ที่หน้ามหา’ ลัย แล้วอีกอย่างคือเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยคุณด้วย คุณจะไม่ให้ ในเมื่อมันมีอะไรที่สามารถบอกได้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ถ้าไม่ได้ภาพนั้นเนี่ย วันนั้นมันต้องมีอะไรที่เลวร้ายกว่านั้นเยอะแน่ๆ”

ไม่ใช่แค่เรื่องการขออนุญาตในการดูกล้องวงจรปิด รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาในยุคนั้นอย่าง รองศาสตราจารย์ ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ มีการออกมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้โดยบอกว่าการกระทำของทหารเป็นการควบคุมตามกฎหมาย

แต่จ่านิวไม่มีทางยอมให้มันเป็นเช่นนั้น เขามีการนัดหมายเข้าพบกับดร. ชาลี ซื้อหมวกไหมพรมมา แล้วให้เพื่อนสองคนแสร้งทำเป็นหิ้วเขาเข้าไปพบในห้องทำงาน อีกทั้งจี้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการควบคุมตัวตามกฎหมายใช่หรือไม่

“เราก็ทำฉากเลยนะ เราก็ให้เพื่อนอีกสองคนทำท่าเหมือนลากตัวเราเข้าไปในห้องแก แล้วก็บอกว่า โดนอย่างนี้ อาจารย์ยังจะบอกเป็นการควบคุมตัวตามกฎหมายไหมครับ ผมโดนอย่างนี้ อาจารย์รู้ไหมว่าตอนที่รับโดนจับมันต้องมีการแสดงหมาย ต้องมีการบอกว่าควบคุมตัวอย่างไร โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตกลงอาจารย์คิดว่าเป็นการควบคุมตัวตามกฎหมายไหม?”

ตามคำบอกเล่าของ “จ่านิว” เขาถูกคลุมหัวด้วยหมวกไหมพรมก่อนจะคลุมทับอีกชั้นด้วยถุงดำ

การอุ้มหายคือการกลไกสร้างความมั่นคง?

แม้ว่าประเทศไทยจะมีพันธกิจในการออกกฎหมายต่อต้านการอุ้มหายตามอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย ค.ศ. 2006 (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) แต่การอุ้มหายก็ยังปรากฏอยู่บนหน้าข่าวหรือว่าในพื้นที่ออนไลน์ต่อเนื่อง แล้วเพราะอะไรการกระทำที่ขัดต่อมนุษยธรรมเหล่านี้ยังดำเนินต่อไปได้โดยสะดวกไร้ผู้รับผิด

จ่านิวให้ความเห็นว่ากลไกในเรื่องของมือปืน เจ้าพ่อ หรือว่านักเลงอันธพาล เป็นกลไกในการสร้างความมั่นคงให้ผู้มีอำนาจหรือชนชั้นนำในรัฐไทย เป็นกลไกอย่างไม่เป็นทางการในการรักษาอำนาจที่มีความดิบเถื่อน คือต่อให้มีการแสดงออกว่ามีกฎหมายบังคับใช้อย่างเป็นทางการ แต่ในความเป็นจริงการอุ้มหายยังเป็นเครื่องมือที่ร้ายที่สุด

เพราะในบางครั้งเองเหล่าผู้มีอำนาจก็เลือกที่ใช้วิธีการนอกกฎหมายเหล่านี้เสมอ มันอาจจะถึงขั้นที่ว่าคนที่คอยคุ้มครองให้ความดูแลผู้คนเหล่านี้ก็คือคนของรัฐ หรือคนของรัฐเองที่ไปเล่นอีกหน้าหนึ่งเสียด้วยซ้ำ

เหตุผลที่กลุ่มคนเหล่านี้เลือกใช้วิธีการนอกกฎหมายก็เพื่อสร้างความหวาดกลัวและสร้างความมั่นคง ไม่ให้คนขึ้นมาท้าทายอำนาจ จึงเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้กฎหมายอุ้มหายนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าพึงพอใจมากนักสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะนี่คือความอำมหิตอย่างไม่เป็นทางการที่ทำให้ญาติพี่น้องหรือคนใกล้ชิดของผู้สูญหายต้องเจ็บปวดตลอดไป

“รัฐไทยต้องเลิกพฤติกรรมนอกกฎหมายนี้ให้ได้ ชนชั้นนำจะต้องไม่รักษาอำนาจของตัวเองด้วยวิธีการที่ดิบเถื่อนเช่นนี้ เพราะการอุ้มหายเป็นกลไกที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องรับผิด”

ต่างจากรัฐที่สามารถอุ้มประชาชนและเสกให้คนหายได้ตลอดเวลา

About the author

PLUS SEVEN

PLUS SEVEN

Photo Editor/ Content Editor