ArticlesFEATUREDLatest

คาเฟ่น้องหมาในวันที่ไม่มีมนุษย์

คาเฟ่สัตว์เลี้ยงเป็นธุรกิจหนึ่งที่เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่ร้านกาแฟส่วนใหญ่เน้นจุดขายเป็นเมล็ดกาแฟคัดสรรพิเศษ หรือการตกแต่งร้านที่มีเอกลักษณ์ดึงดูดให้ลูกค้าถ่ายภาพลงโซเชียล ร้านคาเฟ่สัตว์เลี้ยงมีตัวชูโรงเป็นสัตว์น่ารักที่ลูกค้าสามารถมาเล่นด้วยได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลออกคำสั่งปิดกิจการหลายอย่างเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส หน้าร้านต่างๆ จำต้องปิดให้บริการและหันไปพึ่งพาการส่งสินค้าผ่านบริการเดลิเวอรี่ นั่นหมายความว่า ธุรกิจอย่างคาเฟ่สัตว์เลี้ยงสูญเสียจุดขายสำคัญ เนื่องจากลูกค้าไม่สามารถมาชื่นชมความน่ารักของสัตว์ที่ร้านได้อีกต่อไป

คนรักหมาในเมือง

วีณศริน ‘ตอย’ พรหมจิตติพงศ์ รับช่วงกิจการร้าน Dog In Town สาขาเอกมัยมาจากพี่เขยที่ขยายไปเปิดสาขาใหม่ที่อารีย์

“พี่ชายของแฟนชอบเลี้ยงหมา แต่อาศัยอยู่ในคอนโด เขาเลยคิดว่าน่าจะมีคนอีกเยอะที่อยากเลี้ยงหมาแต่เลี้ยงไม่ได้ ติดเรื่องพื้นที่หรือเวลา เลยทำคาเฟ่หมาเพื่อตอบโจทย์คนที่สถานที่ไม่อำนวย” ตอยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของร้าน

วีณศริน ‘ตอย’ พรหมจิตติพงศ์ เจ้าของและ ผู้จัดการร้าน Dog In Town เอกมัย

สำหรับตอยแล้ว ธุรกิจคาเฟ่สัตว์เลี้ยงในช่วงราว 4-5 ปีที่ผ่านมาเป็นกระแสได้เพราะกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ที่มีจำนวนมากขึ้น คนกลุ่มนี้มีอัตราการแต่งงานมีลูกน้อยลง จึงไม่จำเป็นต้องมีที่พักอาศัยกว้างขวาง คนทำงานในกรุงเทพฯ ส่วนมากอาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนท์หรือคอนโดมิเนียมที่ไม่อนุญาตให้มีสัตว์เลี้ยง คาเฟ่สัตว์เลี้ยงจึงเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการของคนรักสัตว์ในเมือง

กลุ่มคนรุ่นใหม่ยังมีทัศนคตินิยม “เปย์ตัวเอง” หาความสุข เมื่อไม่มีเป้าหมายว่าจะเร่งสร้างครอบครัว กลุ่มคนรุ่นใหม่จึงเลือกจะใช้เงินที่ได้จากการทำงานมาเพื่อหาความสุขให้ตัวเอง เช่น มาเล่นกับหมาเพื่อบรรเทาความเครียด ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน

“เตาปูน” สุนัขพันธุ์เฟรนช์บูลด็อค ที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกับสุนัขตัวอื่นได้ แต่มีนิสัยชอบเข้าหามนุษย์

โซเชียลมีเดียเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสร้างกระแสความนิยมให้กับคาเฟ่สัตว์ ตอยเล่าว่าร้าน Dog In Town ซึ่งเป็นคาเฟ่หมาแห่งแรกๆ ของไทยเริ่มเป็นที่รู้จักจากการบอกต่อ ลูกค้าถ่ายรูปไปโพสและเช็คอินในโซเชียลมีเดีย เมื่อผู้ใช้คนอื่นเห็นก็ตามมาเป็นลูกค้ามากขึ้น จนธุรกิจดำเนินไปได้

“ร้านเราไม่เคยจ่ายเงินให้รีวิวเลย มีบางคนที่เราไม่ได้เชิญ มาเสนอตัวจะรีวิวให้แต่จะขอคิดเงิน ซึ่งเราก็ปฏิเสธไป แต่ก็มีบ้างอย่างเพจ ’อาสา พาไปหลง’ ที่ทำคอนเทนต์รวมคาเฟ่ตามแนวบีทีเอส เขามาเองและจ่ายเอง เราก็ได้โฆษณาไปในตัว เรารู้สึกว่าร้านเราโชคดีตรงนี้”

จุดท่องเที่ยวยอดนิยม

“ตอนเปิดร้านช่วงแรก มีนักท่องเที่ยวจากสิงคโปร์หรือฮ่องกงเข้ามา เขาขอรีวิวลงบล็อก เรามารู้ทีหลังว่าเขาเป็นบล็อกเกอร์ชื่อดังที่ประเทศของเขา พอเขารีวิวว่ามีร้านนี้อยู่ที่นี่ คนก็ตามๆ มา บล็อกเกอร์คนอื่นก็ตามมารีวิวด้วยเพื่อให้บล็อกมีผู้ติดตามมากขึ้น เลยเป็นการโฆษณาร้านเราในประเทศนั้น เราก็จะได้ลูกค้าจากจีน ฮ่องกง เยอะด้วย”

กลุ่มลูกค้าใหญ่อีกกลุ่มของร้าน Dog In Town คือนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งตามมาเข้าร้านที่มีนักท่องเที่ยวจากชาติเดียวกันรีวิวไว้ในแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ต่างๆ ตอยเล่าว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียเป็นกลุ่มลูกค้ากระเป๋าหนัก ยินดีจ่ายไม่อั้น บางกลุ่มจ่ายค่าอาหารเครื่องดื่มรวมค่าเข้าร้านถึงเกือบหมื่นบาท

Dog In Town ตั้งชื่อสุนัขตามสถานี BTS และ MRT สุนัขในภาพคือ ชิดลม พร้อมพงษ์ และเพลินจิต

ทำเลที่ตั้งใกล้แนวรถไฟฟ้าบีทีเอส เดินทางสะดวก ทำให้ร้าน Dog In Town มีลูกค้าหลายเชื้อชาติเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ทั้งนักท่องเที่ยวที่แวะมาเล่นกับหมาก่อนเดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิ และชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในย่านเอกมัยด้วย

ก่อนหน้านี้เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น Dazhong Dianping ส่งใบประกาศณียบัตรมารับรองว่าร้าน Dog In Town เป็นร้านยอดนิยมของชาวจีน ได้รับคะแนนรีวิวสูงและมีผู้เช็คอินจำนวนมาก

เขาส่งป้ายมาให้ก่อนโควิดพอดี พอแปะเสร็จลูกค้าจีนก็หายไป” ตอยเล่าพร้อมหัวเราะ

โควิดทำพิษ

เมื่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกเริ่มตื่นตัวกับวิกฤติไวรัสโควิด-19 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็ชะงักลง ซึ่งรวมถึงคาเฟ่สัตว์ด้วย ธุรกิจร้าน Dog In Town เริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว แต่เมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มรุนแรง นักท่องเที่ยวหายไป รายได้ของร้านจึงลดลงเกือบครึ่ง

ที่หนักไปกว่านั้นคือ มาตรการปิดล็อกเมืองเพื่อลดการแพร่เชื้อ ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคมนั้น รวมถึงการห้ามรับประทานอาหารในร้าน ซึ่งหมายความว่า จุดขายสำคัญของคาเฟ่สัตว์เลี้ยงไม่สามารถขายได้อีกต่อไป

การออกมานอนอาบแดดที่สนามในทุกวันนับเป็นความสุขอย่างหนึ่งของสุนัขบางตัวในช่วงเวลาที่ไม่มีนักท่องเที่ยวคอยเล่นด้วยเหมือนอย่างเคย

เนื่องจากคาเฟ่เหล่านี้ไม่ได้มีเพียงพนักงานที่เป็นมนุษย์ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการจึงสูงกว่าร้านทั่วไป ร้าน Dog In Town มีค่าใช้จ่ายราว 500,000 บาทต่อเดือน หากแต่รายได้ในช่วงปิดล็อคเมืองกลายเป็นศูนย์

แม้ในช่วงที่ไม่มีรายได้เข้าร้าน แต่ตอยเลือกที่จะไม่ปลดพนักงานออก เพียงแต่ขอลดเงินเดือนลงช่วงที่ไม่มีงานให้

พนักงานของคาเฟ่สุนัช Dog in town ตรวจดูความเรียบร้อยบริเวณหู และตา ของสุนัขแต่ละตัว

“ช่วงที่ปิดเราลองขายแก้ว ส่วนอีกสาขาส่งกาแฟเดลิเวอรี่ให้พนักงานของเราไปส่ง ค่าส่งจะให้พนักงานหมดเลย แต่ก็ไม่ได้ขายดีขนาดนั้น เพียงแต่ทำให้พนักงานเรายังมีงานทำอยู่”

ตอยหันมาทำบราวนี่และชีสเค้กรูปก้อนชีสเพื่อขายทางออนไลน์แทน ได้กระแสตอบรับจากกลุ่มเฟสบุ๊ก ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เเละการฝากร้าน’ อย่างล้นหลาม จนมีรายได้พอสำหรับรายจ่ายและเงินเดือน ตอยต้องเกณฑ์พนักงานกลับมาช่วยกันทำเค้กและจัดส่งออเดอร์

“ตอนนี้ก็ถือว่าทุกคนกลับมามีรายได้เป็นปกติ” ตอยบอก

น้องหมาตกงาน

ขณะที่เหล่ามนุษย์พยายามดิ้นรนเอาตัวรอดจากวิกฤติ เหล่าน้องหมาทั้ง 11 ตัวยังใช้ชีวิตอย่างสบายใจ กิจวัตรแต่ละวันประกอบด้วยการกิน นอน เล่น และเดิน ไม่ต่างจากวันเปิดทำการ

“เวลาที่เปิดร้านปกติก็กินๆ นอนๆ อยู่แล้ว แค่เปลี่ยนสถานที่ เดิมกินเสร็จจะได้เข้ามานอนในร้าน ตอนนี้จะให้เข้ากรงแทน แต่จะปล่อยออกมาที่สนามทุกชั่วโมงอยู่แล้ว ให้ออกมาฉี่ กินน้ำ เดินเล่น แล้วทุกสองสามวันเราจะให้เข้ามานอนเล่นในร้านทีนึงสลับกับกรง”

ชีวิตประจำวันอันน่าเบื่อกับการนอนในกรง รอคอยเวลาออกไปวิ่งเล่น

ร้านมีพนักงานหนึ่งคนพักอยู่ที่ร้านตลอด 24 ชั่วโมง คอยดูแลความเป็นอยู่ต่างๆ และพาไปเดินเล่นทุกเย็นตามปกติ ตอยเล่าว่าไม่ว่าหมาเคยได้อะไร เธอจะพยายามให้กินดีอยู่ดีเหมือนเดิม เนื่องจากหมาที่ได้รับการดูแลที่ดี มีความสุข จะแสดงออกให้เห็นได้ชัด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับธุรกิจนี้

สุนัขบางตัวต้องการการวิ่งเล่น และพื้นที่ให้ได้ปลดปล่อยพลัง
ปรับตัวไปทางไหนดี

หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทยลดลงจนเหลือเลขตัวเดียว รัฐบาลก็เริ่มผ่อนปรนให้บางธุรกิจเปิดทำการได้โดยมีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ร้าน Dog In Town ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการ เนื่องจากสำนักงานเขตจัดคาเฟ่สัตว์เลี้ยงเป็นสถานบันเทิงที่มีคนมาชุมนุมกัน

แต่ถึงร้านจะกลับมาเปิดเต็มรูปแบบได้ ตอยก็ยังกังวลว่าธุรกิจอาจจะไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิม คนจำนวนมากยังคงรู้สึกไม่ปลอดภัยจากไวรัส

“จริงๆ มีวิจัยแล้วว่าหมาไม่สามารถแพร่เชื้อสู่คน แต่หลายคนกลัวว่า คนอื่นมาจับหมา มีเชื้อมาติดตัวหมา แล้วคนอื่นมาจับ กลายเป็นการส่งต่อเชื้อ เราเลยจบปัญหาด้วยการยังไม่ทำอะไรดีกว่า น่าจะเป็นผลดีกับร้านในระยะยาว”

เมื่อถามถึงแผนระยะยาว ตอยยอมรับว่ายังไม่แน่ใจว่าจะปรับธุรกิจอย่างไรต่อไปหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ตราบใดที่คนยังกังวลเรื่องติดเชื้อไวรัส คาเฟ่สัตว์เลี้ยงก็คงจะเงียบเหงาต่อไปอีกนาน

About the author

Didtita Simcharoen
EDITOR

Ad hoc copy editor. Translates documents and books when not writing.

PLUSSEVEN phototeam

Photojournalists with a variety of interests—politics, economy, society, culture.

Didtita Simcharoen and PLUSSEVEN phototeam

Photo Editor/ Content Editor