ArticlesLatest

Work From Home อย่างไรให้ดีกับสุขภาพจิต

การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในขณะนี้ ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมาก หลายคนต้องหยุดทำงานและขาดรายได้ หลายคนยังมีงานทำแต่ต้องเสี่ยงออกไปทำงานนอกบ้าน หลายหน่วยงานให้พนักงานเปลี่ยนไปทำงานที่บ้าน หรือที่เรียกว่า Work From Home ซึ่งเป็นการปรับตัวให้เข้ากับมาตรการเว้นระยะห่างทางกายภาพ หรือ Physical Distancing เพื่อป้องกันและลดการติดและแพร่กระจายไวรัส 

การทำงานอยู่แต่ในบ้านและลดการปฏิสัมพันธ์ภายนอกนั้นส่งผลต่อสภาพจิตใจ ผู้ที่ต้องเก็บตัวอยู่ในที่เดียวเป็นเวลานานและไม่ได้พบปะผู้คนอาจรู้สึกเบื่อหน่ายและหงุดหงิด การดูแลสภาพจิตใจภายใต้สภาวะเช่นนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ดร.ธนพงศ์ อุทยารัตน์ นักจิตวิทยาการปรึกษา กล่าวว่า แม้จะมีข้อเสนอแนะทั่วไปสำหรับการดูแลสุขภาพจิตในสภาวะที่ต้อง Work From Home แต่ไม่ใช่ว่าวิธีเหล่านี้จะใช้ได้สำหรับทุกคน 

ความเครียดหรือความทุกข์ของแต่ละคนนั้นมีที่มาแตกต่างกัน เนื่องจากคนเรามีประสบการณ์ที่หลากหลายและแตกต่างกัน  บางคนเครียดด้วยความรู้สึกกังวล บางคนไม่พอใจ บางคนเครียดเพราะเบื่อหน่าย เริ่มแรกจึงควรระบุอารมณ์และที่มาที่ไปของความคิดที่ทำให้เกิดอารมณ์นั้นให้ได้ก่อน

เริ่มต้นสังเกตอารมณ์

ดร.ธนพงศ์ กล่าวต่อว่า เมื่อเราเห็นอารมณ์แล้ว ให้เราลองเรียกชื่อมันให้ถูกว่าความไม่สบายใจนี้คือสิ่งใดกันแน่ คือความโกรธ กลัว กังวล เสียใจ คิดมาก หรืออื่นๆ เช่น สมมติว่าช่วงนี้รู้สึกมีความกังวลใจ ก็ต้องหาสาเหตุของความกังวลใจนี้ว่ามีที่มาจากอะไร เช่น กังวลว่าจะอาจติด COVID-19 จากนั้นต้องตั้งคำถามต่อว่าเพราะอะไร พอเราเห็นที่มาและสาเหตุของความรู้สึก ก็จะกลับมาดูได้ว่าจะจัดการใจตัวเองต่ออย่างไร

ในกรณีที่เราต้อง Work From Home ขลุกตัวอยู่บ้านจนเกิดเป็นความเบื่อ ต้องลองทำความเข้าใจความเบื่อก่อนว่ามีสาเหตุมาจากอะไร หาให้เจอว่ามีอะไรบ้างที่ทำให้เราเบื่อ เช่น ความเบื่อมักเชื่อมโยงกับอะไรที่เราไม่ชอบ ไม่ถูกใจ อย่างบางคนชอบการออกไปเที่ยวไปสังสรรค์ทำกิจกรรมข้างนอก เมื่อไม่ได้ได้ไป ก็รู้สึกไม่ชอบใจ และกลายเป็นความเบื่อ

เปลี่ยนอิริยาบถ ลดจำเจ

เมื่อเราสังเกตอารมณ์จนเข้าใจที่มาของมันแล้ว ก็จะสามารถคิดหาวิธีการที่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ เช่น หากรู้สึกอึดอัดที่อยู่ในห้องเป็นเวลานาน ก็ออกมาเดินในละแวกบ้านบ้าง โดยยังคงรักษาหลักการของ Physical Distancing คือการเว้นระยะห่างออกจากกันประมาณ 2 เมตรและเลี่ยงการสัมผัสตัว เพื่อความปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่สามารถทำได้ระหว่างช่วง Work From Home หากเราไม่ชอบความจำเจในพื้นที่จำกัด ก็ลองหากิจกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างความไม่ซ้ำให้กับชีวิต

“บางกรณี ความเบื่อมาคู่กับความเหงา เบื่อเพราะไม่ได้เจอเพื่อน ไม่ได้เฮฮา แต่เราก็ยังสามารถคุยกับผู้คนได้ โดยไม่ต้องเจอหน้ากันจริงๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ นัดทำกิจกกรรมออนไลน์กับเพื่อนบ้าง เช่นการนัดทานมื้อเย็น ดื่ม สังสรรค์ออนไลน์ ที่เรียกว่า Virtual Dining ก็เป็นทางเลือกที่ดี”

อย่างไรก็ตาม การพบเจอกันทางออนไลน์ก็อาจไม่ใช่ทางออกสำหรับทุกคน ต่อให้เจอหน้ากัน ก็ยังสามารถรู้สึกขาด เหงา หรือเบื่อได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในการรับมืออารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะไม่ปกติ คือสำรวจอารมณ์และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ลดเสพข่าว ลดความเครียด

ในกรณีที่พบว่าเกิดความกังวล ตระหนก เครียด และพบว่ามาจากการเสพข่าวมากเกินไป ดร.ธนพงศ์ แนะนำว่าให้ลดการเสพข่าวลง เพราะจุดประสงค์ในการรับข่าวสารคือเพื่อนำข้อมูลที่มีประโยชน์มาประกอบการตัดสินใจ แต่ข้อมูลบางอย่างนั้นสร้างแต่ความรู้สึก

“ในบางกรณี ข่าวบางแบบนั้นให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์พร้อมกับอารมณ์และความรู้สึก เราต้องเลือกมองให้ถูกมุม เช่น ข่าวเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น มีประโยชน์ในจุดที่ทำให้เรารับรู้ความรุนแรงของสถานการณ์เพื่อเตรียมรับมือ แต่ถ้าเราจมอยู่กับจำนวนเพียงอย่างเดียว ก็จะอยู่แต่ในความตระหนก คำถามสำคัญที่สุดที่เราควรถามตัวเองคือเราสามารถทำอะไรได้บ้างในสถานการณ์นี้ และจะทำสิ่งใด อย่างไร”

หากยังต้องการเสพข่าว ก็ต้องมีสติ ถ้าอินมากเกินไปก็อาจทำให้ตกอยู่ในความไม่สบายใจ หากจำเป็นต้องเสพข่าวในปริมาณมาก ก็ต้องหาวิธีการจัดการความรู้สึกของตนเอง 

วิกฤตไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของทุกคน แม้เราจะไม่สามารถกำหนดมาตรการของรัฐบาลใดๆ ได้ สิ่งที่ปุถุชนพอจะทำเพื่อตัวเองได้ ก็คือการดูแลสุขภาพจิตตัวเองให้ดี เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤต

About the author

Varuth Pongsapipatt
Photo Editor/ Content Editor

Varuth Pongsapipatt

Photo Editor/ Content Editor