ArticlesFEATUREDLatest

Women and lenses: เรื่องราวหลังเลนส์ของช่างภาพข่าวหญิง

เมื่อกล่าวถึงอาชีพช่างภาพข่าว (photojournalist) อาจไม่ใช่ชื่ออาชีพที่คุ้นหูมากนัก หากเมื่ออธิบายเนื้องานว่าช่างภาพข่าวเหล่านี้คือกลุ่มคนที่ถือกล้องขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกันไปตามความถนัด คอยบันทึกภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไฟไหม้ น้ำท่วม การเมือง หรือว่าการชุมนุม เพื่อเผยแพร่ทั้งตามหน้าสื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์หรือว่าจะเป็นภาพข่าวที่แชร์กันบนโลกออนไลน์ หลายคนอาจคุ้นเคยกับกลุ่มคนเหล่านี้มากขึ้น

หากใต้บทบาทหน้าที่ในการนำเสนอและเปิดเผยข่าวสารผ่านรูปถ่าย อาชีพนี้กำลังซุกซ่อนหนึ่งคำถามแสนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศเอาไว้อย่างเงียบเชียบ

เพราะเหตุใดช่างภาพข่าวจึงเป็นผู้ชายแทบทั้งสิ้น?

ดั่งที่เราเห็นมาเสมอว่ากลุ่มคนที่ยืนรวมกลุ่ม ถือหรือสะพายกล้องพร้อมกับอุปกรณ์เสริมอื่นพะรุงพะรังมักจะเป็นเพศชายเกือบทั้งหมด แล้วมีผู้หญิงกี่ชีวิตที่ทำงานอยู่ใต้อาชีพนี้

การทำงานของช่างภาพข่าวระหว่างการชุมนุม 18 กรกฎาคม 2021 กล้องพะรุงพะรังพร้อมอุปกรณ์ป้องกันตัว เป็นสิ่งที่สามารถเห็นได้แต่ไกลและแสดงถึงภาพลักษณ์ของช่างภาพข่าว / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

การสำรวจในประเทศไทยพบว่าช่างกล้องผู้หญิงที่ทำงานอยู่ในองค์กรข่าวหรือเอเจนซีมีประมาณ 5% จากผู้ประกอบอาชีพช่างภาพข่าวอย่างเป็นทางการ แม้จะเป็นอัตราส่วนอันน้อยนิดหากพวกเธอก็ยังคงแทรกซึมและยืนหยัดอยู่ภายในโลกการทำงานที่อุดมและขับเคลื่อนจากเพศชาย

เราคุยกับช่างภาพข่าวหญิงทำความรู้จักและเข้าใจบทบาทของพวกเธอในสนามข่าว ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างจากช่างภาพข่าวผู้ชายอย่างไร ‘เพศ’ เคยสร้างข้อจำกัดหรือนำเรื่องราวที่เป็นดั่งฝันร้ายมาให้พวกเธอหรือเปล่า และโลกของช่างภาพข่าว เป็น ‘โลกของผู้ชาย’ จริงหรือไม่

ผู้หญิงจะทำงานไหวหรือไม่?

ศวิตา พูลเสถียร คือช่างภาพข่าว เว็บไซต์ The Standard เธอเริ่มต้นอาชีพจากการฝึกงานสหกิจในการเรียนชั้นปริญญาตรี โดยได้ฝึกงานกับทาง The Standard ในฐานะช่างภาพข่าวและเลือกทำงานในตำแหน่งเดิมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 

ช่วงการเริ่มต้นของการฝึกงานเธอเล่าว่าตนเองไม่ได้สังเกตประเด็นเรื่องสัดส่วนของเพศชายกับเพศหญิงในการทำงานมาก่อน จนกระทั่งวันที่เธอได้ไปเยี่ยมชมการทำงานของช่างภาพข่าวที่รัฐสภา และสังเกตว่าบริเวณจุดถ่ายรูปภายในรัฐสภานั้นมีเพียงช่างกล้องเพศชายทั้งสิ้น โดยมีเธอเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวเท่านั้น

“พี่โต (หัวหน้าช่างภาพ The Standard) ก็พาขึ้นไปเที่ยวข้างบนห้องประชุมตรงจุดที่ถ่ายรูป แล้วก็แบบว่า เออ ไม่มีผู้หญิงเลยนี่ ไม่มีเลย เพราะถ้าเป็นจุดของผู้สื่อข่าวก็จะมีผู้หญิงอะไรอย่างนี้ แต่ว่าข้างบนนั้นมีแต่กล้องวิดีโอกับภาพนิ่ง ก็คือไม่มีผู้หญิงเลย”

แล้วนับตั้งแต่การตัดสินใจเลือกฝึกงานในฐานะช่างภาพข่าว ศวิตาเจอกับความยากลำบากด้านใดบ้างจากการเป็น ‘เพศหญิง’ 

เธอตอบว่าสิ่งแรกที่เจอนับตั้งแต่ยังไม่เริ่มฝึกงานคือคำถามกึ่งปรามาสจากคนอื่นที่ไม่ใช่คนรอบตัวในวัยเดียวกัน เพราะเมื่อบอกว่าจะฝึกงานเป็นช่างภาพข่าว ภาพจำของคนอื่นคือการออกไปตากแดดตากฝน คลุกดิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ ‘เหนื่อย’ เกินกว่าความสามารถของผู้หญิง

ศวิตา พูลเสถียร ช่างภาพข่าว เว็บไซต์ The Standard / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

และไม่ใช่เพียงแค่เธอเท่านั้นที่เคยเผชิญกับคำถามเหล่านั้น รุ่นน้องผู้หญิงอีกคนที่สนใจอยากฝึกงานในด้านช่างภาพข่าวก็เคยมาปรึกษาว่ากำลังตกอยู่ใต้ความลำบากใจกับประเด็นเดียวกันกับที่เธอเคยเจอ

“น้องผู้หญิงคนหนึ่งอยากมาฝึกแบบเรา อยากมาฝึกช่างภาพข่าว แล้วมันก็มาเล่าว่า แม่มัน เพื่อนรอบข้าง ก็บอกว่า ‘จะไหวหรือ เหนื่อยนะ’ อะไรแบบนี้ รู้สึกว่า เป็นคำพูดแรกที่หลายๆ คนชอบพูดถึงเวลาเป็นช่างภาพผู้หญิง เหนื่อยนะ ทำไมไม่ไปฝึกอย่างอื่น เหมือนคนชอบรู้สึกว่าเป็นผู้หญิง จะทำงานเหนื่อยๆ ไม่ได้”

โดยเธอเองก็ตั้งประเด็นเอาไว้ว่า คำถามที่กึ่งคล้ายคำขู่ให้เสียขวัญและตัดกำลังใจเหล่านี้คงไม่เกิดขึ้น หากคนที่ตั้งใจมาฝึกงานเป็นช่างภาพข่าวเป็นเพศชาย

“เหมือนเขาก็เล่าให้ฟังแหละว่าเห็นเราพรีเซนต์ฝึกงาน มันดูเหนื่อย จะไหวหรือ แต่ถ้ากลับกันว่าเป็นผู้ชายยื่นฝึกงาน ก็คงจะไม่มีคำพูดแบบนั้น เพื่อนก็คงไม่บอกว่ามันเหนื่อยนะมึง มันก็เป็นเรื่องแปลกว่า อ้าวแล้วทำไมน้องผู้หญิงคนนี้จะไปฝึก เพื่อนต้องพูดแบบนี้ แต่ถ้าสมมติเป็นอีกคนที่เป็นผู้ชาย เขาก็คงไม่พูด”

รับเฉพาะผู้ชาย?

ศวิตาให้ข้อมูลต่อไปว่า เธอเคยคุยกับรุ่นพี่ช่างภาพข่าวคนหนึ่งในประเด็นการเลือกปฏิบัติจากเพศสภาพและการกีดกันทางเพศในการทำงานเป็นช่างภาพข่าวเช่นกัน โดยรุ่นพี่คนนั้นเล่าถึงประเด็นความยากลำบากในการหางานสายนี้หากเป็นเพศหญิงหรือเพศทางเลือก สำหรับสายงานช่างภาพนิ่งอาจไม่เห็นอย่างชัดเจนว่ามีการเลือกปฏิบัติด้านเพศ แต่ในส่วนของประกาศรับสมัครช่างภาพข่าววิดีโอ มันไม่ใช่เรื่องประหลาดเลยที่จะเห็นข้อกำหนดว่าเป็นอาชีพที่รับสมัครเฉพาะเพศชายเท่านั้น

“แต่ว่าที่แน่ๆ ก็คือช่างภาพวิดีโอ เขาจะวงเล็บว่าผู้ชายไว้ ในหลายๆ บริษัทที่เคยเห็น ลองเสิร์จดูก็ได้ มันจะมีวงเล็บว่ารับแต่ผู้ชาย”

เธอยังให้ข้อสังเกตต่ออีกว่า กรณีที่พิจารณาเพียงอาชีพช่างภาพข่าวโดยไม่รวมถึงผู้ประกาศข่าวหรือว่านักข่าว สำนักข่าวในประเทศไทยบางสำนักก็ไม่มีช่างภาพผู้หญิงเลย หรือถ้ามีก็มีผู้หญิงเพียงแค่คนเดียวเท่านั้น ไม่มีองค์กรสื่อสารมวลชนหรือเอเจนซีข่าวใดเลยที่มีช่างภาพข่าวผู้หญิง 2 คนขึ้นไป

“ผู้หญิงก็อาจจะน้อยกว่าอยู่แล้วล่ะ แต่ไม่คิดว่ามันจะน้อยถึงขั้นว่าหลายๆ สำนักไม่มีผู้หญิง หรือว่ามีก็มีแค่ 1 คน ไม่มีสำนักไหนเลยที่มีช่างภาพผู้หญิง 2 คน ที่เป็นช่างภาพข่าวอยู่ในสำนักเดียวกัน นอกจากสำนักข่าวต่างประเทศหรือพวกเอเจนซี”

ศวิตาในสนามการทำงาน ซึ่งส่วนมากเต็มไปด้วยช่างภาพข่าวเพศชาย / ณัฐวรีย์ ฐิตวัฒนะสกุล
การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่เปิดกว้างมากขึ้น

นับตั้งแต่ศวิตาเริ่มทำงานด้านช่างภาพข่าวเต็มตัวเป็นเวลาเกือบ 2 ปีเต็ม เธอเล่าให้เราฟังว่าตนยังไม่เคยพบประสบการณ์เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติทางเพศจากกลุ่มสังคมช่างภาพข่าวในรุ่นราวคราวเดียวกัน คนที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกันมักจะเปิดกว้างเรื่องเพศและไม่เคยคิดว่าการที่เธอเลือกประกอบช่างภาพข่าวเป็นเรื่องประหลาดหรือไม่สมควร

ในช่วงแรกเธอเล่าว่าก็เคยมีความรู้สึกกระอักกระอ่วนในการทำงาน หากไม่ได้เกิดจากเรื่องของเพศ แต่เป็นเรื่องของการเป็นเด็กใหม่ในอาชีพนี้ ที่ต้องเข้าไปอยู่ในวงสังคมที่มีความแตกต่างเรื่องอายุพอสมควรมากกว่า

นอกจากเธอจะไม่เคยเจอปัญหาเรื่องการกีดกันทางเพศแล้ว เพื่อนร่วมวงการจำนวนมากยังเข้าใจข้อจำกัดของเธอ อย่างเรื่องของประจำเดือนและอาการปวดท้องที่ทุกคนก็พร้อมให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี

“ที่เจอนะ โอเค ทุกคนช่วยเหลือดี อย่างบางวันที่มันเป็นงานที่ค่อนข้างเหนื่อย แล้วเรามีประจำเดือน เราก็บอกกับคนรอบข้างว่าเมนมา ปวดท้อง อะไรอย่างนี้ เหมือนว่าหลายคนเข้าใจเราเพราะว่าแฟนเขาก็เป็น พี่เขาก็จะ โอ๊ะ เมนมาหรือ เดี๋ยวเขาไปซื้อข้าวให้ นั่งรอไปก่อน แต่ว่าตอนถ่ายเราก็ทำงานเต็มที่แหละ แต่เหมือนว่าระหว่างงานคนรอบข้างก็จะซัพพอร์ต”

เธอเสริมว่าตนเองยังไม่เคยมีปัญหาตกอยู่ใต้บทสนทนาลักษณะส่อไปยังเรื่องทางเพศที่ไม่ให้เกียรติเพศหญิง หรือโดนกันออกจากวงสังคมเพราะความแตกต่างจากการเป็นผู้หญิง รวมไปถึงไม่มีข้อติดขัดในการประสานงานกับช่างภาพรายอื่นเพราะสุดท้ายทุกคนก็ทำงานใต้เนื้อหาของงานชิ้นเดียวกัน

บางครั้งเนื้องานกลับกีดกันเรื่องเพศ

แม้ว่าศวิตาจะไม่เจอปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมหรือการกีดกันทางเพศจากกลุ่มช่างภาพข่าวด้วยกันเอง แต่มันก็มีเรื่องที่ยังไม่เข้าใจหลายข้อ อย่างที่เธอเล่าว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานกลับเป็นประเภทของงาน หรือ ‘แหล่งข่าว’ บางคนที่ไม่ต้อนรับช่างภาพข่าวผู้หญิงเท่าไหร่นัก

ตัวอย่างที่เธอเคยเจอมักจะเป็นการทำงานในงานพิธีกรรมบางประเภท ที่เธอได้รับมอบหมายให้ไปถ่ายรูป อย่างเช่นงานพิธีในเทศกาลกินเจ โดยระหว่างที่ทำงานอยู่นั้น เธอจับสังเกตได้ว่าผู้จัดพิธีได้มองมาทางเธอหลายต่อหลายครั้ง จนกระทั่งรุ่นพี่ช่างภาพข่าวอีกคนที่ไปด้วยกันมามอบคำเฉลยว่าเพราะอะไรผู้จัดงานจึงมีทีท่าเช่นนั้น

“เขาบอกว่าจริงๆ แล้วไม่อยากให้น้องคนนี้ (ศวิตา) มาถ่าย เป็นผู้หญิง มันเป็นพิธี มาเดินวุ่นวาย”

โดยหลังจากที่เพื่อนร่วมงานที่ไปด้วยกันรับทราบเช่นนั้น ก็ตกลงกันที่จะไม่เข้าไปเก็บภาพภายในงานเพิ่มเติมอีก โดยทางช่างภาพผู้ชายคนนั้นก็ให้ความเห็นเกี่ยวกับการกีดกันที่มีต้นเหตุจากเรื่องเพศว่า

“นี่ยุคสมัยไหนแล้ว ยังจะมาห้ามอย่างนี้อีก เพราะว่าจริงๆ แล้วคนที่ร่วมในพิธีก็มีผู้หญิงเหมือนกัน แล้วทำไมผู้ชายอีกสองคนก็ถ่ายได้ อะไรอย่างนี้ ไม่เข้าใจตรงนี้”

ศวิตายกอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าในบางครั้งสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการทำงานคือลักษณะของงานที่เข้าไปทำ อย่างเช่นเรื่องของการถ่ายภาพในสนามมวย ที่มีการกำหนดเอาไว้ชัดเจนว่าห้ามผู้หญิงข้ามเข้าไปในพื้นที่ที่ใกล้ขอบสนามกว่า ซึ่งเธอก็มองว่านั่นเป็นการกีดกันที่ทำให้ทำงานไม่เต็มที่และเสียโอกาสเรื่องมุมมองในการถ่ายภาพเช่นกัน

ศวิตาตรวจสอบภาพถ่ายด้วยคอมพิวเตอร์หลังการถ่ายภาพบรรยากาศเยาวราชช่วงทองคำขึ้นราคา การส่งภาพต่อไปยังกองบรรณาธิการโดยเร่งด่วนหลังเสร็จสิ้นการถ่ายถือเป็นอีกหนึ่งความรับผิดชอบสำคัญ โดยเธอเองต้องทำงานแข่งกับเวลาเช่นเดียวกับช่างภาพคนอื่นๆ / ณัฐวรีย์ ฐิตวัฒนะสกุล
ข้อจำกัดไม่ใช่ข้ออ้าง

หากการเป็นผู้หญิงไม่ใช่เรื่องของข้อด้อยของการประกอบอาชีพเสมอไป ศวิตาเองก็มองว่าตนเองก็มีข้อได้เปรียบในการทำงานเช่นกัน ในส่วนของความน่าเชื่อถือหรือความสะดวกใจที่จะให้สัมภาษณ์ ดั่งที่ปรากฎว่าในหลายครั้ง เมื่อเป็นผู้หญิงเดินเข้าไปขออนุญาตถ่ายรูปหรือการขอสัมภาษณ์เพื่อใช้ประกอบงาน ก็จะได้รับการตอบรับในทางบวกมากกว่า

ในส่วนของข้อด้อยนอกเหนือจากเหตุผลที่ทางเจ้าของงานพิธีไม่ต้องการให้ผู้หญิงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง เธอเล่าว่าเรื่องปวดท้องประจำเดือนก็เป็นอีกหนึ่งข้อจำกัดทางร่างกาย หากเธอไม่เคยคิดนำสิ่งนั้นมาเป็นสิทธิพิเศษให้ตัวเอง

“เหมือนสมมติว่ามีประจำเดือน ทรมานนะ แต่ก็พยายามไปทำงานให้ปกติ เพราะรู้สึกว่าไม่อยากให้มันมาเป็นข้อที่เราทำงานน้อยกว่าเขา เราก็กินยา จะต้องพยายามทำงานให้วันนั้นเสร็จไป แต่ถ้ามันไม่ไหวจริงๆ ก็ขอลาหยุด แต่จะพยายามไม่ลาหยุด เพราะรู้สึกว่ามันจะเป็นข้อเสียเปรียบของผู้ชาย ที่เขาไม่ได้มีเมนก็ต้องทำงาน เราไม่อยากให้มันเป็นข้อได้เปรียบเรา รู้สึกว่าไม่ชอบการมีพริวิเลจ ต้องการให้มันเท่ากันมากที่สุด”

เราทิ้งคำถามสุดท้ายกับการสนทนากับศวิตาว่าหากมีรุ่นน้องผู้หญิงคนอื่นเข้ามาขอคำปรึกษาและให้กำลังใจเกี่ยวกับการทำงานเป็นช่างภาพข่าวหญิง เธอจะตอบว่าอย่างไร

“ทำได้ เพราะว่าเราก็ทำได้ ก็เหมือนที่บอกว่าไม่ได้มองระหว่างทาง มองผลลัพธ์ว่าได้รูปเหมือนกัน”

ศวิตาขณะถ่ายภาพบรรยากาศของเยาวราชในช่วงราคาทองคำพุ่งขึ้นสูง เธอมักใช้เก้าอี้พลาสติกสำหรับหามุมมองที่แตกต่าง รวมถึงชดเชยเรื่องส่วนสูง / ณัฐวรีย์ ฐิตวัฒนะสกุล

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนจากการสัมภาษณ์กับศวิตาคือประเด็นในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านทางความคิดของช่างภาพข่าวยุคใหม่ ที่เปิดกว้างในเรื่องเพศและเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ 

แตกต่างจากประสบการณ์ของอีกหนึ่งช่างภาพข่าวหญิงที่ทำงานในวงการข่าวมามากกว่า 5 ปี ที่ตอบโดยทันทีว่าหากมีผู้หญิงอยากเข้ามาทำงานในวงการนี้ เธอจะบอกให้หญิงสาวเหล่านั้น ‘หนีออกไป’

ความไม่เท่าเทียมตั้งแต่ก้าวแรก

คุณเอ (สงวนชื่อนามสกุล) ทำงานในตำแหน่งช่างภาพข่าวให้กับเอเจนซีข่าวแห่งหนึ่ง เริ่มทำงานในสายอาชีพงานข่าวตั้งแต่จบชั้นปริญญาตรีและทำเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เธอเล่าว่าตนเองผ่านประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ขาดกับเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศมานับครั้งไม่ถ้วน

เอ เริ่มต้นเล่าว่าการกดทับในวงการช่างภาพข่าวอันมีเหตุจากการที่ตนเองเป็น ‘ผู้หญิง’ เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงการฝึกงานในชั้นปริญญาตรี ในวันแรกของการฝึกงานหัวหน้าที่ดูแลเธอในขณะนั้นมีการกำหนดว่าเป็นผู้หญิงก็ต้องจำกัดเรื่องเครื่องแต่งกาย เธอต้องแต่งตัวรัดกุมและทรงผมก็จำเป็นต้องมีการมัดเอาไว้ โดยแจ้งว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการทำงาน

“เราจำได้เลยว่าวันแรกที่ไปถึงที่ฝึกงาน เราใส่ชุดนักศึกษาไป แล้วหัวหน้าก็พูดประมาณแบบ เธอจะทำผมแบบนี้ไม่ได้นะ คือตอนนั้นปล่อยผมไง เพราะผมยาว เออ แบบทำผมแบบนี้ไม่ได้นะ เพราะว่าแบบนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน อะไรอย่างนี้ แต่งตัวก็ต้องรัดกุม มิดชิดนะ ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่รู้สึกอะไร เราก็แบบ ก็เห็นด้วย แต่พอมานึกย้อนกลับไปแล้ว คิดในใจว่า เขามีสิทธิอะไร ใช่ไหม ถ้าเราทำงานได้มันก็จบหรือเปล่า”

หรือเรื่องของการแต่งตัวที่บอกว่าต้องรัดกุม มิดชิด แต่สุดท้ายแล้วเธอก็ยังเผชิญกับปัญหายิบย่อยอื่น เช่น ในช่วงหนึ่งที่เธอสะดวกใจสวมกางเกงขายาวสีดำทรงเข้ารูปในการทำงาน ก็ไม่พ้นการตกเป็นเป้าสายตา หรือเจอกับเสียงหัวเราะขำขันในเชิงล้อเลียนเครื่องแต่งกายจากคนทำงานร่วมกันอยู่ดี

เอ (สงวนชื่อนามสกุล) และกล้องของเธอ เธอทำงานในตำแหน่งช่างภาพข่าวให้กับเอเจนซีข่าวแห่งหนึ่ง และอยู่ในแวดวงภาพข่าวมาหลายปี / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์
ชีวิตที่ต้องระวังตัวในทุกย่างก้าว

ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของการแต่งกายหรือว่าทรงผมเท่านั้น เธอยังเจอกับการวางตัวที่มีความลำบากกว่าคนอื่นในการทำงาน เพราะเมื่อเป็นเพศหญิงไม่กี่ชีวิตท่ามกลางกลุ่มของช่างภาพผู้ชาย สิ่งที่ตามมาคือต้องระวังเรื่องการวางตัวกับทุกคน หลีกหนีการเป็นจุดสนใจ หรือการรับมือกับหลายคนที่อยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตของเธอ

เอ ขยายความว่า กรณีที่คนเหล่านั้นเข้าหาในเชิงเอ็นดู เป็นการต้อนรับรุ่นน้องคนใหม่ที่เข้ามาอยู่ในวงการ เธอไม่คิดติดใจอะไรมากนัก เพราะการทำงานในวงการข่าวเธอตั้งคติอยู่แล้วว่าต้องทำงานอย่างมืออาชีพและเข้ากับคนอื่นได้ หากส่วนที่เธอรับไม่ได้คือบทสนทนาที่หลายๆ ครั้งเป็นมุกสองแง่สองง่ามเกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศ หรือจะเป็นในส่วนของการแซวเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาของเธอ

“แต่ว่าบางคนมันเกินเลยไป อย่างเช่นบางคนเขาก็จะแบบ Sexual joke อย่างนี้เยอะมาก ไม่ว่าจะด้วยล้อเราด้วยรูปร่างหน้าตา อะไรอย่างนี้”

หรือแม้กระทั่งเรื่องของความสวยงาม ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาที่มีไม่พอบางวันเธอก็เลือกที่จะไม่แต่งหน้าทำไปงาน แต่กลับเจอคำพูดในเชิงล้อเลียนเกี่ยวกับใบหน้าของตนเอง

“เมื่อก่อนวันไหนไม่แต่งหน้า รีบจริงๆ ช่างภาพก็จะเข้ามา โห หน้าสดเลยอะ คิ้วไปไหนวะ อันนี้หน้าจริงหรือ” เอเล่าเสริมสำหรับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการแต่งหน้าที่ตนเองเจอ

นอกจากนี้ความเป็น ‘ผู้หญิง’ ของเธอยังส่งผลต่อการทำงานที่เธอสัมผัสได้ว่า ด้วยมายาคติเรื่องช่างภาพข่าวเป็นอาชีพของผู้ชาย ผู้หญิงไม่สามารถทำงานนี้ได้

ส่งผลให้ตัวเองต้องพิสูจน์ตัวเองผ่านการทำงานและการสร้างผลงานตลอดเวลา และไม่มีวันจบสิ้น จนเธอเองก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าหากเธอเป็นผู้ชาย เธอจำเป็นต้องอยู่ใต้แรงกดดันเช่นนี้หรือไม่

“มีคนตั้งคำถามกับฝีมือเราตลอดเวลา ทำให้เรารู้สึกว่า เราต้องทำงานหนักกว่าคนทั่วไป เคยคิดนะ ว่าถ้าเป็นผู้ชายเข้ามาในวงการนี้ จะต้องพิสูจน์ตัวเองขนาดนี้ไหม ก็คงไม่ แต่ในทางกลับกันเรารู้สึกว่าเราต้องทำมากกว่าเขา แล้วเราไม่เคยปฏิเสธงานเลยนะ ไม่ว่าหนักขนาดไหน ต่อให้งานวันนี้ลากยาวไปถึงอีกวัน เราก็ไปต่อได้ หัวหน้าบอกว่า หมายต่อไป ไปนี่ๆ เราก็ไป ไม่เคยบ่น หรือโน”

ประสบการณ์ถูกลวนลาม

ถัดจากมุกตลกทางเพศที่เธอไม่เคยขำขันไปกับมันและการพิสูจน์ตัวเองในการทำงานไม่มีวันจบสิ้น เอเล่าบางส่วนของประสบการณ์นับครั้งไม่ถ้วนจากการคุกคามโดยเพื่อนร่วมสายอาชีพและระหว่างการทำงาน

เธอเคยตกอยู่ใต้สถานการณ์การถูกลวนลามจากรุ่นพี่ร่วมอาชีพระหว่างการทำงาน โดยรุ่นพี่คนนั้นมีอาการมึนเมาตั้งแต่หัววัน เมื่อเธอยกมือไหว้ชายคนนั้นก็ถือโอกาสจับมือโดยบอกว่าเป็นการรับไหว้ และหลังจากนั้นก็เข้ามาโอบเธอไว้ การเข้ามาถึงเนื้อต้องตัวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเธอในครั้งนั้นส่งผลให้เธอนำเรื่องไปบอกกับทางหัวหน้า ตามมาด้วยการไล่ชายคนนั้นออกจากงาน

หรือว่าจะเป็นในส่วนของการคุกคามที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน เธอเล่าว่าครั้งหนึ่งไปถ่ายรูปเพื่อทำข่าวเกี่ยวกับตึกถล่มที่จังหวัดปทุมธานี เธอกำลังยืนอยู่กลางกลุ่มกู้ภัยเพื่อรอเก็บภาพการทำงาน ในจังหวะแรกเหมือนมีคนมาสะกิดแผ่นหลังหากเธอก็ยังคงสนใจเรื่องงานตรงหน้ามากกว่า หากอีกฝ่ายคงย่ามใจว่าเธอไม่กล้าทำอะไรจึงลวนลามรุนแรงขึ้นด้วยการจับก้น

“เริ่มจากเอามือมาเขี่ยๆ เราก่อน โดนตัวโดนหลัง ก็ยังไม่พูดอะไร หันไปมอง สักพักก็เริ่มกลายเป็นเอามือมาจับก้น แล้วคือจังหวะนั้นมันเป็นจังหวะที่แบบ เรายังเด็กใช่ไหมก็ช็อก ไม่ทำอะไร ยืนนิ่ง ยืนแข็ง พูดอะไรไม่ออก แล้วก็ถอยจากตรงนั้น แต่พอกลับบ้านคือร้องไห้หนักมาก คือรู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมอะ ทำไมเราต้องโดนแบบนี้”

เฉกเช่นเดียวกับประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยบาดแผล กล้องของเอเองก็เต็มไปด้วยร่องรอยของช่วงเวลาหลังผ่านการใช้งานในฐานะช่างภาพข่าว / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

ต้องพูดเพื่อหยุดการทำร้าย

ภายหลังจากที่เก็บเรื่องราวอันไม่พิสมัยที่ประสบมาไว้กับตัวเองเป็นเวลานานพอสมควรก่อนที่จะกล้าร้องเรียนกับทางหัวหน้า สอนให้เธอรู้หนึ่งสิ่งว่าหากเจอความไม่ยุติธรรมในการทำงาน ไม่ว่าจะมีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ต้องทำคือการ ‘พูด’ และ ‘สู้’ เพื่อสิทธิของตนเอง

“เมื่อก่อนเงียบ แล้วกลับไปร้องไห้คนเดียว เดี๋ยวนี้สู้ ไม่ยอม เถียง ด่า ไม่ยอมแน่นอน … ถ้าเราไม่พูด มันก็จะทำร้ายเราอยู่อย่างนั้น หรือแต่ข้างในเองก็มีเรื่องการละเมิดทางเพศ มีคนเพิ่งโดนไล่ออกไป ซึ่งเราเป็นคนโดนกระทำ เราหนึ่งในเหยื่อของเขา”

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแจ้งให้หัวหน้าทีมทราบว่าถูกช่างภาพคนอื่นแตะเนื้อต้องตัวโดยไม่ได้รับอนุญาต การบอกกับกลุ่มช่างกล้องที่เข้ามาพูดจาเชิงล้อเลียนเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาและการแต่งกายว่าเธอรู้สึกไม่โอเคกับเรื่องเหล่านี้ หรือการยืนหยัดเพื่อสิทธิเมื่อถูกลวนลามและละเมิดทางเพศในสถานที่ทำงาน

อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้หญิง เอก็ยังคงต้องเผชิญกับทัศนคติทางลบที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดเพศไม่จบสิ้น อย่างที่เธอเล่าว่าหนึ่งในความรับผิดชอบคือการให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับผลงานของผู้ใต้บังคับบัญชา และเธอก็มารู้ว่าลับหลังคนเหล่านั้นนินทาและใช้ถ้อยคำที่ลดทอนศักดิ์ศรีของเธอ รวมถึงดูแคลนฝีมือการทำงานอยู่เสมอ

“ทุกวันนี้ด้วยสถานะงานของเรา เราต้องคอยคอมเมนต์งานคนว่าคุณถ่ายมุมนี้ไม่ได้นะ คุณทำอย่างนั้นไม่ได้ คือมีคนมาบอกเราว่า พวกเขาคุยกันว่าเราเป็น such a bitch อะไรอย่างนี้ ที่มาคอมเมนต์งานแบบนี้ ตัวเองทำได้เท่านี้หรือเปล่า”

งานนี้คืองานของผู้ชาย

เอยังเล่าประสบการณ์ที่ตอกย้ำมายาคติและความเชื่อว่าอาชีพของช่างภาพข่าวเป็นเรื่องของผู้ชายเท่านั้น อย่างเรื่องการออกไปทำงานในบางพื้นที่หรือบางจังหวัด ที่หลายครั้งเธอไม่ได้รับการอนุมัติให้ลงพื้นที่ทำงานหากไปคนเดียว หรือว่าจะไม่ยอมให้เธอไปกับคนขับรถเพียงแค่สองคนเท่านั้น ซึ่งในมุมหนึ่งมันก็อาจจะมองได้ว่าเป็นเรื่องของความหวังดี หากเธอก็ยังคิดอยู่เสมอว่าเธอสามารถดูแลตัวเองได้

และทัศนคติของหัวหน้างานเองก็ส่งผลเช่นกัน เธอเล่าว่าในช่วงหนึ่งเธอมีหัวหน้างานเป็นผู้ชาย และเธอก็เคยพลาดโอกาสในการทำงานหลายครั้งเนื่องจากหัวหน้ามองว่าเธอเป็นผู้หญิง แต่ชิ้นงานเหล่านั้นเป็นงานของผู้ชายเท่านั้น

“งานตำรวจบุกจับยาเสพติด เราก็กะจะต้องได้ภาพแน่เลย เป็นคอมมานโดจู่โจม ตรงชายแดนระหว่างลาวกับไทย แล้วมีแต่นักข่าวผู้ชาย ช่างภาพนิ่งผู้ชาย ตำรวจผู้ชาย เขาไม่ให้เราไป เขาบอกว่างานนี้เป็นงานผู้ชาย เขาพูดคำนี้เลยนะ เราจำได้จนถึงทุกวันนี้”

หรือว่าการออกไปทำงานในแต่ละครั้ง เธอมักจะได้รับคำถามที่เธอสังเกตได้ว่ามีการกดทับทางเพศบางอย่างซ่อนอยู่ เช่นหากเธอจะออกไปทำงานหนึ่งครั้ง คนอื่นก็จะถามเธอว่า ทำไหวหรือเปล่า ทำคนเดียวได้หรือไม่ หรือต้องการผู้ช่วยไหม ซึ่งหากเป็นผู้ชายออกไปทำงานลักษณะกัน คำถามเหล่านั้นไม่เคยเกิดขึ้น

ความไม่เท่าเทียมทางเพศไม่ได้ปรากฏเพียงเรื่องของประเด็นพลาดโอกาสในการทำงาน และการดูแลที่มากเกินกว่าที่เธอต้องการ 

เอยังยอมรับว่าประเด็นความไม่เท่ากันของคนสามารถพิสูจน์ได้จากตัวเลข ‘เงินเดือน’ เมื่อเทียบปริมาณงานที่เธอรับผิดชอบกับเพื่อนร่วมงานตำแหน่งช่างภาพข่าวอีกคนหนึ่งที่เป็นผู้ชาย 

เพราะในขณะที่ผู้ชายคนนั้นรับผิดชอบเพียงส่วนของการถ่ายภาพ เนื้องานของเอมีทั้งส่วนของการถ่ายรูปภาคสนาม และรวมถึงหน้าที่การประสานงานภายในองค์กรอีกด้วย หากตัวเลขเงินเดือนของเธอกลับน้อยกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ

“เราไม่มีวันพิสูจน์ตัวเองจบสิ้น ต่อให้เวลามันเปลี่ยนไป องค์กรมันปรับเปลี่ยน เขาต้องการที่จะพูดว่ามีความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) นะ การจ้างคนต้องมีผู้หญิงผู้ชายปนกัน ในความเป็นจริงมันไม่มีวัน โดยเฉพาะในสายงานนี้”

ด้วยเหตุผลนานัปการ เอจำเป็นต้องสงวนชื่อและนามสกุลของเธอในการแสดงความคิดเห็น / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์
ผู้หญิงจึงต้องรวมตัวเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียม

จากกรอบเรื่องเพศที่นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติ เอกล่าวถึงการรวมกลุ่มกันของช่างภาพข่าวผู้หญิงทั่วโลก เพื่อชูบทบาทและประกาศการมีตัวตนในสังคมของพวกเธอ เพื่อทำลายภาพจำเกี่ยวกับอาชีพช่างภาพข่าววว่าเป็นเรื่องของผู้ชาย และผู้หญิงเหมาะกับงานเขียนข่าวมากกว่า

“เพราะเรามั่นใจว่าผู้หญิงทุกคนที่อยู่ในวงการนี้ รู้สึกว่าเราไม่ได้รับความเท่าเทียมเหมือนกัน แล้วงานอะไรที่ผู้ชายทำได้ จริงๆ เราก็ทำได้ แต่เขาไม่ได้รู้สึกว่าเราควรต้องทำ เขาอยากให้เราไปทำงานประสานงาน เขียนข่าวแทน”

คำถามทิ้งท้ายสำหรับการบันทึกรสชาติขมเฝื่อนในการทำงานเป็นช่างภาพข่าว คือ เอเชื่อหรือไม่ว่าในเวลาอันใกล้โลกของช่างภาพข่าวจะเปลี่ยนแปลงไป ความเท่าเทียมทางเพศจะปรากฏ และผู้หญิงจะมีบทบาทมากขึ้น

เธอตอบกลับทันที

“ไม่มีวัน ไม่มีทาง คือสุดท้ายมันก็มาจากพื้นฐานความเชื่อของคนอยู่แล้ว มันไม่ใช่แค่สังคมไทย มันทั้งโลก มันมองว่าผู้หญิงเนี่ยเป็นเพศที่อ่อนแอกว่า เป็นคนที่ต้องทำงานที่ไม่ต้องใช้แรง ไม่ต้องใช้กำลัง อยู่กลางแดด อะไรอย่างนี้ เราว่าสุดท้ายมันเปลี่ยนไม่ได้”

ภายหลังจากคุยผ่านประสบการณ์ของช่างภาพข่าวผู้หญิง 2 คนที่เผชิญความยากลำบากในการทำงานคนละแง่มุม หากมีจุดร่วมคือเพราะตนเองเป็นผู้หญิง เราบันทึกประเด็นที่น่าสนใจเหล่านี้เป็นคำถามสำหรับการสัมภาษณ์อาจารย์ผู้สอนวิชาการถ่ายทำเชิงวารสารศาสตร์ขั้นสูง เพื่อค้นหาว่าในมุมของอาจารย์ผู้สอนและคลุกคลีกับนักศึกษา ที่มีความคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ ทำไมช่างภาพข่าวถึงมีแต่ผู้ชาย แล้วแนวโน้มของนักศึกษาในปัจจุบันกับอาชีพช่างภาพข่าวเป็นอย่างไร

เริ่มต้นจากโครงสร้างการศึกษา

“มีแต่ผู้ชายเพราะมันเริ่มมาจากผู้ชาย ในอดีตเวลาโปรโมตต่างๆ เราก็โปรโมตแต่ผู้ชาย ก่อนเรามีโซเชียลมีเดียมันเป็นโลกของผู้ชายหมดเลย เวลาอยู่ในแสง”

คือคำตอบว่าเพราะอะไรช่างภาพข่าวจึงมีแต่ผู้ชายเกือบทั้งหมดของ ผศ. กานตชาติ เรืองรัตนอัมพร ผู้สอนวิชาการถ่ายทำเชิงวารสารศาสตร์ขั้นสูง คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

โดยวิชานี้มีการสอนเกี่ยวกับการผลิตภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหว เน้นเจาะลึกในส่วนของการนำเสนอประเด็นและการสร้างสรรค์ผลงาน รวมไปถึงการทำงานภาคสนามในเชิงลึก จากพื้นหลังผู้สอนผู้เห็นการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย และในมุมของกานตชาติ แล้ว ปัญหาเรื่องของเพศและการทำงานในสายช่างภาพข่าวเริ่มต้นจากที่ใด

เขาเริ่มต้นจากการอธิบายเรื่องโครงสร้างการศึกษาของไทย ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาเรื้อรังทั้งหมด นับตั้งแต่ประเด็นของนักเรียนมัธยมจำนวนมากไม่ทราบว่าตัวเองมีความสนใจด้านใด แล้วจะต้องไปเรียนต่อคณะไหน หรือว่าส่วนที่รู้ว่าตนเองมีความสนใจและอยากเรียนคณะไหนเพื่อไปประกอบอาชีพ ระบบการศึกษาของไทยผลักเด็กบางกลุ่มออกจากความสนใจในสายวิชาตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าเรียน ผ่านการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เอื้อให้ผู้ที่สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษามากกว่า

จนกลายเป็นว่านักเรียนไม่ได้รับโอกาสในการเข้าศึกษาต่อภายในมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมในการสอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพเป็นช่างภาพข่าว ส่วนเด็กจำนวนไม่น้อยที่ได้เข้ามาเรียนก็ไม่ได้สนใจในอาชีพช่างภาพข่าวและไม่ลงเรียนวิชานี้ โครงสร้างทางการศึกษาที่ตัดเส้นทางการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนตั้งแต่ก่อนเริ่มเข้ามหาวิทยาลัยก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบว่าเพราะอะไรช่างภาพข่าวผู้หญิงจึงน้อยจนเรียกว่านับหัวได้

นักศึกษาในคลาส 10 ชีวิต

กานตชาติประเมินให้ฟังว่าในสมัยที่เขาเรียนในมหาวิทยาลัย นักศึกษาในวิชาวิชาการถ่ายทำเชิงวารสารศาสตร์ขั้นสูง อยู่ที่ประมาณ 20-30 คน หากตั้งแต่เขาเป็นผู้รับผิดชอบในรายวิชานี้ จำนวนนักศึกษามักมีไม่เกิน 10 คน โดยที่น้อยที่สุดอยู่ที่ 2 คนเท่านั้น

ตัวเลขสัดส่วนเรื่องเพศในแต่ละเทอมจะมีนักศึกษาหญิงอยู่ที่ 20-30% หรือว่าไม่เกิน 3 คนจากผู้ลงทะเบียนเรียน 10 คน ทางกานตชาติ ประเมินว่าเหตุที่ตัวเลขนักศึกษาหญิงมีน้อยกว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งความต้องการในการเรียนของนักศึกษาและเนื้อหาของตัววิชาที่ต้อง ‘ปะ ฉะ ดะ’ หรือจำต้องลงมือในทางปฏิบัติ พบเจอผู้คนมากพอสมควร เมื่อประกอบเข้ากับการเรียนที่ยังคงต้องรับผิดชอบวิชาอื่นไปพร้อมกันแล้ว การเรียนวิชานี้อาจ ‘หนัก’ เกินไปสำหรับนักศึกษาไม่น้อย

“เดาได้ เพราะว่าเป็นวิชาที่ต้องเดินทางเยอะ ต้องออกแรงเยอะ ต้องลงพื้นที่เยอะ ซึ่งเมื่อไปดูชีวิตของเขา เขาก็มีวิชาอื่น มันไม่ได้ออกไปไหนได้ง่ายๆ การออกไปมันมีต้นทุน …คือวิชาข่าว ภาพข่าว มันเป็นวิชา ปะ ฉะ ดะ มันต้องไปเจอนู่นเจอนี่เจอนั่น มันทำให้เด็กผู้หญิงหลายคนค่อนข้างกังวล แต่จริงๆ แล้วมันไม่เกี่ยว”

โดย กานตชาติ ยังคงย้ำและให้ความเชื่อมั่นว่าวิชานี้ไม่ได้เป็นวิชาที่หนักเกินกว่าความสามารถของผู้เรียน และนักศึกษาผู้หญิงสามารถเรียนได้อย่างแน่นอน

แม้กานตชาติจะอยู่ในสถานะของอาจารย์มหาวิทยาลัย เขาก็มักจะหาเวลาเดินทางไปบันทึกภาพในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงสังเกตการทำงานของช่างภาพข่าวเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับการอธิบายในวิชาที่เขาสอน / วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์
กำแพงของผู้หญิง

ภายหลังจากการวิเคราะห์สาเหตุที่ผู้หญิงเลือกเรียนวิชานี้น้อยกานตชาติ ยังให้ข้อมูลการวิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อยของนักศึกษาต่างเพศภายในวิชานี้อีกด้วย

สำหรับนักศึกษาผู้หญิง จุดติดขัดที่สำคัญคือเรื่องของการก้าวข้ามความ ‘เป็นไปไม่ได้’ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความกังวลว่าจะไม่สามารถถ่ายรูปในบางประเด็น บางหัวข้อ หรือว่ามีความกลัวเรื่องเลอะเทอะ ที่กานตชาติ ยืนยันว่านักศึกษาไม่จำเป็นต้องไปตามล่าหาหัวข้อที่ไกลตัว แต่ให้เลือกจากหัวข้อที่ใกล้ตัวที่ตนเองคุ้นเคยและสะดวกใจที่จะทำงาน

หนึ่งตัวอย่างคือนักศึกษาหญิงที่รับผิดชอบโปรเจกต์เกี่ยวกับการทำนาบนน้ำ ลักษณะภาพถ่ายในดราฟแรกของเธอเป็นรูปถ่ายจากบริเวณบนตลิ่ง เห็นภาพมุมไกลทั้งหมด และรูปถ่ายเหล่านั้นไม่สามารถเล่าเรื่องในมุมของภาพข่าวได้ กานตชาติ จึงได้ให้ข้อเสนอแนะว่าอยากให้ลงไปถ่ายในมุมใกล้มากกว่านั้น และให้ก้าวข้ามความกังวลเรื่องความเลอะเทอะที่จะเกิดจากการลงพื้นที่

“เขาก็ไปถ่ายมาอีกที แล้วมาเล่าว่าหนูร้องไห้เลยนะ มันหยึยมากเลย อย่างนั้นอย่างนี้ คือคอมเพลนเยอะ แต่ปรากฎเขาก็บอกเราว่า พี่สอง (ผศ. กานตชาติ) หนูลงได้แล้วอะ หนูว่าหนูทำได้ล่ะ”

ในส่วนของนักศึกษาผู้ชาย กานตชาติ เล่าว่าปัญหาที่เจอในเนื้องานส่วนใหญ่คือเรื่องของความไม่รอบคอบกับปัญหาทางจริยธรรม เรื่องความระมัดระวังในการถ่ายภาพที่สุ่มเสี่ยงกับปัญหาความเป็นส่วนตัว หรือเรื่องของความห่าม เรียกได้ว่านักศึกษาแต่ละคนก็จะมีเรื่องที่ต้องระมัดระวังและเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป

เรื่องที่น่าสนใจอีกประเด็นคือการประเมินผล ที่ทางกานตชาติ ให้ข้อสังเกตว่านักศึกษาผู้หญิงในวิชามักมีผลการประเมินและเกรดที่สูงกว่านักศึกษาผู้ชาย เพราะการประเมินผลไม่ได้ดูเพียงแค่ผลลัพธ์เท่านั้น หากยังดูไปถึงพัฒนาการระหว่างทางตลอดเทอม ดังนั้นกานตชาติ เองก็ไม่อยากให้มายาคติเรื่องการทำงานวิชานี้เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาปิดกั้นโอกาสในการเรียนรู้

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว

จากมุมมองและสายตาของอาจารย์ผู้คลุกคลีอยู่กับนักศึกษาเสมอ นอกจากการให้ความเชื่อมั่นว่าเพศไม่ใช่อุปสรรคในการเรียน สำหรับแง่ของการทำงาน ปัญหาเรื่องการกีดกันหรือความไม่เท่ากันทางเพศในวงการช่างภาพข่าวมีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใดในช่วงที่ผ่านมา

“เปลี่ยนไปแล้วนี่ เยอะแยะ มันเริ่มเยอะขึ้น” กานตชาติ ตอบพลางให้ข้อสนับสนุนว่าจากที่สังเกตเห็นได้จากการลงพื้นที่ถ่ายงานข่าว พบว่าช่างภาพข่าวผู้หญิงรุ่นใหม่มากขึ้น

หรือหากมองเรื่องเส้นทางในการประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพในปัจจุบันก็กว้างกว่าเดิมมาก เพราะไม่ใช่เพียงแค่สำนักข่าวหรือว่าเอเจนซีเท่านั้นที่ต้องการช่างภาพ หากยังรวมไปถึงองค์กรรัฐและเอกชนเองก็เปิดตำแหน่งสำหรับคนทำงานด้านการข่าวหรือการประชาสัมพันธ์เช่นกัน

“ตอนนี้มันมีตลาดถ่ายรูป การรับนักข่าวกว้างขึ้น ช่างภาพข่าวเปิดตำแหน่งมากขึ้น แล้ววิชาข่าวมันไม่ได้หยุดแค่ที่องค์กรข่าว องค์กรที่เป็นองค์กรรัฐ เอกชนต่างๆ ก็ต้องการคนที่ทำข่าว ทำภาพ เพราะการประชาสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญ”

ผู้หญิงจะเข้ามาสร้างความเฟื่องฟูให้วงการ

กานตชาติยอมรับว่าหากมองในเรื่องของเพศสภาพกับบริบทรอบนอกของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมีปฏิสัมพันธ์กับแหล่งข่าวหรือแหล่งข้อมูล การลงพื้นที่ที่บางครั้งก็มีข้อจำกัด หรือว่าจะเป็นเรื่องของการถูกลวนลามทางคำพูดหรือร่างกายเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้หญิงในการเดินเข้าสู่วงการช่างภาพข่าว

หากความปรารถนาของกานตชาติ ก็ยังคงอยากให้มีผู้หญิงเข้ามาอยู่ในโลกของการถ่ายภาพข่าว เพราะเพศเองก็ส่งผลต่อความหลากหลายของมุมมองที่สะท้อนผ่านรูปถ่าย การที่มีแต่ภาพที่ถ่ายทอดผ่านมุมมองของผู้ชายเองก็ส่งผลต่อความเฟื่องฟูในเรื่องผลงานเช่นกัน

“(หากมีแต่ช่างภาพข่าวผู้ชาย) ก็เป็นปัญหา มันก็เป็นโลกของผู้ชาย วิธีการมองมุมอะไรต่างๆ ไปดูโปรเจกต์ของ Stephanie Sinclair สิ ไม่ใช่ผู้หญิงถ่ายแบบนั้นไม่ได้หรอก”

โปรเจกต์ดังกล่าวของ Stephanie Sinclair คือโปรเจกต์ Too Young to Wed อันเป็นชุดภาพถ่ายเกี่ยวกับการแต่งงานของเด็กผู้หญิงในตะวันออกกลาง อย่างประเทศปากีสถานและอัฟกานิสถาน อันเป็นพื้นที่ที่มีข้อจำกัดเรื่องศาสนาและความเชื่อ ซึ่งช่างภาพผู้ชายแทบไม่มีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสและบันทึกเรื่องราวเหล่านั้น

ดูภาพได้ที่: http://www.tooyoungtowed.org/

หรืออย่างที่เห็นได้ในหลายเหตุการณ์ว่าภาพถ่ายของผู้หญิงจะมีความละเอียดอ่อน มีความเข้าอกเข้าใจในบริบทของงานที่ทำการบันทึก และสะท้อนมุมมองการถ่ายภาพที่หลากหลายมากขึ้น เมื่อมีผู้หญิงในวงการมากขึ้น สิ่งที่ตามมาโดยอัตโนมัติคือการบีบให้ช่างภาพผู้ชายต้องพัฒนาฝีมือ ความระมัดระวัง และความรับผิดชอบต่อรูปถ่ายของตัวเองขึ้นไปเช่นกัน 

แล้วในท้ายที่สุด ปัจจุบันวงการช่างภาพข่าวเป็นวงการที่ ‘ปิดกั้นโอกาสสำหรับผู้หญิง’ จริงหรือไม่

“เราไม่คิดว่าวงการช่างภาพปิดขนาดนั้น เราคิดว่าทุกคนเปิด ถ้าฝีมือถึง เพราะสุดท้ายแล้ว วงการภาพถ่ายตรงนี้มันไม่เกี่ยวกับเพศ คุณเป็นใครก็ได้ รูปคุณถึงไหม ทุกอย่างมันตัดสินด้วยภาพใบเดียว” กานตชาติกล่าวทิ้งท้าย

การทำงานในสนามของศวิตา ช่างภาพหญิง The Standard และการสะพายอุปกรณ์เสริมจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นอุปสรรคกับการทำงานแต่อย่างใด / ณัฐวรีย์ ฐิตวัฒนะสกุล

ภายหลังจากการพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็นของแต่คนละที่แตกต่างทำให้เป็นเรื่องยากแก่การประเมินว่าผู้หญิงกับอาชีพช่างภาพข่าวในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นเช่นไร อัตราส่วนระหว่างเพศอาจจะเป็นเช่นไร หรือโลกแห่งภาพถ่ายจะพัฒนาต่อไปทางใดกันแน่

ในขณะที่บางสิ่งอาจต้องรอเวลาในการผลัดยุค แต่การสะสางทัศนคติและการปฏิบัติต่อผู้หญิงที่ประกอบอาชีพช่างภาพข่าว เพื่อหยุดความไม่เท่าเทียม การล่วงละเมิด และการคุกคามทางเพศจำเป็นต้องเกิดขึ้นโดยทันที ลบทุกความคิดว่าการทำงานเหล่านี้เหนื่อยเกินกำลังของผู้หญิง เพราะพวกเธอแสดงให้เห็นแล้วว่าคำกล่าวเหล่านั้นเป็นเพียงความเชื่อล้าสมัยที่ควรล้างออกไปเสียที

และเรายังคงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการทำงานในฐานะช่างภาพข่าวจะตัดสินกันที่ภาพ ไม่เกี่ยวข้องกับเพศอีกต่อไป

เขียนโดย: จามาศ โฆษิตวิชญ

About the author

PLUS SEVEN

PLUS SEVEN

Photo Editor/ Content Editor