ArticlesFEATUREDLatestOpinion

รัฐไทยได้มาตรฐาน? : เปิดแนวทางสลายการชุมนุมระดับสากล

การชุมนุมประท้วงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แม้ในหลายการชุมนุมอาจนำไปสู่ความรุนแรงตามวาระโอกาส แต่ไม่ได้ทำให้การชุมนุมหมดความชอบธรรมไปในทันที และหากมีความจำเป็นต้องสลายการชุมนุม การคงไว้ซึ่งรูปแบบที่ไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรง ดูจะเป็นตัวเลือกที่ได้รับการยอมรับมากกว่า

เช่นนั้นการสลายการชุมนุมในช่วงปี 2563 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ใช้น้ำผสมสารเคมีสีฟ้า (Methyl violet 2B) และน้ำที่ผสมแก๊สน้ำตาระดับเจือจางในการสลายการชุมนุม ล้วนเป็นหลักวิธีที่เป็นสากลดังที่สำนักงานตำรวจกล่าวอ้างหรือไม่ อาจต้องทำความเข้าใจในรายละเอียด

โดย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ OHCHR ได้วางแนวทางหรือหลักในการสลายการชุมนุมไว้ดังนี้

  1. เจ้าหน้าที่ควรเคารพและคุ้มครองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ในกรณีที่การชุมนุมมีความวุ่นวายหรือความรุนแรงเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ควรระบุตัวผู้ก่อความวุ่นวายแล้วแยกตัวออกมาจากผู้ชุมนุมรายอื่น เพื่อให้การชุมนุมโดยสงบยังดำเนินต่อไปได้ และหากการชุมนุมไม่สามารถระบุตัวผู้ก่อความเดือดร้อนได้ จึงเลือกใช้การสลายตามขั้นตอน
  2. การสลายการชุมนุมควรปราศจากความรุนแรงมากเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเริ่มจากมาตรการเบาไปหาหนักเสมอ การสลายการชุมนุมระดับเบา เริ่มจากการประกาศแจ้งเตือนว่าจะมีการใช้อาวุธร้ายแรงต่ำในการสลาย โดยมีการประกาศให้รับทราบทั่วบริเวณพื้นที่ชุมนุม และควรให้ระยะเวลาพอสมควรสำหรับผู้ชุมนุมในการแยกย้ายออกจากพื้นที่ 
  3. หากผู้ชุมนุมยังไม่แยกย้ายด้วยความสมัครใจ เจ้าหน้าที่สามารถใช้ขั้นตอนที่เพิ่มระดับความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมในลักษณะที่ไม่เลือกปฏิบัติ หรือไม่ได้เจาะจงไปที่ผู้ชุมนุมคนหนึ่งคนใดเว้นแต่ว่าจะเป็นบริเวณที่กำลังเกิดเหตุปะทะหรือมีความรุนแรง เช่นการใช้รถน้ำแรงดันสูงหรือแก๊สน้ำตา
  4. หากผู้ชุมนุมยังไม่มีแนวโน้มที่จะสลายการชุมนุมจึงใช้วิธีที่มีความรุนแรงขึ้น รวมถึงอาจมีการกำหนดเป้าหมายไปยังตำแหน่งของผู้ชุมนุมที่ชัดเจน เช่น กระบอง ปืนไฟฟ้า กระสุนยาง เป็นต้น
  5. การใช้กระสุนจริง ในการสลายการชุมนุมเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเสมอ
เจ้าหน้าที่ตำรวจฉีดน้ำผสมสารเคมีใส่ผู้ชุมนุม
ในวันที่ 16 ตุลาคม 2563

ตอบโต้ “โดยจำเป็น-ได้สัดส่วน”

คำถามสำคัญคือการตอบโต้ของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ชุมนุม มีเส้นแบ่งในความรุนแรงอยู่ที่จุดใด หากยกตัวอย่างในกรณีการใช้รถน้ำแรงดันสูงในการสลายชุมนุม อาจพอระบุได้ว่าการเลือกวิธีฉีดน้ำมีลักษณะเด่นคือสามารถใช้งานได้แม้มีระยะห่างระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม เพื่อลดความเสี่ยงด้านความเสียหายหรือความสูญเสีย 

โดยในแนวปฏิบัติระบุว่าการใช้รถน้ำสามารถใช้ได้ในกรณีเกิดสถานการณ์ความรุนแรงในที่สาธารณะ ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะเกิดการบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต หรือเหตุการณ์ที่มีการทำลายทรัพย์สินเป็นวงกว้างเท่านั้น 

การใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำเหล่านี้ใช้ได้ภายหลังจากการให้คำเตือนที่มีระยะเวลาเพียงพอ และยังต้องอยู่ใต้หลัก ความจำเป็น – เจ้าหน้าที่ไม่มีทางเลือกอื่นในสถานการณ์นั้น”  และ ความได้สัดส่วน – เป็นการตอบโต้ที่ได้สัดส่วนกับการกระทำของฝ่ายผู้ชุมนุม”

การใช้รถน้ำแรงดันสูงจึงต้องอยู่ในแผนการสลายที่ละเอียดรอบคอบ มีการแจ้งเตือนและให้เวลาผู้ชุมนุมในการสลายตัว รวมถึงอยู่ใต้บัญชาการของผู้บังคับบัญชาระดับสูง

ยิ่งไปกว่านั้นการฉีดจะต้องไม่พุ่งเป้าไปที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อยู่ในระยะใกล้ ไม่ยิงที่ศีรษะหรือใบหน้า เนื่องจากมีความเสี่ยงในเรื่องอาการบาดเจ็บจากแรงดันของน้ำ รวมถึงต้องไม่ยิงผู้ที่อยู่ในที่สูง ไม่ยิงผู้ที่อยู่ในความเสี่ยงที่อาจลื่นล้มหรือถูกกระแทกไปยังบริเวณกำแพงหรือวัตถุอื่นที่มีลักษณะเป็นของแข็ง

การสลายการชุมนุมด้วยรถฉีดน้ำในวันที่ 16 ตุลาคม 2563

ในส่วนของระยะในการฉีดน้ำ แม้ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนแต่ในบางประเทศก็มีกำหนดเอาไว้ เช่นประเทศอิสราเอลห้ามใช้ปืนน้ำแรงดันสูงเล็งเป้าหมายไปที่บริเวณศีรษะในระยะที่น้อยกว่า 25 เมตร

นอกจากนี้เพื่อความโปร่งใสของปฏิบัติการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ควรติดป้ายชื่อระหว่างปฏิบัติงานเพื่อให้สามารถระบุตัวได้ ควรบันทึกข้อมูลว่าใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำเหล่านี้ที่ไหน อย่างไร รวมถึงหากผู้ชุมนุมบาดเจ็บจากการสลาย เจ้าหน้าที่ก็ควรบันทึกข้อมูล มีหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน

ไทยทำตามหลักสากล

แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจของประเทศไทย ยืนยันทั้งก่อนและหลังการสลายการชุมนุมว่า ภาครัฐรับมือสถานการณ์การชุมนุมตามหลักสากลแล้วนั้น แต่ในความเป็นจริงกลับมีรายละเอียดที่อาจขัดกับแนวทางของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหลายประการ

ยกตัวอย่างเช่น ในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ก่อนการสลายการชุมนุม ผู้ชุมนุมยังไม่มีท่าทีที่อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง มีเพียงการใช้รั้วเหล็กวางป้องกันเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น รวมถึงระยะเวลาในการแจ้งเตือนก่อนเริ่มฉีดน้ำก็ไม่มากเพียงพอ

หรือในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ในช่วงเวลาก่อนการฉีดน้ำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการประกาศเพียงว่าห้ามผู้ชุมนุมฝ่าแนวลวดหนาม หลังจากผู้ชุมนุมเอารถเมล์ที่เจ้าหน้าที่มาจอดขวางออกไปเท่านั้น

แม้ไม่ปรากฎหลักฐานหรือภาพบันทึกว่าผู้ชุมนุมขยับเข้าใกล้รั้วลวดหนาม เจ้าหน้าที่ก็เริ่มฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าวที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว ก่อนประกาศขอโทษในภายหลังว่าเป็นการ “มือลั่น” 

ผู้ชุมนุมลากรั้วลวดหนามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ออกมาจากแนวป้องกัน
หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ “มือลั่น” ฉีดน้ำแรงดันสูงใส่กลุ่มผู้ชุมนุม
ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563
แก๊สน้ำตาและอุปกรณ์ต้องห้าม

สำหรับการใช้แก๊สน้ำตา มีการระบุไว้ว่าห้ามใช้ในสนามรบตามอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี (Chemical Weapons Conventions) แต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าแก๊สน้ำตาหรือสารประกอบแก๊สน้ำตาที่มีการผสมในน้ำสำหรับฉีดใส่ผู้ชุมนุม ยังสามารถใช้ได้ในฐานะอาวุธร้ายแรงต่ำในการควบคุมฝูงชนภายในรัฐ

การผสมแก๊สน้ำตาในรถน้ำแรงดันสูงนั้นระบุไว้ในแนวปฏิบัติเพียงเจ้าหน้าที่อาจผสมสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองในน้ำได้ ส่วนปริมาณของสารระคายเคืองหรือแก๊สน้ำตาที่อาจก่อให้เกิดผลต่อร่างกายไม่ได้กำหนดเอาไว้ชัดเจน กำหนดเพียงว่าการใช้สารเหล่านี้จะใช้ได้ หากมีข้อมูลด้านพิษวิทยาที่เพียงพอ เมื่อใช้แล้วจะไม่ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพของผู้ชุมนุม รวมถึงใช้เมื่อเจ้าหน้าที่มีเหตุควรเชื่อว่าจะเกิดภัยที่นำไปสู่การบาดเจ็บในเวลาอันใกล้

ผู้ชุมนุมนำน้ำเปล่ามาล้างหน้าให้กันและกัน หลังการยิงน้ำผสมสารเคมีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในวันที่ 16 ตุลาคม 2563

แนวทางฉบับดังกล่าวยังได้ระบุถึงอาวุธที่ห้ามใช้ในการสลายการชุมนุมด้วย คือ กระบองหนาม เลเซอร์ที่สามารถทำให้ตาบอด สนับมือ กระบองหรืออุปกรณ์ใดๆ ที่มีการถ่วงน้ำหนักเสริม  อุปกรณ์ใดๆ ที่ส่งพลังงานที่ทำให้เกิดบาดเจ็บร้ายแรง

นอกจากนี้ตามแนวปฏิบัติได้มีการระบุในส่วนของการตั้งสิ่งกีดขวางเช่นกัน ว่าสิ่งกีดขวางควรมีลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย อย่างเช่นไม่ควรใช้รั้วลวดหนามหรือว่าสิ่งกีดขวางอื่นใดที่มีลักษณะเป็นของมีคม ซึ่งอาจจะเกี่ยวหรือบาดผู้ชุมนุมได้ ผิดกับการใช้งานจริงในประเทศไทยที่มีการใช้แนวรั้วลวดหนามในการสกัดกั้นผู้ชุมนุมเสมอ

———————————————

อย่างไรก็ดีแนวทางฉบับดังกล่าวก็เป็นเพียงแนวทางในการปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานสากล ส่วนการสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทยนั้นยึดแนวทางดังกล่าวตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กล่าวอ้างหรือไม่ ทุกท่านคงรู้คำตอบอยู่ในใจ

อ้างอิง: 

https://www.haaretz.com/israel-news/.premium-water-cannon-to-the-head-police-disperse-anti-netanyahu-protesters-against-rules-1.9021756?fbclid=IwAR1XXChKaZlNIgoS-PQSGSx72jkniHMykJjvPdJmaksWbeY17tGopX68m58

https://www.ohchr.org/Documents/HRBodies/CCPR/LLW_Guidance.pdf?fbclid=IwAR1voxeT1fAY6vwSBDkN5KhzC8iNYBHRXzvPDdZdhunzFDuaSAC-I43re5o

About the author

PLUS SEVEN

PLUS SEVEN

Photo Editor/ Content Editor