ArticlesFEATURED

Fake News Series | COVID-19 รัฐไทยแก้ปัญหา(?)เฟคนิวส์อย่างไร

ท่ามกลางฝุ่นตลบของข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์ (fake news) ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส  COVID-19 ซึ่งทำให้ภาคประชาชนเกิดความแตกตื่น โกลาหล หากมองในแง่หนึ่ง การเข้าควบคุมการเผยแพร่ข่าวปลอมผ่านกลไกรัฐ อย่างเช่นการตั้งศูนย์ต้านข่าวปลอม อาจมีความจำเป็น 

แต่ในมุมมองของนักวิชาการ กลับเห็นว่าการทำเช่นนั้นสูญเปล่าและยังเป็นการตอกย้ำปัญหาในเชิงการเมือง โดย อ.วศิน ปั้นทอง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายไว้ดังนี้

อ.วศิน ปั้นทอง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รัฐพูดความจริงน้อยเกินไป 

วศินมองว่า ภาครัฐไม่มีความจำเป็นจะต้องทุ่มทรัพยากรมนุษย์และเงินมากมายที่มีอยู่จำกัดในสภาวะฉุกเฉินไปกับการสอดส่องและจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับเฟคนิวส์ ในทางกลับกัน รัฐต้องแสดงบทบาทการเป็นผู้นำในภาวะวิกฤตด้วยการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดก็คือการสื่อสารข้อเท็จจริงกับประชาชน

“ต่อให้คนไม่เชื่อ แต่อย่างน้อยที่สุดคนก็จะสามารถเตรียมตัวรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น”

ทั้งนี้ วศินอธิบายต่อว่า เฟคนิวส์เกี่ยวกับไวรัส COVID-19 ที่ตนเห็นเยอะมาก ก็มีอย่างเช่น การแนะนำให้ประชาชนตุนสินค้าเพราะกรุงเทพฯ กำลังจะปิดเมือง ซึ่งอ้างว่าเป็นข่าวมาจากคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เฟคนิวส์ที่บอกว่าการพัฒนายารักษาไวรัส COVID-19 สำเร็จแล้ว ไปจนถึงข่าวการกินกระเทียมและน้ำขิงเพื่อรักษาไวรัส ซึ่งเฟคนิวส์เหล่านี้เกิดขึ้นในระดับการสื่อสารของภาคประชาชน เช่น การส่งต่อภายในกลุ่มไลน์ครอบครัว

หากภาครัฐจะเข้ามาควบคุมเฟคนิวส์ในลักษณะนี้อาจเป็นไปได้ค่อนข้างลำบาก เพราะแท้จริงแล้วการสื่อสารในสภาวะไม่ปกติหรือสภาวะฉุกเฉิน ภาครัฐควรสื่อสารข้อเท็จจริงกับประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งในปัจจุบันการสื่อสารข้อเท็จจริงไม่ได้ยากเหมือนในอดีต ที่มีแค่เสียงตามสาย วิทยุ โทรทัศน์ ปัจจุบันเรามีช่องทางอื่นๆ ที่รัฐสามารถสื่อสารได้ เช่น เว็บไซต์ และโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งการสื่อสารสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เช่นผ่านตัวอักษร รูป หรือภาคกราฟิกที่เข้าใจง่าย

“เสียงของรัฐยังคงมีความหมายต่อประชาชน แต่ต้องสื่อสารให้ตรงไปตรงมาที่สุด ถ้าสื่อสารตรงก็ตอบคำถามสังคมได้ โดยตัวชี้วัดที่สามารถบ่งบอกได้ว่าสื่อสารดีพอหรือยัง ก็คือดูที่เฟคนิวส์ ถ้าคนยังแชร์เฟคนิวส์ในปริมาณมหาศาลอยู่ แสดงว่ารัฐต้องพิจารณาตนเอง” 

ชั้นวางข้าวสารที่ว่างเปล่า ในซูเปอร์มาร์เก็ตย่านชานเมืองกรุงเทพฯ หลังการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รุนแรงขึ้น

เมื่อรัฐไม่น่าเชื่อถือ

เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นี้ วศินอธิบายต่อว่า รัฐบาลไม่สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีความพร้อมในการสื่อสารกับภาคประชาชนภายใต้สภาวะวิกฤติ เพราะยังมีการให้ข้อมูลที่ขัดกัน อย่างเช่นในกรณีที่ กทม. ประกาศปิดสถานประกอบการและสถานบริการ ในขณะที่โฆษกรัฐบาลให้ข่าวขัดแย้งกับ กทม. 

หรือการแถลงเตรียมใช้มาตรการ พรก. ฉุกเฉินในวันที่ 24 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลยังสื่อสารไม่ชัดเจนว่าจะทำอะไรบ้าง ซึ่งการสื่อสารของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมานั้น สะท้อนปัญหาของรัฐที่ ศ.ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เคยให้นิยามไว้ว่า เป็นการทำงานแบบรวมศูนย์แต่แยกส่วน ทำให้ความน่าเชื่อถือต่อแถลงการณ์ของรัฐนั้นลดต่ำลง

วศินเน้นย้ำว่า การแก้ปัญหาเฟคนิวส์ด้วยการพูดความจริงนั้น ต้องใส่วงเล็บหนาๆ ว่าโดยพื้นฐานแล้วประชาชนคนไทยไม่ได้เชื่อถือรัฐ เพราะที่ผ่านมา ทุกๆ ครั้งที่ภาครัฐจะออกมาตราการที่จะมาควบคุมกำกับดูแลประชาชน โดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และโซเชียลมีเดียนั้น ประชาชนก็จะรู้สึกไม่เห็นด้วยและต่อต้าน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการที่รัฐจับกุมผู้ใช้ทวิตเตอร์และเฟสบุ๊คจำนวนมาก ที่กล่าวหารัฐบาลในเรื่องต่างๆ ด้วยเหตุผลทางความมั่นคง 

ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าการกระทำของรัฐไทยในการควบคุมสื่อโซเชียลมีเดียมีสาเหตุมาจากอคติทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้ประชาชนไม่ไว้ใจและไม่เชื่อใจรัฐ ประกอบกับการจัดการเฟคนิวส์ แบบสองมาตรฐาน สามมาตรฐาน และไร้มาตรฐานของรัฐ นอกจากนี้รากฐานของปัญหาดังกล่าวก็ยังมีที่มาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ฝังลึก

“พอประชาชนพบเห็นการปฏิบัติของรัฐมาตลอด ความไว้เนื้อเชื่อใจของเขาก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ” วศินย้ำ

การฉีดล้างทำความสะอาด ของเจ้าหน้าที่ทหารบก และเจ้าหน้าที่ กทม. บริเวณสายใต้ใหม่ตลิ่งชัน ในวันที่ 21 มีนาคม 2563

ให้ประชาชนตัดสินใจ

“ถ้าจะให้เฟคนิวส์หายไปเลย อันนั้นเป็นไปไม่ได้ เราเองก็รู้กันดีว่าสื่อออนไลน์กระจัดกระจายมาก การจะมาควบคุมต้องใช้กำลังคนเยอะ เหมือนกับการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ สิ่งที่น่าทำมากกว่าคือการเสริมพลังประชาชนให้รู้เท่าทันสื่อ และจำแนกแยกแยะได้ด้วยตัวเอง” วศินกล่าว

วศินอธิบายต่อว่า รูปแบบที่น่าสนใจในการจัดการข่าวปลอมคือรูปแบบของสหภาพยุโรป ที่มี www.disinfo.eu  เป็นเว็บไซต์ของทางการเพื่อให้ข้อมูล เนื่องจากสหภาพยุโรปเชื่อว่าถูกรัสเซียโจมตีด้วยข่าวลวง จึงแก้ปัญหาด้วยการจัดตั้งทีมขนาดเล็ก เพื่อสอดส่องและตรวจสอบสื่อของรัสเซียทั้งสื่อกระแสหลักและโซเชียลมีเดีย ว่าพูดถึงสหภาพยุโรปอย่างไร และอะไรไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ช้อมูลเหล่านั้นจะถูกรวบรวมและรายงานรายสัปดาห์เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกับสาธารณะชน

“ณ จุดนี้ไม่ได้บอกว่าสหภาพยุโรปปราศจากอคติ เพราะเขาก็พยายามยืนยันในข้อเท็จจริงของตน ในขณะที่รัสเซียก็พยายามยืนยันว่าสิ่งที่เขาเสนอว่าเป็นข้อเท็จจริงเช่นกัน แน่นอนว่าทั้งสองฝ่ายก็มีอคติทางการเมือง แต่สิ่งที่น่าสนใจจากการทำงานในรูปแบบนี้ก็คือ เขาพยายามทำให้มันโปร่งใสมากที่สุด มีการเปรียบเทียบเนื้อหา ในเฟคนิวส์และความเป็นจริงชุดที่มี และให้สาธารณชนตัดสินใจเองว่าควรเชื่อสิ่งใด” วศินอธิบาย

ทั้งนี้การที่ วศิน เลือกยกตัวอย่างวิธีของสหภาพยุโรป ที่เน้นการให้ข้อมูลแล้วให้ภาคประชาชนตัดสินใจเองนั้น ไม่ได้ต้องการให้ประเทศไทยทำตามสหภาพยุโรปทุกอย่าง แต่ด้วยความที่สังคมไทยยังมีการแบ่งขั้วแยกข้าง รวมถึงการที่เฟคนิวส์ถูกทำให้เป็นปัญหาทางการเมือง ทำให้ไม่สามารถอธิบายได้ว่าความเชื่อทางการเมืองแบบใดเป็นเฟคนิวส์ 

เพราะหลายกรณีเป็นจริตทางการเมือง ดังนั้นจะเป็นการดีกว่าหากทำให้ประชาชนเห็นข้อความที่ขัดแย้งกัน คือไม่ว่าจะสนับสนุนทหาร เหลือง แดง การเปิดให้เห็นชุดของข้อมูลที่หลากหลาย แล้วปล่อยให้ผู้คนตัดสินใจ จะเป็นประโยชน์กับทุกคนมากกว่าการพยายามจะเซนเซอร์ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ในกรณีที่เกิดการสร้างข่าวปลอมทางการเมืองเพื่อใส่ร้ายกัน วศินอธิบายว่า หากสังคมอยู่ในภาวะปกติแล้วนั้น  การกระทำที่เป็นเฮทสปีช ประทุษวาจาและหมิ่นประมาท ก็มีกลไกทางกฎหมายปกติรองรับอยู่แล้ว

—————————

การที่ภาครัฐมุ่งแต่ไล่จับ “เฟคนิวส์” ผลลัพธ์จะเป็นเพียงการต่อสู้กับศัตรูทางการเมือง ไม่ใช่การแก้ปัญหาให้ประชาชน

About the author

PLUS SEVEN

PLUS SEVEN

Photo Editor/ Content Editor