มนุษย์ผู้ “ขับ” เคลื่อนกรุงเทพฯ ภายใต้วิกฤตโรคระบาด
กรุงเทพมหานครในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงียบเหงาวังเวง ผิดไปจากภาพเมืองใหญ่อันจอแจที่คุ้นเคย นับตั้งแต่มีการออกประกาศปิดสถานที่ต่างๆ และจำกัดการเดินทางออกนอกเคหะสถานเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ห้างสรรพสินค้า ร้านรวง และบริษัทจำนวนมากปิดทำการ สถานที่สาธารณะว่างเปล่าปราศจากผู้คน ทว่าบนท้องถนนยังมีคนกลุ่มหนึ่งเดินทางไปทั่วเมืองอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อขับเคลื่อนให้ชีวิตยังคงดำเนินต่อไป

“ความจนมันน่ากลัวกว่า ทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย บ้านเขาก็ไม่ได้ให้หยุดผ่อน ผมก็ต้องกินต้องใช้ เลยต้องออกมาวิ่งมอเตอร์ไซค์รับงาน”
แจ๊ค หนุ่มใหญ่วัย 39 ปี อาชีพขับจักรยานยนต์รับส่งอาหาร เล่าตอบ หลังจากถูกถามถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และความกลัวไวรัส COVID-19
หนึ่งในมาตรการควบคุมโรคระบาดของรัฐคือ การไม่ให้ร้านอาหารบริการลูกค้านั่งรับประทานที่ร้าน ทำให้คนสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นมากขึ้น แต่รายได้ของเขานั้นไม่ได้มากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากต้องรออาหารนานกว่าปกติ
“แต่ก่อนผมรับอยู่วันละประมาณ 20 เที่ยว ทุกวันนี้ก็ยังได้เท่าเดิม แต่เพราะลูกค้าสั่งมากขึ้น คนมารอก็เยอะขึ้น ในขณะที่ร้านเปิดน้อยลง พวกผมต้องรอนานขึ้น บางคิวรอเป็นชั่วโมง ทำรอบไม่ได้ รายได้ก็ไม่ได้เพิ่มอย่างที่คิดกันหรอกครับ” แจ๊คอธิบาย

ท่ามกลางความตื่นตระหนกในสถานการณ์โรคระบาด แจ๊คกล่าวถึงการป้องกันตัวเองของเหล่าพนักงานแอพลิเคชั่นส่งอาหารว่า ตนวิ่งอยู่บนถนน โดยทั่วไปไม่ค่อยกลัวเท่าไหร่ แต่หลายครั้งต้องไปส่งบนตึกบนอาคาร ก็เกิดความกังวลว่าอาจจะติดไวรัส เนื่องจากเป็นพื้นที่ปิด
เขาจึงทำข้อตกลงกับลูกค้าก่อนรับงานว่า หากไม่สามารถลงมารับได้ด้วยตนเองก็จะไม่รับงาน เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ไปอยู่ในพื้นที่ที่อาจเสี่ยงต่อการติดไวรัส
นอกจากนี้การที่ต้องทำข้อตกลงก่อนรับงาน ก็เพราะระบบของแอพลิเคชั่น หากทิ้งงาน หรือทำได้ไม่ตรงตามยอด ก็ต้องทำรอบเพิ่ม หรือที่เรียกกันในกลุ่มผู้ทำอาชีพเดียวกันว่า “ซ่อมงาน” เพื่อให้มีรายได้เพียงพอ

ภัสรา วัย 39 ปี มีอาชีพหลักเป็นวินมอเตอร์ไซค์ และรับงานส่งอาหารผ่านแอพลิเคชั่นเป็นงานรอง อธิบายว่าด้วยภาวะวิกฤต COVID-19 ทำให้การขับวินรับผู้โดยสารยากลำบากขึ้นมาก เนื่องจากมีการปิดสถานที่ต่างๆ ทั้งศูนย์การค้า โรงงาน สถานศึกษา รวมถึงบริษัทต่างๆ มีมาตรการให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน เธอจึงหันมารับส่งอาหารเป็นหลัก
“รายได้หลักเราหายไป ก็ต้องมาทำตรงนี้เพิ่ม แต่รออาหารก็นานเว่อร์…. ยิ่งพวกร้านที่เป็นร้านแนะนำก็ยิ่งนาน ทางบริษัทเองก็ไม่ได้ช่วยเราเรื่องความสะดวกสบาย การต้องรอ ไม่ได้จัดสรรอะไรให้เราเลย ซึ่งถ้าจะทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดี ก็ต้องทำยอดให้ถึง แต่คิวยาวๆ นั่งรอขนาดนี้ยังไงก็ไม่มีทางถึง” เธอบ่นพลางถอนหายใจผ่านหน้ากาก
“กลัวโรคไหมก็กลัวนะ แต่กลัวอดมากกว่า”
เมื่อถามว่ามาตรการรัฐที่ทำอยู่เป็นอย่างไร เธอรีบตอบกลับอย่างรวดเร็ว
“เหมือนวัวหายแล้วล้อมคอก และเป็นการผลักภาระให้คนทำงานอย่างมาก”
ภาพสะท้อนจากการพูดคุยกับพนักงานส่งอาหารคือ ความจนนั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าโรคภัย และในช่วงนี้พวกเขาไม่ได้ค่าตอบแทนมากมายอะไรจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กลับกลายเป็นว่าชั่วโมงทำงานยาวนานขึ้น ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ในขณะที่ค่าตอบแทนยังเท่าเดิม
รายได้ที่หายไป รายจ่ายที่คงเดิม
ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ วินมอเตอร์ไซค์ 2 คน นั่งบนเก้าอี้พลาสติกด้วยความเบื่อหน่าย มือกดดูโทรศัพท์มือถือ ในขณะที่อีกคนนอนบนเสื่อข้างป้ายบอกราคา

สุภาพ วัย 50 ปี ชาวจังหวัดพะเยา อาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง บอกเล่าเรื่องราวด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม แต่แกมไปด้วยความขื่นขมในแววตา
“กลัวโรคไหมก็กลัว แต่มันก็ต้องทำ ผมก็อยากอยู่บ้านนะ แต่เราไม่มีเงินเดือนไง มันต้องใช้จ่ายวันต่อวัน”
ในด้านรายได้ สุภาพเล่าว่ากระทบอย่างหนัก โดยรายได้หายไปมากกว่า 80% จากปกติที่ได้วันละเกือบ 1,000 บาท เหลือเพียง 100-200 บาท เนื่องจากการสัญจรของผู้คนที่ลดลง บริษัทและสำนักงานที่ปิดตัวหรือให้คนทำงานจากบ้าน
“หาให้ได้วันละ 200 บาทยังยากเลยช่วงนี้” สุภาพย้ำ
“ถ้ายังเป็นแบบนี้อีกนาน ก็คงต้องกลับ [บ้านที่ต่างจังหวัด] ถ้ากลับได้ก็อยากจะกลับนะ อย่างน้อยกลับบ้านก็ยังพอมีข้าวกิน แต่ถ้ารัฐบาลจะให้เราอยู่แต่ในห้องเช่าไม่ออกไปไหน จะทำยังงั้นก็ได้ แต่รัฐต้องเข้ามาดูแลเราตรงนี้ด้วย ค่าใช้จ่ายเราก็มี ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบ้าน ค่ารถ ค่าโทรศัพท์ ต้องกินอีก ไม่ให้เราทำงาน ไม่ให้เรากลับบ้านแล้วเราจะอยู่ยังไง รัฐต้องมาดูแลด้วย”
ท้องถนนอันร้อนระอุ
อีกหนึ่งอาชีพที่ขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ในยามนี้ คือเหล่าพนักงานขับรถเมล์
“กลัวโรคไหมก็กลัว แต่ก็เป็นงานที่ต้องทำ เราก็ต้องหาหน้ากากหาถุงมือมาใส่”
ธีระชัย ศรีจำปา พนักงานขับรถขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) พูดด้วยถ้อยคำที่คล้ายคลึงกันกับคนอื่นๆ เขายิ้มแห้งๆ จุดบุหรี่มวนใหม่ ก่อนจะเล่าต่อ

“แต่ทางขสมก. เขาก็ดูแลดีนะ มีการฉีดพ่นและฆ่าเชื้อรถบ่อยขึ้น ทางพนักงานขับรถก็ต้องขอให้กระเป๋ารถเมล์ช่วยเตือนให้ผู้โดยสารให้นั่งห่างกันมากขึ้นเพื่อความปลอดภัย”
ธีระชัยทิ้งท้ายก่อนดับบุหรี่ว่า พวกเขาไม่ใช่คนที่เสี่ยงกับโรคนี้ที่สุด เพราะเป็นพนักงานของขสมก. ที่มีเงินเดือนสวัสดิการชัดเจน และ ขสมก. ก็มีมาตรการบางอย่างเพื่อช่วยเหลือพนักงาน แต่กลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงกว่าคือเหล่ารถร่วมบริการที่ไม่มีสวัสดิการชัดเจนนัก และไม่แน่ใจว่าจะรับมือกับความเสี่ยงเรื่องเชื้อโรคอย่างไร
ถัดมาไม่ไกลจากจุดพักรถเมล์ คือโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เหล่าคนขับรถตู้จอดเครื่องมือทำกินรอที่ริมถนน พร้อมมองไปยังถนนอันว่างเปล่า ท่ามกลางแดดร้อนจัดในเดือนมีนาคม
พรศักดิ์ และ ละไม เป็นพนักงานขับรถตู้ ที่เป็นเจ้าของรถเองด้วย ผู้โดยสารที่ใช้บริการรถตู้ของพวกเขาส่วนใหญ่คือบุคลากรทางการแพทย์และนักศึกษา การปิดสถานศึกษากระทบกับรายได้ของพวกเขาอย่างชัดเจน แม้จะยังมีรายได้จากบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังคงทำงานอยู่ แต่รายได้โดยรวมก็ลดลง

“พวกผมไม่กลัวโรคมากนักหรอก เพราะเราก็ป้องกันตัวเอง แถมผู้โดยสารก็ป้องกันตัวเองดีเนื่องจากเป็นบุคลากรทางการแพทย์ แต่รายได้หายไปนะ เพราะผู้โดยสารน้อยลง โรงพยาบาลเขามีนโยบายให้สลับคนมาทำงาน นักเรียนพยาบาลเองก็ปิดหมดแล้ว อาจารย์ก็สลับมาสอน ทุกวันนี้หักโน่นหักนี่แล้วยังได้เงินน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำอีก” พวกเขาสลับกันเล่า
“ตอนปฏิวัติ เดินขบวน จะยิงกันตาย พวกผมยังวิ่งสบายๆเลย เพราะผมรับบุคลากร แต่ตอนนี้พอเค้าสลับกะสลับคนมาทำงานก็จบเลย หนัก” วินรถตู้ทิ้งท้าย
นอกจากขนส่งมวลชนแล้ว อีกหนึ่งอาชีพที่เป็นเสน่ห์ของท้องถนนประเทศไทยคือ คนขับสามล้อรับจ้าง หรือ ตุ๊กๆ ก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้เช่นกัน
สาคร คนขับสามล้อรับจ้าง ผู้มีถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดสุรินทร์เล่าว่า ตอนนี้เขาได้รับผลกระทบอย่างมากเนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยว ทำให้ความเป็นอยู่ยากลำบากขึ้นมาก รายได้ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

“ก่อนหน้านี้ก็หนักอยู่แล้ว มาเจอไวรัสตัวนี้ก็ แหง็ก เลย แต่ก่อนได้วันนึงก็ 700-800 ทุกวันนี้ก็เหลือ 200-300 เป็นลูกค้าประจำเป็นส่วนมาก โอ๊ย แต่ก่อนก็กินกับข้าว 2-3 อย่างกับเมีย ทุกวันนี้ก็เหลือสักอย่างแล้วก็ทอดไข่เอา”
เมื่อถูกถามถึงการเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดสุรินทร์ เขาถอนหายใจผ่านหน้ากากอนามัย ก่อนเริ่มพูด
“อยากกลับก็อยากกลับ แต่เราก็ไม่รู้ว่าเราป่วยหรือเปล่า ไม่อยากเอาโรคไปติดผู้เฒ่าผู้แก่ที่บ้าน แต่ถ้ามันนานมากแล้วดูว่าเราปลอดภัยแล้วก็คงกลับ อย่างน้อยที่บ้านก็ยังมีข้าวกิน”
ลานจอดแท็กซี่ที่ว่างเปล่า
บริเวณสามย่านและย่านรองเมืองซึ่งเป็นที่ตั้งของอู่แทกซี่ วันนี้มีเพียงรถแท็กซี่ว่างเปล่าถูกจอดทิ้งอยู่ริมทาง บ้างก็จอดทิ้งไว้ในอู่ขนาดเล็ก เมื่อสอบถามกับเจ้าของอู่ ก็ได้ความว่าคนขับแท็กซี่จำนวนมากเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปแล้ว

กำธร ชูนุกูลวงศ์ คนขับแท็กซี่ที่ยังคงออกวิ่งให้บริการ ได้เล่าสถานการณ์ผ่านมุมมองของคนขับแท็กซี่ชาวกรุงเทพฯ ซึ่งพอจะปรับตัวไปทำอย่างอื่นได้บ้าง
“คนอื่นเขากลับบ้านต่างจังหวัดกันหมด กลุ่มที่ยังขับอยู่ตอนนี้ถ้าไม่เป็นเจ้าของรถเองก็ต้องเป็นคนกรุงเทพล่ะครับ แต่ถ้ารัฐบาลบอกให้ผมหยุดขับ ผมก็ต้องหยุดขับ ตอนนี้ผมก็ทำหน้าที่ของตัวเองไปก่อน กระทบผมมั้ยก็กระทบ แต่ที่กระทบมากจริงๆ คือคนต่างจังหวัด เพราะเขาเข้ามาเขาก็มีค่าใช้จ่ายที่มากกว่า”

“ผมหยุดขับรถได้นะ ถ้ารัฐบาลบอกให้หยุด แต่ถ้าพวกผมล้ม รัฐบาลก็ล้มไปกับผมด้วยนะ เพราะตอนนี้สหกรณ์ฯ เป็นคนดูแลพวกผมอยู่ ทุกสหกรณ์ฯ ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ตอนนี้กำลังล้มเป็นกระดาน รัฐบาลก็ต้องเตรียมหาทางจัดการ”
แม้ถนนในกรุงเทพฯ จะดูว่างเปล่า แต่อีกหลายชีวิตยังต้องทำหน้าที่ในการ “ขับ” เคลื่อนกรุงเทพฯ ต่อไป โดยที่ต้องแบกรับทั้งความเสี่ยงจากไวรัสและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางความหวังว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหาปากท้อง ภายใต้การแพร่ระบาดที่ไม่รู้จะเนิ่นนานเพียงใด