ศาสนาปรับตัวอย่างไรเพื่อรับมือโรคระบาด COVID-19
ไม่เพียงแต่ปุถุชนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการระบาดของ COVID-19 ศาสนา ในฐานะศูนย์รวมจิตใจของผู้คนจำนวนมาก กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อการรวมตัวกันเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะอาจเพิ่มการแพร่กระจายไวรัส
อิสลาม: บททดสอบจากอัลเลาะห์
“บางคนร้องไห้ เวลาได้ยินเสียงผมอาซาน (การเรียกเพื่อละหมาดของอิสลาม) เขาปวดร้าว บ่งบอกถึงความรู้สึกว่านี่เป็นบ้านของอัลเลาะห์ ที่พระองค์กำหนดไว้ว่าพวกเจ้าต้องมาละหมาดที่นี่ทุกวันศุกร์ แต่ในเมื่อพระองค์กำลังทดสอบศรัทธา โดยให้ทุกคนต้องละหมาดที่บ้าน ก็ต้องทำ”
ฮายิดดีน โต๊ะเซียะ (ผู้ดูแลมัสยิด) ประจำมัสยิดฮารูณ มัสยิดเก่าแก่ย่านเจริญกรุง กล่าวว่า การที่ไม่สามารถละหมาดที่มัสยิด และต้องละหมาดที่บ้านเพียงอย่างเดียว ชาวมุสลิมควรเปลี่ยนวิธีคิด ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นดุจบททดสอบของพระเจ้า ให้ครอบครัวมารวมกลุ่มละหมาดร่วมกัน ให้เกิดความรักในครอบครัวขึ้น เพื่อชดเชยกับความรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ละหมาดที่สุเหร่า ซึ่งเป็นศูนย์รวมทางใจของชุมชน
หลังจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ได้มีประกาศจากจุฬาราชมนตรี หรือผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 ให้งดการรวมตัว และทำการละหมาดที่บ้านแทน ส่วนที่มัสยิด ให้คณะกรรมการมัสยิด อิหม่าม และโต๊ะเซียะ อาซาน ละหมาดตามปกติ โดยให้ละหมาดรวมกันไม่เกิน 5 คน และเว้นระยะห่างในการละหมาด
ส่วนรอมฎอน หรือเทศกาลถือศีลอดที่กำลังจะเริ่มขึ้นในปลายเดือนเมษายนนี้ ชาวมุสลิมยังคงต้องรอประกาศจากจุฬาราชมนตรีว่าจะปรับรูปแบบกิจกรรมทางศาสนาอย่างไร
“หลักๆ ตอนนี้ก็คือไม่มีการมาชุมนุมกัน แต่มีการช่วยเหลือพี่น้องในชุมชนด้วยการทำข้าวกล่อง ทำอาหารแจกตามบ้านเรือน และก็คงจะยังทำต่อไปในช่วงถือศีลอด” ฮายิดดีนกล่าว
พุทธ: จัดระบบเข้าคิวฉัน-ฉันแยก
พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีศาสนิกชนจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย มาตรการรับมือนั้นแตกต่างกันไปตามนิกาย และทรัพยากรที่แต่ละวัดจะเอื้ออำนวย
พระมหานพพร ปุญญชโย รองผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรวัดธรรมกาย เล่าถึงมาตรการในการรับมือว่า เนื่องจากวัดพระธรรมกายเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ มีพระเณรจำวัดอยู่กว่า 2,000 รูป ทางวัดจึงได้ตั้งทีมงานขึ้นมาเพื่อติดตามและดูแลอย่างใกล้ชิด
ทีมงานได้ตั้งจุดตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิตามประตูทางเข้าของวัดและอาคาร และนำมาตรการสาธารณสุขสากลมาปรับใช้ เช่น การเว้นระยะห่างระหว่างกันประมาณ 2-3 เมตรในทุกศาสนกิจ การล้างมือและวัดอุณหภูมิก่อนเข้าอาคาร การเปลี่ยนให้ใช้อาสนะส่วนตนแทนอาสนะรวมที่ส่วนกลางจัดให้ เพื่อป้องกันการสัมผัสพื้น และมีการทำความสะอาดพื้นที่ทุกสองชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยามาให้คำปรึกษาตลอดเวลา
“การฉันภัตตาหารปรับเปลี่ยนไป จากการฉันเป็นวงแล้วมีญาติโยมมาประเคนให้ เป็นให้ตัวแทนพระสงฆ์เป็นผู้รับสังฆทานหนึ่งรูป มีญาติโยมกล่าวคำถวายสังฆทานโดยเว้นระยะห่างประมาณ 5 เมตร จากนั้นพระสงฆ์จึงเข้าแถวรับภัตตาหาร โดยมีเจ้าหน้าที่ครัวที่ทางวัดดูแลเป็นพิเศษในเรื่องสุขอนามัยและความสะอาด เป็นผู้จัดภัตตาหารไว้ให้เป็นชุด แต่ละชุดจะมีการห่อพลาสติก”
ในส่วนของการสื่อสาร วัดธรรมกายมีช่องทางการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตทีวีของทางวัด และกำลังพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์เพื่อให้สาธุชนสามารถฟังธรรมและปฏิบัติธรรมร่วมกันได้อีกช่องทางหนึ่ง
กิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มคนหมู่มาก เช่น การบวชภาคฤดูร้อน การปฏิบัติธรรม และกิจกรรมวันวิสาขบูชา ทางวัดได้ยกเลิกทั้งหมด
“ทางวัดธรรมกายมีการจัดทำหน้ากากและเฟสชีลด์ขึ้นเอง สำหรับมอบให้คนในชุมชนรอบๆ วัด โดยร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานี และเตรียมที่จะมอบเจลล้างมือแอลกอฮอลล์และเฟสชีลด์ให้กับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงด้วย” พระมหานพพรอธิบาย
ด้านวัดขนาดกลาง ใจกลางเมืองอย่าง วัดมหาพฤฒาราม ซึ่งมีพระและเณรรวมกันราว 60 รูป มีการปฏิบัติศาสนกิจหลายๆ อย่างตามปกติ แต่มีการปรับบ้าง เช่น การฉันภัตตาหารแยกที่กุฏิ การทำวัตรร่วมกันแต่ให้นั่งห่างกัน การบิณฑบาตที่ให้พระสงฆ์สวมใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งจะมีญาติโยมนำมาถวายให้ เป็นต้น
“กิจกรรมต่างๆ ในวันสำคัญทางศาสนา ทางวัดมีการยกเลิกทั้งหมด ส่วนศาสนิกชนให้ทำใจให้สบายให้มากที่สุด เป็นไปได้ก็อย่าชุมนุมกัน” พระราชวิชราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดมหาพฤฒารามกล่าว
คริสต์: เพราะความรักทำให้เราใกล้กัน
บาทหลวง พรชัย สิงห์สา ผู้ช่วยเจ้าอาวาส อาสนวิหารนักบุญอันนา ผู้รับผิดชอบสื่อมวลชนคาทอลิก สังฆมณฑลนครสวรรค์ เล่าว่า โบสถ์คาทอลิก ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางประกอบศาสนกิจแล้ว เช่นการมิสซาก็จะเป็นการประกอบพิธีออนไลน์ โดยให้มีบาทหลวงประกอบพิธีกรรมที่โบสถ์ ส่วนการรับศีลอภัยบาปให้จัดในที่โล่ง สวมใส่หน้ากาก และเว้นระยะห่างต่อกัน
ในส่วนของพิธีกรรมศีลต่างๆ หากเป็นพิธีที่เลื่อนได้ก็ให้เลื่อนไปก่อน หรือจัดแบบป้องกันตัวเอง เช่น พิธีศีลแต่งงาน พิธีศีลบวชเป็นสงฆ์ ส่วนพิธีที่ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้ เช่น พิธีศพ ทางโบสถ์ก็จะดำเนินการตามที่ประกาศของจังหวัดกำหนดมา โดยจะให้มีการลงทะเบียนชื่อผู้เข้าร่วมพิธี ระบุที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ รายละเอียดการเดินทาง ให้ผู้ที่เข้าร่วมพิธีกรรมใส่หน้ากากและมีเจลสำหรับล้างมือไว้ให้บริการ เว้นระยะห่างในการนั่ง และจัดให้มีพิธีกรรมสั้นกระชับ โดยพยายามรักษาไว้ซึ่งแก่นของพิธีกรรมเท่านั้น
ขณะเดียวกัน สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์หรือช่วงปัสกาและอีสเตอร์ (วันที่เชื่อกันว่าเป็นวันพระเยซูถูกตรึงกางเขน) ในช่วงวันที่ 8-16 เมษายน แต่เดิมทางโบสถ์จะเตรียมไข่ปัสกาเพื่ออวยพรพี่น้องคริสตชนที่มาร่วมพิธีมิสซา แต่ครั้งนี้เปลี่ยนเป็นการจัดพิธีกรรมขนาดเล็ก และให้ผู้คนมิสซาออนไลน์ร่วมกันที่บ้าน และบาทหลวงจะเดินทางไปตามบ้านเรือนเพื่อนำศีลมหาสนิทไปอวยพร โดยให้แต่ละบ้านตั้งแท่นขนาดเล็กรอด้านหน้าบ้าน เพื่อรอรับการกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้า และทางโบสถ์ก็ได้เตรียมถุงยังชีพเพื่อมอบให้ทุกครอบครัวอีกด้วย
ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ เราจำเป็นต้องเว้นระยะห่างทางกายภาพเพื่อความปลอดภัย แต่ความรักและศรัทธาเป็นเรื่องที่ไม่มีระยะห่าง