ArticlesLatest

จากปุ๊ระเบิดขวดถึงเผาเลยพี่น้อง: ย้อนมองประวัติศาสตร์อาวุธประจำม็อบ

หากพูดถึงระเบิดขวด เชื่อว่าใครหลายๆคนคงจะนึกถึงชื่อเสียงเรียงนามของอดีตนักเลงหัวไม้ในตำนานนาม “ปุ๊ระเบิดขวด” เรื่องเล่าของเขาก็มีมากมายทั้งบอกว่าระเบิดขวดคือชื่อแก๊งของเขา คนในแก๊งชอบใช้ระเบิดขวด หรือระเบิดขวดเป็นอาวุธประจำตัวของเขาเป็นต้น

ระเบิดขวดยังปรากฎอย่างต่อเนื่องในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การใช้งานของกลุ่มเด็กช่างกลเวลาตีกัน ไปจนถึงการที่การ์ดในการชุมนุมทางการเมืองมีการทำระเบิดขวดไว้ตอบโต้เจ้าหน้าที่

ทั้งนี้หากเทียบกรณีในการเมืองประเทศไทยที่พอจะทันสมัยที่สุดก็คือคำกล่าวที่ว่า “น้ำมันคนละหนึ่งขวดให้ได้หนึ่งล้านขวด” ของอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หรือ “เผาเลยครับผมรับผิดชอบเอง” ของณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ แกนนำม็อบ นปช. หรือม็อบเสื้อแดง ที่กล่าวในช่วงปี 2553 และถูกเชื่อมโยงเข้ากับเหตุการณ์เผาเซนทรัลเวิร์ล (แม้ศาลจะตัดสินยกฟ้องไปแล้วว่าขบวนการเสื้อแดงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเผาเซ็นทรัลเวิร์ดในปี 2553) ซึ่งน้ำมันขวดนี้เอง คือรูปแบบที่เห็นได้บ่อย

ความน่าสนใจคือเมื่อศึกษาเรื่องระเบิดขวดอย่างจริงจัง จะพบว่าอาวุธชนิดนี้เป็นที่นิยมทั่วโลก ทั้งยังมีที่ประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกับเรื่องการเมือง และการต่อสู้กับอำนาจรัฐอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งระเบิดขวดถูกเรียกขานกันอย่างแพร่หลายว่า “โมโลตอฟค็อกเทล”

ชื่อแห่งการล้อเลียน

“โมโลตอฟค็อกเทล” เมื่อได้ยินชื่อหลายคนคงคิดว่ามาจากรัสเซีย แต่ในความเป็นจริงแล้วโมโลตอฟมีต้นกำเนิดมาจากประเทศฟินแลนด์ เชื่อว่าเริ่มใช้กันครั้งแรกในการต่อสู้ก็ช่วงสงครามฤดูหนาวระหว่าง ฟินแลนด์ กับ รัสเซีย ส่วนชื่อโมโลตอฟมามาจาก “ฟยาเชสลาฟ โมโลตอฟ” รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียในขณะนั้น ที่ก่อนจะเกิดสงครามฤดูหนาวขึ้นพี่แกก็เอาระเบิดไปทิ้งที่ฟินแลนด์ พอโดนสื่อจี้ถาม ก็บอกว่า ไม่ได้ทิ้งระเบิด แต่เป็นการส่งสเบียงทางอากาศ ชาวฟินแลนด์ก็เลยเรียกไอ้ระเบิดที่ทางโซเวียตทิ้งใส่ฟินแลนด์ว่า ตะกร้าขนมปังของโมโลตอฟ

พอเกิดสงครามขึ้นจริงๆ ชาวฟินแลนด์ก็ผลิตระเบิดขวดที่ว่านี้ขึ้นมาแล้วก็เรียกมันว่า โมโลตอฟ ค็อกเทล โดยอธิบายว่า เป็นเครื่องดื่มที่เอาไว้กินกับอาหาร (ขนมปัง) เพื่อล้อเลียนและดูถูก ตาโมโลตอฟ นี่ล่ะครับ โดยในสงครามดังกล่าวโซเวียตที่เริ่มเป็นมหาอำนาจและมีกำลังรบมากกว่าทั้งกำลังคน รถถัง เครื่องบิน ก็ต้องล่าถอยออกจากฟินแลนด์ประเทศเล็กๆที่มีภูมิศาสตร์ที่ตั้งเป็นป้อมปราการและมีระเบิดขวดเป็นอาวุธ

โมโลตอฟค็อกเทลมีวิธีการผลิตที่แสนเรียบง่าย ส่วนประกอบหลัก ๆ ในการทำมีแค่ ขวดแก้ว เชื้อเพลิงอะไรก็ได้ที่ติดไฟได้ ตั้งแต่ น้ำมันเบนซิน แก๊ซโซฮอลล์ น้ำมันสน น้ำมันดิน และก็เศษผ้าที่ชุบแอลกอฮอลหรือเคโรซีนเพื่อเป็นชนวนที่ไม่ติดไฟเร็วเกินไปเพราะถ้าใช้น้ำมันแล้วล่ะก็ได้ลามไหม้ทั้งขวดก่อนได้โยนแน่นอน หรือบางที่บางคนก็อาจใส่อย่างอื่นลงไปด้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นดินระเบิด หรือ ตะปู เศษแก้ว ใบมีดโกน ด้วยก็มี

โดยเริ่มแรกระเบิดขวดมีไว้เพื่อทำลายรถถังของโซเวียต เพื่อให้รถถังไหม้จนขับต่อไม่ได้ ทั้งยังมีไว้เพื่อจุดเผาทำลายสิ่งต่างๆ มากกว่าจะเป็นการใช้งานเพื่อเน้นทำลายบุคคล

โมโลตอฟค็อกเทลเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลาย ๆ กองทัพได้นำระเบิดขวดไปใช้เพื่อเผาทำลายสถานที่และหยุดยั้งรถถังเป็นหลัก ในปัจจุบันเนื่องจากมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านยุทโธปกรณ์อย่างสูงโมโลตอฟค็อกเทลจึงไม่ได้รับความนิยมในกองทัพสมัยใหม่อีกต่อไปแล้วแต่ก็ยังมีการใช้อยู่บ้างในบางสถานการณ์

เนื่องจากโมโลตอฟ ค็อกเทลหรือเจ้าระเบิดขวดนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย มีราคาถูก และสามารถผลิตเองที่บ้านได้ จึงเป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับกลุ่มนักเลง มาเฟีย ที่เราอาจจะเห็นในหนังฮอลลีวู้ด หรือ แม้แต่ในบ้านเราก็มีอดีตนักเลงชื่อดัง อย่าง ปุ๊ ระเบิดขวด แต่การใช้ระเบิดขวดในแวดวงธุรกิจใต้ดินเหล่านี้ก็เริ่มหมดความสำคัญไปเนื่องจากการใช้ระเบิดขวดสามารถควบคุมความเสียหายได้ยาก

การใช้ในเขตชุมชนอาจก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างมากเกินไป และการปราบปรามกลุ่มมาเฟียรวมทั้งสงครามระหว่างแก๊งต่างๆที่เริ่มหดหายไปในปลายทศวรรษที่ 80 ต่อ 90 ก็เริ่มทำให้การใช้ระเบิดขวดในแวดวงดังกล่าวค่อยๆเลือนหายไป

อาวุธประจำม็อบ

นอกจากจะใช้กันในกองทัพและบรรดานักเลงหัวไม้แล้วระเบิดขวดยังเป็นที่แพร่หลายอย่างมากสำหรับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในหลาย ๆ ที่ อย่างน้อย ๆ ก็เริ่มตั้งแต่สงครามกลางเมืองในสเปนเป็นต้นมา โดยการใช้ระเบิดขวดเหล่านี้ไม่ได้ถูกใช้เพื่อที่จะทำร้ายหรือทำลายทรัพย์สินเสมอ ในบางครั้งการใช้ระเบิดขวดเป็นการใช้เพื่อที่จะเปิดทางหนีและปิดทางไล่ล่าของเจ้าหน้าที่เช่นใช้ในการเผารถขนส่งสาธารณะเพื่อเบิกทางให้กลุ่มของตนหนีเป็นต้น 

แต่บ่อยครั้งที่เกิดความสูญเสียต่อชีวิตผู้บริสุทธิ์ขึ้นเช่นกัน ระเบิดขวดนั้นปรากฎให้เห็นอยู่ทั่วไปในการประท้วงแทบทุกที่ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นการประท้วงขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่จากอเมริกาสู่ยุโรปสู่เอเชีย ในเหตุการณ์อาหรับสปริง การประท้วงในเวเนซูเอล่า การปฏิวัติและสงครามกลางเมืองในยูเครน มาจนถึงฮ่องกง ในประเทศไทยเองก็มีการประท้วงที่มีระเบิดขวดเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่บ่อยครั้งไม่ว่าจะในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

Banksy, Mild Mild West
ภาพ The Mild Mild West ของ Banksy จากเว็บไซต์ Flickr.com ถ่ายโดย KylaBorg
ระเบิดขวดที่กลายสัญลักษณ์

ศิลปินกราฟิตี้ชื่อดัง Banksy ใน ภาพ The Mild Mild West ที่แสดงภาพของ ตุ๊กตาหมีกำลังปาระเบิดโมโลตอฟใส่ตำรวจปราบจราจล เพื่อสะท้อนถึงการต่อต้านอำนาจรัฐโดยตุ๊กตาหมีที่เป็นภาพแทนของสิ่งที่ไม่มีพิษภัยหรือคนธรรมดาทั่วไป (จริงๆแล้วหมายถึงกลุ่มฮิปปี้ในอังกฤษช่วงยุค 90) และ อีกภาพที่น่าจะเป็นที่คุ้นตาใครหลายๆคนอย่างเช่นภาพผู้ชายปิดหน้าใส่หมวกและกำลังจะปาช่อดอกไม้แทนที่จะเป็นโมโลตอฟ ที่มีชื่อว่า Love Is In The Air  เพื่อที่จะประท้วงรัฐบาลอิสราเอลที่ปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์อย่างรุนแรง

Long forgotten Banksy: Love is in the Air
ภาพ Love Is In The Air ของ Banksy จากเว็บไซต์ Flickr.com ถ่ายโดย eddiedangerous

แม้ Banksyเลือกจะใช้ดอกไม้ด้วยเหตุผลด้านศิลปะก็ตาม แต่ภาพดังกล่าวถูกนำไปทำใหม่โดยผู้คนจำนวนมากแล้วใส่ภาพระเบิดโมโลตอฟเข้าไปแทนที่และมีภาพที่ได้รับแรงบันดาลใจหรือดัดแปลงจากภาพดังกล่าวโดยใช้โมโลตอฟเป็นตัวแทนและสัญลักษณ์ในการต่อต้านอยู่เสมอๆ

แม้โมโลตอฟค็อกเทลจะเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการต่อต้านผู้มีอำนาจในโลกร่วมสมัย แต่การใช้ระเบิดขวดหรืออาวุธใดๆ ย่อมนำมาซึ่งความรุนแรงและการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอยู่เสมอ ดังนั้นวิธีการป้องกันความรุนแรงและความเสียหายที่ดีที่สุดคือการใช้วิถีทางประชาธิปไตยพูดคุยเจรจาและฟังเสียงของประชาชน

ก่อนที่ผู้คนจะคลั่งโกรธและนำไปสู่ความรุนแรงที่ไม่มีใครพึงประสงค์ให้เกิดในที่สุด

About the author

Thanapong Kengpaiboon
Executive Editor

Thanapong Kengpaiboon

Photo Editor/ Content Editor