ArticlesLatest

โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ต้นแบบการบรรเทาปัญหาผู้ป่วย COVID-19 ล้น

ความท้าทายสำคัญประการหนึ่งในวิกฤตไวรัส COVID-19 ระบาด คือ ความสามารถในการรับมือผู้ติดเชื้อของระบบสาธารณสุข หากจำนวนผู้ติดเชื้อก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นจนเกินกว่าทรัพยากรการแพทย์ที่มีอยู่ ผู้ป่วยจำนวนมากอาจเข้าไม่ถึงการรักษาที่จำเป็นอย่างทันท่วงทีจนเป็นอันตรายได้

โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ คือ หนึ่งในโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาพื้นที่ดูแลและกักตัวผู้ป่วยติดเชื้อไม่เพียงพอ มีกาารระดมทรัพยากรทางการแพทย์ งบประมาณ และบุคลากร เพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ  COVID-19 และแบ่งเบาภาระจากโรงพยาบาล

กระดานสรุปข้อมูลการดำเนินงานและจำนวนผู้ป่วย ภายในโรงพยาบาลสนาม ธรรมศาสตร์
โรงพยาบาลสนาม

โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เป็นโครงการที่ทำร่วมกันระหว่าง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลวชิระ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อรองรับผู้ป่วยติดไวรัส COVID-19 โดยเลือกใช้อาคารหอพักบุคลากร และโรงแรม D-Lux บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขนาด 308 ห้อง สูง 14 ชั้น สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 308 คน ปัจจุบัน (เดือนเมษายน) มีผู้ป่วยอยู่จำนวน 30 คน และปิดชั้น 8-14 ทำเป็นโซนกักตัว เนื่องจากเดิมเป็นโซนโรงแรมทำให้สามารถปิดชั้นดังกล่าวและจัดการได้

สำหรับผู้ป่วย COVID-19 ที่มากักตัวที่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์นั้น จะไม่เก็บค่าบริการ เพราะจะเป็นการทำเรื่องเบิกจ่ายผ่านงบประมาณของมหาวิทยาลัย กับทางรัฐบาล

ผศ.นพ. ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลักการของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ คือ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เป็นผู้ป่วยเบา ช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วน 80% ของผู้ป่วย COVID-19 เพราะผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 โดยทั่วไปจะมีอาการหนักเพียง 20%

ผศ.นพ. ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือผู้ป่วยทั้ง 100% อยู่ในโรงพยาบาลหลัก ทำให้ผู้ป่วยใหม่ไม่สามารถใช้บริการโรงพยาบาลได้ หากสามารถดึงผู้ป่วยเบาจำนวน 80% ของผู้ป่วยทั้งหมด ออกมาพักในโรงพยาบาลสนามแทน ก็จะสามารถทำให้โรงพยาบาลทั้งหมดรับผู้ป่วยใหม่ที่อาจเป็นผู้ป่วยหนักได้อีก”

บุคลากรที่มาทำงานที่โรงพยาบาลสนาม ใช้ระบบการจัดสรรทรัพยากรความเชี่ยวชาญ เนื่องจากผู้ป่วยหนักต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการดูแลจำนวนมาก เช่น แพทย์และพยาบาลด้านโรคติดเชื้อ ซึ่งเป็นบุคลากรหลัก ต้องประจำการในโรงพยาบาล ในขณะที่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามเป็นผู้ป่วยกลุ่มอาการเบาแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้แพทย์เฉพาะทาง แต่ใช้อาจารย์แพทย์สาขาอื่นๆ เช่น ศัลยกรรม กระดูก ซึ่งสามารถรักษาอาการทั่วไปได้

ห้องพักบุคลากร ในโซนเจ้าหน้าที่ สำหรับพักรับประทานอาหาร และพักผ่อน

ในด้านการอยู่อาศัยนั้น ทางโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ มีน้ำ อาหาร และอินเตอร์เน็ต พร้อมให้บริการผู้ป่วยขณะถูกกักตัว นอกจากนี้ผู้ป่วยที่กักตัวยังสามารถสั่งอาหารเดลิเวอรี่เข้ามาทานเองได้ โดยจะส่งให้ตามเวลาการส่งอาหารและน้ำในแต่ละวัน

“ทางโรงพยาบาลไม่แนะนำให้สั่งอาหารประเภทยำ ส้มตำ ทาน เนื่องจากหากมีอาการขับถ่าย หรือท้องเสีย จะไม่สามารถแยกอาการจาก COVID-19 ได้สะดวกนัก” ผศ.นพ. ฉัตรชัยกล่าว

เทคโนโลยีลดการแพร่เชื้อ

โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จัดการ โดยทุกห้องติดกล้องวงจรปิด ทำให้แพทย์สามารถสำรวจอาการได้โดยไม่ต้องสัมผัสตัว และจะปิดกล้องเมื่อมีผู้ป่วยอยู่เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว 

ภายในห้องจะมี QR Code สำหรับให้ผู้ป่วยสแกนเพื่อดูคลิปการปฏิบัติตัว คลิปสอนการวัดออกซิเจนในเลือด และเครื่องช่วยฟังปอด ซึ่งมีอุปกรณ์อยู่ภายในห้อง ให้ผู้ป่วยสามารถตรวจวัดตนเอง และส่งข้อมูลแก่หมอที่ประจำการอยู่ที่จอมอนิเตอร์ด้านล่าง 

แพทย์ประจำโรงพยาบาลสนาม จะประจำการหน้าจอมอนิเตอร์ ซึ่งเชื่อมโยงกับทุกห้องในอาคาร โดยห้องที่มีคนไข้อยู่จะปิดจอไว้เพื่อความเป็นส่วนตัว และจะเปิดดูภาพเมื่อได้รับความยินยอม หรือมีเหตุฉุกเฉิน

ผู้ที่กักตัวอยู่ในห้องจะติดต่อกับทีมแพทย์ผ่านแอพพลิเคชั่น LINE เป็นหลัก และต้องพบแพทย์วันละ 2 ครั้ง ผ่านการวิดีโอคอล ทีมแพทย์จะขออนุญาตก่อนเปิดกล้อง หากติดต่อไม่ได้ก็จะเปิดกล้องดูทันที เพราะอาจมีแนวโน้มจะเป็นปัญหาด้านสภาพจิตใจ 

การใช้วิดีโอคอลและ LINE ในการสื่อสารนี้ เป็นไปเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสตัว ซึ่งอาจนำไปสู่การแพร่เชื้อ COVID-19  ทั้งยังลดการใช้ชุดป้องกัน หรือชุด PPE เป็นการประหยัดทรัพยากรด้วยเทคโนโลยี 

ส่วนการเข้าไปในพื้นที่ที่ผู้ป่วยอยู่นั้น พยาบาลจะขึ้นไปส่งอาหารและน้ำหน้าห้องวันละ 3 รอบ และมีการตรวจผลเพาะเชื้อทุก 14 วัน และ 7 วัน ตามหลักวิชาการ

“ทุกเคสที่มาอยู่ที่นี่คือพบเชื้อ COVID-19 แต่มีอาการเบา โดยปกติถ้าเราได้รับเชื้อ COVID-19 แล้ว จะดูอาการที่ 7 วัน ถ้าผ่าน 7 วันไปแล้ว อาการเบา เช่นไอ มีเสมหะ มีน้ำมูก หรือไม่มีอาการ ก็จะถูกส่งมาที่โรงพยาบาลสนาม ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเชื้อวันแรก เมื่อครบ 14 วันจะนำเชื้อไปตรวจอีกครั้งหนึ่ง เพราะจากผลการศึกษาคือ เชื้อมักหมดไปหลังจากผ่านไป 14 วัน ซึ่งถ้าตรวจเจอเชื้อก็จะกักตัวต่ออีก 7 วันจนกว่าผลจะเป็นลบ” ผศ.นพ. ฉัตรชัยกล่าว

จุดรับ-ส่งผู้ป่วยซึ่งแยกขาดจากโซนเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันความเสี่ยงแก่บุคลากร
แบ่งโซนป้องกันเชื้อ

ภายในโรงพยาบาลสนาม​ธรรมศาสตร์ ยังมีการจัดระบบการดำเนินการ และแบ่งแยกโซนชัดเจน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ COVID-19 โดยมีการแบ่งโซนเจ้าหน้าที่แยกจากโซนผู้ป่วย เชื่อมโยงกันด้วยประตูกระจก 2 ชั้น ซึ่งพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ และทำความสะอาดตลอดเวลา

เมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลสนาม จะมีการกั้นทางเดินและฉีดพ่นยาตลอดทางตั้งแต่ลงจากรถ นำทางไปสู่ลิฟต์ที่แยกระหว่างลิฟต์สำหรับผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ และมีกระจกกั้นแยกโซน เจ้าหน้าที่ที่คอยรับผู้ป่วยจะเว้นระยะห่างและใส่ชุดป้องกัน จากนั้นส่งผู้ป่วยขึ้นลิฟต์ และขึ้นลิฟต์อีกตัวตามขึ้นไปก่อนกลับลงมาในลิฟต์ผู้ป่วย

ประตูกระจก 2 ชั้น ซึ่งแบ่งพื้นที่ลิฟต์เป็นลิฟต์สำหรับเจ้าหน้าที่ และลิฟต์สำหรับผู้ป่วย
โดยผู้ที่จะเข้าสู่พื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อจะต้องมีการป้องกันอย่างแน่นหนา

ลิฟต์สำหรับเจ้าหน้าที่จะไม่สามารถกดลงได้ ทำให้เมื่อไปสู่จุดที่มีความเสี่ยงต่อเชื้อแล้ว จะไม่สามารถกลับมาที่โซนเจ้าหน้าที่ หรือโซนปลอดเชื้อได้ทันที ต้องลงฝั่งผู้ป่วยเพื่อไปถอดชุดป้องกัน พ่นยาฆ่าเชื้อ และอาบน้ำ เสียก่อนจึงจะกลับเข้ามาในโซนเจ้าหน้าที่ได้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านความสะอาดจะเข้าไปทำความสะอาดลิฟต์ และโถงทางเดินอย่างละเอียด

เจ้าหน้าที่ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณทางเดินหลังจากส่งผู้ป่วยเข้าสู่ห้องพัก
เยียวยาสุขภาพ-จิตใจ-สังคม

เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ มีทั้งสิ้น 15 คน แบ่งเป็น ทีมแพทย์ประจำ 2 คน ที่คอยดูอาการ ให้การรักษา และให้คำแนะนำ ทีมพยาบาล 2 คน คอยผลัดเปลี่ยนกันให้ยาและส่งอาหารให้ผู้ป่วย ทีมผู้ช่วยพยาบาล (ผู้ช่วยพยาบาล 1 คน ต่อผู้ป่วย 1 ชั้น  ชั้นหนึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้ 22 คน)  พนักงานรักษาความปลอดภัย และพนักงานทำความสะอาด รวมถึงมีทีมจิตแพทย์คอยดูแลด้านจิตใจ เพราะคนที่กักตัวหลายวัน มักมีปัญหาจากโรคทางใจ ทั้งความเครียดและโรคซึมเศร้า ซึ่งพบแล้วในผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง

ทุกการสื่อสารของบุคลากรการแพทย์กับผู้ป่วย จะทำผ่านช่องทางดิจิทัล ทั้งแอพพลิเคชั่น LINE และกล้องที่ติดอยู่ในห้อง ซึ่งมีการรักษาทางใจ หรือบริการให้คำปรึกษาโดยจิตแพทย์รวมอยู่ด้วย

โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ยังมีทีมสังคมสงเคราะห์ ที่คอยดูแลผู้ป่วยในเรื่องสังคม เพราะผู้ป่วยบางคนอาจมีปัญหาครอบครัว เช่น ไม่มีคนดูแล ที่บ้านมีคนชรา มีบุตร นักสังคมสงเคราะห์จะเข้ามาช่วยประสานจัดการปัญหา รวมไปถึงการเตรียมผู้ป่วยเพื่อกลับไปสู่ชุมชน 

โดย ผศ.นพ. ฉัตรชัยอธิบายว่า การพูดคุยกับชุมชนให้ยอมรับผู้ป่วยที่หายแล้วนั้นเป็นปัญหาสำคัญ เพราะภาคประชาชนในประเทศไทยยังขาดความเข้าใจอีกมาก เช่น พบกรณีที่ผู้เคยติดเชื้อถูกขับไล่ออกจากอพาร์ทเมนท์ หอพัก และไม่ให้เข้าชุมชน ทั้งที่ไม่ตรวจพบเชื้อแล้ว ซึ่งนักสังคมสงเคราะห์ก็จะเข้ามาดูในประเด็นนี้ ตั้งแต่การทำความเข้าใจกับชุมชนก่อนส่งผู้ป่วยกลับ ไปจนถึงการหาหอพัก หรืออพาร์ทเมนท์ให้ใหม่

About the author

Varuth Pongsapipatt
Photo Editor/ Content Editor

Varuth Pongsapipatt

Photo Editor/ Content Editor