Opinion: สิ่งแวดล้อมกับไวรัสโคโรนา 2019
โดย ประภัสสร ทองยินดี
ก่อนการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หลายประเทศทั่วโลกล้วนต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ มลพิษทางอากาศ ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิศาสตร์ (Climate Change) ก๊าซเรือนกระจก ฯลฯ
ซึ่งที่มาและสาเหตุหลักของปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เกิดจากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ สอดคล้องกับบทความของ Connected & autonomous vehicles – Environmental impacts – A review ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science of the Total Environment ปี 2020 ได้กล่าวถึงก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศของโลก โดยการเกิดขึ้นของก๊าซเรือนกระจกนี้มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น อุตสาหกรรมการขนส่ง
เมื่อเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เริ่มต้นระบาดขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ในเดือนมกราคม 2019 รัฐบาลมีคำสั่งปิดเมือง ให้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองอู่ฮั่นอยู่แต่ในเมืองเท่านั้น ห้ามเดินทางออกจากเมือง สถานที่ที่มีคนพลุกพล่านถูกปิด สายการบินต่างๆ ต้องหยุดทำการบิน ต่อมาเมื่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ระบาดไปทั่วโลก หลายประเทศมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน บางประเทศปิดเมือง ปิดห้างสรรพสินค้า และปิดสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม สายการบินทั่วโลกประกาศหยุดบิน บางสายการบินปรับลดจำนวนเที่ยวบินลง รวมถึงมีมาตรการรัฐส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่เชื้อไวรัส
การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้มนุษย์จำเป็นต้องหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจลงชั่วคราวเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน เมื่อพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากบทความเรื่อง How the Coronavirus Is (and Is Not) Affecting the Environment โดย Kasha Patel ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2020 ใน earthobservatory.nasa.gov พบว่า ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประชาชนส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส
ตัวอย่างเช่น ในประเทศจีน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่าระดับของ nitrogen dioxide (NO2) ลดลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ลดลง ทั้งในภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง การดำเนินธุรกิจ จำนวนรถบนถนนลดลง เที่ยวบินภายในประเทศลดปริมาณลง 60-70%
จะเห็นได้ว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ลดลง พฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนไปเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส สิ่งเหล่านี้มีผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลดลง ซึ่งส่งผลโดยตรงกับปริมาณมลพิษทางอากาศและก๊าซเรือนกระจก
การที่พฤติกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้ลดลง ทำให้ธรรมชาติบางส่วนได้มีโอกาสฟื้นฟู แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างถาวรและส่งผลดีต่อสังคมมนุษย์มากนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทั่วโลกได้ส่งผลต่อคุณภาพในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ดังนั้น หลังจากที่การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลดความรุนแรงหรือจบลง เมื่อธรรมชาติได้มีโอกาสฟื้นฟูตัวเองในช่วงเวลาหนึ่ง
ต่อจากนี้ เราจะต้องปลูกฝังพฤติกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของคนในสังคมให้เห็นคุณค่าและประโยชน์ต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนพลังงานสะอาด และลดการบริโภคที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดผลกระทบจากการทำลายสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
แม้ว่าโลกจะเกิดวิกฤตขึ้นอีก หากเราอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้ ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้เราสามารถรับมือกับวิกฤตในอนาคตได้ดีขึ้น
——————————————————–
เอกสารอ้างอิง
Kopelias, P., Elissavet, P., Pantelis. D., Vogiatzis. K., Skabardonis, A., 2020.Connected & autonomous vehicles – Environmental impacts – A review. Science of the Total Environment. 2020, 135-237.
https://earthobservatory.nasa.gov/images/146362/airborne-nitrogen-dioxide-plummets-over-china
About the author
Prapatsorn Thongyindee
Academic